รุก รับ ร่น และรอ! มองการเมืองไทยผ่านวิชาทหาร/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

รุก รับ ร่น และรอ!

มองการเมืองไทยผ่านวิชาทหาร

 

“ผู้ชี้นำที่ขาดหัวคิดทางยุทธศาสตร์ มักถูกสภาพแวดล้อมอันซับซ้อนลวงตาเอา… เรื่องที่ถูกข้าศึกบีบบังคับจนตกอยู่ในฐานะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำนั้น ย่อมมีอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ ต้องฟื้นฐานะที่เป็นฝ่ายกระทำโดยเร็ว ถ้าไม่สามารถฟื้นฐานะเช่นนี้ได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือความพ่ายแพ้”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

“ถ้าไม่มีข้าศึกก็ไม่มีสงคราม… [ดังนั้น] จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะต้องยอมรับบทบาทและความสำคัญของข้าศึก”

Colin S. Gray

 

วันนี้คงต้องยอมรับว่า การเมืองไทยกำลังทวีความเข้มข้นมากขึ้นในแต่ละวัน และเป็นแรงกดดันโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อความอยู่รอดของรัฐบาลในอนาคต

สภาวะเช่นนี้เป็นสัญญาณของการเดินทางมาถึง “จุดพลิกผัน” ที่อะไรๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้

หรือคงต้องกล่าวสำหรับผู้สนใจการเมืองไทยว่า นับจากนี้ไป “ห้ามกะพริบตา” เป็นอันขาด

เพราะสถานะของรัฐบาลและตัวผู้นำซึ่งเป็นเสมือนกับ “แม่ทัพใหญ่กลางสนามรบ” นั้น กำลังเผชิญกับการปิดล้อมและกระชับวงล้อมมากขึ้นทุกวัน

จนเริ่มมีคำถามด้วยความกังวลว่า ผู้นำรัฐบาลในฐานะแม่ทัพใหญ่จะอยู่รอดจากการรบครั้งนี้ได้หรือไม่

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอทางเลือกของผู้นำรัฐบาลปัจจุบันผ่าน “หลักวิชาทหาร” ที่ส่วนหนึ่งผู้มีอำนาจในรัฐบาลและบรรดาคนสนิทนั้น ล้วนเคยผ่านการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมาแล้วทั้งสิ้น

 

สามหนทางปฏิบัติ

โดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนเสนาธิการทหารบกมักสอนหลักการทางทหารที่สำคัญ ซึ่งเราอาจสรุปด้วยหลัก 3 ประการ คือ “รุก-รับ-ร่นถอย”

เพราะแม่ทัพจะต้องตระหนักเสมอว่า ในสถานการณ์การรบที่เกิดขึ้นนั้น ทางเลือกของผู้บังคับบัญชาในทุกระดับมีไม่เกินสามทางดังที่กล่าวแล้ว

และสำหรับนายทหารนักเรียน หลักทั้งสามนี้คือพื้นฐานเบื้องต้นของการเรียนวิชาทหาร

ซึ่งนายทหารนักเรียนที่ไม่เข้าใจหลักสามประการนี้ จะไม่สามารถเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีในการรบได้เลย (ผู้เขียนอยากขอเรียกหลักการนี้ว่า “หลัก 3 ร.”)

ผู้บังคับบัญชาทางทหารยิ่งเป็นผู้ที่อยู่ในระดับสูงสุด ยิ่งต้องตระหนักเสมอว่าการเลือกในแต่ละช่องทางนั้น มีนัยอย่างมากในฐานะของการเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลโดยตรงต่อการแพ้ชนะในสงคราม หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้บังคับบัญชาจะต้องตระหนักเสมอว่า เมื่อไหร่จะรุก… เมื่อไหร่จะรับ… เมื่อไหร่จะถอย

ดังนั้น เงื่อนไขของเวลาและสถานการณ์เป็นตัวกำหนดสำคัญในสนามรบ ที่บังคับให้ผู้นำต้องตัดสินใจเลือกหนทางปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด

และในวิชาประวัติศาสตร์สงครามชี้ให้เห็นว่า ไม่มีทางเลือกที่สี่ในวิชาทหาร ยกเว้น “ยอมแพ้”

แน่นอนว่าแม่ทัพทุกคนอยากเป็น “ผู้ชนะ” ในการรบ แต่ในสนามรบมิใช่มีเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น การตัดสินใจย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของอีกฝ่ายด้วย

ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการรบ หรือที่ประธานเหมาเจ๋อตุงกล่าวเตือนในสรรนิพนธ์การทหารว่า “คู่สงครามหรือคู่รบต่างเป็นกลุ่มคนมีชีวิตที่ติดอาวุธ และต่างก็ยังปกปิดความลับซึ่งกันและกัน ข้อนี้ย่อมแตกต่างกับการจัดการกับสิ่งไม่มีชีวิตหรือเรื่องประจำวันอย่างมากทีเดียว…”

ดังนั้น ชัยชนะในการรบจึงหมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชาสามารถที่จะตัดสินใจให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงมากที่สุด

หรืออาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า การวินิจฉัยและการตัดสินใจที่สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของข้าศึก จะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของชัยชนะ

นักการทหารที่ดีจึงไม่อาจวางแผนไว้บนความปรารถนาแห่งตนแต่เพียงด้านเดียว เพราะแผนการรบในลักษณะด้านเดียวเช่นนั้น ถ้าไม่ “เพ้อฝัน” เกินไป ก็ไม่ “สอดคล้อง” อย่างมากกับความเป็นจริงของสถานการณ์

หากมองจากมุมเช่นนี้แล้ว บางทีเราอาจกล่าวในเชิงเปรียบเทียบได้ว่า การเมืองและการสงครามไม่ได้แตกต่างกัน

กล่าวคือ สนามรบในสองมิตินี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก จนบางครั้งมีการกล่าวเปรียบเปรยว่า สงครามการเมืองและสงครามการทหารมีความโหดร้ายและรุนแรงไม่แตกต่างกัน และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการต่อสู้ที่ไม่แตกต่างกันด้วย

อีกทั้งยังจะต้องตระหนักเสมอว่า คู่ต่อสู้อีกฝ่ายหนึ่งเป็น “คน” ที่มีความคิดและกำลัง หรือดังที่กล่าวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสนามรบทางการเมืองหรือสนามรบทางการทหาร ฝ่ายตรงข้ามเป็น “สิ่งที่มีชีวิต” ไม่ใช่เป็น “วัตถุ” ที่คิดไม่ได้… เคลื่อนไหวไม่ได้

ดังนั้น ในสนามรบทางการเมืองครั้งนี้ จึงน่าสนใจอย่างมากว่า “แม่ทัพใหญ่ประยุทธ์” จะตัดสินใจอย่างไร โดยเฉพาะหากพิจารณาแล้ว ทางเลือกสามประการในทางทหารยังเป็นข้อพิจารณาที่ดีเสมอ แต่ก็มีคำถามกับความเป็นจริงที่จะตามมาว่า สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาในสนามรบทุกคนจะต้องตอบให้ได้ก็คือ หากเขาเลือกทางหนึ่งทางใดแล้ว เขาจะดำเนินการอย่างไรในทางเลือกนั้นๆ

ปัญหาสองประการที่ผูกติดกันเช่นนี้ ทำให้แม่ทัพและฝ่ายอำนวยการจะต้องคิดให้ได้ ซึ่งเราอาจทดลองจำแนกทางเลือกทั้งสามได้

ดังนี้

 

1) รุก : ถ้าตัดสินใจที่จะเปิดการรุก ปัญหาที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ แม่ทัพยังมีพลังอำนาจพอที่ทำการรุกในสนามรบครั้งนี้ได้หรือไม่

เพราะการรุกจะสามารถเกิดได้จริงก็ต่อเมื่อเขาต้องมีทรัพยากรและปัจจัยสนับสนุนในมือมากพอ ที่จะทำให้การรุกนั้นไม่ใช่เป็นเพียงความฝันบนแผ่นกระดาษ

แต่ดูเหมือนรัฐบาลวันนี้ มีข้อจำกัดในด้านต่างๆ อย่างมาก จนหลายฝ่ายมีทัศนะที่สอดคล้องกันว่า โอกาสที่จะเปิดการรุกของ “แม่ทัพประยุทธ์” น่าจะเป็นไปได้ยาก

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็น “ทัพใหญ่” ของเขา ตกอยู่ในสภาวะ “ทัพแตก” จากปัญหากบฏภายใน

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นดัง “ทัพรอง” ก็อาจเป็นเหมือน “ทัพลวง” เพราะไม่มีใครมั่นใจว่า หากเกิดการรบจริงแล้ว ไพร่พลของพรรคร่วมเหล่านี้ จะช่วยร่วมรบอย่างแข็งขัน

หรือพวกเขาอาจจะปล่อยแม่ทัพใหญ่ตายกลางสนามรบ

สภาวะเช่นนี้เป็นเงื่อนไขในตัวเองว่า การเปิดการรุกอาจเป็นเพียง “ความฝันที่อยู่ห่างไกล” หรืออาจกล่าวด้วยสำนวนสมัยปัจจุบันว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับการ “disrupt” จากฝ่ายตน จนกลายเป็นข้อจำกัดในการรุกโดยตรง

ยิ่งพิจารณาประกอบกับสถานการณ์ในภาพรวมแล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำว่าโอกาสที่แม่ทัพใหญ่จะเปิดการรุกในสนามรบทางการเมืองในครั้งนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

2) รับ : ถ้าการรุกเป็นทางเลือกที่ไม่เป็นจริง แม่ทัพจะ “รับ” อย่างไร ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ในทฤษฎีทางทหารนั้น การรับยากกว่าการรุก และอาจจะยากกว่ามาก โดยเฉพาะจะรับอย่างไรที่ไม่ทำให้เกิดการนำไปสู่ความพ่ายแพ้

ฉะนั้น การรบด้วยทฤษฎี “การรับทางยุทธศาสตร์” จึงถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะหากการรับเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการถูกปิดล้อมและความพ่ายแพ้

ในสภาพเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า แม่ทัพประยุทธ์และบรรดาแม่ทัพนายกองของเขามีทักษะมากพอต่อการรับทางยุทธศาสตร์เพียงใด

ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลวันนี้ตกเป็น “ฝ่ายรับ” จนแทบจะมองไม่เห็นหนทางที่จะตีฝ่าวงล้อมของ “ทัพข้าศึก” ออกไปได้

และเสมือนกับการรอเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามจะเปิดการรุกเข้าตีเพื่อสลายแนวตั้งรับที่มีอยู่ทั้งแนว

และปฏิเสธในอีกทางไม่ได้เลยว่า แนวรับนี้ถูกดันให้เกิดการถอยร่นอย่างมากจากการกบฏภายในของทัพตัวเอง

และผลจากการกบฏของ “ทัพใหญ่” ย่อมทำให้การตั้งรับในสนามรบเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

อีกทั้งพรรคร่วมที่อาจกลายเป็น “ทัพลวง” ดังที่กล่าวแล้ว ก็ยิ่งทำให้ “แนวรับ” กลายเป็น “แนวร่นถอย” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรืออาจกล่าวได้ว่า ในภาวะที่กำลังรบของฝ่ายตนมีความ “รวนเรและผันแปร” นั้น โอกาสที่จะรบด้วยการรับเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดในตัวเองอย่างมาก

 

3) ร่นถอย : ถ้าทั้งการรุกและการรับเป็นหนทางปฏิบัติที่ทำไม่ได้จริงแล้ว ทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่คือการ “ร่นถอย”

ซึ่งอาจจะไม่ต่างจากการรับ เพราะการถอยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความยากและความละเอียดอ่อนในวิชาทหาร จนเกิดเป็นทฤษฎี “การถอยทางยุทธศาสตร์”

อันมีนัยว่า ถ้าแม่ทัพใหญ่ไม่รู้จักการถอยในเวลาที่ “จำเป็นและเหมาะสม” แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจไม่ต่างกับการ “เอาหัวชนกำแพง” และการเดินหน้าเข้าทำการรบในเงื่อนไขที่ตนเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบนั้น มิได้มีนัยว่าหัวชนกำแพงแล้วจะชนะ

ซึ่งหากแม่ทัพไม่รู้จักการถอยแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ กำลังของเขาจะถูกทำลายในสนามรบ และจบลงด้วยความพ่ายแพ้

ดังนั้น คำถามสำคัญทั้งในทางการทหารคือ “จะถอยอย่างไรไม่ให้แพ้” ซึ่งประเด็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางทหาร เพราะถ้าผิดพลาดในการถอยร่นแล้ว กำลังของข้าศึกจะตามมาด้วยการ “บดขยี้” อย่างเต็มที่

คำตอบในกรณีนี้มีเพียงประการเดียวคือ “แพ้แน่นอน”

 

หนทางที่สี่?

นักการทหารบางส่วนอาจเชื่อว่า หนทางที่สี่ที่อาจนำเอามาเป็นทางเลือกของการตัดสินใจในสนามรบคือ การ “รอ”

ด้วยความเชื่อว่า การรอคอยจะสามารถช่วยประวิงเวลาออกไปได้บ้าง

แต่การรอในภาวะที่ตนตกเป็นรองนั้น เป็นความเสียเปรียบในตัวเอง

เพราะการรอโดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนกับสถานการณ์ในอนาคต อาจกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าศึกสามารถรวมกำลังได้มากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง การรอไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในตัวเอง

เว้นแต่จะเชื่อเอาเองว่า การรออาจช่วยพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นความได้เปรียบของฝ่ายเรา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การคิดเช่นนี้ไม่อาจนำเอามาเป็นหลักการทางทหารได้

เพราะในอีกด้านหนึ่ง ข้าศึกไม่ได้รอเรา หรือสิ่งที่หลักวิชายุทธศาสตร์ทหารสอนไว้เสมอคือ ในสงครามมีข้าศึกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยเสมอ มิใช่มีแต่เพียงฝ่ายเราเท่านั้น

 

อนาคต

หากมองการเมืองไทยปัจจุบันผ่านวิชาทหารแล้ว สามคำถามสำคัญจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกคือ “รุก-รับ-ร่นถอย” ถือเป็นความท้าทายต่ออนาคตของแม่ทัพประยุทธ์อย่างยิ่ง

ซึ่งความท้าทายที่เกิดและเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อรัฐบาลนั้น ผู้นำทหารที่มีอำนาจในรัฐบาลอาจจะต้องหวนกลับไปนึกถึงวันเวลาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

เพราะทางเลือก “3 ร.” คือคำตอบในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในสนามรบทางการทหารหรือทางการเมืองก็ตาม

แต่จะเลือกทางใดก็ต้องตระหนักว่า ข้าศึกในสนามรบเป็น “สิ่งมีชีวิต” และประเด็น “เวลา” ในยามวิกฤตเป็นอีกปัจจัยที่ไม่เคยรอใคร

ดังนั้น ปัญหาที่ล่อแหลมในสนามรบทางการเมืองคือ จะทำอย่างไรถ้าผู้นำรัฐบาลรุกก็ไม่ได้… รับก็ไม่เป็น… ถอยก็ไม่ไป อีกทั้งหากการพลิกฟื้นสถานะในการต่อสู้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว จุดจบก็เป็นดังที่กล่าวแล้ว คือความพ่ายแพ้อย่างแน่นอน

ภาวะเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า การเมืองไทยเดินเข้าสู่ “จุดเปลี่ยน” แล้ว!