ดิลิป กุมาร พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย (3)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดิลิป กุมาร

พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย (3)

 

เมื่อภาพยนตร์เรื่องซากินาและบัยรัก (Bairaqq) หรืออาลัยอาวรณ์ของปี 1976 ไม่ประสบผลสำเร็จด้านรายได้ ดิลิป กุมาร จึงต้องหยุดตัวเองลงในยุคสมัยที่ราเยส คันนา (Rajesh Khanna) และอมิตาบ บัชจัน ครองตลาดภาพยนตร์อินเดีย

แต่ดิลิป กุมาร ได้ประกาศถึงการกลับมาของเขาอีกครั้งด้วยภาพยนตร์เรื่องกรานติ และชัคติ ซึ่งมีกลิ่นอายของสุนทรียภาพอันบริสุทธิ์ ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่องมาชัล (Mashaal) หรือคบเพลิงแห่งปี 1982 วิดาตา (Vidhaata) หรือผู้สร้างแห่งปี 1984 และมัซดูร (Masdoor) หรือกรรมกร แห่งปี 1983 ผู้กำกับฯ อย่างสุภาชน์ กาย (Subhash Ghai) ให้เขาแสดงเรื่องกรรม (Karma) และราเมส ตัลวาร์ (Ramesh Talwar) เรื่องดุนิยา (Duniya) หรือโลก จากภาพยนตร์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นพบว่าความหลงไหลที่มีต่อดิลิป กุมาร มิได้หยุดลงแต่อย่างใด

โรงภาพยนตร์ Excelsior ที่อยู่ชานเมืองของกรุงเดลีเก่า (Old Delhi) จะมีเทศกาลภาพยนตร์ของดิลิป กุมาร มานำเสนอทุกปี นับตั้งแต่ปลายปี 1980 จนถึงปี 2015

ภาพยนตร์อย่างตุนิยา (Duniya) ราม ออร ชยัม ซันเกอร์ช (Sungursh) หรือต่อสู้และวิดาตา จะฉายร่วมกันสองเรื่องในโรงภาพยนตร์เดียวกัน

ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่ในเวลานั้น

 

ในตลาดบนของกิจการภาพยนตร์จะมีการพบปะกันระหว่างผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์กับเจ้าของโรงภาพยนตร์ต่อหน้าดิลิป กุมาร เพื่อตัดสินใจว่าโรงภาพยนตร์จะฉายภาพยนตร์เรื่องอะไรต่อไป โรงภาพยนตร์อย่าง Odeon และ Novelty เป็นโรงภาพยนตร์ประเภทดังกล่าว

Novelty เป็นโรงภาพยนตร์ที่รู้จักกันในนามการเฉลิมฉลองจอเงินหรือโรงภาพยนตร์ที่ให้ภาพยนตร์เข้าฉายติดต่อกันไป 25 สัปดาห์

นายา ดาอุร กรานติ วิดาตา และมัซดูร มีคนดูเต็มโรงที่ Novelty แม้แต่ภาพยนตร์ที่มีรายงานว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างโกปี (Gopi) ยาฮูดี (Yahudi) หรือชาวยิวก็ยังฉายได้เป็นสัปดาห์ๆ ที่โรงภาพยนตร์ชาลิมาร์ (Shalimar) ในกรุงเดลี อันเป็นบริเวณที่ล้อมรอบไปด้วยบ้านเรื่อนของผู้ลี้ภัยชาวปากีสถาน

ความนิยมที่มีต่อพระเอกนั้นจะมาพร้อมกันเป็นคู่ อย่างเช่น ราช กาปุร (Raj Kupoor) กับเทพ อนันต์ (Dev Anamd) หรือที่คนไทยเรียกว่าเดวานันต์ ราเยส คันนา (Rajesh Khanna) กับอมิตาบ บัชจัน ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงเวลาเดียวกัน

 

รัฐบาลอินเดียมอบรางวัล ปัดมา บูชัน (Padma Bhushan) ให้กับดิลิป กุมาร ในปี 1991 รางวัล ดาดาซาฮิบ (Dadasahheb Phalke) ในปี 1994 ทั้งปัดมา บูชัน และปัดมา วิบูชัน (Pudma Vibhishan) เป็นรางวัลสูงสุดที่อินเดียมอบแก่พลเรือน ในปี 2015 ด้วยเหตุนี้ดิลิป กุมาร จึงเป็นดังนายอำเภอแห่งมุมไบ

นอกเหนือจากเกียรติยศเหล่านี้แล้ว เขายังได้รับรางวัลนิชานี อิมติยาซ (Nishan-e-Imtiaz) จากรัฐบาลปากีสถาน ที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันครั้งใหญ่ และนำไปสู่อาการหัวใจสลายในหมู่นักการเมืองฝ่ายขวาได้ในระดับหนึ่ง

พวกเขาบางคนจึงแนะนำให้ดิลิป กุมาร เดินทางไปปากีสถาน คนอื่นๆ ก็กล่าวหาเขาอย่างผิดๆ ในความภักดีที่ดิลิป กุมาร มีต่ออินเดีย

ในเรื่องนี้ดิลิป กุมาร ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ตัวตนของความเป็นดิลิป กุมาร และลักษณะที่คาดไม่ได้ในนิสัยของเขา ทำให้เขาอยู่เหนือวิกฤตได้เสมอ

ในความเป็นจริงชีวิตของดิลิป กุมาร เป็นชีวิตที่สงบเสงี่ยมมากที่สุด แม้จะชอบใช้เน็กไทและรองเท้า อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งจะเห็นเขาอยู่ในชุดปาทานสัลวาร์ (Pathani Salwa) ที่บ้าน เขาจะมีความเรียบง่าย ยังคงใช้มุ้งเพื่อไม่ให้ยุงเข้ามารบกวนการนอนของเขา และมัดรองเท้าของเขาด้วยกระดาษฟอยล์ เพื่อป้องกันความชื้นที่มาจากหนังสัตว์

เขาพูดภาษาอุรดูได้อย่างพลิ้วไหว และภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และฮินดีได้เป็นอย่างดี เขาร้องเพลงได้ไพเราะและคุ้นเคยกับดนตรีคลาสสิคของอินเดีย (Hindustani classical music)

ครั้งหนึ่งเมื่อเขาแวะมาที่บ้านแม่ยายของเขาในชุดที่ใช้สำหรับการร้องเพลง เขาเล่นหีบเพลงจนทำให้ทุกคนทึ่งกับความสามารถของเขา

 

เข้าถึงการวิพากษ์

ไม่เหมือนกับดาราในปัจจุบัน เขาเข้าถึงการวิจารณ์และผู้สื่อข่าวได้ตลอดเวลา นักวิเคราะห์จาก The Hindu บ่อยครั้งจะมีความสุขกับการต้อนรับที่เขามอบให้ในบ้านของเขาที่มุมใบ ซึ่งนอกเหนือจากอาหารตามประเพณีของปีชะวอร์แล้ว บ้านของยูสุฟ ข่าน ก็จะมีอาหารอย่างโดซาและอาหารคอนติเนนตัลเอาไว้บริการอีกด้วย

ดิลิป กุมาร เป็นคนชอบกินซุปและเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ลงไปในซุปไก่และซุปข้าวโพดของเขา

สำหรับผู้ชายอย่างเขาที่ใช้ช่วงชีวิตที่ดีที่สุดในวัยหนุ่มกับภาพยนตร์เรื่องต่างๆ มาแล้ว เขาเป็นคนที่ชอบอ่าน

ครั้งหนึ่งเขาได้เล่าถึงความสำคัญของเดือนเราะมะฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมซึ่งเขาได้แลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องนี้กับนักวิจารณ์ภาพยนตร์

ในการเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะฮ์ (ฮัจญ์เล็ก) ที่นครมักกะฮ์ (Makkah) และมะดีนะฮ์ (Maduna) เขาถูกห้อมล้อมโดยแฟนๆ ของเขาที่โรงแรมโอเบรอย (Oberoi) ซึ่งเขากับภรรยาพักอยู่

ผู้เดินทางมาร่วมพิธีอุมเราะฮ์จากอินเดีย-ปากีสถานต่างก็ลืมจุดมุ่งหมายของการมาเยือนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ไปชั่วขณะเพราะพวกเขาต่างก็มุ่งสู่คู่สามีภรรยา นักแสดง ดิลิป กุมาร และซัยร่า บานู อย่างพร้อมเพรียงกัน

 

การละหมาด และความมีใจบุญกุศล

เมื่อความตายได้เริ่มเคาะมาที่ประตูของเขานั้น ดิลิป กุมาร จะเป็นผู้ที่ละหมาดตรงตามเวลาและมีใจบุญสุนทาน ศรัทธาของเขาเป็นเรื่องภายในของเขา ที่รวมอยู่ในตัวเขา มิใช่สิ่งที่อยู่ภายนอก

ในโอกาสหนึ่งบรรณาธิการอาวุโสจากหนังสือพิมพ์รายวันได้มาพบกับดิลิป กุมาร ที่บ้านของรามนาถ โกนกา (Ramnath Goenka) ที่เมืองเชนไน

นักหนังสือพิมพ์เริ่มต้นการสนทนาด้วยการสารภาพกับดิลิป กุมาร ว่าเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์เลย แต่ดิลิป กุมาร ก็ทำให้บรรณาธิการอาวุโสคนนี้แปลกใจด้วยการกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาคุยกันเรื่องมหากาพย์อย่างมหาภารตะ (Mahabharata) ก็ได้

ดิลิป กุมาร มักจะไม่เปิดเผยความดีของเขา หรืออย่างน้อยก็พยายามปิดบังมันไว้ เขาช่วยเหลือแม่ม่ายและผู้คนอีกหลายคนเพื่อให้พวกเขารอดพ้นจากความทุกข์ยาก

เขาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของสุนิล ดัตต์ (Sunil Dutt) ดาราภาพยนตร์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเขา โดยเฉพาะเมื่อนาร์กริส (Nagris) นางเอกเรื่องธรณีกรรแสง (Mother India) ภรรยาของสุนิล ดัตต์ เจ็บป่วย และในช่วงที่สัญชัย ดัตต์ (Sanjay Dutt) พระเอกภาพยนตร์และบุตรชายของสุนิล ดัตต์ กับนาร์กริสต้องเผชิญกับคดีความทางการเมืองอันยุ่งยาก

เขาเป็นเหมือนพี่ชายของนักแสดงอย่างชัมมิ กาปุร (Shammi Kapoor) ซึ่งจะกอดเขาเสมอเมื่อพบปะกัน รวมทั้งทราเมนดรา ซึ่งไม่เคยปิดบังถึงความรักและความผูกพันที่ดิลิป กุมาร แสดงให้เขาเห็น

ทุกๆ คน ต่างก็มีส่วนอยู่กับดิลิป กุมาร สำหรับบางคนเขาเป็นเจ้าแห่งโศกนาฏกรรม สำหรับคนอื่นๆ เขาเป็นพระเอกแนวโรแมนติก สำหรับบางคนชื่นชอบเขาในบทที่แสดงถึงความขบขันอย่างในภาพยนตร์เรื่องอะซาด (Azad) หรือการปลดปล่อย และราม ออร ชยัม ซึ่งเขาก็เล่นได้อย่างสมบทบาท

เขาเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างชุมชน และใช้ความเป็นตัวตนของเขาช่วยเหลือคนอีกจำนวนมาก

แน่ละไม่มีใครเหมือนเขาที่เป็นทั้งมนุษย์และพระเอกหนึ่งเดียว เป็นผู้ที่ชอบดูดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เขาเป็นผู้เปิดรุ่งอรุณให้กับภาพยนตร์อินเดีย

ทั้งนี้ ความเศร้า เสียใจ โรคภัย หรือแม้แต่วาระสุดท้ายของชีวิตของเขาไม่อาจพรากเขาไปจากแฟนๆ ของเขาที่ติดตามเขาอยู่เสมอได้เลย