ควีน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการครองราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร

ในวาระดังกล่าว สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นั้นได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สาธารณชน ข้อความในพระราชหัตถเลขาดังกล่าว เป็นที่สนใจและเป็นที่จับใจของคนจำนวนมาก รวมทั้งผมและเพื่อนพ้องด้วย เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย

สาระแห่งพระราชหัตถเลขาบางช่วงตอนก็เป็นเข็มทิศบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า อีกทั้งภาษาที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ก็มีความงดงามในทางภาษาเป็นอย่างยิ่ง

อ่านแล้วเกิดอาการคันไม้คันมืออยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย

ผมจึงได้ชวนเพื่อนรุ่นน้องอีกคนหนึ่งช่วยกันทำงานชิ้นนี้โดยเร็ว สำเร็จผลเป็นคำแปลพระราชหัตถเลขาอย่างไม่เป็นทางการ ที่ได้นำลงแบ่งปันกันอ่านไว้ใน Facebook ของผมเมื่อหลายวันก่อนแล้ว

 

เมื่อนึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นี้แล้ว ชาวโลกจำนวนไม่น้อยคงมีประสบการณ์ส่วนตัวหรือความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านอยู่ต่างๆ กันไป

ตัวอย่างเช่น ส่วนตัวของผมเองมีเรื่องให้อวดอยู่เหมือนกันว่า ผมเคยได้เฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นี้ ซึ่งต่อไปจะเรียกโดยย่อว่า “ควีน” มาแล้วนะครับ

แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะไม่ใช่การเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการหรือการเฝ้าฯ ในที่รโหฐานแต่อย่างใด เหตุเกิดขึ้นตอนผมเป็นนักเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ห่างจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงชั่วเวลาเดินไม่เกิน 5 นาที

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช 2515 ควีนพร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป พระสวามี และเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตามหมายกำหนดการมีวันหนึ่งที่พระองค์ท่านจะเสด็จมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

เมื่ออาจารย์ของเราชวนพวกเรางดชั้นเรียนแล้วเดินไปรับเสด็จควีนที่จุฬาฯ ในตอนสายวันหนึ่ง ทุกคนจึงเดินไปอยู่บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ โดยไม่อิดออดแต่อย่างใด

อะไรจะมาวิเศษดีไปกว่าการไม่ต้องเรียนหนังสือแล้วไปเฝ้าฯ ควีนเล่าครับ กระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวชัดๆ

ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่นิสิตจุฬาฯ แต่การไปรับเสด็จครั้งนั้นก็สะดวกสบายมาก ไม่มีใครกีดกันขัดขวางอะไรให้วุ่นวาย

เวลาผ่านไป 50 ปีเต็มแล้ว ถึงจะเล่ารายละเอียดได้ไม่ครบถ้วน แต่ผมยังจำได้ดีว่า ผมและเพื่อนทุกคนรู้สึกสนุกสนานและปลาบปลื้มกับการได้เห็นควีนพระองค์จริง ไม่ใช่การได้เห็นแต่ในโทรทัศน์หรือเป็นภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างที่เราเคยเห็นมาแต่ก่อน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษแล้ว จากควีนพระองค์ที่ผมได้เฝ้าฯ เมื่อพระองค์ท่านมีพระชนมพรรษาสี่สิบเศษ ทรงอยู่ในวัยกลางคน กลายเป็นควีนที่มีพระชนมพรรษาสูงถึง 90 พรรษาเศษ เรียกว่าทรงอยู่ในวัยชราได้เต็มที่

แต่เท่าที่เราได้เห็นจากสื่อต่างๆ ก็ให้รู้สึกว่า พระองค์ท่านเป็นควีนที่แกร่งและสง่างามยิ่งในทุกสถานการณ์ เวลาทำอะไรพระองค์ท่านไม่ได้เลย

ตลอดเวลา 70 ปีแห่งรัชสมัย มีสารพัดเหตุการณ์เกิดขึ้น หลายเหตุการณ์ส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อควีนและพระราชวงศ์

แต่ควีนก็ทรงหนักแน่นต่อหน้าที่ และทรงสามารถประคับประคองให้ทุกสิ่งทุกอย่างก้าวผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย

ไม่ต้องดูอื่นไกลหรือย้อนหลังไปไกลนักหรอกครับ ดูแค่กรณีเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสองเดือนก่อนก็ดี

หรือดูเนื้อความบางช่วงตอนจากพระราชหัตถเลขาสำคัญที่เราพูดถึงมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทรงรับมือกับสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาหรือปัญหาความไม่แน่นอนที่พูดกระซิบกระซาบกันตามที่ต่างๆ ได้อย่างมืออาชีพจริงๆ

ถึงวันนี้ก็สิ้นสงสัยกันได้แล้วนะครับว่า ฐานะของ “คามิลลา” เมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ อันเป็นตำแหน่งมกุฎราชกุมารของสหราชอาณาจักรขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเป็นอะไรกันแน่

เพราะควีนได้มีพระราชหัตถเลขาแสดงพระราชประสงค์ไว้ชัดเจนว่า คามิลลาจะเป็นสมเด็จพระราชินี หรือ Queen Consort

เล่นเอาขาเมาธ์ทั้งหลายซึมไปเลย หมดเรื่องจะกระซิบกระซาบไปตั้งเยอะ

ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกัน ควีนได้ทรงเชื่อมโยงเรื่องราวสามยุคสมัยเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน มีทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต น่าปรบมือถวายเป็นที่สุด

ใช่ครับ ผมหมายถึงการที่ทรงกล่าวถึงเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี ว่าเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างราชบัลลังก์มาโดยตลอด และทรงสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อการทำหน้าที่สำคัญดังกล่าว แล้วก็ทรงย้อนไปกล่าวถึงสมเด็จแม่ของพระองค์ท่านเอง ที่ได้ทรงทำหน้าที่เฉกเช่นเดียวกันในรัชกาลของพระเจ้ายอร์ชที่หก ผู้เป็นทูลกระหม่อมพ่อของควีน

แถมด้วยการหยอดท้ายถึงคามิลลา ที่จะทำหน้าที่เป็นสมเด็จพระราชินีรัชกาลหน้า เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เมื่อถึงเวลาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

การแปลพระราชหัตถเลขาฉบับข้างต้นเป็นภาษาไทย จึงเป็นงานที่ท้าทายผมและเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นผู้ร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะถ่ายทอดเนื้อความและอารมณ์จากงานต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดยเจ้าของภาษา และมีความสามารถถึงขนาดที่น่าจะเฉลิมพระเกียรติได้ว่าทรงเป็น “นายของภาษา” ออกมาเป็นภาษาไทยให้ได้อรรถรสที่พอสมควรแก่กรณี และสติปัญญาอันจำกัดของเรา

ขณะเดียวกันผู้แปลก็ต้องนึกถึงระเบียบของคำในภาษาไทยด้วย เพื่อให้งานแปลของเราไม่เหม็นกลิ่นนมกลิ่นเนยจนเกินไป

เช่น เมื่อทรงกล่าวถึง “my own mother” และ “my father’s reign”

จะไปแปลเป็นลิเกว่า “เสด็จแม่ของข้าพเจ้า” และ “รัชกาลของเสด็จพ่อ” ก็ดูเก้อเขินอยู่มาก เพราะในเมื่อเอกสารชิ้นนี้เป็นพระราชหัตถเลขาของ “สมเด็จพระราชินีนาถ” แล้ว ราชาศัพท์ที่ใช้ก็ควรนึกถึงแบบแผนที่ใช้ในราชสำนักทางฝั่งไทยเราเพื่อเทียบเคียงด้วย ผมต้องนึกว่าถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินของเมืองไทย พระองค์ท่านจะกล่าวถึงสมเด็จพระบรมราชชนกชนนีว่าอย่างไร

คิดแล้วก็สำเร็จผลเป็นคำแปลว่า “สมเด็จแม่ของข้าพเจ้า” และ “รัชสมัยของทูลกระหม่อมพ่อ”

เช่นเดียวกันเมื่อทรงกล่าวถึงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ “my son” ผู้แปลก็ต้องนึกถึงหลักว่า ในราชาศัพท์ภาษาไทยแล้ว เจ้านายท่านไม่ใช้ราชาศัพท์กับพระองค์องค์เอง ดังนั้น สำหรับคำดังกล่าว จึงไม่ควรแปลว่า “โอรสของข้าพเจ้า” หากแต่ควรแปลว่า “ลูกชายของข้าพเจ้า”

คำว่า “โอรส” เก็บไว้ให้คนอื่นใช้ เมื่อกล่าวว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเกี่ยวข้องอย่างไรกับควีน

ที่ยากที่สุดคือคำลงท้ายของพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าว ที่พระองค์ท่านทรงเขียนว่า Your Servant

คิดกันอยู่นานครับว่าจะแปลว่าอะไร จะแปลตรงไปตรงมาว่า “ผู้รับใช้ของท่าน” ก็ดูไม่เหมาะสมกับการคำลงท้ายพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานกับสาธารณะเลย ดูประดักประเดิดอย่างไรไม่รู้สิ

ทำอย่างไรดีล่ะครับ

สุดท้ายผมก็ตัดสินใจใช้คำแปลว่า “แต่ข้าพเจ้าผู้สนองงาน”

เพราะนึกว่า คำที่เลือกใช้นี้พอที่จะสื่อถึงความหมายที่เป็นสาระหลักได้ใกล้เคียง แม้ไม่ใช่การถอดศัพท์ตรงตัวแบบคำต่อคำ เพราะข้อจำกัดทางวัฒนธรรมของสองชาติซึ่งต่างคนต่างมีที่มาที่ไป

เมื่อแปลงานชิ้นนี้เสร็จเรียบร้อยและนำกลับมาอ่านครั้งใด ก็ไม่มีถ้อยคำใดจะกล่าวเพิ่มเติมได้ นอกจากน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรแด่สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นั้น ขอจงทรงพระเจริญ

ฮิบ ฮิบ ฮูเร!