สภาล่มซ้ำซาก 16 ครั้ง สัญญาณเตือน ‘ประยุทธ์’ จับตาดวงเมืองกลางปี รัฐบาลใกล้ชะตาขาด!?!/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สภาล่มซ้ำซาก 16 ครั้ง

สัญญาณเตือน ‘ประยุทธ์’

จับตาดวงเมืองกลางปี

รัฐบาลใกล้ชะตาขาด!?!

 

เด่นชัดขึ้นสำหรับสถานการณ์ “ขาลง” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามสภาพต้องปะทะทั้งศึกใน-ศึกนอกถาโถมเข้าใส่แบบรัวๆ ทำให้ต้องตกอยู่ในสภาพเสียทรง

ปัญหาศึกนอก สถานการณ์โควิดโอมิครอน ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อกลับมาพุ่งทะยานเกินหลักหมื่นรายต่อวัน ปัญหาข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน รวมถึงราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ จนเกิดม็อบรถบรรทุกประท้วงขับไล่รัฐมนตรี

ขณะที่ศึกใน สารตั้งต้นจากความขัดแย้งรุนแรงในพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล

จาก “กบฏ” พลังประชารัฐ เมื่อเดือนกันยายน 2564 นำมาสู่เหตุการณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคเส้นเลือดใหญ่รัฐบาล ตัดสินใจยกขบวน 20 ส.ส. แยกตัวออกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ก่อนที่ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา จะย้ายตามออกไป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ายังสามารถคุมเสียง ส.ส.ก๊วนธรรมนัสได้ และพรรคเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่กับฝ่ายรัฐบาล

แต่ที่ผ่านมาอาจเพราะเงื่อนไขบางประการไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้นำรัฐบาล ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสไม่เคยเปิดเผยถึงจุดยืนทางการเมืองทั้งของตนเองและพรรคเศรษฐกิจไทยให้ชัดเจน ว่าพร้อมสนับสนุนรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

ความคลุมเครือสร้างความหวั่นไหวให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จนต้องยอมเปิดไฟเขียวให้ “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ ไปจัดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคสำรองไว้เป็นทางหนีทีไล่

“ถ้าเราไม่เตรียมการหาบ้านหลังใหม่เผื่อนายกฯ ตั้งแต่วันนี้ นายกฯ จะถูกกดดัน ภาษาบ้านผมเรียกว่าจะมาบีบไข่นายกฯ แบบนี้ตลอดไม่ได้ ผมจะไม่ยอมให้นายกฯ โดดเดี่ยวเดียวดาย” แรมโบ้อีสานระบุ

กรณี ร.อ.ธรรมนัส ยกก๊วน ส.ส.ย้ายออกจากพลังประชารัฐ ไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งจุดยืนทางการเมืองยังคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลเกิดปัญหา ต้องรับมือกับสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำในสภา

กระทั่งนำมาสู่ปรากฏการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนการเมืองในซีกรัฐบาลได้หลายแง่มุม

 

แกนนำฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยระบุถึงเหตุการณ์ “สภาล่ม” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ว่าเป็นการล่มครั้งที่ 16 ของสภาชุดนี้ สาเหตุจากการที่ ส.ส.รัฐบาล “มุ้งแตก”

รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ซึ่งถือกำเนิดหลังการเลือกตั้งมีนาคม 2562 ผ่านสมัยประชุมสภามาแล้ว 5 ครั้ง ปัจจุบันเป็นสมัยที่ 6 เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

เป็นสมัยประชุมที่เกิดเหตุสภาล่มแล้ว 8 ครั้ง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนสภาล่มทั้งหมดรวมกันใน 5 สมัยประชุมที่ผ่านมา

สภาล่มทั้ง 8 ครั้ง เกิดขึ้นในการประชุมวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564, วันที่ 15 ธันวาคม 2564, วันที่ 17 ธันวาคม 2564, วันที่ 19 มกราคม 2565, วันที่ 21 มกราคม 2565 วันที่ 26 มกราคม 2565 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่สภาล่ม ไม่ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะถูกสังคมตั้งคำถามว่าได้ทำหน้าที่สมกับเป็นผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกเข้ามาหรือไม่

จากการตรวจสอบองค์ประชุมสภาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

พบว่าในส่วนพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย แสดงตน 2 คน ไม่แสดงตน 129 คน เสรีรวมไทย แสดงตน 1 คน ไม่แสดงตน 9 คน พรรคประชาชาติ แสดงตน 1 คน ไม่แสดงตน 6 คน พรรคเพื่อชาติ ไม่แสดงตน 6 คน พรรคพลังปวงชนไทย ไม่แสดงตน 1 คน และพรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่แสดงตน 1 คน

ขณะที่พรรคก้าวไกล แสดงตน 43 คน ไม่แสดงตน 8 คน

ฝั่งพรรครัฐบาล พลังประชารัฐ แสดงตน 54 คน ไม่แสดงตน 43 คน ส.ส.ก๊วนธรรมนัส ไม่แสดงตน 18 คน

พรรคภูมิใจไทย แสดงตน 33 คน ไม่แสดงตน 25 คน ในกลุ่มนี้ติดโควิด 7 คน พรรคประชาธิปัตย์ แสดงตน 35 คน ไม่แสดงตน 15 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงตน 6 คน ไม่แสดงตน 6 คน พรรคชาติพัฒนา แสดงตนครบ 4 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 4 คน ไม่แสดงตน 2 คน

พรรคพลังท้องถิ่นไท แสดงตน 4 คน ไม่แสดงตน 1 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 3 คน ไม่แสดงตน 2 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่แสดงตนทั้ง 2 คน

ขณะที่พรรคเล็กซึ่งมี ส.ส.พรรคละ 1 คน ที่ไม่แสดงตนมี 7 พรรค คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเพื่อชาติไทย

ที่แสดงตนมี 3 พรรค คือ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม และพรรคพลเมืองไทย

 

ทุกครั้งที่สภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในทางลบ ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมักกล่าวโทษโยนความผิดกันไปมา

“องค์ประชุมสภาเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคน ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ในระบบรัฐสภานี้ การจะได้เป็นรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมเสียงข้างมากให้พร้อม นี่ย่อมชี้ชัดว่ารัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีองค์ประชุมไม่ครบไม่ได้” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้

จากสถิติในยุครัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เกิดเหตุสภาล่มถึง 16 ครั้ง ไม่นับการประชุมสภาอีกหลายครั้ง ที่ประธานหรือรองประธานสภาผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ชิงตัดไฟแต่ต้นลม สั่งปิดประชุมเมื่อเห็นว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมบางตา มีแนวโน้มว่าองค์ประชุมไม่ครบ

อย่างไรก็ตาม สภาล่ม 8 ครั้งหลังสุดในสมัยประชุมนี้ (1 พฤศจิกายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565) มีการตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์กบฏพรรคพลังประชารัฐ นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 ต่อเนื่องกรณีนำกลุ่ม 21 ส.ส.ย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ภาพของรัฐบาลคุมเสียง ส.ส.ในสภาไม่ได้ กระทบถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่นอกจากจะต้องปลุกใจ ส.ส.พรรคให้รักสามัคคีกัน ยังยืนยันว่าพรรคไม่ได้ขาลง แม้จะมีคนแยกออกไปตั้งพรรคใหม่ รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม และเลือกตั้งสมัยหน้าพลังประชารัฐจะได้ ส.ส. 150 ที่นั่ง

แต่ฉากดราม่าที่ทำให้ลูกพรรคแทบช็อก คือ พล.อ.ประวิตร ยกมือไหว้ ส.ส.พรรคขอร้องให้เข้าประชุมสภา “สภาต้องไม่ล่ม ผมขอร้องนะ ขอล่ะนะ ขอให้เข้าประชุม ให้แสดงตน อย่าให้ล่มŽ”

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัสว่า ไม่ต้องห่วง ให้เป็นหน้าที่ของตนรับผิดชอบเอง จะเอากลับมาร่วมประชุมสภาทุกครั้ง

จากความขัดแย้งในพลังประชารัฐ ส่งผลต่อองค์ประชุมสภา ล่าสุด ยังเกิดกรณี 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์

เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับวาระพิจารณาขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยได้เปิดแถลงสนับสนุนท่าทีของ 7 รัฐมนตรี

“ผมขอขอบคุณที่ผู้ใหญ่ในพรรคมีแนวทางชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเป็นภาระโดยตรงของประชาชนทุกระดับ ขอบคุณที่กล้าสู้แม้จะอยู่ใน ครม.ชุดเดียวกัน ขอบคุณที่ให้พวกผมได้สู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ” นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ ระบุตอนหนึ่งในการแถลงข่าว

 

วิกฤตการเมืองพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก จากความขัดแย้งแตกหักในพรรคพลังประชารัฐ กลายมาเป็นส่วนสำคัญในเหตุการณ์สภาล่มซ้ำซาก ล่าสุด กรณี 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย บอยคอตการประชุม ครม.

ล้วนเป็นตัวหนุนเสริมให้กระแสข่าว “ยุบสภา” คละคลุ้งมากขึ้น

สอดรับคำทำนายของนายวันชัย สอนศิริ ที่สวมบทโหร ส.ว. พยากรณ์ดวงเมืองเอาไว้ว่า กลางปี 2565 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ รัฐบาลและสภาถึงจุดแตกหัก แม้เป็นเสียงข้างมาก แต่เมื่อสภาล่มแล้วล่มอีก จึงเป็นคำตอบอยู่ในตัวว่าชะตาชีวิตใกล้จะขาดเต็มที

ช่วงนี้ยังพอประคับประคองไปได้แบบสะบักสะบอม พอกลางปีจะกระพือโหมรุนแรงยิ่งขึ้น

“ปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อสภาเปิด ทีนี้แหละทั้งการเมืองและดวงเมืองอีนุงตุงนังกันไปหมด ดาวสำคัญขยับเขยื้อนปะทะกัน ในสภาถึงขั้นแตกหัก จะอยู่หรือไปก็อยู่ในช่วงนั้น” โหร ส.ว.วันชัยระบุ

หากประเมินจากสถานการณ์ในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ในสภาและรัฐบาล

คำทำนายที่ว่ากลางปี 2565 ประเทศจะเปลี่ยนแปลง จึงมีแนวโน้มว่าจะแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริง