เศรษฐกิจ/แบงก์แข่งขันเดือดรับเทรนด์ดิจิตอล เร่งปรับตัว… ไม่ใช่เสือนอนกินอีกต่อไป

เศรษฐกิจ

แบงก์แข่งขันเดือดรับเทรนด์ดิจิตอล

เร่งปรับตัว… ไม่ใช่เสือนอนกินอีกต่อไป

หลายปีก่อนหน้านี้ไม่ผิด หากจะพูดว่าธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งมากธุรกิจหนึ่ง ด้วยเงินทุนและมูลค่าสินทรัพย์ ผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรที่เติบโตทุกปี มีฐานลูกค้าเป็นล้านราย ทั้งยังสั่งสมความน่าเชื่อถือจากการทำธุรกิจมายาวนาน ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นธุรกิจที่มีความมั่งคั่ง-มั่นคงยืนยาว

แต่หลังจากโลกยุคดิจิตอลคืบคลานเข้ามา เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แทบจะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ก็ว่าได้

โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีบล๊อกเชน สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ปลอมแปลงได้ยากขึ้น เข้ามาสั่นสะเทือนระบบแบงก์ในอดีตทันที!!

เกิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ สามารถสร้างฐานลูกค้าได้เทียบเท่ากับฐานลูกค้าธนาคาร หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ อย่าง LINE Facebook WeChat Weibo เป็นต้น

ซึ่งฐานลูกค้าจำนวนมากนี้ทำให้สามารถขยายบริการต่างๆ ได้ด้วย Economy of Scale เช่น LINE มี Rabbit LINE Pay เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเติมเงินเข้ามาเพื่อใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้ เช่น การซื้อสติ๊กเกอร์ เติมเงินมือถือ ซื้อตั๋วภาพยนตร์ ซื้อประกัน บริจาคเงิน ชำระค่าน้ำค่าไฟ ชำระสินค้าต่างๆ เป็นต้น

Facebook มีบริการที่เจ้าของเพจขายสินค้า สามารถเรียกเก็บเงินลูกค้าผ่านการส่งข้อความไปถึงลูกค้าได้โดยตรง

Weibo โซเชียลมีเดียยอดนิยมในจีน มีฟังก์ชั่นที่สามารถกดเรียกแท็กซี่ DiDi ได้และจ่ายค่าบริการผ่าน Alipay ทั้งยังสามารถเติมเงินเพื่อธุรกรรมใน Weibo Wallet รวมทั้งขอสินเชื่อและสามารถระดมทุนแบบ Crowdfunding ได้

อย่างร้านกาแฟ Starbuck ใช้วิธีระดมเงินฝากได้จำนวนมากผ่าน Starbuck Card บัตรเติมเงินเพื่อใช้ซื้อกาแฟ โดยเปิดสะสมแต้มเพื่อแลกส่วนลดหรือของสมนาคุณ จูงใจให้ลูกค้าชำระสินค้าด้วยบัตรแทนเงินสด

สะท้อนว่าทุกวันนี้ธุรกิจธนาคารกำลังถูกรุกคืบมาจากธุรกิจอื่น และมาในรูปแบบที่ไม่ได้เข้ามาแข่งขันโดยตรง ค่อยๆ แทรกซึมดึงส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจธนาคารออกไปมากขึ้น

วันนี้จึงเห็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงของธนาคาร

“อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี ประเดิมด้วยการอัพเกรด SCB EASY ทั้งหน้าตาโมบายแบงกิ้งที่เดิร์นขึ้น และยังปรับฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลายตามพฤติกรรมยุคดิจิตอล คือนอกจากทำธุรกรรมการเงิน ยังใช้ชำระค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชั่นค้นหาร้านอาหาร และได้พัฒนาให้ใช้ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ด้วย ในเร็วๆ นี้

“เมื่อลูกค้านิยมใช้บริการบนออนไลน์ จึงปรับโมบายแบงกิ้งรองรับออนไลน์ แต่ยังให้บริการออฟไลน์ที่สาขาธนาคารเพื่อเป็นทางเลือก ส่วนที่ต้องเปลี่ยนเพราะเป็นเทรนด์โลก ขณะนี้การใช้ออฟไลน์มีน้อยลง และไม่รู้ว่าออฟไลน์จะอยู่ยาวแค่ไหน” อาทิตย์ ระบุ

ขณะที่ “เสนทิป ศรีไพพรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย มองว่าต่อไปคนอาจจะไม่ต้องการธนาคาร แต่ยังต้องการบริการทางการเงิน จึงต้องพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากที่สุด

“TMB Touch” นอกจากการทำธุรกรรมการโอนเงิน จ่ายบิล แล้วยังบริหารจัดการบัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดเรดดี้แคชได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องโทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่เปิดการใช้งานบัตร เปลี่ยนแปลงรหัสและขอรับรหัสบัตรใหม่ อายัดบัตรด้วยตนเอง และสามารถขอให้ออกบัตรใบใหม่ได้ทันที

ในอนาคตอันใกล้ลูกค้าสามารถซื้อขายกองทุนรวมจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เป็นพันธมิตรกับทีเอ็มบีได้ด้วย

ด้าน “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ธนาคารมี Krungsri Mobile Application หรือ KMA ภายใต้คอนเซ็ปต์ ง่ายกว่า เร็วกว่า ครบกว่า

โดยออกแบบให้อิสระลูกค้าในการปรับเปลี่ยนออกเมนูฟังก์ชั่นการใช้งานในหน้าหลักตามที่ต้องการ จาก 11 เมนูการใช้งานหลักนี้

อาทิ โอนเงิน พร้อมเพย์ จ่ายบิล เติมเงิน ถอนเงินผ่านเอทีเอ็ม รายละเอียดบัญชี หรือสิทธิพิเศษ เป็นต้น

และภายในสิ้นปีนี้จะมีฟังก์ชั่นใหม่รองรับในเรื่องของการขอและอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบดิจิตอล และการให้คำปรึกษาทางการเงิน

ส่วนธนาคารกรุงเทพ “ปรัศนี อุยยามะพันธุ์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ให้ข้อมูลว่าได้พัฒนา Bualuang mBanking เพื่อยกระดับประสบการณ์การทำธุรกรรมต่างๆ ให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น

ล่าสุด คือการเพิ่มบัญชี ทั้งบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ บัญชีกระแสรายวัน บัญชีฝากประจำ และบัญชีกองทุนรวมได้ และสามารถเปิดใช้บัตรเครดิต สำหรับลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ และยังเช็กยอดการใช้จ่าย คะแนนสะสม และวงเงินคงเหลือของบัตรเครดิตได้ด้วย

รวมทั้งฟังก์ชั่นใหม่ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไลต์และตอบโจทย์ เช่น ล็อกอินเข้าใช้งานด้วย Touch ID สำหรับ iPhone แสดงรายละเอียดรูดซื้อสินค้าผ่านบัตรเดบิตเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้บัตร เป็นต้น

ข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะธนาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกสิกรไทย มี K PLUS ที่นอกจากทำธุรกรรมทั่วไปแล้ว สามารถขอออกบัตรเดบิตแล้วรอรับบัตรได้เลยที่บ้าน หรือซื้อประกันเดินทางระหว่างประเทศได้ เปิดบัญชีกองทุน ซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุน อายัดบัตรเครดิต โอนเงินต่างประเทศ การขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 2 ปี เป็นต้น โดยไม่ต้องไปที่สาขา เป็นต้น

และเทรนด์ล่าสุด คือ กดเงินสดไม่ใช้บัตร เพียงสั่งการจากโมบายแบงกิ้ง ขณะนี้มีให้บริการแล้วทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารออมสิน เป็นต้น ซึ่งมีทั้งใช้โทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โค้ดบนตู้เอทีเอ็ม หรือกดรหัสที่ได้ผ่านโมบายแบงกิ้งบนตู้เอทีเอ็ม

รายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า บัญชีลูกค้าที่ใช้งานโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2559 อยู่ที่ 20.8 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 13.9 ล้านบัญชี ปริมาณธุรกรรม ปี 2559 เพิ่มเป็น 584 ล้านรายการ จากปี 2558 ที่ 263 ล้านรายการ ส่วนมูลค่าธุรกรรมจาก 2.8 ล้านล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี 2559

แต่ขณะนี้ที่เริ่มเห็นชัดแล้ว คือการเปิดบริการการชำระเงินโดยใช้คิวอาร์โค้ดมาตรฐานของไทย โดยไม่ต้องถอนเงินจากบัญชี ใช้ได้ทั้งในไทยและทั่วโลก โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการรับชำระเงินระหว่างประเทศอย่าง Visa Mastercard และ Unionpay รวมทั้ง JCB ในอนาคตจะเปลี่ยนการให้บริการชำระเงินไปอีกแบบหนึ่ง

ท้ายที่สุดแล้วคือความสะดวกและต้นทุนที่ถูกลง

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีบล๊อกเชนในไทยยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้บริการทั่วๆ ไป เริ่มมีการใช้ในการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างธุรกิจและธุรกิจ รวมทั้งใช้ในการออกหนังสือค้ำประกัน

แต่เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของธนาคาร เพราะหากมีคนพัฒนาเทคโนโลยีนี้เป็นแพลตฟอร์มให้สามารถนำผู้ที่มีสินทรัพย์มาจับคู่กับผู้ที่ต้องการใช้เงิน เพื่อการกู้ยืมกันเองโดยไม่ผ่านธนาคาร คือการกู้ยืมเงินแบบบุคคลกับบุคคลหรือ Peer to Peer Lending เกิดขึ้นได้จริง ธุรกิจสินเชื่อซึ่งรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อถือเป็นสัดส่วนหลักของรายได้ธนาคารนั้นถูกกระทบแน่นอน!!

ดังนั้น เพียงแค่การเปลี่ยนให้บริการมาอยู่บนโมบายแบงกิ้งคงไม่พอ

หลังจากนี้คงเห็นธุรกิจธนาคารลุกขึ้นมาทำอะไรสนุกๆ กันมากขึ้น ซึ่งยังไม่มีใครคาดเดาคำตอบได้ว่าหน้าตาของธุรกิจธนาคารจะเป็นอย่างไร แต่หากสามารถครองใจลูกค้าและเป็นธนาคารแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่ออยากจะใช้บริการ หน้าตาของธุรกิจธนาคารจะเป็นเช่นไรแล้ว…คงไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป