จดหมาย ประจำวันที่ 11-17 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 2165

จดหมาย

 

• ผู้ว่าฯ กทม. (1)

สะท้อนจาก “รสนา”

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์

ดิฉันได้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2565 คอลัมน์ “ในประเทศ” หน้า 9 จั่วหัวว่า “จับตาศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม….” เขียนวิเคราะห์เจาะลึกได้สนุก และมีการลำดับไทม์ไลน์การเปิดตัวของผู้สมัครสุภาพบุรุษ 3 คน

ดิฉันจึงขอถือโอกาสรายงานตัวต่อ บ.ก.ว่า ดิฉันเองได้เปิดเวทีประกาศตัวแสดงเจตจำนงลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ไล่เลี่ยกับคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ดิฉันเปิดตัวง่ายๆ ต่อหน้าประชาชนที่สวนประชาชื่น ใกล้กับสำนักงานใหญ่มติชนนี่เอง และได้ทำเป็นคลิปเผยแพร่ สามารถเปิดเข้าไปดูได้นะคะ

ทุกวันนี้ก็มีสื่อเล็กๆ จำนวนหนึ่งมาสัมภาษณ์เรื่องที่ดิฉันประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดิฉันจะเคยเป็น ส.ว.กทม.ที่ได้รับคะแนนโหวตจากคนกรุงเทพฯ 743,397 คะแนน

แต่ก็รู้ตัวดีว่ายังเป็นม้านอกสายตาสำหรับสื่อหลัก

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์และช่วยเขียนถึงว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หญิงบ้างนะคะ

ด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ

รสนา โตสิตระกูล

 

ต้องยอมรับว่า สื่อให้พื้นที่

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. “ม้านอกสายตา” น้อยจริงๆ

เมื่อ “รสนา โตสิตระกูล”

ส่งเสียงมา

ก็ยินดีเปิดพื้นที่ให้

และเชิญชวนผู้สนใจโปรดติดตามคลิปที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ตามสะดวก

 

• ผู้ว่าฯ กทม. (2)

สะท้อนจาก “โพล”

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,067 คน ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2565

พบว่า ประชาชนมองว่าการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. ครั้งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง มีแพ้มีชนะ ร้อยละ 41.30

รองลงมาคือ มองว่าคนไปใช้สิทธิน้อยกว่าที่คาดไว้ ร้อยละ 40.45

จากผลการเลือกตั้งซ่อมรู้สึกสมหวัง ร้อยละ 39.64

รู้สึกผิดหวัง ร้อยละ 12.09

และรู้สึกเฉย ๆ ร้อยละ 48.27

โดยมองว่าผลการเลือกตั้งซ่อมส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในด้านผู้สมัครที่จะต้องปรับกลยุทธ์การทำงาน ขยันลงพื้นที่ ร้อยละ 67.04

และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยในภาพรวม ร้อยละ 60.83

ไม่มีผลกระทบ ร้อยละ 39.17

ทั้งนี้ การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ประชาชนจับตาดูผลงานของนักการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 77.13

รองลงมาคือ การหาเสียงดุเดือด บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น ร้อยละ 60.44

 

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งซ่อมเพียงหนึ่งเขต ประกอบกับอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย จึงอาจทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลดลง

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เป็นเพียงการประลองกำลังความนิยมของพรรคการเมือง

แต่ถ้าหากว่าพรรคพลังประชารัฐยังไม่มีการปรับกลยุทธ์ทั้งตัวผู้สมัครที่จะต้องลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงประชาชน ความสั่นคลอนภายในพรรคที่ดูเหมือนยังหาจุดลงตัวไม่ได้ ประกอบกับความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีลดลง

และหากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถสรรหาคนที่มีราคาเพียงพอที่คนกรุงเทพฯ จะซื้อได้ เกิดพ่ายแพ้ในสนามผู้ว่าฯ กทม.อีก

เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าพรรคพลังประชารัฐอาจไปไม่ถึงการได้เป็นรัฐบาล

และอาจล่มสลายแปรเปลี่ยนไปรวมกับพรรคอื่น หรือตั้งพรรคใหม่

นับจากนี้คงต้องห้ามกะพริบตาเพราะการเมืองไทยผันแปรได้เสมอ

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจพร พึงไชย

ผู้ช่วยคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

ควันหลงจากการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม.

หลายฝ่าย รวมถึงสวนดุสิตโพลเห็นตรงกัน

นั่นคือ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งทั่วไป

เราคงต้องติดตามต่อไป

ว่าพรรคและเหล่าผู้สมัคร ทั้งในและนอกกระแส

จะปรับตัวสู้กันอย่างไร

เราในฐานะคนเลือก ก็ต้องรับรู้

เพื่อให้เท่าทัน