การศึกษา/ยกเครื่อง…โครงสร้างภูมิภาค เดินหน้าปฏิรูป…อัตรากำลัง??

การศึกษา

ยกเครื่อง…โครงสร้างภูมิภาค เดินหน้าปฏิรูป…อัตรากำลัง??

การออกมาเคลื่อนไหวของชมรมนักประชาสัมพันธ์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เกิดขึ้นภายหลังร่างรายละเอียดโครงสร้างกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รวมถึง การจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้อนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอ หลุดออกมา

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างอัตรากำลังดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้วิธีเกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)

การออกมาเคลื่อนไหวของชมรมนักประชาสัมพันธ์ฯ ครั้งนี้ เพราะวิเคราะห์ว่ากรอบอัตรากำลังใหม่ของ สพฐ. สร้างความไม่สบายใจให้กับบุคลากรในหลายๆ กลุ่มงาน เนื่องจากปรับลดทั้งจำนวนคน และในบางตำแหน่ง ความก้าวหน้าถอยหลังลงอีก

ซึ่งทางชมรมประชาสัมพันธ์ฯ มองว่าหากกรอบอัตรากำลังนี้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะมีบุคลากรในกลุ่มงานต่างๆ ได้รับผลกระทบหลายกลุ่มงานเลยทีเดียว

เช่น กลุ่มอำนวยการ อย่างตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) จะถูกลดเหลือแค่ระดับชำนาญการ (ระดับ 7) นักจัดการงานทั่วไป ระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) เดิมมีเป็นระดับชำนาญการพิเศษ 2 ตำแหน่ง จะถูกตัดเหลือนักจัดการงานทั่วไป (ระดับ 8) เพียงตำแหน่งเดียว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มงานอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกรอบอัตรากำลังดังกล่าว ทั้งกลุ่มบริหารงานการเงินและทรัพย์สิน กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา เป็นต้น

ซึ่งขณะนี้กลุ่มต่างๆ อยู่ระหว่างเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านกรอบอัตรากำลังดังกล่าวเช่นกัน

โดยจะเข้ายื่นหนังสือถึง “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการ ศธ., ผู้บริหาร สพฐ., สำนักงาน ก.ค.ศ. และผู้เกี่ยวข้อง

เพื่อขอให้ทบทวนร่างกรอบโครงสร้างอัตรากำลังดังกล่าว

“นายสมศักดิ์ คชฤทธิ์” ที่ปรึกษาชมรมนักประชาสัมพันธ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของนักประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มงานหนึ่งที่อยู่ในข่ายถูกตัดลดความก้าวหน้าลง ต่างวิตกกังวลกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ประกอบวิชาชีพนักประชาสัมพันธ์สังกัด สพฐ.

เนื่องจากความก้าวหน้ากลับถอยหลังลง จากที่เคยก้าวหน้าเป็นระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) แต่กรอบใหม่กลับตีค่างานให้อยู่ในระดับความก้าวหน้าเพียงชำนาญการ (ระดับ 7) เท่านั้น

ทั้งที่ผู้ประกอบวิชาชีพนักประชาสัมพันธ์ ถือเป็นวิชาชีพหนึ่งที่เป็นกลุ่มงานที่มีความสำคัญในการช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และของ ศธ. ในการปฏิรูปการศึกษาในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปถึงการปรับโครงสร้างอัตรากำลังเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น นายสมศักดิ์ระบุว่า นักประชาสัมพันธ์ในสังกัด ศธ. ถือว่าได้รับการยอมรับว่ามีผลงาน และเป็นวิชาชีพที่ก้าวหน้าได้ถึงระดับชำนาญการพิเศษ

แต่เมื่อปฏิบัติงานมาถึงปี 2560 ความก้าวหน้ากลับลดลง ทั้งๆ ที่ภารกิจ และขอบข่ายของงานเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติงานต้องครอบคลุมภารกิจของงานอื่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนสถานศึกษา ครู นักเรียน ประชาชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด กำลังบุคลากรก็ไม่เพียงพอ

โดยเฉพาะปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาล และ ศธ. เน้นให้ความสำคัญของงานประชาสัมพันธ์ ว่าเป็นหัวใจหนึ่งที่จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ “นายมาวิน จันโทสถ” ประธานชมรมนักประชาสัมพันธ์ฯ พร้อมผู้แทนกลุ่มสมัชชาบุคลากรทางการศึกษา ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แล้ว เพื่อขอให้ทบทวนกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แล้ว เพราะรู้สึกไม่สบายใจกับการเกลี่ยอัตรากำลังตามการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของ ศธ. ในส่วนภูมิภาค

ซึ่งในส่วนของตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์มีอัตราน้อยลงจาก 2 ตำแหน่ง เหลือ 1 ตำแหน่ง และลดระดับเหลือเพียงระดับปฏิบัติการ หรือชำนาญการ (ระดับ 7) ทำให้บุคลากรหมดกำลังใจ

ขณะเดียวกัน บุคลากรที่ลดลงยังไม่สอดคล้องกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ และแม้ว่ากรอบดังกล่าวจะเป็นกรอบอัตรากำลังที่ใช้ในระยะแรก และเมื่อประกาศใช้ไปครบ 1 ปี ให้ติดตามการปฏิบัติงาน และภาระงานที่แท้จริงอีกครั้ง แต่บุคลากรทุกคนก็รู้สึกไม่สบายใจ และขาดกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะรุ่นน้องที่ตั้งใจทำงาน และหวังเติบโตตามสายงานที่ทำ

ดังนั้น การที่นักประชาสัมพันธ์ทั้ง 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อขอความ “เห็นใจ” จากผู้เกี่ยวข้อง สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของนักประชาสัมพันธ์ด้วยใจรัก และเสียสละมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านผู้บริหาร ศธ. อย่าง “นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” ปลัด ศธ. ระบุว่า การกำหนดกรอบอัตราดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงตามภารกิจ และโครงสร้างของหน่วยงานในสังกัด ศธ. ในส่วนภูมิภาค ซึ่งต้องปรับอัตรากำลังให้เหมาะสมกับภารกิจ โดยมีคณะทำงานวิเคราะห์ภารกิจ และกำหนดอัตรากำลัง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สพฐ., สำนักงานปลัด ศธ. และสำนักงาน ก.ค.ศ. โดยที่ประชุม ก.ค.ศ. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามาตรา 38 ค.(2) ใน 225 เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ จำนวน 12,276 ตำแหน่ง ตามที่ สพฐ. เสนอ

โดยการเห็นชอบกรอบอัตรากำลังครั้งนี้ เป็นกรอบอัตรากำลังที่ใช้ในระยะแรก และเมื่อประกาศใช้ไปครบ 1 ปีแล้ว ให้ติดตามการปฏิบัติงาน และภาระงานที่แท้จริง เพื่อปรับปรุงกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสมต่อไป

“การปรับกรอบอัตรากำลังดังกล่าว เป็นไปตามการวิเคราะห์ภารกิจการทำงานที่เหมาะสมในแต่ละส่วนงาน แน่นอนว่ามีผู้ได้รับผลกระทบหลายส่วน นอกจากตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมีกลุ่มงานนโยบายและแผนบางส่วนที่ถูกปรับลดอัตรากำลังลง แต่ยืนยันว่าการเกลี่ยอัตรากำลังครั้งนี้ ไม่กระทบกับตัวบุคคล ไม่มีการลดตำแหน่ง และเงินเดือนแน่นอน และหาก สพฐ. ประเมินแล้วเห็นว่าการกำหนดกรอบอัตรากำลังดังกล่าว มีผลกระทบต่อการทำงาน มีความจำเป็น ก็สามารถเสนอให้บอร์ด ก.ค.ศ. พิจารณาใหม่ได้” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ล่าสุด “นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์” เลขาธิการ ก.ค.ศ. ออกมาแจกแจงว่า การกำหนดกรอบอัตราตำแหน่งดังกล่าว เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

เช่น บางตำแหน่งต้องมีลูกน้อง 4 คน ถึงจะมีชำนาญการพิเศษได้ 1 ตำแหน่ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนโยบายชัดเจนว่าการกำหนดกรอบอัตรากำลังใหม่ จะต้องไม่กระทบกับคนเดิม ดังนั้น คนเดิมยังสามารถทำงานได้ ทั้งนี้ เข้าใจว่าที่กังวล เพราะกลัวว่าลูกน้องจะไม่โตในสายงานที่ทำ ดังนั้น หากปฏิบัติงานไป 1 ปี แล้ว สพฐ. พิจารณาแล้วว่าอัตรากำลังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับภาระงาน ก็สามารถเสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาใหม่ได้

ดังนั้น แนวโน้ม ศธ. จะยังคงเดินหน้าใช้กรอบอัตรากำลังใหม่นี้ต่อไป และจะประเมินภายหลังจากใช้ปฏิบัติงานจริง 1 ปี เมื่อถึงเวลานั้น ค่อยมาว่ากันใหม่!!