‘สุริยวงศ์-จันทรวงศ์’ สร้างวงศ์วานที่สืบเชื้อสายเทพเจ้าในอุษาคเนย์ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

‘สุริยวงศ์-จันทรวงศ์’

สร้างวงศ์วาน

ที่สืบเชื้อสายเทพเจ้าในอุษาคเนย์

 

“สุริยวงศ์” กับ “จันทรวงศ์” นั้นเป็นชื่อราชวงศ์ที่สำคัญที่สุด 2 ราชวงศ์ ตามปรัมปราคติของชมพูทวีป โดยเฉพาะในคัมภีร์ประเภทปุราณะ และมหากาพย์ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ทั้งชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองราชวงศ์นี้ก็ปรากฏอยู่ในปกรณ์ของศาสนาในชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาเชนด้วย

บรรดาพ่อพราหมณ์ทั้งหลายท่านเชื่อว่า “สุริยวงศ์” นั้น ก่อตั้งโดยพระเจ้าอิกษวากุ ดังนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชวงศ์อิกษวากุ” ตามตำนานว่า หลังจากน้ำท่วมโลกแล้ว ลูกชายของพระมนู ไววัศวัต คืออิกษวากุ ได้ก่อตั้งราชวงศ์อิกษวากุขึ้น พร้อมกับสร้างเมืองที่แคว้นโกศล

แต่บางตำนานก็เล่าต่างออกไปว่า พระมนูได้สร้างเมืองอโยธยาขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสรยุ ซึ่งก็คือเมืองเดียวกับที่พระรามปกครองตามท้องเรื่องในมหากาพย์รามายณะ และก็แน่นอนโดยว่า ความเชื่อว่าเมืองอโยธยาเป็นเมืองของฝ่ายสุริยวงศ์นั้น เป็นความเชื่อที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากกว่า

ส่วนชื่อของราชวงศ์นั้นได้มาจากการที่ปรัมปราคติของพราหมณ์ระบุว่า พระมนูนั้นเป็นบุตรชายของพระสุริยะ ดังนั้น จึงเรียกราชวงศ์นี้ว่า “สุริยวงศ์”

ในคัมภีร์พุทธวงศ์ ซึ่งก็คือหนังสือว่าด้วยวงศ์ของพระพุทธเจ้า และมหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปนั้น ระบุว่า ศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกากะ ซึ่งก็คือพระเจ้าอิกษวากุ ในชื่อเรียกแบบบาลี ดังนั้น ชาวพุทธจึงถือว่าพระพุทธเจ้าเกิดในสุริยวงศ์ด้วยเช่นกัน

และนี่ก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ความเชื่อเรื่องวงศ์ของกษัตริย์ที่สืบสายมาจากเทพเจ้าในชมพูทวีปนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ทางฝั่งของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อที่แพร่หลายทั่วไปในสังคมอินเดียยุคโบราณ

 

ส่วน “จันทรวงศ์” นั้นเป็นวงศ์ที่มีปฐมกษัตริย์ชื่อปุรุราวัส ซึ่งเป็นบุตรของพุธ และมีพระโสมะ (พระจันทร์) เป็นปู่

ราชวงศ์นี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “จันทรวงศ์” หรือ “โสมะวงศ์” คือ “วงศ์ของพระจันทร์”

ในคัมภีร์ฤคเวทระบุว่า ปุรุราวัสเป็นลูกของนางอิลา ส่วนในมหาภารตะอ้างว่า นางอิลาเป็นทั้งพ่อและแม่ของปุรุราวัส (ต้นเค้าของเรื่องอิลราชคำฉันท์ ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร [ผัน สาลักษณ์] แต่งขึ้นเมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสารประเสริฐ เมื่อ พ.ศ.2456 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6) บางครั้งจึงมีการเรียกราชวงศ์นี้ว่า “อิลาวงศ์”

ที่น่าสนใจก็คือ หลายครั้งเลยทีเดียวที่จะมีการอ้างกันว่า นางอิลานั้นเป็นลูกของพระมนู นางในเทพปกรณ์คนนี้จึงเป็นพี่น้องกับอิกษวากุ ผู้ก่อตั้งสุริยวงศ์ด้วย เรียกได้ว่าทั้ง 2 ราชวงศ์นี้มีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันอยู่

ในมหากาพย์มหาภารตะระบุเอาไว้ว่า ปุรุราวัสมีหลานชายชื่อ ยยาติ ซึ่งมีลูกอีก 5 คนชื่อว่า ยทุ, ตุรวาสุ, ทรุหยุ, อนุ และปุรุ ซึ่งคือชื่อของชนเผ่าโบราณทั้ง 5 ที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท

ถึงผมจะไม่บอก แต่ก็คงจะสังเกตกันได้นะครับว่า ตำนานเรื่องสายจันทรวงศ์นี้ ถูกสร้างขึ้นเผื่อผูกโยงสร้างความเป็นเครือญาติระหว่างเผ่าต่างๆ ในอินเดีย ที่มาเก่าก่อนพุทธกาล ให้เป็นพวกเดียวกัน ในขณะเดียวกับที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสายตระกูลที่ถูกนับว่าเป็นพวกเดียวกัน ว่ามีเชื้อสายของเทพเจ้า พร้อมๆ กับที่บรรจงถีบผู้คนกลุ่มอื่นๆ ให้ต้อยต่ำกว่าพวกของตน

ที่สำคัญก็คือ ความในมหาภารตะนั้น ยังได้ระบุด้วยว่า พระกฤษณะซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์เกิดในราชวงศ์ยทุวงศ์ จึงถือกันว่า พระกฤษณะเป็นสายจันทรวงศ์

ดังนั้น นอกจากที่จันทรวงศ์จะสืบสายมาจากพระโสมะ คือพระจันทร์แล้ว ผู้คนในวงศ์นี้ยังเป็นเชื้อสายของพระกฤษณะ เช่นเดียวกับที่ผู้ที่สืบสายสุริยวงศ์ จะนับว่าเป็นคนในวงศ์ของพระราม แถมยังดูเหมือนว่า ถูกอ้างอิงถึงมากกว่าการเป็นลูกหลานของพระสุริยะ หรือพระโสมะอีกด้วย

 

แต่ผู้ที่อ้างตนว่าสืบสายมาจากพระราม หรือพระกฤษณะ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในอินเดีย และอาณาปริมณฑลทางวัฒนธรรมโดยรอบเท่านั้นนะครับ

เพราะเมื่อกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ในอุษาคเนย์ยุคหลัง พ.ศ.1000 ยอมรับเอาศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู เข้ามา ก็รับเอาแนวคิดเรื่องนี้เข้ามาพร้อมๆ กันด้วย

ในวัฒนธรรมขอม ซึ่งก็คือเขมรนั้น มีศิลาจารึกเล่าถึงตำนานกำเนิดวงศ์ของตนเองว่า เกิดมาแต่ฤๅษีกัมพุช กับนางอัปสรเมรา ซึ่งนักอ่านจารึกระดับตำนานอย่างยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ได้เคยเสนอความเห็นเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Indianized States of Southeast Asia ว่า เป็นเรื่องราวที่คล้ายกับตำนานของราชวงศ์ปัลลวะ แห่งเมืองกาญจีปุรัม ทางใต้ของประเทศอินเดีย มาใช้เป็นตำนานกำเนิดราชวงศ์ของตนเอง (และจึงไม่ต้องแปลกใจด้วยว่าทำไมจึงใช้ชื่อประเทศว่า กัมพูชา)

แต่ที่เกี่ยวกับเราในที่นี้ก็คือ พ่อเจ้าประคุณฤๅษีกัมพุช ที่ว่านี่ ถูกอ้างไว้ว่าสืบเชื้อสายสุริยวงศ์มาตั้งแต่ในอินเดียใต้แล้ว ดังนั้น ทั้งศรุตวรมัน และเศรษฐวรมัน (ผู้สถาปนาเมืองเศรษฐปุระ ที่เซเดส์เชื่อกันว่า อยู่ในบริเวณแม่น้ำบาสักในประเทศกัมพูชา) แห่งเจนละ (คำที่เอกสารจีนโบราณใช้เรียกเขมร) ที่สืบเชื้อสายมาจากฤๅษีกัมพุชนั้น ก็ย่อมสืบสายสุริยวงศ์ของพระรามมาด้วย

แถมนี่ผมยังไม่นับตำนานกำเนิดรัฐฝูหนาน (หรือที่ในโลกภาษาไทยมักเรียกว่า ฟูนัน) อันเป็นรัฐยุคแรกเริ่มของอุษาคเนย์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่แถบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ในประเทศเวียดนาม ที่ถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเจนละในภายหลัง จากจารึกที่เมืองหมี่เซิ่น ประเทศเวียดนาม ซึ่งพูดถึงเกาฑิณยะ (เอกสารจีนโบราณเรียก ฮวนเตียน ว่าเดินทางจากอินเดีย แล้วมาเสกสมรสกับนางนาคโสมา (เอกสารจีนเรียก หลิวเย่) โดยนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ชื่อ “โสมา” ในที่นี้ ตำนานตั้งใจจะเล่าให้เห็นถึงกำเนิดของ “จันทรวงศ์” ในเขมรโบราณ

และก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งด้วยว่า ทั้งที่เป็นตำนานต้นกำเนิดฝูหนาน แต่กษัตริย์เขมรโบราณฝ่ายเจนละนั้น กลับมักที่จะอ้างว่าสืบสายมาจากวงศ์ของเกาฑิณยะ และนางนาคโสมา โดยเฉพาะเมื่อนักวิชาการหลายท่านลงความเห็นว่าตรงกับตำนาน “พระทอง-นางนาค” ของเขมรรุ่นหลัง ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

แต่ตำนานการเกิดฝูหนานนั้นก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกับตำนานเรื่องฤๅษีกัมพุช คือนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่า มีเค้าโครงเรื่องมาจากอินเดียใต้ โดยในกรณีของเซเดส์นั้น เคยหล่นความเห็นไว้ในหนังสือเล่มเดิมว่า คล้ายตำนานของราชวงศ์ปัลลวะ ที่เมืองกาญจีปุรัมเช่นเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ The Ocean of Churn : How the Indian Ocean Shaped Human History ของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คนดังของอินเดียในยุคปัจจุบันอย่างสัญจีพ สาลยัล (Sanjeev Salyal) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ชื่อ “เกาฑิณยะ” นั้นไม่ใช่ชื่อที่พบทั่วไปในอินเดีย แต่เป็นชื่อที่ใช้กันในหมู่คนเชื้อสายพราหมณ์ ที่อาศัยอยู่ทางชายฝั่งของรัฐโอริสสาต่อเนื่องมาถึงรัฐอาธรประเทศ ในประเทศอินเดีย เท่านั้น

แต่ไม่ว่า “พระทอง” หรือพ่อพราหมณ์เกาฑิณยะจะเดินทางมาจากที่ไหนก็ตาม เชื้อวงศ์กษัตริย์เขมรโบราณ ได้อ้างถึงความเป็นวงศ์วานว่านเครือของพระกฤษณะ และพระรามไปด้วย

และก็แน่นอนนะครับว่า ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้มีเฉพาะในเขมรแค่กลุ่มเดียว แต่ก็มีในกลุ่มรัฐยุคโบราณกาเลอื่นๆ ของอุษาคเนย์ด้วย

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจไปว่า ทำไมจึงเจอรูปพระกฤษณะ พระนารายณ์ หรือภาพสลักเรื่องรามายณะกันให้เพียบไปทั่วทั้งภูมิภาคของเรา

แถมยังมีการจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองในสุริยวงศ์ และจันทรวงศ์ ได้แก่ อโยธยา หรืออยุธยา และทวารกา หรือทวารวดี ตามลำดับ มาไว้ที่อุษาคเนย์ด้วย

ก็มันเป็นรูปสลัก และเมืองของพระราม และพระกฤษณะ บรรพชนที่เป็นเทพเจ้า ซึ่งทำให้เชื้อสายของกลุ่มราชวงศ์ต่างๆ เหล่านี้ ศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งยิ่งกว่าไพร่ทาสธรรมดายิ่งๆ ขึ้นไปนั่นเอง