คุยกับคนทำ ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’ ปวศ. ไม่ใช่ ‘ของหวาน’ และควรรับใช้ ‘อนาคต’

ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทีมงานมติชนทีวีติดต่อขอสัมภาษณ์ “ชาติชาย เกษนัส” ผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งสร้างชื่อเสียงจากหนังร่วมทุน-ข้ามวัฒนธรรม “ไทย-เมียนมา” เรื่อง “ถึงคน…ไม่คิดถึง” (From Bangkok to Mandalay) และหนังผีพม่าอย่าง “มาร-ดา” (The Only Mom)

ตลอดจนรายการสารคดี “โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง” อันเป็นต้นธารของผลงานชิ้นโบแดงเรื่องล่าสุดของเจ้าตัว

การพูดคุยดำเนินไปท่ามกลางบริบทที่เพิ่งเกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศเมียนมา โดยมีเสียงต่อต้านจากภาคประชาสังคม รวมถึงเหล่าดาราดังของประเทศเพื่อนบ้านที่ออกมาประท้วงเผด็จการทหารกันอย่างมากมาย

ซึ่งชาติชาย ในฐานะนักทำหนังชาวไทยผู้เข้าไปทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมบันเทิงเมียนมา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังกล่าวไว้อย่างครอบคลุม ผ่านคลิป “เจาะลึกวงการบันเทิงเมียนมา ธุรกิจใต้ชายคากองทัพ แต่ดารากล้าต้านรัฐประหาร!” ในช่องยูทูบมติชนทีวี

เมื่อต้นปีก่อน ชาติชายยังเล่าให้ฟังด้วยว่าเขากำลังเร่งทำงานในโปรเจ็กต์ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ละครอิงประวัติศาสตร์ที่เดิมทีวางแผนจะเดินทางเข้าไปถ่ายทำกันในเมียนมา ทว่า แผนงานกลับต้องหยุดชะงักลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิดและการรัฐประหารโดยกองทัพ

มาถึงต้นปีนี้ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” กลายมาเป็นละครโทรทัศน์ที่แพร่ภาพทางช่องไทยพีบีเอส และกำลังถูกพูดถึงด้วยน้ำเสียงชื่นชมในวงกว้าง

เราจึงอยากนำเสนอเนื้อหาบางส่วนจากบทสัมภาษณ์เก่าเมื่อปี 2564 ซึ่งผู้กำกับฯ ละครดัง กล่าวถึงสายสัมพันธ์ระหว่าง “สื่อบันเทิง” กับ “ประวัติศาสตร์” และ “สังคมการเมือง” ไว้อย่างน่าสนใจ

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เมื่อถามว่าทำไมประเด็นทางการเมืองและประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นจริงจังจึงแทบไม่ปรากฏในสื่อบันเทิงหรือภาพยนตร์ไทย?

ชาติชายให้คำตอบในลักษณะ “คนในวิพากษ์คนใน” ไว้อย่างน่าขบคิด

“ผมคิดว่าตอนนี้ที่หนังไทยกำลังเสื่อมศรัทธาลง ก็เป็นเพราะว่ามัวแต่ไปใส่ใจเรื่องหน่อมแน้ม มัวแต่ใส่ใจเรื่องที่จะต้องได้เงิน ได้กำไรกลับมา คือคุณไปสนใจแต่เรื่องตรงนั้นอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็เลยละเลยปัญหาสังคม

“ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โดยแก่นสารของความเป็นภาพยนตร์หรือหนังสือนิยายอะไรก็ตามแต่ เรื่องเล่ามันต้องมีความขัดแย้ง คุณจะมีแต่เรื่องโลกสวย เรื่องก๊อกแก๊ก มันคงเป็นได้แค่ขนมหวาน แต่ถ้าเกิดคุณจะกินอาหารมื้อใหญ่ที่มันฟูลสเกล ที่มันขับเคลื่อนอะไรได้จริงๆ มันก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องจับปัญหาที่มันอยู่ในสังคมออกมา

“ผมคิดว่าอย่างเกาหลี เรื่องที่เกาหลีทำแต่ละเรื่อง โอ้โห! แหม ‘Kingdom’ อย่างเนี้ย คือเขาก็พูดได้ทุกเรื่อง แล้วก็มันเป็นข้อถกเถียงในสังคม ซึ่งตรงนี้มันก็เลยถึงอกถึงใจคนดู

“ปรากฏการณ์ ‘ออเจ้า’ ก็เป็นปรากฏการณ์โหยหาอดีตของสังคมไทย ที่ยังฝันหวานถึงอะไรหลายๆ อย่างในอดีต ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเกิดคนศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้น โอ๊ย! มันไม่ได้หวานซะขนาดนั้น มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทั้งหมด”

คําถามต่อเนื่อง คือ สื่อบันเทิงไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะ “คนดู” ไม่พร้อมรับอะไรหนักๆ หรือเปล่า?

ผู้กำกับฯ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ตอบกลับมาโดยฉับพลันว่า “ผมเชื่อว่าพร้อม เพียงแต่ว่าผู้ผลิตไปเซ็นเซอร์ตัวเอง แล้วก็ไม่กล้าพอที่จะทำมากกว่า”

ก่อนที่เขาจะอธิบายต่อ “ทุกๆ ปัญหาในสังคมไทยมันต้องหยิบขึ้นมาพูดได้ แล้วก็มันอยู่ที่ว่าเราจะพูดด้วยความต้องการอะไร พูดเอาแค่สะใจแบบทะเลาะกันไปล้มโต๊ะ มันก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร

“แต่ถ้าหยิบมา เปิดแผลมา มาดูกัน เอากันจริงๆ เพื่อให้มันไปข้างหน้าได้ ผมว่ามันจำเป็น แล้วก็เรื่องประวัติศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะช่วง 50-100 ปีที่ผ่านมา ควรที่จะพูดกัน ควรที่จะศึกษากันให้เต็มที่ เพราะว่าเราเหมือนคนที่ป่วยไข้ เราไม่สามารถที่จะก้าวพ้นความเกลียดชังในคนไทยกันเองได้ เราไม่สามารถจะก้าวพ้นเรื่องข่าวปลอมได้

“เราก้าวพ้นไม่ได้ เพราะ 6 ตุลา เราก็ไม่เคยที่จะเข้าไปสำรวจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่จริงๆ อะไรหลายอย่างก็ถูกเปิดเผยข้อมูลมาหมดแล้ว

“แล้วผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่คือเขาไปไกล การที่เขาเร็วในการสืบค้นสืบหาข้อมูล เขาเปรียบเทียบข้อมูลได้เร็วมาก ปกติเราเสิร์ชข้อมูลแค่หน้าจอเดียว แต่เขาสามารถอ่านสามสี่มุมได้พร้อมๆ กัน แล้ววิเคราะห์ได้ ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

“แล้วก็วิวาทะในชุมชน การออกมาวิวาทะโต้ตอบกัน มันจะต้องไม่ใช่แบบ ‘โต้คารมมัธยมศึกษา’ ที่เน้นเอามัน แต่สุดท้ายมันต้องเน้นเอาความจริง คือรายการแบบโต้คารมมัธยมศึกษา ใช้ไม่ได้และไม่ควรมีแล้วในสังคมไทย เพราะเราสร้างนักพูดที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรขึ้นกับสังคมมากนัก”

สําหรับชาติชาย “หน้าที่สำคัญ” ของ “ประวัติศาสตร์” ก็คือ “การรับใช้อนาคต” ดังที่เขาบรรยายว่า

“เวลาที่ผมทำงานประวัติศาสตร์ ผมก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ บอกว่าประวัติศาสตร์นี่มันควรที่จะรับใช้อนาคต

“แล้วก็ในความเป็นจริงแล้ว การมองย้อนกลับไปในอดีต ก็ไม่สามารถที่จะเห็นความจริงได้ทั้งหมดหรอก หรือกระทั่งในปัจจุบัน เราก็มีความจริงในมุมมองของเราแยกส่วนกันหลากหลาย ความจริงเฉพาะของเราก็เป็นแบบหนึ่ง การตีความก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คือเราพยายามที่จะมองเห็นภาพที่ใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด จากหลักฐาน จากการตีความ จากการให้เหตุผล

“แล้วสุดท้ายมันควรที่จะรับใช้อนาคต ควรจะรับใช้อนาคตในเชิงที่ว่า ณ ที่ว่างตรงนั้น มันยังมีที่ให้เราพอที่จะเข้าใจและรักกันได้อยู่หรือเปล่า? ซึ่งผมว่าตรงนี้มันสำคัญ”

“อนาคต” ที่ “ประวัติศาสตร์” ควรรับใช้ นั้นยึดโยงอย่างแน่นแฟ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ดังที่คนทำหนังผู้เดินทางข้ามพรมแดนไทย-เมียนมาเป็นประจำ เสนอว่า

“ผมคิดว่าไอ้การเปิดแผลอะไรก็ตามแต่ ทำเถอะ แต่ว่าสุดท้าย มันต้องมีความเป็นมนุษย์ มีพี่มีน้อง อยู่ในตรงนั้นด้วย”

สารทำนองนี้ปรากฏอยู่ในผลงานภาพยนตร์-รายการสารคดีแทบทั้งหมดของ “ชาติชาย เกษนัส”

รวมถึงยังเป็นประเด็นหลักใน “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ด้วย