สัญญาณจากอาคเนย์ฯ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

สัญญาณจากอาคเนย์ฯ

 

กลุ่มทีซีซี ก่อกระแสความสนใจอย่างต่อเนื่อง ว่าด้วยความเคลื่อนไหวและแรงกระเพื่อมภายในเครือข่ายธุรกิจใหญ่

เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว กับกิจการในเครือข่ายแห่งหนึ่ง-บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH ซึ่ง “ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจการเงิน (ลิสซิ่งและสินเชื่อองค์กร)…”

ด้วยถ้อยแถลงซึ่ง “ช็อก” ผู้คนในวงการธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องไม่น้อยเลย

“ตามที่บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยสารสนเทศมติที่ประขุมคณะกรรมการของบริษัท เกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทย่อย กล่าวคือ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)…เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีมติในเรื่องที่สำคัญ… ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ที่ได้เปิดเผยไปก่อนหน้านี้” (สาระสำคัญของหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ)

ที่ “ช็อก” กันนั้น เนื่องด้วยเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นกิจการเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย-กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี อีกมิติหนึ่งซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบ ถึงความเกี่ยวข้องกับตำนานกิจการเก่าแก่ในสังคมไทย

 

อย่างเป็นที่รู้กันอีกว่า เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ไม่เพียงเป็นนักล่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นมาอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในทศวรรษ 2530 หากรวมถึงการซื้อกิจการธุรกิจอย่างหลากหลาย ต่อเนื่องมา โดยเฉพาะกิจการเก่าแก่ทั้งในไทยและระดับภูมิภาค คาบเกี่ยวกับช่วงปี 2546 กลุ่มทีซีซีแห่งตระกูลสิริวัฒนภักดี มีการปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้เป็นระบบมากขึ้น แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ ให้บรรดาทายาทเข้ามีบทบาทบริหารมากขึ้น

มาอีกช่วงหนึ่ง กลุ่มทีซีซีเคลื่อนไหวอย่างคึกคักอย่างน่าสังเกต เชื่อกันว่าเป็นไปตามมุมมองในแง่ดี โดยเฉพาะเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศไทย เป็นไปตามกระแสธุรกิจไทยรายใหญ่โดยรวมด้วย

มีการขยับตัวครั้งสำคัญ โดยเฉพาะพาเหรดกันเข้าตลาดหุ้น เปิดฉากขึ้นเมื่อกลางปี 2562 อย่างที่เคยว่าไว้ “สะท้อนยุทธศาสตร์ใหม่ ธุรกิจใหญ่ไทย ว่าด้วยแผนการปรับตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่” เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างๆ ว่า เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งเตรียมการมาล่วงหน้า สัมพันธ์กับอีกช่วงการเมืองไทยที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งว่างเว้นมา 5 ปีเต็ม

ในจังหวะนั้น กิจการอสังหาริมทรัพย์ในเครือทีซีซี ของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ดูคึกคักครึกโครมเป็นพิเศษ เมื่อแอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ภายใต้การบริหารบุตรีคนรอง เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น

ขณะเดียวกันอีกกิจการภายใต้การบริหารบุตรคนเล็ก-Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากเข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทย (ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICO) แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT แผนการเป็นไปค่อนข้างเงียบเมื่อต้นปี 2562

ตามยุทธศาสตร์เข้าตลาดหุ้นไทยทางลัด ที่เรียกว่า Backdoor listing (อรรถาธิบายไว้ในตอนที่แล้ว)

 

ในจังหวะเดียวกันนั้น ธุรกิจอีกกลุ่มภายใต้การบริหารของครอบครัวบุตรีคนโต ได้ดำเนินแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจสำคัญด้วย จากที่เรียกว่า “กลุ่มอาคเนย์” เป็น “เครือไทยโฮลดิ้ง”

กล่าวอย่างเจาะจงเฉพาะอาคเนย์ประกันภัย หนึ่งในกิจการในนั้น มีเรื่องราวเป็นตำนานเกี่ยวข้องบุคลสำคัญคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง-รองสนิท โชติกเสถียร ผู้ซึ่งตามเสด็จรัชกาลที่ 7 ในต่างประเทศ ช่วงสละราชสมบัติ (หากสนใจเรื่องราวอันเป็นสีสัน อ่านได้ในหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” โดย มณี สิริวรสาร)

อาคเนย์ประกันภัย ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (2489) โดยผู้ก่อตั้ง มีทั้งราชนิกูล ขุนนางและนักธุรกิจ ได้แก่ หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล หลวงดำรงดุริตเรข พระยาปรีชานุสาสน์ (บิดาอานันท์ ปันยารชุน) พยัพ ศรีกาญจนา และรองสนิท โชติกเสถียร

ทั้งนี้ มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งระบุไว้ในประวัติอย่างจงใจ “ดำเนินธุรกิจการประกันชีวิตเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2493 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับปฐมฤกษ์”

ต่อมามีการแยกการดำเนินกิจการประกันวินาศภัยออกจากกิจการประกันชีวิตตามกฎหมาย (ปี 2543) แล้วใช้ชื่อว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000) จำกัด

กลุ่มทีซีซีเข้าซื้อกิจการอาคเนย์ประกันภัยในราวปี 2545 และปรับโครงสร้างธุรกิจอยู่ในกลุ่มอาคเนย์ในปี 2547 ช่วงเวลาเดียวกันกับบรรดาทายาทเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เข้ามีบทบาทการบริหารธุรกิจครอบครัว อย่างที่ไว้ตอนต้นๆ

ต่อมาถึงอีกช่วงสำคัญ การปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นเครือไทยโฮลดิ้ง เข้าใจว่าเป็นชื่อซึ่งให้เกียรติและคงร่องรอยอีกบริษัท-บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาอยู่ในแผนควบรวมกิจการประกันภัย ขณะเดียวกันบรรลุแผนการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor listing) ด้วย ในช่วงกลางปี 2562 ถือเป็นเรื่องน่าทึ่ง อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับกรณี Frasers Property (Thailand)

“บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จย่าของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร…ได้เริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2481 ภายใต้ชื่อ บริษัท สยามประกันภัย จำกัด ดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกชนิดนับเป็นบริษัทประกันภัยบริษัทแรกที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น” อ้างอิงจากประวัติบริษัทและความเป็นมา ยังปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ (https://www.thaiins.com/th/about)

ต่อมาในปี 2482 เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็นไทย จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด “ได้รับพระราชทานตราตั้งฯ …ในปีเดียวกันนั้นเอง” อีกตอนของประวัติ ควรบันทึกอ้างอิงไว้ ทั้งนี้ มีอีกตอน เมื่อตลาดหุ้นไทยเปิดขึ้นไม่นาน บริษัทไทยประกันภัยได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใช้ชื่อย่อ TIC ด้วย (2519)

เป็นเส้นทางล่วงหน้าอันยาวนาน ก่อนจะเป็นทางลัดให้กับกลุ่มอาคเนย์

 

กรณีอาคเนย์ประกันภัยข้างต้น ให้ภาพสะท้อนหลายแง่มุมจริงๆ

วิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในโลก รุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งกระทบกับธุรกิจซึ่งอ่อนไหว โดยเฉพาะธุรกิจประกับภัย ซึ่งแรกๆ หวัง “จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส” กลับกลายเป็นวิกฤตที่มาถึงตัวอย่างรวดเร็ว จนหลายรายต้องมีอันเป็นไป

ที่น่าแปลกใจ เป็นไปอย่างที่หลายคนไม่ค่อยจะเชื่อ คือกรณีอาคเนย์ฯ ภายใต้ปีกเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ที่ว่ากันว่ามีเค้าหน้าตักเหลือเฟือ ได้ยอมถอดใจไปด้วย

อีกด้านหนึ่ง ส่งสัญญาณการปรับตัวทางธุรกิจ ที่เชื่อว่ามิใช่รายเดียว อาจเป็นตัวอย่างการปรับตัวของยักษ์ใหญ่เป็นไปอย่างกระฉับกระเฉงอีกกรณีหนึ่ง ค่อนข้างแน่ใจว่า กรณีทีซีซีมีความเกี่ยวเนื่องกันจากไทยไปสิงคโปร์

ว่าเฉพาะยุทธศาสตร์การปรับตัวของกลุ่มทีซีซี เป็นไปได้ว่า มีบทเรียนอ้างอิงในอดีต เมื่อครั้งเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในปี 2540 ในกรณีปล่อยมือจากธนาคารมหานคร และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ

เป็นกรณีเปรียบเทียบสำคัญ ควรกล่าวถึงในโอกาสต่อไป