ยุบสภา มากลีลา/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ยุบสภา มากลีลา

 

ข่าวคราวเกี่ยวกับการยุบสภาดูจะเป็นเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ นับแต่เกิดปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐจนเกิดปรากฏการณ์การขอให้ลงมติขับคณะตนเองรวม 21 คนออกจากพรรค เพื่อให้สามารถใช้เงื่อนไขตามมาตรา 101(9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อไปหาพรรคใหม่ภายใน 30 วัน เป็นผลให้เสียงของพรรคร่วมรัฐสภามีสภาพใกล้เคียงกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ยิ่งปรากฏการณ์สภาล่มซ้ำซ้อนถึง 2-3 ครั้งในแต่ละสัปดาห์ ด้วยวิธีการขอนับองค์ประชุมแต่กลับไม่ยอมแสดงตนทั้งๆ ที่อยู่ในห้องประชุมของพรรคเพื่อไทยและบางส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อให้ผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาลตระหนักว่า จำนวนเสียงที่มีในสภาผู้แทนราษฎร ไม่อยู่ในสถานะที่จะบริหารบ้านเมืองเป็นปกติ เร่งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหารต้องตัดสินใจทางการเมือง

 

ข่าวของการยุบสภา ยิ่งหนาหู

เหตุแห่งการยุบสภา

การยุบสภา (Dissolution of Parliament) มีความหมายในตัวเองแล้วว่า เมื่อสภาไม่เป็นที่แก้ปัญหาของบ้านเมือง หรือสภามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในสภาผู้แทนฯ เอง หรือปัญหากับฝ่ายบริหาร การยุบสภาจะเป็นหนึ่งในทางออกของการบริหารประเทศ ที่ตัวนายกรัฐมนตรีสามารถเลือกระหว่างการลาออก (Resignation) หรือการยุบสภา

ในทางเทคนิคนั้น การยุบสภาอาจมาจากสถานการณ์ 2 แบบ

แบบแรกคือ ผู้เป็นรัฐบาลเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานกับรัฐสภาและประเมินสถานการณ์ว่า ฝ่ายตนมีความได้เปรียบหากจะใช้วิธีการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนไปตัดสินใจ โดยเชื่อว่า จำนวน ส.ส.ฝ่ายตนที่กลับคืนสู่สภาจะมีจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เพิ่มความเข้มแข็งแก่ฝ่ายตนเองมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

แบบที่สอง เป็นการจำใจต้องยุบสภา เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกรัฐบาลนั้นเป็นปัญหาอุปสรรคจนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นที่เรียบร้อย

เช่น มีความไม่พอใจจากประชาชน เรียกร้องให้ยุบสภาคืนอำนาจแก่ประชาชน

หรือไม่สามารถได้เสียงสนับสนุนการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติจนทำให้การออกกฎหมายสำคัญที่เป็นนโยบายของรัฐบาลผ่านความเห็นชอบได้ เช่น แพ้มติในการผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี

แพ้มติในการผ่านพระราชกำหนดที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีในกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน

และเมื่อนายกรัฐมนตรีไม่เลือกใช้วิธีการลาออกแต่โยนกลับไปยังประชาชนให้เป็นฝ่ายตัดสินว่าจะสนับสนุนใคร การยุบสภาก็จะเกิดขึ้น

 

มองการยุบสภาในอดีต

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมีการยุบสภา 13 ครั้ง

ในขณะที่การเลือกใช้วิธีการลาออกเนื่องจากแพ้มติในสภานั้นมีเพียง 4 ครั้ง คือ สมัยนายกรัฐมนตรีพระยาพหลพยุหเสนา จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

โดยส่วนใหญ่เป็นการแพ้มติในการผ่านกฎหมายสำคัญ เช่น พระยาพหลฯ แพ้ในเรื่องการอนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยางที่รัฐบาลไปลงนามกับต่างประเทศ จอมพล ป.แพ้มติในการผ่านพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ นายควงแพ้การลงมติร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชนในภาวะคับขัน ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นั้นลาออกเพราะสภาลงมติไม่ไว้วางใจในการแถลงนโยบายต่อสภา

จะเห็นได้ว่า เพียงแค่กฎหมายสำคัญที่เป็นนโยบายของรัฐบาลไม่ผ่านสภา ก็เท่ากับรัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยความราบรื่น เกิดความเสียหายต่อประเทศแล้ว จึงต้องเดินหน้าต่อด้วยการยุบสภาหรือลาออก

ไม่ต้องรอถึงการผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หรือรอผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ประการใด

ย้อนหลังดูการยุบสภา 13 ครั้งในอดีต เป็นเหตุที่เกิดจากความขัดแย้งภายในรัฐบาล จำนวน 4 ครั้ง เป็นปัญหาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา 3 ครั้ง มาจากวิกฤตการณ์การเมือง 4 ครั้ง และจากเหตุผลอื่น เช่น สภามีอายุมานานในช่วงสงคราม หรือปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายสำเร็จ สมควรแก่เวลายุบสภา จำนวน 2 ครั้ง

ทั้งหมดจึงยุบเพราะเหตุภายในรัฐบาลเอง 6 ครั้ง

เหตุภายนอกรัฐบาลคือจากรัฐสภาและแรงกดดันของประชาชน 7 ครั้ง

โดย 3 ครั้งสุดท้ายนั้น เป็นเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากแรงกดดันภายนอกทั้งสิ้น คือ สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งสามครั้งล้วนเป็นวิกฤตที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองภายนอกสภาที่ประชาชนมีความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วยการแสดงออกบนท้องถนนทั้งสิ้น

 

มองเหตุของยุบสภาในปัจจุบัน

เสียงที่ปริ่มน้ำของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน เนื่องจากความไม่ชัดเจนและไม่สามารถวางใจในจุดยืนของกลุ่ม ส.ส. 21 คนที่ออกจากพรรคพลังประชารัฐไปอยู่พรรคใหม่ว่าจะยังสนับสนุนรัฐบาลต่อไปหรือไม่ กอปรกับภาวะการล่มของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ถี่บ่อยขึ้นจนถึงขั้นผิดปกติ

เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองมีความเห็นใกล้เคียงกันว่า หนทางการตัดสินใจยุบสภานั้นอยู่ไม่ไกล มิใช่การเชื่อตามคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า ไม่ปรับ ไม่ยุบ อยู่จนครบวาระ

ยิ่งผู้เป็นรัฐบาลประเมินสถานะคะแนนนิยมของฝ่ายตนว่าอยู่ในภาวะขาลง โอกาสพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสูง ยิ่งทำให้เพิ่มความพยายามในการอยู่ในตำแหน่งให้นานเผื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการรีบยุบสภา

ในทางตรงข้าม พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายค้าน มีความมั่นใจสูงสุดว่า ภายใต้กติกาใหม่ที่เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบและกระแสความนิยมที่ตกต่ำของฝ่ายรัฐบาลที่วัดจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งหลังสุดที่เขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่ จตุจักร พรรคตนเองมีความได้เปรียบเมื่อมีการยุบสภา การตัดสินใจเดินหน้าเต็มสูบเพื่อกดดันให้เกิดการยุบสภาจึงเกิดขึ้นแบบชัดเจน

เหตุของการยุบสภาในปัจจุบันจึงมิใช่แบบแรกที่อยู่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นต่อ แต่เป็นจากแบบที่สองที่สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในภาวะที่รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กฎหมายสำคัญต่างๆ ไม่กล้านำเข้าพิจารณาในสภา ด้วยเกรงแพ้ในการลงมติ เป็นแรงกดดันที่ถูกกระทำจากภายนอกเป็นหลัก

 

ยุบสภามากลีลา

ข้ออ้างสารพัดจากฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะจากบรรดาเนติบริกรจึงเกิดขึ้นมากมาย นับแต่ปัญหาของประเทศมากมายจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหา ดีกว่าที่จะมาขัดแย้งทางการเมืองกัน กฎหมายลูกสำคัญสองฉบับ คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังไม่แล้วเสร็จ เพิ่งจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา หากยุบสภาในช่วงนี้ เกรงจะเกิดความวุ่นวายและไม่สามารถหาทางออกทางกฎหมายเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบแล้ว แต่ยังต้องแก้ไขกฎหมายลูกให้สอดคล้องกัน

คาดการณ์ไปไกลว่า กว่าจะแก้เสร็จต้องยาวไปถึงมิถุนายน กรกฎาคม พ.ศ.2565

เพื่อจะสื่อสารว่า ไม่สามารถยุบสภาได้จนกว่าจะถึงเดือนดังกล่าว

แต่แท้จริงแล้ว การยุบสภาหรือลาออก คงไม่ได้อยู่ที่ปัญหาประเทศแก้ไขลุล่วงหรือยัง หรือกฎหมายเลือกตั้งเสร็จหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลสามารถไปต่อได้หรือไม่

หากไปต่อยาก กฎหมายไม่เสร็จก็มีทางออก ในการให้ กกต.ออกคำสั่งหรือประกาศเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งได้

หรือหาก กกต.ใจไม่ถึง ก็ทำรายละเอียดเสนอ ครม. ขอให้ออกเป็นพระราชกำหนด เป็นการฉุกเฉินแทน ก็น่าจะเป็นไปได้

รัฐบาลไปต่อไม่ได้ ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยความราบรื่น ก็มีทางออกสองทาง ไม่ลาออกก็ยุบสภา ไม่ต้องมากลีลา