เปิดตัว ‘โคลอสซัล’ สตาร์ตอัพปลุกชีพแมมมอธ/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เปิดตัว ‘โคลอสซัล’

สตาร์ตอัพปลุกชีพแมมมอธ

 

ในปี 2013 บนเวที TEDxDeExtinction จอร์จ เชิร์ช (George Church) ศาสตราจารย์วัยเก๋าผู้มีหนวดอันงดงาม ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งชีววิทยาสังเคราะห์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้เล่าเรื่องราวและนำเสนอไอเดียน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต

และประเด็นหนึ่งที่เขาพูดถึงบนเวที TED ก็คือความฝัน และความเป็นไปได้ของการฟื้นชีพเหล่าสรรพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ให้มีโอกาสได้กลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งบนพื้นพิภพ

หนึ่งในสิ่งชีวิตที่สะดุดตาที่สุดที่อยู่ในลิสต์ของจอร์จ ก็คือ “แมมมอธ”

ในปี 2008 สเตฟาน ชูสเตอร์ (Stephan Schuster) นักอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) ไปเอฟก้อนขนแมมมอธหมื่นปีที่ถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งในไซบีเรียขนาดราวๆ 10 กรัมมา 2 ก้อนมาในราคา 130 เหรียญ จากผู้ขายชาวรัสเซียในเว็บอีเบย์ (eBay)

ก่อนซื้อ สเตฟานได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าก้อนขนที่ไปเอฟมาเป็นขนแมมมอธจริงๆ เพื่อความมั่นใจ เขาเช็กทั้งเครดิตผู้ขายและขอการยืนยันมาจากพิพิธภัณฑ์ในมอสโก

ก้อนขนสองก้อนนี้คือจุดเริ่มต้นแห่งความเป็นไปได้ในการคืนชีพช้างยักษ์ขนยาวแห่งดินแดนน้ำแข็ง

เพราะก้อนขนสองก้อนนี้ช่วยให้สเตฟานและทีมของเขาสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของแมมมอธได้มากถึงราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก สำหรับสารพันธุกรรมที่สกัดออกมาจากเนื้อเยื่อที่แช่แข็งอยู่มานานนับหมื่นปี

ข้อมูลพันธุกรรมของแมมมอธนี้นอกจากจะช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุยีนต่างๆ ที่ควบคุมลักษณะของช้างเขตหนาวที่สูญพันธุ์สิ้นไปหมดแล้ว

ยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวงศ์วานวิวัฒนาการของพวกมันอีกด้วยว่า “ช้างเอเชีย” คือเครือญาติที่สนิทที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลกของพวกแมมมอธ

และนี่คือหนึ่งในข้อมูลที่ทำให้ความฝันของจอร์จนั้นเข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

จอร์จพูดอย่างมั่นใจว่าการฟื้นชีพแมมมอธนั้นมีโอกาสเป็นไปได้สูง แม้ว่าแมมมอธตัวสุดท้ายจะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อราวๆ สี่พันปีก่อน เพราะถ้ามองตามหลักการ ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ที่สุด ก็แค่ทำโคลนนิ่งแบบเดียวกับที่เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) ใช้โคลนแกะดอลลี่ขึ้นมาเลย

แต่ในความเป็นจริง แม้เทคนิคโคลนนิ่งจะถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างยาวนานและมีโอกาสสำเร็จสูงมาก ทว่าหนทางแห่งการฟื้นชีพแมมมอธก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

สิ่งที่ท้าทายที่สุดในงานนี้ก็คือการหาเนื้อเยื่อที่มีรหัสพันธุกรรมที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ดีพอที่จะเอามาโคลนได้

แต่ปัญหาก็คือเนื้อเยื่ออายุ 4 พันปี จะไปหาที่ไหนมาสมบูรณ์

 

สําหรับสเตฟาน การโคลนแมมมอธจากเนื้อเยื่อนั้นคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะทำจริงๆ ก็ไม่ใช่จะไร้หนทาง อาจทำกันแบบอ้อมๆ ก็น่าจะพอได้อยู่ แต่ถ้ามองในแง่เวลาและงบประมาณที่จะต้องทุ่มลงไป ก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

ซึ่งจอร์จก็ประสบปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือปัญหาเงินทุนวิจัยที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย เพราะการสร้างแมมมอธขึ้นมาใหม่นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียง และอาจจะไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนที่องค์กรให้ทุนทั้งหลายมองเห็นความสำคัญ

แต่ว่ากันตามตรง ต้องบอกว่าหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ไม่อยากจะเชื่อว่าศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างจอร์จ เชิร์ช ที่ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพมาแล้วมากมาย แถมยังมีสิทธิบัตรอีกนับร้อยจะมีปัญหาเรื่องเงินทุนวิจัย

 

“ในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา เรามีงบฯ อยู่ทั้งหมดแค่ราวแสนเหรียญสำหรับโครงการนี้ ซึ่งน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับโครงการอื่นๆ ในห้องแล็บของผม” จอร์จพูดอย่างเปิดอก “แต่ที่ไม่มีงบฯ ไม่ใช่เพราะไม่มีใครสนใจ โครงการนี้ยืนหนึ่งจริงในเรื่องความนิยม เราแทบจะไม่เคยออกข่าวอะไรเลยมาเป็นปีๆ แต่พอคุยกัน ก็ต้องมีวกกลับมาคุยเรื่องนี้ตลอด”

และในที่สุด โครงการนี้ก็ไปเข้าตา เบน แลมม์ (Ben Lamm) นักธุรกิจสายเทคไฟแรง ผู้อยู่เบื้องหลังสตาร์ตอัพระดับตำนานหลายแห่ง หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอไอชื่อดังไฮเปอร์ไจแอนต์ (hypergiant) ในมุมมองของเบน อนาคตคือสิ่งอันพึงปรารถนา และเขาก็มีปณิธานที่จะผลักดันบริษัท ผู้คน ตลาด หรือแม้แต่สังคมให้เดินหน้าสู่อนาคต

จับพลัดจับผลู เบนได้อ่านเรื่องแผนการกู้ชีพแมมมอธของจอร์จแล้วประทับใจ สำหรับเบน นี่ถือเป็นภารกิจที่งดงาม ที่ยังไงเขาก็ต้องดันต่อให้ไปให้สุด

ในราวๆ ปี 2019 เบนเริ่มติดต่อจอร์จ และก็ได้ลงทุนเดินทางไปทัวร์ห้องแล็บของจอร์จด้วยตัวเองที่บอสตัน บทสนทนาของพวกเขาในวันนั้นได้จุดประกายความสนใจในตัวของเบน

เขาตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะผลักดันให้โครงการฟื้นชีพช้างขนยาวนั้นเกิดขึ้นได้จริงให้เร็วที่สุด

 

เบนใช้เวลาสองปีในการระดมหานักลงทุนแรกเริ่มที่หลายคนเรียกว่านักลงทุนนางฟ้า (angel investors) ที่มีความสนใจแบบเดียวกับเขา

และในที่สุดเขากับจอร์จก็ร่วมกันก่อตั้งสตาร์ตอัพ “โคลอสซัล (Colossal Laboratory & Biosciences)” ขึ้นมา และโปรเจ็กต์แรกของพวกเขาก็คือโปรเจ็กต์โปรดของเบน (และจอร์จ) “การฟื้นชีพแมมมอธ”

ด้วยประสบการณ์ คอนเน็กชั่นและวิทยายุทธ์ส่วนตัว เบนดึงดูดนักลงทุนระดับอภิมหาเศรษฐีมากหน้าหลายตาทั้งโทมัส ทัลล์ (Thomas Tull) โทนี่ ร็อบบินส์ (Tony Robbins) ทิม เดรปเปอร์ (Tim Draper) และสองพี่น้องวิงเคิลวอสส์ (Winklevoss twins) ให้มาร่วมลงขันกับสตาร์ตอัพของเขาและนั่นทำให้ข้ออ้างเรื่องทุนวิจัยของจอร์จหมดสิ้นไป เพราะงบฯ ลงทุนเริ่มต้นของโคลอสซัลในช่วง seed round นั้นคือ 15 ล้านเหรียญ

เมื่อก่อนไอเดียของจอร์จยังเป็นแค่ความฝัน แต่การปรากฏตัวของเบนในวันนั้นช่วยสานฝันให้มีโอกาสเป็นจริง

แต่เงินพร้อม งานก็ต้องเดิน จอร์จประมาณไว้ว่าแมมมอธตัวแรกของโคลอสซัลน่าจะฟื้นชีพขึ้นมาได้ภายในเวลาไม่เกินหกปี

“เป็นไทม์ไลน์ที่ระห่ำมาก ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมก็จะบอกว่าผมไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร เพราะผมไม่มีทุนอะไรมาสนับสนุน แต่ตอนนี้ ผมคงเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะไปต่อ คงบอกได้คำเดียวว่าในหกปีต้องสำเร็จ” จอร์จกล่าวอย่างมั่นใจ

 

แน่นอนว่าการโคลนแมมมอธยังคงเป็นเรื่องเพ้อฝัน

แต่จอร์จมีแผนที่ดีกว่านั้น รู้อยู่แล้วยังไงก็ไม่มีทางที่จะหาเนื้อเยื่ออายุหลายพันปีหรืออาจจะถึงหมื่นปีที่สมบูรณ์พอที่จะเอามาสร้างตัวโคลนที่รอดชีวิต

แผนสองของเขาก็คือแทนที่จะโคลน ก็ใช้ปรับแต่งเอา จอร์จเล็งที่จะใช้สารพันธุกรรมของช้างเอเชีย ญาติสนิทที่สุดของแมมมอธเป็นต้นแบบ แล้วใช้คริสเพอร์ปรับแต่งลักษณะของแมมมอธเติมเข้าไป ขนที่หนาและยาว ต่อมไขมันใต้ผิว อีกทั้งยังมีโหนกที่ถ้ามีแล้วอาจจะช่วยให้ช้างเอเชียเวอร์ชั่นแมมมอธของพวกเขาสามารถทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเหน็บของทวีปอาร์กติกได้

และหากว่าสร้างได้สำเร็จ พวกเขาก็มีแผนต่อเนื่องที่จะเอาพวกมันไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในเขตสงวนในแถบอาร์กติกที่เรียกว่า ไพลสโตซีนพาร์ก (Pleistocene Park)

จอร์จเชื่อว่าการมีอยู่ของฝูงแมมมอธจะช่วยชะลอการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ซึ่งจะช่วยลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซมีเทนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และอาจช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้

ต้องยอมรับว่าจอร์จและเบนนั้นมองการณ์ไกลจริงๆ เพราะขนาดตัวจริงยังไม่มา แต่วางแผนก้าวหน้าไปถึงปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว

แม้ไอเดียจะน่าสนใจ แต่การทำอะไรโดยไม่ระวัง อาจส่งผลร้ายได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับวิถีชีวิตของแมมมอธก็มีน้อยนิดเสียเหลือเกิน

แน่นอนว่ายังคงต้องมีการศึกษาต่อไปก่อนว่าการปล่อยแมมมอธปรับแต่งกลับเข้าสู่ป่านั้นจะทำให้เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศน์อันเปราะบางของแถบอาร์กติกอย่างไร ทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว

 

มองโปรเจ็กต์ มองไป เห็นแต่วิจัย แต่ไม่เห็นเงิน เบนย้ำกับสื่ออีกหลายแขนงว่าโคลอสซัลไม่ใช่องค์กรการกุศล แต่ตั้งมาด้วยเหตุผลเพื่อแสวงหากำไร นักลงทุนที่เขาชวนมาส่วนใหญ่ก็คือนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลไม่ต่างจากเขา ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งรีบที่จะถอนทุนคืน และไม่ได้คาดหวังแค่ผลกำไรฉาบฉวย

นี่คือการลงทุนระยะยาวที่ในอนาคตจะให้กำไรงาม

แต่คำถามเงินล้านก็คือ เบนจะทำเงินได้ยังไงกับการสร้างแมมมอธขึ้นมาใหม่

สำหรับนักธุรกิจมากประสบการณ์ บางทีผลลัพธ์อาจไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่แฝงอยู่กับเทคโนโลยีที่จะถูกพัฒนาขึ้นมาในระหว่างดำเนินโครงการ ทั้งนวัตกรรมทางพันธุวิศวกรรม หรือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แบบใหม่ๆ

ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีก็น่าจะสปินออฟออกไปเป็นบริษัทลูกที่สร้างผลกำไรได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ยั่งยืน

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าวางแผนดีๆ งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็อาจจะให้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำได้เหมือนกัน เพราะบางทีดอกไม้ริมทางก็หอมหวานกว่าที่คิด!