สีสันของแสงรุ้ง/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ชมัยภร บางคมบาง

ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์

สีสันของแสงรุ้ง

 

ภักดิ์ รตนผล กวีนักปกครอง อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในอดีตเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเขียนนักอ่านยุคแสวงหา (ก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ 14 ตุลาคม 2516) โดยเฉพาะอย่างชาววรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะเขาคืออดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2508

สมัยนั้น นักอ่านจะจดจำเขาในฐานะกวีร้อยแก้ว ผู้เขียนงานแตกต่างไปจากกลอนรักประจำยุคสมัย

ปัจจุบัน ภักดิ์ รตนผล ยังสร้างสรรค์งานในฐานะกวีร้อยแก้วอยู่อย่างสม่ำเสมอ

มีผลงานมาแล้ว 7 เล่ม

ผลงานของภักดิ์ รตนผล “มุกน้ำค้าง” เล่มนี้ สะท้อนภาพรวมของมนุษย์คนหนึ่งในสังคมไทย ที่มีทั้งทัศนะมุมมองต่อโลก ต่อบ้านเมืองของตนเอง และต่อปัจจัยต่างๆ ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี

นับตั้งแต่ความศรัทธา ความรัก ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม ตลอดจนความเป็นตัวตนของตัวเองโดยสะท้อนผ่านภาษาและโวหารอันงดงามแบบสุนทรีย์ร้อยแก้ว

หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกลอนเปล่า แต่เป็นกลอนเปล่าที่งดงามยิ่ง โดยแสดงสุนทรียภาพสุนทรียภาพผ่านภาพพน์โวหารที่ประณีต ละเอียดอ่อน ทั้งที่เหมือนและแตกต่างออกไปจากขนบวรรณศิลป์เดิม

ในเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 6 ภาค อันประกอบด้วยหกแสงแห่งสายรุ้ง อันได้แก่ ในแสงสุริยฉาย ในแสงเงาพระราชา ในแสงสงครามในแสงนิเวศ ในแสงมาตุภูมิ

และในแสงรัก

 

ภาคแรก ในแสงสุริยฉาย

กวีสะท้อนให้เห็นความศรัทธาในพระพุทธเจ้า และหยิบเอาเรื่องราวในพุทธประวัติมาเขียนเป็นสุนทรีย์ร้อยแก้วอันงดงาม โดยเลือกมาเฉพาะ 3 ประเด็นคือ ความเมตตา การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ยืนอันด้วยศรัทธาว่าพระองค์เป็นดั่งสุริยฉาย นับเป็นแสงแรกที่ครอบคลุมเนื้อความในบทกวีภาคอื่นๆ ด้วย

ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า

บัดนี้เรารู้แล้วว่าอะไรที่ดลใจ

กระทำให้เราสั่งสอนความเมตตาแก่มวลมนุษย์

แลกระทำให้เราต้องอรรถาธิบาย

ความมืดมนอนธการแห่งโลก

แลจะทำให้อำนาจความทุกข์อันชั่วร้ายแห่งโลกลดน้อยลง

(จากบท นกเป็นของใคร)

 

ภาคสอง ในแสงเงาของพระราชา

(กวีสะท้อนให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระเมตตามหาศาลต่อพสกนิกรเช่นไร โดยยกเรื่องราวที่เล่าสืบกันมามาเขียนเป็นภาพจากสายตาของกวีร้อยแก้ว รวม 12 เรื่อง

ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนิทาน (สาธก) ที่ทำให้คนอ่านสัมผัสได้ถึงความเป็นตำนานของเรื่องเล่านั้น บางเรื่องเราอาจเคยเห็นภาพหรือเคยอ่านเรื่องเล่าธรรมดา แต่กวีได้นำมาเล่าใหม่อย่างที่เรานึกไม่ถึง โดยใช้สัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบที่ซ้อนภาพเดิมไว้ได้อย่างงดงาม

เช่น

หัวหน้าหมู่บ้านหวนรำลึกถึงการสนทนา

กับชายผู้เรืองแสง

ประดับมุกน้ำค้างบนนาสิก

(มุกน้ำค้าง)

มุกน้ำค้างบนนาสิก ใครเล่าจะจำภาพนี้ไม่ได้

ชายผู้เรืองแสง ก็เป็นคำที่แสดงภาพพระราชาได้งามยิ่ง

หรือในนิทานพระราชา ที่มีเด็กหญิงเด็กชายมาขอรางวัลจากชายผู้มีแววตาอารีใส่แว่นดำ ที่ดลบันดาลให้ทุกสิ่งตามที่เด็กขอ

และกลุ่มเด็กฉงนว่าชายผู้นี้คือเทวดาหรือไฉน

จึงบันดาลได้ทุกสิ่ง

เปล่าดอก เราเคยอยู่ในเหรียญบาทนี่

แต่บัดนี้เราอยู่บนท้องฟ้าแล้ว

(นิทานพระราชา)

ปิดท้ายด้วยเรื่องเล่า “นายอำเภอคนหนึ่ง” ที่เป็นเหมือนตำนานเช่นกัน แม้มิใช่บทกวีสุนทรีย์ร้อยแก้ว หากเป็นเรื่องเล่าธรรมดาของผู้เขียน แต่ก็เหมาะงามที่จะวางอยู่ในตำแหน่งนี้ ด้วยก่อให้เกิดความสะเทือนใจสมบูรณ์

 

ภาคสาม ในแสงสงคราม

ในภาคนี้ กวีได้แสดงให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมกับความเป็นไปของโลก ความสะเทือนใจกับสงคราม ผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่นเรือนล้าน และเหตุการณ์ร้ายแรง ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก การเจริญเติบโตของโลกดิจิตอลทำให้กวีรับรู้ข่าวสารได้อย่างละเอียด และสะท้อนออกมาในรูปแบบของงานสุนทรีย์ร้อยแก้วได้อย่างกระทบใจ

ทั้งหมดมีด้วยกัน 22 บท ทำให้คนอ่านเห็นภาพทั่วทุกมุมโลกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน ทวีปใด ประเทศใด เผ่าพันธุ์ใด ผิวสีอะไร วัยใด รวมทั้งกาลใดด้วย ภาพการต่อสู้ของคนทั้งโลก (อเมริกัน แอฟริกัน ญี่ปุ่น เลบานอน อัฟกานิสถาน เยเมน เอธิโอเปิย โรฮิงญา ฯลฯ) ยาวนานสืบเนื่อง เจ็บปวดรวดร้าว เป็นดั่งสงครามร้อยปี ซ้ำยังเปลี่ยนรูปแบบไป ทำให้กลายเป็นสงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด

หนึ่งร้อยปีผ่านไป

แต่สงครามที่มิอาจใช้ดาบ ธนู

ยังดำเนินต่อไป

ด้วยมิอาจเห็นข้าศึกในแสงเงา

อำพราง

ดวงดาวดวงใหม่หลายล้านดวง

จึงถูกดับแสงเรืองลงอย่างต่อเนื่อง

(สงครามร้อยปี)

 

ภาคสี่ ในแสงนิเวศ

ภาคที่สี่อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาคที่มีสีสันสอดคล้องและสัมพันธ์กับอารมณ์กวีร้อยแก้วคนนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการประมวลเอาความรู้สึกนึกคิดของเขาที่มีต่อสภาพแวดล้อม บ้านเรือน ต้นไม้และวิถีชีวิตของผู้คนเข้าด้วยกัน ด้วยจินตภาพ ภาพพจน์โวหารอันอลังการตามแบบกวี ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมทุกอย่างเต็มไปด้วยความรู้สึกและสีสัน

มีทั้งที่สิ่งที่เป็นสีไม่ได้ ก็ปรากฏเป็นสี อาทิ ปีสีฟ้า ฤดูร้อนสีแดง ฤดูหนาวสีคราม กาลเวลาสีคราม เดือนเหงาสีมะปราง ราตรีสีน้ำเงิน เป็นต้น

หรือสิ่งที่เป็นสีอยู่แล้ว แต่เปรียบเทียบให้เข้มข้นขึ้นหรือเห็นภาพมากขึ้นด้วยสิ่งอื่น อาทิ แม่น้ำสีส้ม สืมะปราง สีจำปาหรือสีมะไฟ พายุสีดำ อ่าวสีน้ำเงิน ป่าสีมรกตฝูงผีเสื้อสีเหลือง โขดหินสีเขียว ฟองคลิ่นสีขาวและสีน้ำเงิน สุดขอบฟ้าสีอำพัน ทะเลสีฟ้าคราม ปะการังสีรุ้ง ทุบเขาสีคราม ภูเขาสีน้ำตาลหม่น ทะเลสาบสีฟ้า สายน้ำสีน้ำเงิน โรงเรียนสายรุ้ง เมฆสีน้ำเงิน เป็นต้น

อาทิ

คราย่างเข้าสู่ฤดูหนาวสีคราม

มวลผีเสื้อหิมะโบยบินเต็มท้องฟ้า

เปียกปอนขนตาและไรผม

กว่าจะซับให้เหือดแห้ง

ด้วยผ้านุ่มและอ้อมแขนฤดูหนาว

(มายาฤดูกาล)

ทุกภาพในบทกวีของภักดิ์ รตนผล จึงเต็มไปด้วยภาพพจน์โวหารแบบเห็นภาพ ซ้อนทับ อาทิ เมฆเป็นสายไหม รอยยิ้มดอกกุหลาบ ปีกนางนวลนักเดินทาง ดวงตาไร้แสงดาว อาทิ

เธอเป็นฤดูร้อนอำลา

ฝากริ้วรอยสีแดง

แต้มแต่งทั่วกายฉัน

ราวรอยสักดอกกุหลาบ

ร้อยดอก

(ร่องรอยฤดูร้อน)

เขาไม่เพียงถ่ายสะท้อนความรู้สึกรัก ผูกพันและเห็นความงามในธรรมชาติอย่างเดียว

เขายังชี้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ ทั้งที่เห็นความงามทุกแง่ทุกมุม ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ทั้งโลกที่เขาสัมผัส และสะท้อนด้วยว่ามนุษย์ใช้ธรรมชาติเป็นโรงเรียนสำหรับการเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอย่างงดงามอย่างไร

มนุษย์ควรอยู่เพื่อเรียนรู้ และด้วยหัตถาอารี

 

ภาคที่ห้า ในแสงมาตุภูมิ

ในภาคนี้กวีเขียนถึงชีวิตของผู้คนในประเทศไทย อันเป็นแผ่นดินเกิด

โดยสะท้อนทั้งมุมความทุกข์และมุมความสุขของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม

แน่นอนที่สุด กวีให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติ มนุษย์ และผืนแผ่นดินด้วย กวีถ่ายสะท้อนออกมาอย่างดงาม

มีทั้งที่เอ่ยถึงการทำมาหากิน เช่น ไต้ก๋ง (ลูกเรือประมง (อ่าวกุ้งกระเบน) กลาสีเรือ หรือเอ่ยถึงอารมณ์ความรู้สึก ณ ยามใดยามหนึ่งของบุคคล ในการอำลา ความทุกข์โหยหาผู้ลาลับ (ณ แท่งหินสีเขียว) การจากพรากโดยไม่รู้ตัว (นาทีประหาร) สงครามในภาคใต้ (แนวรบชายแดนใต้ เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง)

เป็นต้น

 

ภาคที่หก ในแสงรัก

ภักดิ์ รตนผล เป็นกวีรักโรแมนติก เขาเลือกใช้ภาพและคำในฐานะกวีสุนทรีย์ร้อยแก้วอย่างคุ้มค่าเพื่อสะท้อนสายสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เรียกว่า “ความรัก” ไม่เพียงแต่เห็นภาพอันงดงาม หากยังเต็มไปด้วยความรู้สึก

โดยทั้งหมดผ่านธรรมชาติรายรอบ ไม่ว่าจะเป็นวัน คืน เดือน ปี หรือกาลเวลาไหนๆ ภาพจน์ของเขาให้ภาพใหญ่สุด พลังมากสุดด้วยความ “เกินจริง” นั้น อาทิ

โอ้ว่าวันนี้คืนนี้เธอจะอยู่หนไหน

มิพักว่าจะร่ำไห้หรือแย้มสรวล

มิพักว่าจะโทมนัสหรือโสมนัส

ฉันอยู่ในส่วนลึกสุดนั้นเสมอ

(อรุโณทัย)

ภักดิ์ รตนผล เป็นผู้มีอหังการ์กวีแห่นอน ทำงานหนัก และผ่านการเคี่ยวกรำในการเป็นกวีด้วยตัวเอง เล่าผ่านความงามของดอกกุหลาบ เขายืนยันในที่สุดว่า กวีนิพนธ์ของเขาเป็นแบบของเขาเอง

เพราะมีทั้งหกแสงรุ้ง กวีนิพนธ์เล่มนี้จึงทอแสงส่อง ผลักดันมวลน้ำและน้ำตาให้ระเหยขึ้นไปเป็นเมฆหมอกบนท้องฟ้า ก่อนจะกลั่นหยดลงมาเป็น “มุกน้ำค้าง” ให้นักอ่านสัมผัสความงามและความเย็นชื่นฉ่ำใจ

หมายเหตุ : สั่งซื้อได้ที่ ภักดี รัตนผล 08-1494-4248 ราคาเล่มละ 300 บาท (ไม่คิดค่าส่ง) [email protected]