คุยกับทูต : ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (3)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (3)

 

การเจรจาแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) เป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญของสหภาพยุโรป (EU) ในการแสดงบทบาทในฐานะคนกลางและผู้ประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างรัฐภาคีทั้ง 6 ฝ่าย โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งสำคัญอย่างสหรัฐและอิหร่าน

แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) เป็นความตกลงระหว่างประเทศต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านซึ่งบรรลุในกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ระหว่างประเทศอิหร่าน พี5+1 (สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติห้าประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ บวกเยอรมนี) และสหภาพยุโรป

ท่ามกลางความตึงเครียดที่ยืดเยื้อและสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนนี้ สหภาพยุโรป ตระหนักดีว่า การมีบทบาทนำทางการทูตเพื่อประสานรอยร้าวระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อยับยั้งมิให้อิหร่านเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนจนเสร็จสมบูรณ์ และป้องกันความเสี่ยงจากการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค

สหภาพยุโรป มุ่งมั่นที่จะรักษาบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานระหว่างสหรัฐกับรัฐภาคี JCPOA โดยเฉพาะอิหร่าน เพื่อนำสหรัฐและอิหร่านกลับเข้าสู่กระบวนการหารือ JCPOA อีกครั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐภาคีฯ

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย มีความเห็นว่า

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปไม่สามารถกล่าวว่า JCPOA เป็นหนึ่งในความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเจรจาที่เริ่มขึ้นในกรุงเวียนนา สหภาพยุโรปมีความพยายามในการรื้อฟื้นข้อตกลง JCPOA”

“ความพยายามของยุโรปในการสรุปการเจรจาที่เวียนนานั้นไม่ได้ไร้เหตุผลอย่างแน่นอน สหภาพยุโรปและประเทศที่ร่วมลงนามอื่นๆ ต่างตระหนักดีถึงคุณค่าและผลประโยชน์ร่วมกันของข้อตกลงระดับโลกนี้”

“และก็ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลที่อดีตหัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปมองว่า JCPOA เป็นตัวชี้วัดความเป็นอิสระของยุโรป”

“สหภาพยุโรปได้กล่าวในแถลงการณ์ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อการดำเนินการตาม JCPOA อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และยังคงทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อรักษาข้อตกลงนี้”

“โดยเรียกร้องให้ทุกคนสนับสนุนการดำเนินการตามข้อตกลงต่อไปตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2231”

“รวมทั้งสนับสนุนความพยายามทางการทูตอย่างเข้มข้นภายในกรอบของคณะกรรมาธิการร่วมด้านการสื่อสารและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปในฐานะผู้ประสานงานของคณะกรรมการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

“สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านเห็นว่า สหภาพยุโรปควรมีบทบาทอิสระในการเจรจา และควรละเว้นจากนโยบายฝ่ายเดียวของสหรัฐที่มีต่ออิหร่าน เนื่องจากอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตาม JCPOA”

“แม้ว่าจะไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับ JCPOA แต่เราเชื่อว่าการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ระหว่างอิหร่านและสหภาพยุโรปจะมีประสิทธิภาพ”

“ในมุมมองของเราคือ ทั้งสามประเทศในยุโรป (เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ : E3) ควรอนุญาตให้ผู้ประสานงานของคณะกรรมาธิการร่วมดำเนินการเจรจาต่อไปในทางที่สร้างสรรค์เพื่อให้เราสามารถบรรลุข้อตกลงในเชิงบวก”

 

อิหร่านกับความสำเร็จของการพัฒนางานด้านอวกาศ

กรณีอิหร่านถูกชาติยุโรปประณามว่า ปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่า การทำกระทำดังกล่าวนั้น “เป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่ง” ขณะที่การเจรจา ณ กรุงเวียนนากำลังมีความคืบหน้า

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูตอิหร่าน นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี กล่าวว่า

“การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบินและอวกาศ เป็นสิทธิตามกฎหมายของชาวอิหร่าน การเปิดตัวดาวเทียมที่ประสบความสำเร็จของอิหร่านเป็นไปอย่างสันติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการป้องกันประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน”

“ตามความเป็นจริงแล้ว ประเทศทั้งหลาย ต่างพึ่งพาพื้นที่ทางอวกาศอย่างสูงเพื่อรักษา ป้องกัน และส่งเสริมผลประโยชน์และอำนาจของชาติของตน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผลประโยชน์และอำนาจของชาติของประเทศต่างๆ เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ”

“เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งปล่อยดาวเทียม จะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะทุกประเทศในโลกจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นรวมทั้งในเรื่องการปล่อยดาวเทียม ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้ห้ามมิให้ปล่อยดาวเทียม”

“อันที่จริง การปล่อยดาวเทียมมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลประโยชน์ของชาติและการส่งเสริมอำนาจชาติของประเทศต่างๆ และประมาณ 90 ประเทศทั่วโลกกำลังมองหาการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งมีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่มีความสามารถในการปล่อยดาวเทียม”

“อิหร่านเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ก้าวหน้าในสาขานี้ ได้เปิดตัวดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศโดยอาศัยพลังงานและนักวิทยาศาสตร์ในประเทศ และจะนำดาวเทียมที่มีความก้าวหน้าสูงยิ่งกว่าขึ้นสู่วงโคจรในอนาคต”

2022 Marine Security Belt
2022 Marine Security Belt

อนึ่ง ได้มีการซ้อมรบร่วมในทะเลครั้งที่ 3 ระหว่าง อิหร่าน-จีน-รัสเซีย ภายใต้สโลแกน “ร่วมกันเพื่อสันติภาพและความมั่นคง” (2022 Marine Security Belt) บนพื้นที่ 17,000 ตร.ก.ม. ในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเวลาสามวัน

“ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียเหนือถือเป็นสามเหลี่ยมทองคำในภูมิภาค เนื่องจากการมีอยู่ของทางน้ำและช่องแคบที่สำคัญคือ บับเอลมันเดบ (Bab al-Mandab Strait), มะละกา (Malacca Strait) และฮอร์มุซ (Strait of Hormuz)” ทูตอิหร่านชี้แจง

ช่องแคบบับเอลมันเดบเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียมาตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ก่อนการขุดคลองสุเอซ โดยจากคาบสมุทรไซนาย ผ่านทะเลแดง จะต้องผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบก่อนเข้าสู่อ่าวเอเดน ทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดีย

2022 Marine Security Belt
2022 Marine Security Belt

ช่องแคบมะละกา ถือเป็นทั้งจุดยุทธศาสตร์ และทำเลทองของวงการธุรกิจโลก เนื่องจากเป็นรอยต่อของ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ประกอบกับการเป็นเส้นทางเดินเรือที่ใช้ขนถ่ายสินค้าและน้ำมันที่สำคัญทั้งในทวีปเอเชียและทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกจึงปรารถนาจะเข้ามาแผ่อิทธิพลเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในดินแดนปลายสุดแหลมมลายู

และด้วยเหตุนี้ ทั้ง 3 ประเทศที่ครอบครองดินแดนในช่องแคบดังกล่าว จึงต้องเดินเกมทั้งทางการเมืองและการทหาร เพื่อรักษา “สมดุลแห่งอำนาจ” รักษาผลประโยชน์แห่งชาติไว้ให้ได้มากที่สุด

2022 Marine Security Belt

ช่องแคบฮอร์มุซ “จุดยุทธศาสตร์น้ำมันโลก” เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก เส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน โดยการส่งน้ำมันผ่านช่องแคบนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 21% ของทั่วโลก อยู่ที่เฉลี่ยวันละ 21 ล้านบาร์เรล/วัน ตามข้อมูลของสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านช่องทางนี้ถึง 1 ใน 4 ของโลกอีกด้วย

เอกอัครราชทูตโนบัคตีเน้นว่า

“ทะเลโอมานและมหาสมุทรอินเดียเหนือเป็นพื้นที่สำคัญของการค้าโลก ดังนั้น อิหร่าน จีน และรัสเซีย จึงมีความพยายามร่วมกันในการทำให้ทางน้ำและทะเลที่สำคัญในภูมิภาคมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสามประเทศดังกล่าว”