ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
ล้านนาคำเมือง
ชมรมฮักตั๋วเมือง
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เฮือนหลวงบ้านยาว”

บ้านยาว (Longhouse) ในทางวิชาการคือ บ้านที่คนสร้างเพื่ออยู่อาศัยในชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยห้องหรือพื้นที่พักอาศัยของสมาชิกในครอบครัวเดียวกันหรือตระกูลเดียวกันจำนวนหลายๆ หน่วย เรียงตัวหรือต่อเนื่องเป็นแถวแคบยาวหรืออาจมีรูปแบบที่มีรูปทรงแบบอื่นได้ เช่น เรียงตัวหน่วยที่พักเป็นวงกลมแบบโดนัทหรือเกาะกลุ่มกันโดยการเชื่อมหน่วยที่พักด้วยชาน
บ้านยาวนี้สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolitic) ราวหมื่นกว่าปีที่แล้วก่อนยุคโลหะ เป็นยุคที่คนได้เริ่มอาศัยรวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีลักษณะแบบบ้านกลุ่มหรือบ้านหลังใหญ่
คนยุคนั้นมีสังคมที่ซับซ้อนขึ้น สะสมความรู้ด้านการเกษตรเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนวิถีชีวิตจากสังคมล่าสัตว์แบบโบราณ (Primitive) มาเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่เคลื่อนย้ายจากที่อยู่อาศัยในถ้ำเพิงผา มาสู่ที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำ ตั้งถิ่นฐานมีความรู้สร้างบ้านอยู่อย่างถาวรขึ้น
มีความรู้ด้านชลประทานการผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติมาใช้เพาะปลูกและใช้ในครัวเรือน รู้จักประดิษฐ์เครื่องใช้ในการดำเนินชีวิตเช่นเครื่องมือล่าสัตว์ จับปลา และเครื่องปั้นดินเผา
ในดินแดนล้านนามีชาวลัวะ (ละว้า) เป็นชนพื้นถิ่นที่ได้ตั้งถิ่นฐานครอบครองอยู่อย่างน้อยปลายสมัยยุคหินใหม่มาก่อนการเคลื่อนย้ายเข้ามาของชาวไทยวน (คนเมือง) หลังยุคโลหะ ภูมิปัญญาการสร้างที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมชุมชน รวมทั้งระบบเหมืองฝาย ได้ส่งต่อผสมผสานพัฒนาเข้ากับภูมิปัญญาชาวไทยวนล้านนาในภายหลัง
หลักฐานทางโบราณคดีในภาคเหนือและในประเทศไทยที่ความลึกอย่างน้อย 80-120 เซนติเมตร แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงก่อนสมัยล้านนา
หลักฐานที่อยู่อาศัยเลือนหายเนื่องจากคนโบราณปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็งมุงหลังคาด้วยหญ้าและใบไม้แห้ง

เฮือนหลวงบ้านยาวตี้บ้านแสน เจียงตุง
แปลว่า เรือนหลวงบ้านยาวของชาวลัวะที่บ้านแสน บนดอยทิศตะวันตกของเชียงตุง
สําหรับคนล้านนาแล้ว “บ้านยาว” ในทางวิชาการ น่าจะตรงกับความหมายของคำว่า “เฮือนหลวง”
แต่โบราณชาวลัวะมีเฮือนหลวงเป็นบ้านหลังใหญ่ ในหมู่บ้านหนึ่งอย่างน้อยมีเฮือนหลวงหนึ่งหลังตามจำนวนตระกูลผู้นำ
หมู่บ้านใดมีหลายตระกูลอาจพบเฮือนหลวงจำนวนหลายตระกูล
เฮือนหลวงจะเป็นที่อยู่ของผู้นำการปกครองที่มีตำแหน่งขุนหรือขุนหลวง
ในเฮือนหลวงนั้นอยู่อาศัยกันแบบครอบครัวขยาย มีครอบครัวของพ่อแม่ พี่น้องของผู้นำตระกูลอยู่ร่วมด้วย
เฮือนหลวงของลัวะ มีลักษณะเป็นเรือนจั่วสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีทางเดินผ่านกลางเรือนเชื่อมชานหน้าเรือนไปจรดห้องอาศัยด้านสกัดท้ายสุดที่เป็นของขุนผู้นำตระกูล สองข้างทางเดินกลางเรือนเป็นหน่วยห้องที่อยู่อาศัยของครอบครัวในสายตระกูลเดียวกันเรียงลำดับศักดิ์สำคัญต่อเนื่องถัดมาจากห้องของผู้นำ
ปัจจุบันพบหลักฐานเฮือนหลวงหรือบ้านยาวของลัวะเหลือให้เห็นที่ หมู่บ้านแสน บนดอยสูงทางทิศตะวันตกเมืองเชียงตุง
โดยชาวลัวะที่นั่นเรียกตนเองว่า “ไทหลอย” หรือไตดอย และพบหนึ่งหลังที่หมู่บ้านลัวะเวียงติ่ง (Wengding) บนภูเขาที่เมืองหลินชาง (Lincang) มณฑลยูนนานของจีน
แต่เหลือเป็นเพียงบ้านอนุรักษ์จัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวชม