ERRATA สำรวจสะเก็ดประวัติศาสตร์การเมืองหลากสัญชาติ ผ่านบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะสี่พิพิธภัณฑ์ (จบ) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ERRATA

สำรวจสะเก็ดประวัติศาสตร์การเมืองหลากสัญชาติ

ผ่านบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะสี่พิพิธภัณฑ์ (จบ)

 

ผลงานสำคัญอีกชิ้นในนิทรรศการ ERRATA คือ And Then There Were None (Tomorrow we will become Thailand.) (2016) ของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นผลพวงของสงครามเย็น ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของนักศึกษาสถาบันโปลีเทคนิค ในเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ในปี 1973 ด้วยการใช้ภาพวาดที่มีต้นแบบจากหนังสือพิมพ์เป็นสื่อในการนำเสนอ

หรือผลงานของ ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่ใช้กระดาษสีสันฉูดฉาดหลากสี ปะติดปิดทับภาพข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนจากภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ เพื่อตีแผ่ความพยายามของรัฐในการปิดบังซ่อนเร้นความจริงในประวัติศาสตร์ด้วยมหรสพและความบันเทิงอันตื่นตาตื่นใจ

ผลงานที่ใช้สื่อหนังสือพิมพ์อีกชิ้นที่น่าสนใจมากคืองานของ อ.ประมวญ บุรุษพัฒน์ ศิลปินไทยที่ทำงานในแนว Photo Conceptual คนแรกๆ แต่คนไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่

ผลงานชิ้นนี้เป็นภาพถ่ายถุงห่อถั่วฝักยาวที่ อ.ประมวญไปเจอในตลาด

ที่แซบก็คือถุงห่อถั่วฝักยาวนี้พับขึ้นจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ที่ อ.อภินันท์ โปษยานนท์ เขียนถึงนิทรรศการของโจเซฟ บอยส์ ที่มาแสดงในเมืองไทยโดยสถาบันเกอเธ่

ผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์เคยมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์มากแค่ไหน

โจเซฟ บอยส์ I like America, America Likes Me, 1974

เมื่อพูดถึงสงครามเย็น ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งของการปฏิวัติทางความคิดต่างๆ เราก็เลยต้องเอาศิลปินผู้เป็นเจ้าพ่อแห่งการปฏิวัติอย่างโจเซฟ บอยส์ มาแสดง โดยมีทั้งวิดีโอบันทึกผลงาน I Like America and America Likes Me (1974) (ศิลปะแสดงสดที่บอยส์เข้าไปอาศัยอยู่ในห้องปิดล็อกร่วมกับหมาป่าไคโยตี้วันละแปดชั่วโมง) หรือภาพถ่ายผลงาน Save the woods (1972) (ที่บอยส์และลูกศิษย์จำนวน 50 คน เข้าไปทำกิจกรรมประติมากรรมสังคมด้วยการกวาดใบไม้ในป่ากราเฟนแบร์เกอร์ (Grafenberger) ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เพื่อประท้วงเทศบาลเมืองที่วางแผนจะโค่นป่าพื้นเมืองแห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้างสนามเทนนิส) ที่สำคัญช่วงเวลาของนิทรรศการครั้งนี้ยังตรงกับวาระครบรอบ 100 ปี ของโจเซฟ บอยส์ อีกด้วย

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร Ja, Ja, Ja, Ja, Ne, Ne, Ne, Ne, 2016, เอื้อเฟื้อภาพโดยศิลปิน

อิทธิพลทางความคิดของบอยส์ยังส่งต่อถึงศิลปินไทยรุ่นหลังหลายคน หนึ่งในนั้นเป็นที่เรานำผลงานมาแสดงในนิทรรศการนี้อย่าง วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ที่ทำงานล้อเลียนผลงานศิลปะแสดงสดกับหมาป่าไคโยตี้ของบอยส์ด้วยผลงานวิดีโอแสดงสดชื่อ Beuys and a Coyote: The Silent Relationship (2019) ที่เธอแสดงกับนกแก้ว สัตว์เลี้ยงของเธอ

หรือผลงานของ กมล เผ่าสวัสดิ์ ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของศิลปะแสดงสดและงานศิลปะแบบคอนเซ็ปชวลอาร์ตในประเทศไทย ที่เป็นงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (อีกเหมือนกัน)

แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ Duo Monk (2003), ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

และผลงานของ แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ ที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมในผลงานชุด The Last Homosepien ที่ทำในยุค 2000 ซึ่งมีความเป็นดิสโทเปีย (Dystopia) ที่มาก่อนกาลมาก ถึงกลับมาดูงานของเขาในยุคนี้ก็ยังมีความล้ำสมัยอยู่

 

นอกจากนี้ ยังมีส่วนของผลงานศิลปะแสดงสดของศิลปินหญิง เพราะเรามองว่าในยุคสงครามเย็น ประวัติศาสตร์ศิลปะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของศิลปินเพศชายผิวขาว เราเลยเรียกส่วนนี้ว่า Reclaiming Brown Woman’s Body เริ่มต้นด้วยผลงานของ อามันดา เฮง เจ้าแม่ศิลปะแสดงสดของสิงคโปร์ ที่เป็นวิดีโอบันทึกการทำงานศิลปะแสดงสดการทำความสะอาดในประเทศไทย ซึ่งล้อไปกับผลงาน Save the woods ของโจเซฟ บอยส์ และยังเสียดเย้ยถึงความรักความสะอาดสุดขีดของคนสิงคโปร์เมื่อเปรียบเทียบกันคนไทยด้วย

หรือผลงานของ อูลริเก้ โรเซนบาค ลูกศิษย์ของโจเซฟ บอยส์ ที่ตั้งคำถามถึงประเด็นที่ผู้หญิงตกเป็นวัตถุทางเพศ หรือเป้าของการจ้องมอง (Male gaze) ของเพศชาย ด้วยวิดีโอบันทึกการเต้นรำเพื่อตัวเองหรือ Dance for woman ด้วยการเต้นหมุนเป็นวงกลมและตั้งกล้องวิดีโอบันทึกไว้ด้านบน ซึ่งเป็นการคารวะปนล้อเลียนผลงานที่เล่นกับการหมุนของมาร์เซล ดูชองป์ ด้วย

กวิตา วัฒนะชยังกูร Spinning Wheel (2018), ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

หรือผลงานของศิลปินหญิงที่บ้าพลังมากๆ อย่าง เมลาติ ซูร์โยดาร์โม อย่าง Exergie – Butter Dance การแสดงสดเต้นรำบนก้อนเนยที่ลื่นมากๆ และ กวิตา วัฒนะชยังกูร ที่แปลงตัวเองให้กลายเป็นล้อปั่นด้ายไม่หยุด

ศิลปินหญิงเหล่านี้พยายามใช้ร่างกายตัวเองทำในสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ขึ้นมา

 

ผลงานอีกชิ้นที่สนุกคืองานของศิลปินปากีสถาน ไนซ่า คาน ที่พูดถึงวัฒนธรรมของทหารในปากีสถานที่เข้มข้นมากๆ เขาพูดถึงความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับเสื้อเกราะของทหาร

หรือผลงาน The Class (2005) วิดีโอบันทึกการแสดงสดสอนหนังสือให้ศพ ของ อารยา ราษฎร์จําเริญสุข ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี เป็นผลงานที่เรายืมมาจาก Dc Collection

คไว สัมนาง Rubber Man (2014), ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

หรือผลงานวิดีโอบันทึกการแสดงสดของ คไว สัมนาง ศิลปินเขมร ที่ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองตอนที่ถูกฝรั่งเศสปกครอง ซึ่งฝรั่งเศสใช้เขมรเป็นแหล่งปลูกยางพาราจนกลายเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ส่งออกยางพาราเยอะที่สุดในโลก ด้วยวิดีโอจัดวางบันทึกภาพศิลปินเดินดุ่มเหมือนเป็นผีเร่ร่อนพลางเอาน้ำยางพาราราดหัวตัวเอง ประกอบประติมากรรมที่ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกยางพาราในจังหวัดรัตนคีรีแกะสลักจากไม้ยางพาราที่นั่น

ส้ม ศุภปริญญา A Separation of Sand and Islands (2018), เอื้อเฟื้อภาพโดยศิลปิน

หรือผลงานของ ส้ม ศุภปริญญา ที่ตามรอยการล่าอาณาคมของฝรั่งเศสในอดีตนำมาจับคู่เปรียบกับการที่ประเทศจีนที่เข้ามาขยายพื้นที่สัมปทานเขื่อนและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเหมือนลัทธิอาณานิคม (Neocolonialism) หรือสงครามเย็นใหม่ (New Cold War)

หรือผลงานของ เอฟ. เอ็กซ์. ฮาร์โซโน หนึ่งในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะยุคใหม่ของอินโดนีเซีย แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนจีนที่เป็นคาธอลิค ซึ่งอินโดนีเซียในยุคซูการ์โนจะรังเกียจและต่อต้านคนจีนอย่างมาก ในยุคนั้นมีการปิดโรงเรียนจีน หรือแม้แต่ฆ่าคนจีนเพราะกลัวคอมมิวนิสต์ เขาทำงานชุดนี้ขึ้นมาด้วยการคัดลายมือเป็นชื่อจีนของตัวเอง ส่งมาทำเป็นงานวิดีโอจัดวางขึ้นมาเพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมที่กระทำโดยรัฐที่ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป

หรือผลงานของ อำพรรณี สะเตาะ ที่เป็นภาพถ่ายย้อนกลับไปดูโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส ที่ถูกกระทำโดยภาครัฐในข้อหากบฏ

 

นอกจากผลงานศิลปะ ในนิทรรศการนี้ยังมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ในรูปของข้อมูลอย่างต้นฉบับบทวิจารณ์ศิลปะของนักวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยคนสำคัญของเมืองไทยอย่าง ถนอม ชาภักดี ที่เขียนด้วยลายมือล้วนๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมเก็บสะสมเอาไว้

ไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ในนิทรรศการนี้คือผลงานของศิลปินแสดงสดชาวอเมริกันตัวพ่ออย่าง บรูซ นาวมัน ที่ไม่ต้องมาแสดงสดด้วยตัวเอง แต่เขียนเป็นชุดคำสั่งให้ผู้ชมทำการแสดงด้วยตัวเอง

กระดาษชุดคำสั่ง (ที่ผู้ชมสามารถหยิบเอากลับไปทำศิลปะแสดงสดตามคำสั่งที่บ้านได้) ที่ว่านี้ ทาง Flick Collection ที่เรายืมผลงานมาเขาเคร่งครัดมากว่าเราต้องส่งตัวอย่างของชนิดกระดาษที่ใช้ตีพิมพ์ที่ถูกต้องก่อนที่จะติดตั้งผลงาน

และต้องจัดวางงานให้ได้ตามแบบที่เขาสั่งเป๊ะๆ เลย

 

ในช่วงสุดท้ายของการจัดแสดงนิทรรศการ ERRATA ยังมีการจัดกิจกรรม “Mit-Meeting / มิตรฯ ติ้ง” เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 25 ปี กิจกรรม “สัปดาห์ร่วมทุกข์” โดยมิตร ใจอินทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ เชียงใหม่จัดวางสังคม

โดยมีศิลปิน วิทยากร นักวิชาการ เชฟ หมุนเวียนมาจัดกิจกรรมทั้งการเสวนา การฉายหนัง ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06:00 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม ถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2564 อีกด้วย

นิทรรศการ ERRATA : COLLECTING ENTANGLEMENTS AND EMBODIED HISTORIES จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2022 นี้

เปิดให้เข้าชมวันศุกร์-จันทร์ เวลา 10.00-18.00 น. (ค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 150 บาท, เด็กและผู้สูงอายุ 100 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.maiiam.com