ทวารวดีในประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

“ทวารวดี” ได้กลับมาเป็นประเด็นพูดถึงคึกคักอีกครั้งในวงวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี หลังจากที่เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2564 อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เปิดตัวหนังสือใหม่ชื่อ “ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม” พร้อมแสดงปาฐกถาในหัวข้อเดียวกัน

งานเสวนา บทความ สกู๊ปข่าว ทั้งสนับสนุนและโต้แย้งหลายชิ้น เกิดขึ้นตามมาหลายครั้งในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ผมเองก็ถูกชวนไปพูดเรื่องนี้เช่นกันในคลับเฮาส์ เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อถูกชักชวน ก็เลยได้มีโอกาสมาอ่านทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ทวารวดีเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย

อ.พิริยะ ไกรฤกษ์

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า ทวารวดีในฐานะรัฐเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยนั้น มีที่มาจากเอกสารจีนโบราณ

แต่จะว่าไป เอกสารจีนที่พูดถึงรัฐทวารวดี ก็ไม่ได้แสดงข้อมูลเอาไว้มากมายอะไรนัก ทั้งขนาดและอำนาจทางการเมือง แต่ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐแห่งนี้กลับมีความสำคัญอย่างมาก

ทวารวดีได้รับความสนใจอย่างเป็นทางการในสังคมไทยครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ.2467 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้พูดถึงคำนี้ไว้ในเนื้อหาการบรรยายเรื่องพงศาวดารสยาม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงใช้คำว่า “อาณาเขตต์ทวารวดี”

ต่อมา ทวารวดีได้ถูกขยายความยิ่งขึ้นในหนังสือ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” (พ.ศ.2469) โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และหนังสือ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” (พ.ศ.2471) โดยยอร์ช เซเดส์

ในหนังสือทั้งสองเล่ม ทวารวดีได้ถูกขยายความหมายมาสู่การเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ นับถือพุทธศาสนา และมีศูนย์กลางหรือราชธานีอยู่ที่เมืองนครปฐม

ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม

ที่มาของการกำหนดขอบเขตอาณาจักรที่กว้างใหญ่ ทั้งสองท่านใช้หลักฐานเป็นโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งที่มีรูปแบบเดียวกัน มาเป็นเครื่องมือในการบ่งชี้ เช่น อาณาเขตทางทิศตะวันออก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ อธิบายว่า ได้มีการค้นพบพระพุทธรูปอย่างเดียวกันกับสมัยทวารวดีปรากฏในนครราชสีมาและปราจีนบุรี ทำให้เห็น “เป็นเค้าเงื่อนว่าอาณาเขตกรุงทวารวดีจะแผ่มาถึงมณฑลปราจีนบุรีและมณฑลนครราชสีมาในสมัยนั้น”

ส่วนข้อเสนอว่าด้วยศูนย์กลางที่นครปฐม มาจากโบราณวัตถุที่ถูกนิยามว่าเป็นสมัยทวารวดีนั้น ถูกขุดพบในเมืองนี้มากกว่าที่อื่น และในกรณีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ น่าเชื่อว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเห็นที่โยงกลับไปหาข้อเสนอของรัชกาลที่ 4 ที่เคยอธิบายว่าพระปฐมเจดีย์ คือ เจดีย์พุทธศาสนาแห่งแรกในสยาม ที่สร้างขึ้นจากการที่พระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมายังดินแดนสุวรรณภูมิ

ด้วยทัศนะดังกล่าวจึงทำให้พระองค์กำหนดอายุโบราณวัตถุสมัยทวารวดีเก่าย้อนไปถึงราว พ.ศ.500 เพื่อเชื่อมโยงไปให้ใกล้มากที่สุดกับยุคสมัยของพระเจ้าอโศก ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอทุกอย่างสอดคล้องลงตัวกันหมด ทั้งการส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิ ทั้งข้อเสนอของรัชกาลที่ 4 และหลักฐานในเอกสารจีน

ทั้งหมดส่งผลให้ทวารวดี คือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินสยาม สอดรับเป็นอย่างดีกับองค์ความรู้ทางโบราณคดียุคอาณานิคมที่เกิดขึ้นภายใต้ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐจารีตสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

และแน่นอน ศิลปะทวารวดีก็ได้ถูกนิยามให้กลายมาเป็นศิลปะยุคแรกในประวัติศาสตร์สยาม เป็นหลักฐานความเจริญของอารยธรรมอันเก่าแก่และศิวิไลซ์ไม่แพ้อารยธรรมอื่นๆ ในโลก (แม้ยอร์ช เซเดส์ จะกำหนดอายุโบราณวัตถุสมัยทวารวดีต่างออกไป คือราว พ.ศ.1000-1200 แต่ก็มิได้ทำให้ความยิ่งใหญ่ของทวารวดีต่อประวัติศาสตร์ไทยลดน้อยลงมากนัก)

 

เมื่อแนวคิดชาตินิยม ที่เน้นเชื้อชาตินิยม ก้าวเข้ามาเป็นอุดมการณ์หลักของสังคมไทยในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทวารวดีก็ดูจะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในฐานะเครื่องมือของอุดมการณ์ชาตินิยมไทย

ทวารวดีเริ่มถูกตีความใหม่ ทั้งในแง่ความเก่าแก่ และผู้คนที่เป็นประชากรของอาณาจักรทวารวดี

หนังสือ “พระพุทธรูปสมัยต่างๆ ในประเทศไทย” โดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ฉบับตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2486 ได้ดันอายุศิลปะทวารวดีเก่ามากขึ้นไปจนถึง พ.ศ.350-1200

น่าสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้เคยตีพิมพ์มาก่อนแล้วเมื่อ พ.ศ.2480 โดยระบุอายุสมัยศิลปะทวารวดีว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ.1000-1200 แตกต่างมากกับฉบับที่ตีพิมพ์ พ.ศ.2486 (ในช่วงที่อุดมการณ์ชาตินิยมกำลังพุ่งถึงขีดสูงสุด) ที่กำหนดอายุสมัยศิลปะทวารวดีจนเกือบร่วมสมัยกับพระเจ้าอโศกเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลานี้ ได้เกิดกระแสการอธิบายใหม่ว่า อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรของคนเชื้อชาติไทย จากที่แต่ก่อนเคยยอมรับว่าประชากรในทวารวดีไม่ใช่คนไทย แต่คือคนมอญ (ตามทัศนะยอร์ช เซเดส์) และคนละว้า (ตามทัศนะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ)

 

พระยาอนุมานราชธน เขียนหนังสือชื่อ “เรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณ” ตีพิมพ์ พ.ศ.2483 ได้ยืนยันทัศนะข้างต้น โดยขยายความต่อจากงานศึกษาของควอริช เวลล์ ที่ได้ทำการขุดค้นที่พงตึก ในปี พ.ศ.2478 โดยส่วนหนึ่งของงานนี้คือการตรวจสอบกะโหลกมนุษย์ที่ขุดพบในบริเวณดังกล่าว

ซึ่งข้อสรุปของเวลล์ที่น่าสนใจคือ กะโหลกดังกล่าวอาจเป็นกะโหลกของคนไทย

ข้อเสนอนี้ถูกขยายต่อไปอีกจากงานศึกษาของสุด แสงวิเชียร ชื่อ “มอญในอดีตและปัจจุบัน (การศึกษาโครงกระดูกและเครื่องใช้สมัยทวารวดี)” ที่ทำการวิเคราะห์กระดูกที่น่าเชื่อว่าร่วมสมัยกับทวารวดีในเมืองนครปฐม เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนชาติไหนกันแน่ ซึ่งข้อสรุปของงานชิ้นนี้คือ เป็นคนไทย

สุดยังเสนอไกลต่อไปอีกว่า คนไทยอาศัยอยู่ในดินแดนไทยมาตั้งแต่สมัยหินใหม่แล้ว และอยู่อาศัยสืบเนื่องมาจนสมัยทวารวดี และเป็นเจ้าของอารยธรรมทวารวดี (มิใช่มอญหรือละว้าแต่อย่างใด)

น. ณ ปากน้ำ เป็นอีกท่านหนึ่งที่เชื่อในทฤษฎีนี้ และอธิบายว่า หากเรามองไปที่ใบหน้าของพระพุทธรูปทวารวดีจะแสดงเค้าโครงใบหน้าของชนชาติไทยอย่างชัดเจน

ในงานเขียนของปรีดา ศรีชลาศัย ก็ได้เข้าไปอธิบายจารึกภาษามอญสมัยทวารวดีใหม่อีกครั้งโดยชี้ให้เห็นว่า ในจารึกเหล่านั้นล้วนมีคำไทยผสมอยู่หลายแห่ง และนั่นเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่ามีคนไทยอยู่ในอาณาจักรทวารวดีแล้ว มิใช่เพิ่งอพยพลงมาเมื่อ พ.ศ.1800

ด้วยชุดความคิดนี้ คนไทยจึงอยู่ทันการต้อนรับสมณทูตของพระเจ้าอโศกโดยตรง เป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์ และเป็นเจ้าของสุวรรณภูมิอันเก่าแก่ ซึ่งช่วยยืนยันให้ชาวโลกเห็นว่า ชาติไทยนั้นยิ่งใหญ่มากแค่ไหน

 

แม้ปัจจุบัน แนวคิดชาตินิยมสุดโต่งในทางเชื้อชาติจะมิได้เป็นกระแสสูงอีกต่อไป ตลอดจนทัศนะว่าด้วยทวารวดีในฐานะของรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ที่มีราชธานีชัดเจนก็เริ่มถูกท้าทายด้วยแนวคิดใหม่ที่มองทวารวดีในลักษณะที่คล้ายกลุ่มเครือข่ายของรัฐขนาดเล็กหลายๆ แห่งที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันทางวัฒนธรรมมากกว่าทางการเมือง

แต่ผลตกค้างที่ยังหลงเหลืออยู่ในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ก็ยังทำให้ทวารวดียังมีพลังต่ออุดมการณ์ชาตินิยมไทยอยู่ไม่น้อย

ดังนั้น ข้อเสนอของ อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่ระบุว่า ศรีเทพ คือศูนย์กลางของทวารวดี (ควรกล่าวไว้ก่อนว่า อ.พิริยะมิได้เสนอประเด็นนี้เป็นคนแรกนะครับ แต่รายละเอียดไม่ขอกล่าวในที่นี้) จึงสำคัญ เพราะมิใช่แค่การขยับเมืองศูนย์กลางทวารวดีจากนครปฐมไปที่เมืองอื่นเท่านั้น เพราะจะว่าไป ก็มีนักวิชาการหลายคนเคยขยับศูนย์กลางไปหลายเมืองก่อนหน้า อ.พิริยะมากมาย ทั้งอู่ทอง ลพบุรี เสมา เป็นต้น

แต่การขยับมาศรีเทพ จะทำให้ศูนย์กลางทวารวดีมิใช่เมืองพุทธศาสนาอีกต่อไป แต่คือเมืองที่นับถือพระกฤษณะในศาสนาพราหมณ์แทน ซึ่งอาจจะส่งผลไม่น้อยต่ออุดมการณ์ชาตินิยมไทยที่ปลูกฝังให้เราเชื่อมาตลอดว่าศูนย์กลางของอาณาจักรแรกเริ่มในดินแดนไทยคืออาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม ผมเองไม่ค่อยคล้อยตามนักกับชื่อรองบนหนังสือที่ อ.พิริยะตั้งเท่าไร ที่ระบุว่า “ราชธานีแห่งแรกของสยาม” เพราะถึงแม้เมืองศรีเทพจะเป็นเมืองที่ถูกอ้างถึงในเอกสารจีนจริง และเป็นเมืองที่เคยส่งบรรณาการไปให้ราชสำนักจีนถึง 5 ครั้งจริง ก็มิได้หมายความว่าศรีเทพคือเมืองที่เก่าที่สุดในดินแดนไทย

ที่สำคัญคือ การเลือกใช้คำว่า “ราชธานี” นั้นดูจะมีเซนส์ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ของการมองทวารวดีในฐานะรัฐรวมศูนย์ที่มีศูนย์กลางที่ชัดเจนในลักษณะที่ไม่ต่างมากนักจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ซึ่งทำให้ข้อเสนอในงานชิ้นนี้ดูเสมือนว่าจะหลีกไม่พ้นแนวคิดชาตินิยมอยู่นั่นเอง