เฉลียวคือสติ ฉลาดคือปัญญา / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

เฉลียวคือสติ ฉลาดคือปัญญา

 

ผู้รู้ท่านว่า คำ “เฉลียวฉลาด” ก็คือ “สติปัญญา” นั่นเอง เฉลียวคือสติ ฉลาดคือปัญญา

สติ แปลว่า ระลึกได้ หรือระลึกรู้ คือรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ มักใช้คู่กับคำสัมปชัญญะ ที่แปลว่า รู้ตัว

ท่านว่า สติสัมปชัญญะต้องใช้คู่กัน

ยกตัวอย่างว่า ขณะหิวน้ำนี้เป็นสติ คือรู้สึกหิวน้ำ ระลึกรู้ได้ว่าหิวน้ำ จึงเอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ

ขณะเอื้อมมือไปนี้เป็นสัมปชัญญะ คือรู้ตัว ซึ่งต้องมีทั้งความระลึกได้และความรู้ตัวประกอบกันเสมอ สติสัมปชัญญะจึงจะสมบูรณ์พร้อม

มีสติแต่ไม่มีสัมปชัญญะ เช่น มีสติรู้สึกหิวน้ำแล้วก็เอื้อมมือพรวดไปหยิบแก้วน้ำโดยไม่ทันระวัง ไม่ทันรู้ตัว อาจพลาดไปโดนหรือไปชนอย่างอื่นก่อนถึงแก้วน้ำ เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม ก็ชื่อว่ามีสติแต่ขาดสัมปชัญญะ คือ ระลึกได้แต่ขาดความรู้ตัว นับเป็นการมีสติที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

สติจึงต้องคู่กับสัมปชัญญะเสมอ สมดังคำว่า “เฉลียวฉลาด” นั้น

ฉลาดในที่นี้นอกจากหมายถึงปัญญาแล้ว ยังหมายถึงสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวอยู่อีกด้วย

 

สติปัญญานี้เป็นคำกลางๆ เหมือนขยัน ซื่อสัตย์ คือขึ้นกับว่าจะนำไปใช้กับอะไร ภาษาพระเรียกว่าอัพยากตะธรรม คือ สิ่งไม่พึงพยากรณ์ ความขยัน ซื่อสัตย์นั้น ถ้าใช้ในทางไม่ดี เช่น คนโกงหรือโจร ยิ่งขยัน ซื่อสัตย์ ยิ่งฉลาดก็จะยิ่งโกงเก่งปล้นเก่ง ร้ายกาจ จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน หนักข้อขึ้นไปอีก

ในทางธรรมจึงต้องมีคำนำเพื่อจำแนกนำไปใช้ในทางดีทางชอบ เช่น “สัมมาสติ” คือ “สติชอบ” เป็นต้น

มรรคมีองค์แปด หนึ่งในหลักอริยสัจสี่ก็มีสัมมาสติอยู่ด้วย น่าสังเกตคือ ในที่ทั่วไปนั้น หลักปฏิบัติธรรมสามข้อคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่มรรคมีองค์แปดจะเริ่มจากปัญญาก่อนแล้วจึงลำดับเป็นศีล สมาธิ ดังนี้

สัมมาทิษฐิ = ความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ = ดำริชอบ

สัมมาวาจา = วาจาชอบ

สัมมากัมมันตะ = กระทำชอบ

สัมมาอาชีวะ = เลี้ยงชีพชอบ

สัมมาวายามะ = เพียรชอบ

สัมมาสติ = ระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ = สมาธิชอบ หรือตั้งใจมั่น

ลำดับจากบนลงล่าง คือ ปัญญา-ศีล-สมาธิ ไม่ใช่ศีล-สมาธิ-ปัญญา

นี้เป็นนัยยะสำคัญว่า ในขั้นตอนปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ตามมรรคมีองค์แปด ต้องเริ่มด้วยปัญญามาก่อน และต้องเป็น “ปัญญาชอบ” ด้วย

โดยเฉพาะสัมมาทิษฐิ คือ เห็นชอบ ผิดจากนี้ย่อมเป็นมิจฉา เช่น มิจฉาทิษฐิ คือเห็นผิด

ถ้าเริ่มด้วยเห็นผิด ก็จะผิดไปหมดทั้งกระบวนของมรรคมีองค์แปด จนถึงมิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ

มิจฉาสมาธินั้นมีตัวอย่างผิดๆ มากมาย ดังพวกที่อ้างว่า “นั่งทางใน” เห็นภาพพิสดารมากมายนั้น

 

มีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่า ที่เขานั่งสมาธิแล้วเห็นนิมิตต่างๆ นั้นจริงไหม หลวงปู่ตอบว่า

“ที่เขาเห็นนั้นเห็นจริง แต่สิ่งที่เขาเห็นนั้นไม่จริง”

เพราะฉะนั้น การนั่งสมาธิจึงมีได้ทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ มรรคมีองค์แปดจึงต้องเริ่มด้วยปัญญาชอบ คือสัมมาทิษฐิ เห็นชอบเป็นเบื้องต้น และกำกับมรรคทุกข้อด้วยสัมมาเป็นสำคัญและเป็นหลัก

ผิดจากนี้ ย่อมไม่ใช่ทางแห่งความดับทุกข์

 

ในมรรคมีองค์แปดข้อ 7 คือสัมมาสตินั้น ท่านเน้นสติปัฏฐานเป็นใหญ่ คือให้พิจารณาดูกาย เวทนา จิต และธรรม เป็นลำดับ

ท่านใช้คำสำคัญคือ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

เห็นจิตในจิต ดังคำบาลีว่า

จิตเต จิตตานุปัสสี วิหะระติ

แปลว่า “ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ”

ท่านโกวิท เอนกชัย หรือเขมานันทะ อธิบายขั้นตอนของสมาธิว่า เริ่มแต่ตั้งสติกำหนดรู้จน “เห็นจิตในจิต” คือธรรมชาติแท้จริงของจิตในทุกขณะว่ามันกำลังเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร นึกอะไร คิดอะไร ตามดูรู้ได้ในทุกขณะอยู่

สิ่งที่กำลังตามดูตามรู้ก็คือสตินี่เอง

สติจึงเป็นธรรมชาติรู้อย่างหนึ่ง ดังเป็นส่วนหนึ่งของจิต “เห็นจิตในจิต” ก็คือการเอาจิตมาดูจิต หรือเอาสติมาดูจิต จนเห็นอาการเป็นไปตามธรรมชาติของจิตเอง

ดูจิตให้เห็นจิต จนรู้จิต และกำหนดรู้ในจิตได้จริง

กระทั่งยกจิตมากำหนดรู้ตัวทุกข์และความดับทุกข์ คือวิถีแห่งทุกข์และทางแห่งความดับทุกข์สิ้นเชิง

 

นี่คือขั้นตอนของการวิปัสสนา ซึ่งสูงกว่าขั้นสติที่เป็นสมถะ คือ “เห็นจิตในจิต” แล้วสงบรำงับอยู่เพียงเท่านั้น

วิปัสสนา เป็นวิถีแห่งการเห็นแจ้ง เป็นปัญญาอันสูงสุดในพุทธศาสนา คือความดับทุกข์ทางจิต

เป็นเป้าหมายหนึ่งในสามแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ที่กำหนดไว้ในวันมาฆบูชานี้ด้วย คือ

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง

การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา

การทำกุศลให้ถึงพร้อม

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง

การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ (บริสุทธิ์)

เอตัง พุทธานะสาสะนัง

ธรรมสามอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

จำง่ายๆ ก็คือ

ไม่ทำชั่วทุกกรณี ทำความดีเป็นนิตย์ ทำจิตให้บริสุทธิ์

จงมีสติปัญญา คือ เฉลียวฉลาด

และจงฉลาดในทางธรรมเถิด

อย่าฉลาดในเรื่องโง่ๆ เลย