คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน (2) / ท่าอากาศยานต่างความคิด : อนุสรณ์ ติปยานนท์

ท่าอากาศยานต่างความคิด

อนุสรณ์ ติปยานนท์

[email protected]

 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน (2)

 

เขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนดินที่สร้างสำเร็จในปี 2511 หรือกว่าห้าสิบปีมาแล้ว ความกว้างขวางของเขื่อนลำปาวนั้นแทบไม่ต่างจากทะเลสาบขนาดใหญ่เมื่อมองจากหาดดอกเกดอันเป็นหาดยอดนิยมที่ตั้งอยู่ริมเขื่อน

การจัดสร้างเขื่อนลำปาวทำให้อำเภอสหัสขันธ์เดิมต้องตกอยู่ใต้มวลน้ำ ผู้คนจำต้องพากันอพยพมายังที่อยู่ใหม่ที่รัฐบาลจัดให้

จากคนดั้งเดิมที่อยู่ในที่นั้นมานับร้อยปี พวกเขากลายเป็นประชากรรุ่นแรก และนั่นเป็นที่มาของคำเรียกขานอำเภอสหัสขันธ์ในอีกชื่อหนึ่งที่คุ้นเคยกันเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ อันได้แก่คำว่า “อำเภอใหม่”

ความเป็นอำเภอใหม่นี้เองทำให้บ้านเรือนใน “สหัสขันธ์” มีลักษณะหน้าตาแบบเดียวกัน

ตัวอาคารที่พักอาศัยตั้งขนาบอยู่ตามสองฟากของท้องถนน รูปแบบอาคารที่รัฐกำหนดให้คือเรือนชั้นเดียวที่ก่อสร้างด้วยปูนและไม้ ความกว้างยาวนั้นชัดเจน รัฐกำหนดให้ขนาดสามคูหา จับด้านหลังของอาคารแต่ละหลังให้หันหลังชนกันแล้วตัดถนนเป็นเส้นตรงลายตาราง

ถนนเหล่านั้นเริ่มจากถนนหมายเลขหนึ่ง (ซึ่งปัจจุบันมีอีกชื่อว่าถนนไดโนเสาร์) ที่นับจากถนนสายหลักสู่จังหวัดไล่ไปเรื่อยๆ จนสุดพื้นที่ เป็นอันว่าสิ้นอาณาเขตของหมู่บ้านและผู้อยู่อาศัย

ถนนสายสุดท้ายของอำเภอนั้นตีโค้งโอบรอบเข้าสู่ตัวเขื่อนลำปาว

ตรงกลางของเส้นถนนที่ถูกตัดได้รับการจัดแบ่งเป็นพื้นที่ว่างขนาดใหญ่สำหรับตลาดประจำอำเภอและส่วนราชการ โรงพยาบาลและโรงเรียนนั้นร่นไปจัดวางไว้ที่ถนนสายหลักซึ่งตรงมาจากตัวจังหวัดเพื่อความสะดวกในการเข้าถึง ขอบอีกด้านของอำเภอถูกล้อมด้วยภูขนาดเล็กที่มีชื่อเรียกขานว่า “ภูสิงห์”

บนภูมีวัดพุทธสถานภูสิงห์อันเป็นวัดสำคัญ ส่วนอีกด้านนั้นเป็นสุดขอบของอำเภอถัดไป ซึ่งกั้นด้วยถนนหลักอีกสาย

ภูมิประเทศทั้งหมดของ “สหัสขันธ์” ไม่ซับซ้อน เรียบง่ายและงดงามในแบบฉบับของมัน หมู่บ้านชนบทที่บริบูรณ์ ด้วยปลาจากเขื่อน ข้าวจากพื้นที่รอบและของป่าจากภูสิงห์

ในยามเช้าเราจะได้ยินเสียงระฆังจากวัดพุทธสถานที่ประกาศถึงช่วงเวลาบิณฑบาต หลังจากนั้นเหล่าพระภิกษุสงฆ์จะเดินทางลงจากภูมา

ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ภาพของผู้คนที่ตั้งแถวเรียงรายรอรับการมาของพระภิกษุสงฆ์เป็นภาพที่งดงามไม่ต่างจากการตักบาตรเทโวในช่วงออกพรรษา

เพียงแต่ว่าที่นี่มีพิธีกรรมดังกล่าวในทุกเดือน ความเป็นเอกลักษณ์ที่ว่าของสหัสขันธ์และภูสิงห์

จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม “พี่ต่อ” ของผม หรือ “ไอ้ต่อ” ของใครต่อใครจึงเลือกเอาภูสิงห์เป็นสมญานามต่อท้ายความเป็นนักร้องของแก

 

ผมไม่แน่ใจว่า “พี่ต่อ” ได้เคยแสดงดนตรีต่อสาธารณชนหรือไม่ หรือว่าจะเคยได้รับการบันทึกเสียงใดๆ หากแต่ใครที่อยู่บนถนนหมายเลขหนึ่งย่อมจดจำเพลง “เดินตามควาย” ได้แม่นมั่น พวกเขาล้วนหลีกหนีไม่พ้นที่จะได้ฟังบทเพลงนี้ที่จะดังขึ้นถึงสองครั้งในหนึ่งวัน

ครั้งแรกนั้นจะเกิดขึ้นหลังเสียงระฆังจากพุทธสถานภูสิงห์เงียบลง พี่ต่อจะบรรเลงเพลงนี้เป็นเสมือนสัญญาณของการรับวันใหม่

อีกครั้งนั้นจะบรรเลงขึ้นในช่วงเวลาก่อนนอน ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมไม่อาจระบุเวลาได้ชัดเจน

ในคืนที่พี่ต่ออ่อนเพลียและเข้านอนแต่หัววัน บทเพลงนี้อาจได้ฤกษ์บรรเลงเสียตั้งแต่เวลาทุ่มตรง

แต่ในคืนไหนที่พี่ต่อมีงานเลี้ยงกับมิตรสหายหรือติดลมกับการดื่มที่บ้านของใครสักคน บทเพลงนี้อาจเริ่มบรรเลงในเวลาช่วงดึกหรืออาจเป็นช่วงเกือบรุ่งสางก็ย่อมได้

ชีวิตที่ปราศจากทั้งทุกข์และทั้งโศกของพี่ต่อนั้นทำให้พี่ต่อไม่เคยถูกใครรังเกียจ แม้จะแต่งตัวด้วยเสื้อหนังที่หมายถึงการไม่ใส่เสื้อแทบตลอดเวลา

ผมเคยติดตามพี่ต่อไปร้านสะดวกซื้อที่อยู่ริมถนนใหญ่ พนักงานขายในร้านไม่แสดงทีท่าแปลกใจ

ผมเคยติดตามพี่ต่อไปธนาคารเพื่อรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ พนักงานในธนาคารไม่มีใครแสดงท่าทีแปลกใจ

ผมเคยติดตามพี่ต่อไปรับยาที่โรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลไม่มีใครแสดงท่าทีแปลกใจ

พี่ต่อได้สร้างบุคลิกเฉพาะที่ใครปฏิเสธมิได้ และดูเหมือนผู้คนรอบตัวพี่ต่อจะยอมรับบุคลิกนั้นโดยดุษฎี

 

พ้นจากเรื่องการแต่งกายอันเป็นสิ่งที่ผู้คนในเมืองใหญ่อาจมองว่าแปลกหรือไร้ความสุภาพ (พี่ต่อชี้แจงภายหลังว่าการไม่ใส่เสื้อนั้น ประหยัดน้ำและผงซักฟอกในการซักผ้าลงไปได้อย่างยิ่งยวด และเงินที่ประหยัดคงกลายเป็นเงินที่ใช้ซื้อหาสิ่งจำเป็นมากกว่าเสื้อผ้า)

การเป็นนักดื่มแบบคอแข็งของพี่ต่อก็ไม่เคยเป็นที่รังเกียจของใคร พี่ต่อไม่เคยซื้อหาสิ่งเหล่านั้นด้วยเงินเชื่อ ทุกขวดของความมึนเมาล้วนมาจากเงินสด ร้านค้าทั้งหลายที่รังเกียจคนเมาจึงไม่อาจหาข้ออ้างปฏิเสธพี่ต่อได้

อีกทั้งเส้นทางการดื่มที่ยาวนานทำให้พี่ต่อไม่เคยแสดงอาการมึนเมา เสียผู้เสียคนให้ใครได้เห็น

พี่ต่อประคองตนให้ไม่เคยเมาอย่างชนิดที่เรียกว่าหัวราน้ำ เมื่อรู้สึกตัวว่าเครื่องดื่มในกายทำหน้าที่ของมันเพียงพอแล้ว พี่ต่อก็จะลุกออกจากที่นั่งประจำในร้านชำพร้อมขวดเหล้าที่ยังไม่หมดลง เดินหรือขี่รถเครื่องคู่ใจกลับมาที่บ้าน เปิดวิทยุฟังเพลงลูกทุ่งจนเหล้าหมดก่อนจะเล่นเพลง “เดินตามควาย” เป็นการปิดท้ายวันเวลาแล้วเข้านอน

ไม่เคยมีคดีความเกกมะเหรกใดเกิดจากพี่ต่อ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งใดจากตัวพี่ต่อ เว้นแต่เสียงหัวเราะยามพี่ต่อเข้าร่วมวงเท่านั้นเอง

 

วงดื่มในชนบทนั้นอาจทำให้คนที่ชินกับคำกล่าวในเชิงเหยียดหมิ่นที่ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นเป็นพวก “จน เครียด และกินเหล้า”

คำกล่าวที่ติดปากเช่นนี้ทำให้หลายคนทึกทักเอาว่าผู้คนในชนบทที่นั่งลงดื่มเป็นเช่นนั้น แต่ในความจริงแล้ว หากมองในอีกมุมหนึ่ง การดื่มคือการพักผ่อนของผู้คนในดินแดนไกลปืนเที่ยงที่มีราคาถูกที่สุด

พวกเขาไม่มีแอพพลิเคชั่นสำหรับดูหนังออนไลน์ ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ใช้งานแบบอันลิมิต ไม่มีสวนสนุกหรือห้างสรรพสินค้าในหมู่บ้านให้เดินเล่น

เหล้าขาวขวดเล็กในราคาที่แพงกว่าเบียร์กระป๋องเพียงเล็กน้อยทำให้ผู้ดื่มได้ถึงแก่ความสุขจากความมึนเมา ได้พักผ่อนถอยห่างจากโลกความจริงอันเหนื่อยยากในเวลารวดเร็ว ได้สร้างความอยากอาหารที่ทำให้กินข้าวอร่อย ได้ทำให้นอนหลับได้ลึกเพื่อตื่นมาพบกับวันอันซ้ำซากจำเจโดยไม่ต้องอนาทรร้อนใจ

ก็หากเหล่าผู้มีอันจะกินมีความสุขกับไวน์วันละขวดได้โดยไม่มีใครตำหนิ สามัญชนคนทั่วไปจะหาความสุขจากเหล้าขาวไม่ได้เชียวหรือ

ความซ้ำซากจำเจแบบใดหรือที่ทำให้ให้คนเราต้องพึ่งพาความเมามาย ความซ้ำซากจำเจแบบที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคือความซ้ำซากจำเจแบบนั้น ชีวิตในชนบทแม้จะแลดูมีเสรีแต่ก็เต็มไปด้วยแบบแผนที่เคร่งครัด แม้ไม่มีคำพูด แต่แทบทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้การจับจ้องซึ่งกันและกัน

ใครถูกหวยรวยเบอร์ก็จะรู้กันในครึ่งชั่วโมง ใครซื้อรถใหม่ก็จะรู้กันในหนึ่งชั่วโมง ใครตัดผมใหม่ก็จะรู้กันในวันสองวัน ใครเปลี่ยนผัวใหม่เมียใหม่ก็จะรู้กันในสิบนาที

ความตื่นเต้นในชนบทคือการสนใจในสิ่งแปลกปลอมซึ่งแน่นอนนักว่านานๆ ครั้งมันจึงจะเกิดขึ้นเสียทีหนึ่งหรือไม่ก็จัดให้ทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามขนบให้กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม

 

ในช่วงแรกที่ผมพำนักอยู่ในเรือนไม้บนถนนสายนี้ ผมพบว่าเมื่อเวลา 10 นาฬิกายามเช้ามาถึง คุณลุงคนหนึ่งจะเข็นรถเลื่อนเก็บขยะผ่านหน้าบ้านผมไป

และเมื่อได้เวลาเที่ยงตรงรถเที่ยวสุดท้ายที่เข้าสู่ตัวจังหวัดก็จะแล่นผ่านหน้าบ้านผม

เวลาบ่ายสองโมงชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของสวนยางและภรรยาจะขี่รถเครื่องผ่าน

บ่ายสี่โมงคุณยายสีที่อยู่สุดขอบถนนจะเดินผ่านหน้าบ้านเพื่อไปตลาดเย็น

หกโมงเย็นคุณครูบ้านตรงข้ามจะกลับเข้าบ้าน

ทุกสองชั่วโมงผมจะรับรู้สัญญาณเหล่านั้น ความจำเป็นที่ต้องมีนาฬิกาไว้ตรวจสอบเวลาหมดสิ้นลง

วัฏจักรแห่งชีวิตที่เคลื่อนที่อยู่รอบๆ ตัวผมต่างหากที่ทำหน้าที่ได้แม่นยำและเที่ยงตรงกว่า

ก็วัฏจักรแบบนี้เอง สำหรับคนอย่างพี่ต่อที่ไม่ขออยู่ร่วมในมันหาทางแหวกออกไปด้วยเครื่องดื่มและการดื่มมันในแต่ละวัน

พี่ต่อเคยพูดเป็นคำคมกับผมว่า “คนชนบทแบบผมตายโดยเชื้อราครับพี่ ไม่ตายเพราะชราก็ตายเพราะสุรา ผมคิดว่าผมคงเลือกเอาแบบหลัง โรคชรามันดูเหนื่อยเกินไปสำหรับคนแบบผม”

และพี่ต่อก็ตั้งหน้าตั้งตาสู้กับโรคสุราทุกวันไป แม้ว่าใครหลายคนจะเชื่อว่าพี่ต่อผู้มีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยแยแสอะไรในโลกจะจากโลกนี้ไปด้วยความชราแทน

 

การไม่แยแสโลกของพี่ต่อในด้านหนึ่งมันหยิบยื่นความสุขและเสียงหัวเราะให้ผู้คนรอบๆ ตัวพี่ต่อ

แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็หยิบยื่นความเหลวไหลไร้สาระให้เราได้ประสบด้วยในเวลาเดียวกัน การนัดหมายทำงานกับพี่ต่อเป็นเรื่องต้องเผื่อเวลา (ซึ่งผิดกับการนัดดื่มที่พี่ต่อมักตรงเวลาเสมอ)

ครั้งหนึ่งผมเคยนัดไปดูปลาที่เรือเอาขึ้นจากเขื่อนในยามเช้า แต่จนสิบโมงพี่ต่อถึงเดินออกจากบ้านมาเตรียมตัวเดินทาง

ผมนัดพี่ต่อไปซื้ออุปกรณ์ซ่อมบ้านในยามเที่ยง แต่จนบ่ายคล้อยที่พี่ต่อจะจอดรถเครื่องที่หน้าบ้านผมพร้อมคำถามว่า “เราไปกันหรือยัง”

แต่เหตุการณ์เหล่านี้เทียบเคียงไม่ได้กับเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจากความสนใจใคร่รู้ส่วนตัวของผม

อำเภอสหัสขันธ์นั้นอยู่ไม่ไกลนักจากภูพาน และภูพานนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสมรภูมิรบอันดุเดือดในช่วงสงครามเย็น

คืนหนึ่งเมื่อทุกคนเข้าบ้านเรียบร้อยกันหมดแล้ว ผมก็เอ่ยพี่ต่อที่นั่งร่วมวงกันว่า “พี่ต่อรู้จักคนที่เคยเข้าป่าไหม?”

พี่ต่อวางแก้วเหล้าขาวในมือ ก่อนจะทำสีหน้าเหมือนค้นคว้าลึกลงไปในความทรงจำ “รู้จักคนสองคนอยู่นะ พี่ต้นจะถามทำไม?”

“อยากรู้เรื่องราวที่เขาเข้าป่านะ ลำบากไหม มีความกดดันอะไรหรือเปล่า อยากรู้ประสาคนเคยอ่านอะไรแบบนี้เป็นธรรมดา พี่พาผมไปเจอเขาได้ไหม เอาคนที่สะดวกคุยนะ”

“ได้ พี่ต้นเลี้ยงเหล้าผมอีกแก้ว เดี๋ยวผมพาไปเลย”

“จะดีหรือ ไปหาเขาค่ำๆ มืดๆ”

“ดีสิ ไปหาคน ไม่ไปตอนค่ำ จะไปตอนไหน กลางวันเขาก็ไปทำงาน ไปไร่ ไปนากันทั้งนั้น”

 

หลังเหล้าขาวแก้วสุดท้าย พี่ต่อสตาร์ตรถเครื่อง ผมโดดขึ้นซ้อนท้าย รถแล่นอ้อมไปทางเชิงภูสิงห์ เข้าซอยหนึ่งแถวนั้นไปไม่ไกลนักรถพี่ต่อก็จอดลงหน้าบ้านไม้หลังย่อมแถวซ้ายมือ “นี่แหละ คนที่เข้าป่า ตัวจริง เสียงจริง ผมรอหน้าบ้านนะ จะสูบยาสักหน่อย” ผมตัดสินใจเดินไปหน้าบ้าน ตะโกนเรียกเจ้าของเคหะสักครู่ ก่อนที่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งจะออกมา

“มีอะไรหรือครับ” เขาถาม

“ผมมากับพี่ต่อครับ พอดีคุยกันเรื่องเข้าป่า พี่ต่อบอกว่าพี่เคยเข้า ถ้าไม่ว่าอะไร อยากถามอะไรเล็กๆ น้อยๆ นะครับ”

“เอาสิ จะถามอะไร ผมเข้าป่าเวลาสะดวก ไม่ชำนาญอะไรมาก จะสั่งเห็ดหรือหน่อไม้ล่ะครับ ถ้าหน่อไม้ก็หาง่ายหน่อย เห็ดมันแล้วแต่ดวง เห็ดหล่ม เห็ดระโงกนี่นานจะเจอที แต่สั่งไว้ได้ ถ้าได้จะเอาไปฝากไว้บ้านไอ้ต่อก็ได้ รู้จักอยู่”

ผมเหลียวหาพี่ต่อ แต่แกหายตัวไปหน้าบ้านเสียแล้ว กว่าจะรู้ว่าเข้าป่าในความหมายของแกกับผมนั้นต่างกันมาก ทุกอย่างก็ดูจะสายเสียแล้ว

“งั้นผมเอาหน่อไม้สองโล เห็ดป่าสักห้าโล เห็ดอะไรก็ได้ครับ ได้แล้วพี่เอาไปฝากไว้บ้านพี่ต่อนะครับ ผมจะทิ้งเงินไว้ให้”