อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : องค์ประกอบที่ไม่ถูกจัด งานศิลปะที่ว่าด้วยวัตถุที่ถูกมองข้าม (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ย้อนอ่าน องค์ประกอบที่ไม่ถูกจัดงานศิลปะที่ว่าด้วยวัตถุที่ถูกมองข้าม ตอน 1

ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล กล่าวถึงงานของตัวเองอีกว่า ด้วยความที่บ้านผมอยู่ปทุมธานี ห้องทำงานของผมอยู่ชั้นสี่ของอาคาร เวลาทำงานผมจะเปิดหน้าต่างเอาไว้ทุกบาน เพราะอากาศมันร้อน และห้องผมไม่มีแอร์ มันก็จะมีพวกขน ละอองเกสร หรือฝุ่นละอองในอากาศปลิวเข้ามาตกลงบนภาพวาด มันก็เลยกลายเป็นองค์ประกอบในงาน

อันที่จริงก่อนหน้านี้ผมอยู่ห้องเช่าที่พระรามสี่ ซึ่งตอนนั้นมีคอนโดสร้างใหม่ เวลาที่เขาเทปูนและตอกเสาเข็ม ฝุ่นจะเยอะมาก ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ผมเริ่มทำงานชุดนี้พอดี ฝุ่นก็เลยตกลงมาอยู่บนงานเยอะมาก มันเหมือนเป็นการยอมรับสภาพแวดล้อมหรืออุบัติเหตุที่เราไม่คาดคิดให้เข้ามาอยู่ในงานได้

อีกอย่าง ผมชอบเวลาที่ภาพวาดของผมโดนฝุ่นในหอศิลป์ลงมาจับงาน ผมคิดว่าฝุ่นในหอศิลป์หรือฝุ่นในอากาศที่ลอยมาเกาะบนหน้าภาพวาด โดยที่ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทำงาน มันก็สามารถเป็นองค์ประกอบของงานอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน”

จะว่าไปลักษณะของการทำงานแบบนี้ของลัทธพล ดูๆ ไปก็คล้ายคลึงกับกระบวนการทำงานของศิลปินนามธรรมในแบบ Color Field painting ที่ปล่อยให้ปฏิกิริยาทางเคมีของสีหรือความเป็นสสารที่มีสถานะเป็นของเหลวของไหลไปตามแรงโน้มถ่วงจนกลายเป็นผลงานออกมา อยู่เหมือนกัน

“ผมอาจจะมีแนวคิดในกระบวนการทำงานแบบนั้น แต่ผมไม่ได้ยึดถือตามพื้นฐานของประวัติศาสตร์ศิลปะแบบนั้น เพราะเวลาผมทำงานผมมองตัวเองมากกว่า ว่าธรรมชาติของตัวเองเป็นยังไง กระบวนการมันอาจจะไปบังเอิญเหมือนกันมากกว่า เพราะเวลาทำงาน ผมเป็นเหมือนคนไร้ราก ผมทำงานอย่างงี้เพราะธรรมชาติของเรามันเป็นแบบนี้มากกว่า

“มันอาจจะเป็นนิสัยด้วย ที่เวลาผมดูงานจิตรกรรม ผมจะชอบดูรายละเอียด ซึ่งผมชมชอบการมองรายละเอียดเล็กๆ ตรงนั้นมากกว่าการมองภาพรวมเสียอีก งานของผมก็เลยพูดถึงรายละเอียดเล็กๆ เหล่านั้น มันอาจจะเป็นธรรมชาติของผม และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานศิลปะของผม”

หากมองอย่างผิวเผิน ภาพวาดในนิทรรศการนี้ของลัทธพล ดูจะเป็นงานในรูปแบบของศิลปะนามธรรม ที่ไร้เรื่องราวหรือรูปทรง ที่แสดงออกถึงความเรียบง่ายไร้รูปลักษณ์ขององค์ประกอบจนดูเหมือนพื้นที่ว่างเปล่าบนผืนผ้าใบ

แต่ถ้ามองใกล้ๆ ลึกลงไปในรายละเอียดของภาพวาด เราจะเห็นอะไรมากกว่านั้น

และอันที่จริงผลงานศิลปะชุดนี้ของเขาเป็นการทำงานศิลปะในเชิงกระบวนการและกรอบความคิด (Conceptual) เสียมากกว่า

“ผมมองมันเป็นวัตถุ (Object) มากกว่าภาพวาดนามธรรม เพราะงานชุดนี้ผมไม่ได้ทำภาพวาดในฐานะจิตรกร ผมไม่ได้มีธรรมชาติแบบนั้น

วิธีคิดในการสร้างภาพมันเป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่า ดูเผินๆ ตัวงานมันมีภาษาของความเป็นนามธรรมสูง แต่ถ้ามองที่กระบวนการมันมีความเป็นนามธรรมต่ำมาก

เพราะขนพู่กันที่ติดอยู่บนภาพมันคือขนพู่กันจริงๆ สีที่ใช้วาดภาพมันคือสีจริงๆ ฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนภาพมันคือฝุ่นจริงๆ ทุกอย่างมันคือความจริงหมด มันไม่มีความเป็นนามธรรม เพราะวัตถุมันมีอยู่ให้เห็นตรงนั้นชัดๆ แต่เป็นความจริงในรายละเอียด มันค่อนข้างเป็นรูปธรรม

แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่มันเสร็จออกมา มันดูเป็นนามธรรม แต่ถ้าเรามองเลยพ้นกว่าความเป็นนามธรรมลงไป เราจะมองเห็นความจริงของตัววัสดุที่ใช้”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของงานศิลปะของลัทธพล คือมันมีความย้อนแย้งกับระบบการศึกษาศิลปะกระแสหลักของประเทศไทย ที่ยึดมั่นกับหลักการของการจัดองค์ประกอบศิลปะและสูตรสำเร็จทางศิลปะที่ค่อนข้างจะเป็นแบบประเพณีนิยมเป็นอย่างมาก

แม้กระทั่งในงานแบบนามธรรมเองก็มีภาษาขององค์ประกอบที่เป็นสูตรสำเร็จอยู่

แต่ภาพวาดในนิทรรศการครั้งนี้ของลัทธพล นั้นไม่ต่างอะไรกับการทำลายสูตรสำเร็จขององค์ประกอบศิลปะเหล่านั้นลงอย่างสิ้นเชิง

“มันอาจจะเป็นแบบนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ผมไม่ได้พยายามจะทำลายอะไรเลย อันที่จริงผมชอบงานจิตรกรรมในแบบประเพณีด้วยซ้ำ ผมเริ่มเรียนศิลปะจากการที่ผมชอบวาดรูป

แต่ทีนี้ พอจบมา ด้วยนิสัยของผมกับสิ่งที่ผมสนใจ มันทำให้ผมไม่รู้ว่าผมจะวาดอะไร ผมก็เลยเริ่มจากการวาดความเรียบของทีแปรงก็แล้วกัน ซึ่งมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานชุดนี้ อีกอย่างเวลาทำงานผมไม่ได้ยึดติดกับเทคนิคไหนเป็นพิเศษหรือเฉพาะตัว มันอยู่ที่ว่า ตอนนั้นเราคิดแบบนี้ เราเลยทำแบบนี้มากกว่า

โดยพื้นฐาน ผมเป็นคนทำงานในลักษณะคอนเซ็ปช่วลอาร์ต แต่ทีนี้งานคอนเซ็ปช่วลโดยทั่วไปมันมีความดูยาก มีความที่คนทั่วไปไม่เก๊ต หรือความไม่สวยของมันอยู่ ผมอยากสร้างสมดุลระหว่างความเป็นคอนเซ็ปช่วลและสุนทรียะหรือความงาม งานชุดนี้ถูกทำขึ้นมาภายใต้กรอบคิดแบบนี้ มันจะมีความเป็นคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรงไหม อันนี้ผมไม่แน่ใจ

แต่ที่แน่ๆ ผมอยากให้มันสวยด้วยในอีกแง่นึง”

ดูงานศิลปะในนิทรรศการนี้แล้วทำให้เราอดนึกขึ้นไม่ได้ว่า บางทีสิ่งที่เราเห็น อาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด และสิ่งที่เรามองไม่เห็น ก็อาจไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่จริง หรือสิ่งที่คนบางคนมองข้ามและเห็นว่าไม่สำคัญอะไร มันก็อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบางคนก็เป็นได้

ใครสนใจเข้าไปชมนิทรรศการ (Un) composition องค์ประกอบที่ไม่ถูกจัด ก็สามารถเข้าชมผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2017

ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 (ซอยสาธุประดิษฐ์ 15) ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook Gallery VER หรือ อีเมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์