เสถียร โพธินันทะ : นักเล่านิทาน [ดังได้สดับมา]

ที่สุชีพ ปุญญานุภาพ ระบุว่า ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ เรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุขจนกระทั่งสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 5 จึงได้ลาออก

อาจก่อให้เกิดความไขว้เขวกับ ม.ศ.5 ในปัจจุบัน

แท้จริงแล้ว การระบุว่า มัธยมปีที่ 5 ของ สุชีพ ปุญญานุภาพ นั้นถูกต้องเพราะว่ามัธยมศึกษาในยุคก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นสูงสุดคือมัธยมปีที่ 6

จากนั้นจึงเข้าสู่ระดับ “เตรียมอุดม”

อย่างเช่นที่มีการจัดตั้งเตรียม มธก. เตรียมจุฬาฯ เตรียมนายร้อย แม้กระทั่งเตรียมศิลปากรที่โรงเรียนช่างศิลป์ เป็นต้น

นั่นก็คือ มัธยม 7 มัธยม 8 ในกาลต่อมา

การลาออกของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ เพียงชั้นมัธยมปีที่ 5 จึงเท่ากับเป็นการลาออกกลางคัน และเท่ากับเป็นการตัดโอกาสก้าวไปยัง “เตรียมอุดม”

“เตรียมอุดม” ซึ่งเป็นพื้นฐานไปสู่ “มหาวิทยาลัย”

เหตุผลที่ สุชีพ ปุญญานุภาพ อธิบายคือ 1 เป็นความปรารถนาของ ด.ช.เสถียร เอง เพราะ “ไม่ชอบการสอบไล่ แต่ชอบความเป็นอิสระ” และ 1 “ปรารถนาจะมีเวลาเป็นของตนเองในการค้นคว้าหาความรู้ที่ต้องการ”

นั่นก็คือ “ความรู้ทางพระพุทธศาสนา”

แต่คุณลักษณะอันเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ คือความจำอันยอดเยี่ยม และความชมชอบในการอ่านหนังสือ

ดัง สุชีพ ปุญญานุภาพ ประมวลมายืนยัน

ได้กล่าวแล้วว่า ด.ช.เสถียร มีความจำดี เมื่ออ่านหนังสือประเภทนิทานหรือนิยายอะไรแล้วก็เล่าได้อย่างถี่ถ้วน

ในขณะที่เป็นนักเรียนอยู่เพื่อนๆ จึงชอบตีวงล้อมฟัง ด.ช.เสถียรเล่านิทานอย่างสนุกสนาน

เมื่อ “ยาขอบ” แต่งเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ออกมา ด.ช.เสถียรก็เป็นผู้หนึ่งที่เล่าเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ด้วยสำนวนตามหนังสือนั้นได้ดีอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

ไปเที่ยวบ้านไหนที่มีเด็กมากๆ ก็จะถูกขอร้องให้เล่าเรื่องที่อ่านมาให้ฟัง ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ติดใจไปตามๆ กัน

หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่ ด.ช.เสถียรชอบมากที่สุดก็คือเรื่องประวัติศาสตร์

ใครอ่านหนังสือเกินเวลาหลายวัน ด.ช.เสถียรจะใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นก็อ่านแล้วจำได้ เล่าเรื่องได้ตลอด

ถ้าตรงไหนชอบมากก็อ่านซ้ำๆ จนขึ้นใจหรือท่องเอาไว้เลย

เมื่อเขียนคำนำของหนังสือ “พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง” เสถียร โพธินันทะ จึงยืนยันว่า

ข้าพเจ้าชอบประวัติศาสตร์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ซึ่งข้าพเจ้าได้ค้นคว้าศึกษาด้วยความสนุกเพลิดเพลินที่สุด

การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ในด้านของความเจริญและความเสื่อมในอดีต

และเป็นประโยชน์ต่อการที่จะนำมาเทียบเคียงในปัจจุบัน ตลอดจนการสร้างและดำเนินกิจการในอนาคต

ประวัติศาสตร์เป็นดุจหนึ่งกระจกเงาที่จะส่องมองเห็นความเป็นไปตลอดในกาลทั้ง 3

แม้จะเป็นวิชาที่คนส่วนมากไม่ใคร่จะนิยมติดใจสงสัยก็ตาม แต่วิชานี้ก็ได้แทรกซึมทั่วไปในวิชาการต่างๆ ซึ่งบางครั้งเราก็เรียนไปโดยไม่รู้ตัว

พระพุทธศาสนาของเราอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาที่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองมากมายยิ่งกว่าทุกศาสนาในโลก ถึงแม้ว่าอายุกาลของพระพุทธศาสนาจะไม่สูงกว่าลัทธิพระเวทของพราหมณ์ก็จริง

แต่เมื่อเปรียบเทียบความละเอียดกับการซับซ้อนของประวัติศาสตร์แล้วพระพุทธศาสนาก็นำหน้าพราหมณ์ไปลิบ

ยิ่งกว่านั้น เสถียร โพธินันทะ ก็ยังเคยกล่าวกับ พระมหาวิจิตร จันทะปัจโชโต ซึ่งเป็นศิษย์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า

“เวลาอ่านประวัติศาสตร์ผมเห็นภาพเจิดจ้า

“ถึงตอนรบกันผมก็เห็นเชิงเทิน เห็นปราการป้อมค่าย เห็นอาวุธ ดาบ โล่ กระทบกัน เวลาผมอ่านพระสูตรผมเห็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งด้วยพระอาการอย่างไร”

นั่นก็คือ มโนภาพ อันเกิดจาก “จินตนาการ”