ปาฏิหาริย์ติช นัท ฮันห์ จากธรรมมรรคาถึงพรรคคอมมิวนิสต์/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ปาฏิหาริย์ติช นัท ฮันห์

จากธรรมมรรคาถึงพรรคคอมมิวนิสต์

 

โดยบุพกรรมให้จดจำว่า ฉันมีโอกาสศากยะทั้งสามท่านในต่างกรรมต่างวาระ

เริ่มจากพระธรรมโกศาจารย์-พุทธทาสภิกขุ (87) ที่ฉันเดินทางไปวัดธารน้ำไหลเพื่อจารึกรอยทางอาศรมแรกแห่งศากยะรูปนี้เพื่อตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ เซ็กชั่น “จุดประกาย” ความจริง ฉันเคยมาสวนโมกขพลารามตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม แต่การได้เขียนบทความครั้งนั้น นับเป็นก้าวแรกในความสนใจต่อวิถีเถรวาทไทย

ต่อมา ฉันก็ได้พบกับศากยะมุนีรูปที่สองคือ องค์ทะไลลามะที่ 14 ประมุขวชิรญาณนิกาย การพบกับท่านครั้งนั้นมีความหมายมาก นอกจากความเกี่ยวข้องกับพระธรรมโกศาจารย์ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางแห่งเถรวาทก้าวหน้าแล้ว องค์ทะไลลามะเคยไปเยือนสวนโมกข์ พ.ศ.2510

น่าเสียดายที่การเสด็จเยือนครั้งหลังของผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ได้กลายเป็นเรื่อง/ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาแทรกแซง กระนั้นสารตั้งต้นจากสวนโมกขพลารามถึงดะรัมศาลาและลาซา/ทิเบต กลับกระจายกว้างไกล โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเชิงรุกในหมู่นักวิทูไทย

เกิดเป็นผลงานใหม่ๆ ในศาสตร์และศิลป์พุทธแบบวชิรญาณ ก่อให้เกิดความงอกงามในพุทธยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนสังคมให้ตื่นรู้การเจริญสติในตน มากกว่าพึ่งพิงสิ่งภายนอก โดยผู้มีบทบาทนำคืออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนักแปล/บรรณาธิการผู้เคี่ยวกรำในองค์ความรู้วิถีเซนตะวันออก/วชิรญาณ-พจนา จันทรสันติ

แล้วก็มาถึงศากยะมุนีคนที่ 3 ซึ่งที่นี้คือ ท่านติช นัท ฮันห์ (95)

cr : Thich Nhat Hanh/fb

ฉันรู้จักท่านตั้งแต่ครั้งยังศึกษาในมหาวิทยาลัยจากหนังสือนิกายเซนที่โดดเด่นทางกวีและกลอนเปล่า นอกจากติช นัท ฮันห์ แล้ว ยังมีท่านมหาสมภารพรมทาขณะท่านยังบวชและต่อมาเป็นอาจารย์ทางปรัชญาและนักวิจัยทางศาสนา

การได้พบท่านติช นัท ฮันห์ และร่วมฝึกวิปัสสนาที่สวนลุมพินี ที่ท่านติช นัท ฮันห์ มาเยือนหมู่บ้านพลัมในไทย ณ ช่วงปลายชีวิตของท่าน ที่นักวิปัสสนาและสานุศิษย์ยังล้นหลาม และการแสดงธรรมที่เป็นเพียงการนั่งดูลมหายใจนั้น ช่างเป็นการสอนธรรมที่เรียบง่ายเพื่อเรียนรู้จิตใจตน

พลันก่อนมรณกรรมของติช นัท ฮันห์ การรำลึกถึงนักบวชผู้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมเวียดนามที่ฉันหมกมุ่นค้นคว้า ก็กลับมาเป็นภาพจำ

ผู้คนอาจจะจดจำแต่เรื่องของภิกษุมหายานหนุ่มรูปหนึ่งที่ลี้ภัยสงครามเวียดนามไปสหรัฐและยุโรป การเรียกร้อง “สันติภาพ” และ “สันติธรรม” จากสงครามเวียดนาม

กว่าครึ่งศตวรรษที่บทกวีธรรมะและงานเขียนของติช นัท ฮันห์ ได้แพร่หลายไปสู่หัวใจคนรุ่นใหม่ คำสอนของติช นัท ฮันห์ จึงซึมซาบสู่หัวใจในสานุศิษย์และที่หมู่บ้านพลัมฝรั่งเศส ดินแดนแห่งการเรียนรู้การฝึกสติที่ดึงดูดหนุ่มสาวทั้งยุโรปและเอเชียจำนวนมากไปที่นั่น

ความเป็น “สังฆะ” แบบมหายานที่สอดคล้องสมดุลต่อฝึกตนดำรงสติในเบื้องต้น ก่อให้เกิดการขยายตัวของชุมชนหมู่บ้านพลัมของสำนักติช นัท ฮันห์ ที่กระจายออกไปในหลายประเทศ

แม้ว่าภาพรวมของศตวรรษที่ 21 ท่านติช นัท ฮันห์ จะได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้” ทว่าแนวคิด “สติปัฏฐาน 4” แล้ว ท่านกลับให้การยกย่องต่อท่านพุทธทาสซึ่งเป็นนักบวชต่างนิกาย ซึ่งเคยใช้หลักธรรมข้อนี้เป็นมรรคาธรรม ซึ่งภิกษุณีนิรามิสา ศิษย์เอกของติช นัท ฮันห์ เองเคยอ้างถึงพระอาจารย์ที่ให้ความสำคัญในข้อนี้

“ความเป็นเช่นนั้นเอง หรือ ‘ตถตา’ เป็นศัพท์พุทธศาสนาที่หมายถึงธรรมชาติที่แท้ และทุกๆ สิ่งล้วนมีธรรมชาติเฉพาะตน” ความตอนหนึ่งใน Teaching on Love ที่นักบวชผู้นี้อ้างจากบทอมตะของท่านพุทธทาส

และให้ตระหนักว่า ทั้งวชิรญาณ, มหายาน และเถรวาท ต่างมีวิหารธรรมอันเดียวกัน

cr : Thich Nhat Hanh/fb

แต่บทบาทของมหานิกายในเวียดนามแท้จริงแล้วเป็นเช่นไรเล่า? ผู้คนรับรู้กันเพียงว่าคือมหายานในแบบอันนัมซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

การถือกำเนิดของลัทธิมหายานอย่างมากมายหลายนิกายเพื่อต่อสู้กับเจ้าปกครองอินโดจีนนั้น ช่างกลายเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งสิ้น ซึ่งฝรั่งเศสเองก็รู้ดี ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนกองทัพปลดแอกซึ่งต่อมากลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ไซ่ง่อน

ต่อมาเมื่อประเทศเป็นเอกราชแล้ว คณะนิกายบางฝ่ายในสงฆ์รุ่นใหม่ไม่ยอมขึ้นต่ออำนาจรัฐ ในจำนวนนี้มีท่านติช นัท ฮันห์ ของขบวนการ “ปฏิรูปพุทธแนวใหม่” รวมอยู่ด้วย ซึ่งการต่อสู้ครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากติช นัท ฮันห์ สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐ ก่อตั้งสำนักพิมพ์และมหาวิทยาลัยสงฆ์ในไซ่ง่อนจนกลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม จนต้องภัยทางการเมือง (2509)

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยลดราวาศอกต่อองค์ทะไลลามะฉันใดก็ฉันนั้น

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ไม่เคยละความระแวงแคลงใจต่อท่านติช นัท ฮันห์ เยี่ยงนั้น

ในปี 2548 ภิกษุนักธรรมผู้มีชื่อไปทั่วโลกท่านนี้ แต่ฮานอยที่ยังไม่เรียนรู้มูลค่าทางวัฒนธรรม ยังคงเดินหน้า ไม่อนุญาตให้ศากยะรูปนี้กลับไปทำกิจกรรมทางศาสนาในเวียดนามอย่างถาวร

และการไปเยือนอย่างชั่วคราวครั้งนั้น ทำให้ท่านติช นัท ฮันห์ ตัดสินใจให้ศิษย์ภิกษุณีนิรามิสาชาวไทยระดมทุนก่อตั้งหมู่บ้านพลัมที่จังหวัดนครราชสีมา (2553) และข้อนี้เองที่เราเชื่อว่านอกจากท่านติช นัท ฮันห์ จะมาเยือนไทยอย่างบ่อยครั้ง แต่เมล็ดพันธุ์ทางมหานิกายของไทยนั้นแม้จะยังบอบบางแต่ก็เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง

โดยเฉพาะด้านความช่วยเหลือภิกษุ-ภิกษุณีเวียดนามทั้งในฐานะพระธรรมทูตหมู่บ้านพลัมในต่างแดนและเป็นการลี้ภัยในทางหนึ่ง ซึ่งเวลานั้น รัฐบาลฮานอยขณะนั้นยังมีมุมมองกีดกันต่อนักบวชทั้งเถรวาทและมหายานในการทำกิจกรรมทางศาสนา

ความหวาดระแวงนี้เองที่ทำให้ “สังฆะ” แบบหมู่บ้านพลัมในเวียดนามไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่สังฆะหมู่บ้านพลัมในไทยนั้นกลับได้รับการยอมรับในหมู่องค์กรสื่อและฆราวาสธรรม

และนี่คือสิ่งที่อยู่นอกเหนือเกร็ดประวัติอันงดงามของท่านติช นัท ฮันห์ ตลอดชีวิตสายธรรมที่ไม่อาจ “สังฆกรรม” กับ “พรรคคอมมิวนิสต์” ต่อ ณ อดีตอันแข็งกร้าวและปัจจุบันที่กำลังจะเปลี่ยนไป

และเราเช่นกันที่ลืมว่า ยุคหนึ่งท่านพุทธทาสหรือพระเงื่อม อินทรปัญโญ ขณะยังหนุ่มก็ถูกพวกขวาจัดนิยมในไทยใส่ร้ายท่านว่าเป็นพระนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์

จึงกล่าวได้ว่าการเป็นนักบวชนั้น ไม่ว่าลัทธินิกายใด หากไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐเสียแล้ว ก็เชื่อเถิดเทียวว่าจะถูกกล่าวหานานา

cr : Thich Nhat Hanh/fb

ดังนี้ กระทั่งเมื่อท่านติช นัท ฮันห์ เริ่มอาพาธไม่สู้ดี ในปี พ.ศ.2561 นั่นเองการคืนสู่สำนักเมืองเว้อีกครั้ง จึงสร้างความปีติปลาบปลื้มต่อเหล่าสานุศิษย์ผู้รอคอย แต่ขณะนั้น กายสังขารของเขากำลังเดินเข้าสู่วาระสุดท้าย

ในท่ามกลางทั่วโลกต่างแสดงความอาลัยต่อผู้นำจิตวิญญาณบนการละสังขาร-สารนัยยะที่ติช นัท ฮันห์ ทิ้งไว้ต่อมาตุภูมิ-เวียดนาม นี่คือ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นรู้” ฉบับสุดท้ายที่นักบวชท่านนี้มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์และมาตุภูมิ

และมันคือ ความงดงามของกายมนุษย์รูปหนึ่งที่ทิ้งไว้แก่ผู้มีลมหายใจได้ศึกษา

แม้เราจะเห็นว่า มุนีทั้งสามแห่งศากยะนิกาย เถรวาท, วชิรญาณและมหายานนี้ ทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย ไม่เคยจะเปลี่ยนไปว่าสถานะใด

ความทแกล้วทกล้าของทั้งสามมุนีอันมีต่อ “มรรคาธรรม” และ “ปาฏิหาริย์การตื่นรู้” ยังคงปรากฏอยู่เสมอไป มิพักว่าร่างกายนั้นจะแตกดับและจากไป

ไม่ว่าจะกว่าครึ่งศตวรรษขององค์ทะไลลามะกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและท่านติช นัท ฮันห์ แห่งพรรคดาวทองของเวียดนาม

และนี่คือความมหัศจรรย์แห่งการเผยแผ่ธรรมะของศากยะรูปหนึ่ง

cr : Thich Nhat Hanh/fb

cr : Thich Nhat Hanh/fb

cr : Thich Nhat Hanh/fb