อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (13)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (13)

 

บาดาล ผักหวานป่า บ้านใหม่ (1)

เริ่มปีใหม่ 2557 ด้วยลมหนาวต่อเนื่องจากปีก่อน หนาวฤดูนี้หนาวจริง หนาวนาน

การเจาะบาดาลเริ่มเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีรถมา 2 คัน ขนอุปกรณ์ต่างๆ มาคันหนึ่ง อีกคันเป็นแท่นขุดเจาะ ใหญ่โตมาก วันแรกเริ่มตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสามโมงกว่า ขุดได้ 60 เมตร วันต่อมาขุดต่อ รวมได้ลึก 125 เมตร

แล้วลุงเล็กผู้รับจ้างขุดก็พาเราไปหาซื้อซับเมอร์ส และเครื่องปั่นไฟเพื่อดูดน้ำ ร้านขายเครื่องเหล่านี้อยู่ที่บ้านโป่ง จักรได้เดินท่อเข้าแท็งก์น้ำรอไว้แล้ว ต่อเชื่อมท่อลงบ่อแล้วก็ลองสูบน้ำ ลุงเล็กบอกว่า บ่อนี้ได้ตั้ง 3 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มากกว่าบ่อคนอื่นแถวนี้

ค่าใช้จ่ายในการนี้ มีค่าขุด 120,000 บาท ค่าซับเมอร์สราวๆ หมื่นกว่า เครื่องสูบน้ำประมาณ 20,000 รวมค่าท่อและอะไรจุกจิกทั้งหมดราว 150,000

แล้วจักรก็ทำห้องเก็บเครื่องไฟ เครื่องสูบน้ำ และมอเตอร์ดันน้ำขึ้นข้างบน เครื่องเดิมย้ายมารวมกันในห้องเดียว อยู่ริมแท็งก์ล่างที่เขาทำไว้เองตั้งแต่ปีที่แล้ว

ใช้ไปหลายๆ หน จักรบอกว่า เอาจริงเข้ามันได้ 3 ลูกบาศก์เมตรตอนแรกๆ ต่อๆ มามันได้ไม่ค่อยถึง 2 ลูกบาศก์เมตรด้วยซ้ำ

เสร็จจากบ่อบาดาลก็มาถึงเรื่องปลูกผักหวานป่า ศึกษาจากอินเตอร์เน็ตหารายชื่อสถานที่เพาะเมล็ดและอบรมการปลูกในบริเวณใกล้เคียงได้มาสามสี่แห่ง เลือกไว้หนึ่งแห่ง ติดต่อพูดคุยแล้ว พอถึงเวลาที่เมล็ดผักหวานป่าบนเขาแก่จัดแล้วก็นัดไปเอาเมล็ด

1 พฤษภาคม ไปไร่พรผักหวานป่า เจ้าของชื่อครูพร อยู่เลยวังด้งไปหน่อย ราว 30-40 กิโลเมตร จากบ้านเรา ครูพรปลูกผักหวานป่าเต็มภูเขาหลังบ้าน ถึงฤดูนี้แกก็นัดให้ชาวบ้านเก็บเมล็ดแก่มาให้ แกจะเพาะในถุงดำไว้ขาย แต่เราสั่งซื้อเมล็ดสดมาเพาะเอง เมล็ดผักหวานนี้ออกตามเวลาทุกปี คือเริ่มเก็บต้นพฤษภาคมเป็นต้นไป ไม่ถึงเดือนก็จะสุกร่วงหมดแล้ว ในไร่ครูพรก็มีต้นแก่ 20 ปีสูงชะลูด ลูกเป็นพวงสีส้มสดสวยตามลำต้น

ผักหวานต้นอ่อนไม่ชอบแดดจัด ตำราว่า ถ้ามีพี่เลี้ยงเป็นพืชตระกูลถั่วให้ร่มเงาจะขึ้นดีมาก ถ้าไม่มีร่มเงาเลยต้องใช้สแลนคลุม ไม่งั้นแทบไม่ขึ้นเลย

แล้วก็เป็นจริงตามตำรา หลังบ้านส่วนที่มีเงาไม้ใหญ่ ปลูกขึ้นเยอะกว่าที่โล่งๆ ไม่มีร่มเงา

พ้นเรื่องผักหวาน ก็เริ่มเรื่องบ้านใหม่ เราตัดสินใจจะปลูกบ้านอีกหลังบนที่ดินริมรั้วด้านตรงข้ามบ้านไม้ มีลูกศิษย์เก่าของลุงจะมาอยู่เป็นเพื่อนช่วยดูแลลุงคนหนึ่ง ฉันดีใจมาก ลุงจะได้ไม่เหงา

ฉันเขียนแบบบ้านใหม่ง่ายๆ ให้จักรใช้สั่งของประสานงานกับผู้รับเหมา บ้านนี้เขียนแบบทีเดียวก็เสร็จแล้ว ไม่ร่ำไรเหมือนบ้านไม้หลังแรก บ้านถูกกำหนดไว้ว่าต้องไม่เอาอะไรที่เป็นไม้เลย ต่างจากหลังแรกที่ทุกอย่างต้องเป็นไม้ เราเรียนรู้จากบ้านเก่ามามากพอแล้ว จึงฉลาดขึ้นบ้าง เริ่มลงมือตีแบบเมื่อกลางกรกฎาคม

บ้านใหม่นี้เป็นกลุ่มบ้าน มี 3 หลังคา คือ บ้านหลักอยู่ตอนบน บ้านรับแขกห้องเดียวอยู่มุมล่าง มุมล่างอีกมุมเป็นศาลานั่งรับแขก ซึ่งตรงนี้อยากให้เป็นหลังคาหญ้า มีโต๊ะรับแขกชุดไม้ซุง ตรงนี้เป็นพื้นที่ใช้งานมากที่สุด รับลมทุกทิศ มองเห็นได้รอบทุกทาง บ้านใหญ่มีป้ายโรงสีไปติดเหนือประตู เลยเรียกกันว่าบ้านโรงสี บ้านเล็กสีเทามีหลังคาซ้อนจากหลังมาหน้าหนึ่งเมตร

อาจินต์ถามว่า ศาลเจ้าใครมาอยู่ตรงนี้ เลยเรียกกันว่า บ้านศาลเจ้า ส่วนศาลาก็ศาลาไม่ต้องมีชื่อ

ป้ายโรงสีนั้น ผู้รับเหมาติดให้แล้วก็ถามว่า คุณป้าจะทำโรงสีจริงๆ หรือ… จริง ไม่ใช่จะทำ แต่ฉันเกิดมาก็เห็นโรงสีนี้เดินเครื่องอยู่แล้ว…จนโต แก่แล้ว พ่อก็ไม่อยู่แล้ว พี่สาวคนที่ทำต่อมาก็เลิกทำแล้ว ขายโรงสีไปแล้วแกะป้ายเดินทางตามแกมาอยู่กรุงเทพฯ กับน้องๆ พอสิ้นพี่คนนี้แล้ว ฉันต้องจัดการสิ่งต่างๆ ในบ้านแก ก็เลยเอามาที่นี่ ติดไว้เหนือประตูบ้านจริงๆ เลย

พี่อีกคนมาเห็นแล้วบอกว่า บ้า ติดเข้าไปได้ไง ส่วนหลานคนที่สองเห็นแล้วชอบใจ บอกพ่อว่าจะกลับไปหาป้ายอีกโรงสีหนึ่งของปู่เอามาเก็บไว้ติดบ้านในกรุงเทพฯ!

อุดรผู้รับเหมางานนี้ทำงานกันหนักแน่นรวดเร็วมาก โครงสร้างแข็งแรง แต่รายละเอียดเรื่องปูกระเบื้อง เรื่องระบบน้ำไม่ค่อยดี ฝีมือชาวบ้านๆ

นายจักรเปิดเทอมวันแรก 9 สิงหาคม กลับมาก็มาดูบ้าน พูดคุยกับอุดร สั่งของให้ ทุกอย่างเป็นไปโดยราบรื่น

อยากให้บ้านเสร็จทัน 11 ตุลาคม รับแขกวันเกิดอาจินต์ แต่ทำอย่างไรก็ไม่เสร็จ ก็ไม่เป็นไร ปีนี้แขกมามากมายจนพักไม่ได้ เป็นแขกชาวค่ายจุฬาฯ รุ่นโบราณ ซึ่งพากันไปเที่ยวค้างคืนที่เขื่อนทางเหนือขึ้นไป ขาลงมานี้ก็แวะซื้อเห็ดโคนตามทางมาเรื่อยๆ มาถึงก็ก้มหน้าก้มตาขูดดินโคนเห็ดกันเป็นการใหญ่

แล้วก็สมหวัง สุทัศน์ผัดเห็ดโคนอร่อยมากๆ ไม่เคยกินอร่อยเท่านี้เลย

แขกนอกจากนี้ก็มีพวกวรพจน์จากโอลด์เล้งที่ RCA ธนิตศิษย์เก่าจากหัวหิน ไม่นับพวกจากสุพรรณฯ ซึ่งมาปีละสองหนเป็นอย่างน้อย วันเกิดอาจินต์และวันสงกรานต์

หน่อย-สุรพงศ์ จินดาอินทร์ เอเย่นต์หนังสือที่สุพรรณฯ ป้อม หมู แฟนหนังสือทั้งนั้น คนสุพรรณฯ กลุ่มนี้จะพาคุณเดชา ศิริภัทร ผู้ผลิตยาน้ำมันกัญชาจนเลื่องลือ มาเป็นประจำ

สร้างบ้านเสร็จปลายตุลาคม วันที่ 30 ปิดเกมบ้านใหม่ เรา 3 คนก็ย้ายจากบ้านไม้ไปนอนบ้านใหม่ เพื่อหลีกให้เขาซ่อมพื้นบ้านในส่วนที่ปลวกกิน

“โอ๊ย บ้านนี้สวยมาก ไม่กลับกรุงเทพฯ แล้ว” อาจินต์ร้องทันทีที่ย่างเท้าเข้าห้องนอนบ้านใหม่

ฉันรู้ว่าอาจินต์ชอบอะไรที่สีอ่อนๆ สะอาดตา ฉันเลยเลือกกระเบื้องลายดอกงิ้วสีเทาอ่อนบนพื้นที่เป็นสีเทาอ่อนกว่า มันดูสะอาดสวยในสายตาอาจินต์

แต่ความสว่างตาสะอาดใจไม่ช่วยให้นอนสบายได้มากนัก 2-3 คืนแรกๆ อาจินต์หลงทิศ ตื่นหากระป๋องฉี่ผิดทาง ฉี่ราด เปื้อนหมด เตียงที่บ้านนี้กับที่บ้านไม้มันอยู่คนละทิศของห้อง คนแก่ปรับตัวไม่ได้ วันต่อมาเราย้ายทิศเตียงให้ก็ยังหลงอีก

น่าสงสารจริงๆ