รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 (2)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 (2)

 

ตัวแบบเศรษฐกิจเพื่อสังคมของยุโรป

(อาจเรียกว่า social market economy หรือ social capitalism)

ช่วยปกป้องคุ้มครองความมั่นคงในชีวิตของผู้คนพลเมือง

มากกว่าตัวแบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

 

ข้อสรุปโดดเด่นประการหนึ่งในรายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2022 ของห้องทดลองความเหลื่อมล้ำ โลก (https://wir2022.wid.world/) คือยุโรปเป็นภูมิภาคเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดในโลก แม้ว่าจะมีเฉดแตกต่างที่สำคัญอยู่บ้างในหมู่รัฐยุโรปทั้งหลาย

รายงานระบุว่า “มันเป็นเขตเดียวในโลกที่ซึ่งคนชั้นกลางได้ส่วนแบ่งจากรายได้โดยรวมในระดับสูงกว่าส่วนแบ่งของคนรวยที่สุด 10%” กล่าวคือ คนชั้นกลางยุโรปได้ส่วนแบ่งรายได้รวมไป 45% เทียบกับคนรวยที่สุด 10% ของยุโรปซึ่งได้ไป 36% ขณะที่อัตราส่วนของส่วนแบ่งรายได้ระหว่างคนชั้นกลางกับคนรวยที่สุด 10% ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 41% : 46%

ในกรณีสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สังคมอเมริกันยังเท่าเทียมกันกว่าสังคมยุโรปตะวันตก ทว่าการลดละเลิกกฎเกณฑ์กำกับควบคุมเศรษฐกิจและการลดภาษีตามแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (ค.ศ.1981-1989) ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น

ในทางกลับกัน ตัวแบบเศรษฐกิจเพื่อสังคมของยุโรปซึ่งสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ทำให้บริการสาธารณะเสมอภาคเท่าเทียมกันและการเก็บภาษีเป็นไปในอัตราก้าวหน้า (รายได้ยิ่งสูง ยิ่งถูกเก็บภาษีอัตราเพิ่มขึ้น) แม้ว่าตัวแบบดังกล่าวจะถูกบั่นทอนกร่อนเซาะไปมากพอควรในระยะสามสิบปีหลังมานี้ แต่มันก็ยังปกป้องฐานะของคนชั้นกลางยุโรปเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า

แผนที่แสดงความเหลื่อมล้ำเปรียบเทียบในโลกจากฐานข้อมูลรายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 : แสดงอัตราแตกต่างกี่เท่าตัวระหว่างรายได้ของคนรวยที่สุด 10% กับคนจนที่สุด 50% ในประเทศเขตแคว้นต่างๆ สีเหลืองอ่อน : ต่างกัน 5-9.9 เท่า, สีเหลือง : ต่างกัน 10-14.9 เท่า, สีเหลืองเข้ม : ต่างกัน 15-19.9 เท่า, สีแดง : ต่างกัน 20-24.9 เท่า, สีแดงเข้ม : ต่างกัน 25-139.5 เท่า อ้างจาก น.ส.พ. Le Monde, 7 d?cembre 2021 ประเทศไทยเหลื่อมล้ำระดับสีเหลืองเข้ม

ภูมิภาคตะวันออกกลาง

และแอฟริกาเหนือ

เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก

ตรงกันข้ามกับยุโรป ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (รายงานเรียกรวมโดยย่อว่าภูมิภาค MENA จาก Middle East & North Africa) ยังคงครองแชมป์เหลื่อมล้ำที่สุดในโลกไว้อย่างน่าเศร้าใจ

กล่าวคือ คนรวยที่สุด 10% ใน MENA ยึดครองรายได้โดยรวมไปถึง 58% ซึ่งยังสูงกว่าตัวเลขเดียวกันในภูมิภาคละตินอเมริกาที่ 55% และในเอเชียตะวันออกที่ 43% เสียอีก

รายงานระบุว่า “นี่เป็นกรณีการดำรงอยู่ของสังคมทวิภาค ที่ซึ่งชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมืองผู้มั่งคั่งอย่างยิ่งได้เสพสุขเฟื่องฟูอู้ฟู่ในระดับใกล้เคียงกับบรรดาประเทศรายได้สูง ทว่ามาดำรงชีวิตอยู่เคียงข้างผู้คนที่ตกอยู่ในสภาพยากไร้สุดโต่ง”

สำหรับประเทศจีน การสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1949 ทั้งทำให้รายได้โดยรวมตกต่ำลงและความเหลื่อมล้ำลดลงด้วยพร้อมกันไป

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำกลับมาระเบิดเถิดเทิงขึ้นอีกหลังเปิดประเทศจีนในปี ค.ศ.1978 ทว่ามันค่อยๆ ชะลออยู่ตัวหลังปี ค.ศ.2005 คืออยู่ในสภาพที่คนจีนรวยที่สุด 10% ยึดครองรายได้รวมไป 42% เทียบกับคนจีนจนที่สุด 50% ซึ่งได้ส่วนแบ่งจากรายได้รวม 14.5%

นับแต่โควิดระบาด ส่วนแบ่งความมั่งคั่งของครัวเรือนโลกที่เศรษฐีพันล้านถือครอง เพิ่มจาก 2.4 –> 3.3%

ความเหลื่อมล้ำ

ในแง่การถือครองทรัพย์สิน

หนักหนาสาหัสกว่าความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเรื่องของรายได้เท่านั้น หากยังเหลื่อมล้ำหนักข้อกว่านั้นอีกในแง่การถือครองทรัพย์สิน (หมายรวมถึงอสังหาริมทรัพย์, เงินฝากธนาคาร, สินทรัพย์การเงินที่ครัวเรือนถือครอง เช่น หุ้นในบริษัทเอกชน ฯลฯ) กล่าวในแง่ทรัพย์สินนี้ ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างห่างออกไปไม่หยุดหย่อนนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

ทุกวันนี้ คนจนที่สุดกึ่งหนึ่งของประชากรโลกถือครองเพียงแค่ 2% ของความมั่งคั่งประดามีของครัวเรือนทั่วโลก

นั่นหมายความว่าแทบไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน (เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2,900 ยูโร หรือแสนกว่าบาท/ผู้ใหญ่หนึ่งคนโดยเปรียบเทียบอำนาจซื้อ) ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของโลกถือครองความมั่งคั่งครัวเรือนไปกว่า 76% (เฉลี่ยที่ 550,900 ยูโร หรือกว่ายี่สิบล้านบาท/ผู้ใหญ่หนึ่งคน) โดยที่ในระหว่างความรวย/จนสุดโต่งสองขั้ว คนชั้นกลางในโลกครอบครองความมั่งคั่งของครัวเรือนไว้ 22% (เฉลี่ยที่ 40,900 ยูโร หรือ 1.5 ล้านบาท/ผู้ใหญ่หนึ่งคน)

ความแตกต่างเหลื่อมล้ำนี้เด่นชัดบาดตาเป็นพิเศษในภูมิภาคละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ที่ซึ่งคนรวยที่สุด 10% แรกถือครองความมั่งคั่งไว้สูงสุดยอดถึง 77%

กล่าวเฉพาะในรัสเซีย การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทุนนิยมในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้หนักหน่วงขึ้น ดังปรากฏว่าทุกวันนี้คนรัสเซียรวยที่สุด 1% ถือครองความมั่งคั่งของครัวเรือนในประเทศไว้กว่า 40% อันเป็นส่วนแบ่งที่ทวีคูณขึ้นในชั่วสิบปี

สำหรับบราซิลและประเทศแอฟริกาใต้นั้น รายงานสรุปว่าสภาพความเหลื่อมล้ำ “เป็นประจักษ์พยานชี้ชัดความสืบเนื่องคงทนของระบบอันเหลื่อมล้ำสุดโต่งที่รับตกทอดมาจากสังคมอาณานิคมหรือสังคมแบ่งแยกสีผิว”

ท้ายที่สุดแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็อยู่ตัวคงที่ในจีนนับแต่ปี ค.ศ.2005 เป็นต้นมา ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของจีนยังหนักหนาสาหัสขึ้นจนถึงระดับเทียบเคียงได้กับสหรัฐอเมริกาแล้วทุกวันนี้

 

โควิด-19 ระบาดทำกำไรให้อภิมหาเศรษฐีโลก

นับแต่ปี ค.ศ.1995 เป็นต้นมา บรรดาอภิมหาเศรษฐีโลก (คนรวยที่สุด 1% แรกในโลก) ฉกฉวยเอาความมั่งคั่งที่สร้างสมเพิ่มเติมขึ้นมาในโลกไปได้ถึง 38% ขณะคนจนที่สุดกึ่งหนึ่งของประชากรโลกได้ส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งเพิ่มเติมดังกล่าวไปเพียง 2%

รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 ชี้ต่อไปว่า ที่ซ้ำร้ายคือ

“โรคระบาดทั่วโควิด-19 ยิ่งเร่งเร้าแนวโน้มนี้ให้เร็วขึ้น กล่าวคือ ในปี ค.ศ.2020 บรรดาเศรษฐีพันล้านทั้งหลายเก็บเกี่ยวทรัพย์สินเพิ่มเติมไปได้อีก 3,600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่าเท่ากับงบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพต่อปีของรัฐทั้งหมดของโลกรวมกัน”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ดัชนีตลาดหุ้นที่พุ่งสูงลิ่วขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงป้อนเลี้ยงจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของรัฐบาลต่างๆ ในช่วงเศรษฐกิจหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ระบาด ช่วยทำให้ราคาหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินพากันเฟ้อขึ้นไปอีกอย่างเห็นได้ชัด

รายงานเสนอภาพปริทัศน์ระยะยาวในประเด็นนี้ว่า :

ถ้าหากทรัพย์สินซึ่งคนรวยที่สุด 1% แรกยึดครองไว้ได้ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้านั้นอยู่ในระดับสูงยิ่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว (ในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขอยู่ที่ 43% เมื่อปี ค.ศ.1910)

ปรากฏว่ามันลดน้อยถอยลงชัดเจนภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ในปี ค.ศ.1929 ต่อเนื่องมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งโดนผลกระทบหลังสงครามของการปลดปล่อยอาณานิคมทั่วโลก นโยบายโอนกิจการเอกชนเป็นของรัฐ และนโยบายกำกับควบคุมเงินทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังคริสต์ทศวรรษ 1980 ตัวเลขทรัพย์สินดังกล่าวก็กลับผงกสูงขึ้นอีกเนื่องจากแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ (ลดละเลิกการออกกฎเกณฑ์กำกับควบคุมเศรษฐกิจ, แปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน, ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายทางสังคมลง ฯลฯ)

ส่งผลให้ในสหรัฐอเมริกา ทรัพย์สินซึ่งคนอเมริกันรวยที่สุด 1% แรกยึดครองไว้ได้ เพิ่มจาก 24% ในปี 1970 เป็น 35% เมื่อปี 2020)

(ต่อสัปดาห์หน้า)