ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
ชกคาดเชือก
วงค์ ตาวัน
พฤษภาฯ ระทึก
ทุกฝ่ายล้วนคาดการณ์ตรงกันว่า โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านระบบสภา มีแนวโน้มสูงมากคือ เดือนพฤษภาคม หรืออีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้ โดยมีปมประเด็นสำคัญคือ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แบบลงมติ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านจะต้องยื่นพร้อมกับการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า
ในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามรัฐบาล ในการบริหารงาน ที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวของแพง น้ำมันแพง วิกฤตโควิดที่แก้ปัญหาอย่างขลุกขลัก ปัญหาคอร์รัปชั่น
แต่เป็นการอภิปรายซักฟอกแบบไม่มีการลงมติ ซึ่งไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ
นั่นแค่อุ่นเครื่อง
ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม เปิดประชุมสภาสมัยต่อไป ถึงเวลานั้นจะต้องมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ยื่นเข้าไปอย่างแน่นอน
คราวนี้แหละของจริง!!
ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเบื่อหน่ายรัฐบาลสุดขีด จากฝีมือการบริหารประเทศ ที่ทำให้ข้าวยากหมากแพง หมูเห็ดเป็ดไก่ราคาแพง รวมเข้ากับสถานการณ์ภายในรัฐบาลเอง ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม ส.ส.รวม 18 คน เข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เสียงของรัฐบาลหายไปทันที 18 เสียง
ถ้าถึงเดือนพฤษภาคม ถึงคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีโหวตลงมติ รัฐบาลคงแพ้แน่นอน
ยกเว้นว่า จะมีการเปิดเจรจากับพรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อดึงมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ต้องแลกด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ที่
ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมลดศักดิ์ศรี ยอมเปิดให้เศรษฐกิจไทยเข้าร่วม ก็อาจจะรอดพ้นมรสุมเดือนพฤษภาคมไปได้
แต่ถ้าคุยกันไม่ได้ ทำให้พรรคเศรษฐกิจไทยไปเป็นฝ่ายค้าน เหลือทางเดียวคือต้องยุบสภาก่อนการเปิดสมัยประชุม ที่จะมีญัตติซักฟอกยื่นเอาไว้แล้ว
ดังนั้น เดือนพฤษภาคม จึงเป็นเส้นตายทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่าโอกาสเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูงมาก!!
ถ้าไม่ปรับ ครม. ก็ต้องยุบสภา ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในเดือนพฤษภาคมเท่านั้น
เท่ากับสถานการณ์การเมืองจะวนกลับไปเหมือนเมื่อฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ 5 รัฐมนตรี เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ก่อนจะโหวตในต้นเดือนกันยายน
อันกลายเป็นจุดแตกหักระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ ร.อ.ธรรมนัส นำมาสู่การปลดธรรมนัสพ้น ครม. ซึ่งเรียกกันว่าเป็นการเดินหมากผิด จนทำให้พังทั้งกระดาน
เป็นเหมือนการยกหินทุ่มขาตัวเองของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เท้าเจ็บปวด และกลายเป็นเท้าลอยจนถึงขณะนี้
แต่สถานการณ์วันนี้ เมื่อ ร.อ.ธรรมนัสแยกตัวไปเปิดพรรคใหม่แล้ว ลงเอยอาจจะไม่เหมือนกันยายนปีที่แล้ว!?!
ผลการเลือกตั้งซ่อม ที่พลังประชารัฐพ่ายแพ้ถึง 3 สนาม โดย 2 สนามแรก เป็นการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลา และชุมพร ยังมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง แต่สนามล่าสุดคือเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ จตุจักร ซึ่งเป็นสนามเมืองหลวงอันมีลักษณะพิเศษ เป็นภาพสะท้อนทางการเมืองได้โดยตรง
เพราะคนกรุงเทพฯ มีลักษณะบ้านใครบ้านมัน ไม่มีการรวมตัวเป็นชุมชนที่ผูกพันกันขนาดใหญ่ และคนเมืองกรุงคิดถึงผลทางการเมืองใหญ่เป็นหลักในการกาคะแนนเลือกตั้งทุกครั้ง
มองแง่นี้กรุงเทพฯ คือประเทศไทย เลือกตั้งกรุงเทพฯ หรือเลือกตั้งซ่อม ก็คือภาพสะท้อนการเมืองระดับรัฐบาลนั่นเอง
ดังนั้น เลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. ที่นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทยชนะขาด ทิ้งผู้สมัครพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์แบบไม่เห็นฝุ่น
แถมนายกรุณพลหรือเพชร เทียนสุวรรณ ผู้สมัครพรรคก้าวไกล ยังได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2
เสมือน 2 พรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีชัยชนะเหนือพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายหนุนประยุทธ์ พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง
บ่งบอกกระแสคนกรุงเทพฯ และกระแสการเมืองรวมได้ไม่น้อย
โดยมีคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมคือ ผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ล้มเหลวตั้งแต่จัดหาวัคซีนโควิด ไปจนถึงเศรษฐกิจทรุดหนัก และล่าสุดคือข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน
ถือเป็นขาลงของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐชัดเจน
หลังผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. มีการเคลื่อนไหวจาก ร.อ.ธรรมนัสทันที ทิ้งรหัสข้อความว่า ศัตรูของศัตรู คือ มิตร เหมือนกดดันรัฐบาลซ้ำอีก ด้วยท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทย
จึงยิ่งน่าเป็นห่วงรัฐบาลอย่างมาก หากปล่อยให้พรรค ร.อ.ธรรมนัส ประกาศท่าทีชื่นชม ศัตรูของศัตรูเช่นนี้
ยิ่งบ่งบอกว่า ถ้าเจรจากันไม่ได้ คงปล่อยให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติไม่ได้แน่
แต่แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทย คงไม่ใช่มิตรแท้และมิตรถาวร สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส แม้ว่าวันนี้จะมีสถานะเป็นศัตรูของศัตรูก็ตาม
เพราะ ร.อ.ธรรมนัส ก็คือนักการเมืองที่อยู่ในเครือข่ายกลุ่มอำนาจนอกระบบ เช่นเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่การเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์รุนแรง
จะมีเบื้องหลังมาจากการจับมือระหว่างธรรมนัสกับทักษิณ ย่อมเป็นไปไม่ได้!??
เพราะถ้าธรรมนัสไปจับมือทักษิณ เพื่อจะล้มประยุทธ์ ที่เป็นนายกฯ ตัวแทนอำนาจอนุรักษนิยมการเมือง
ป่านนี้ ร.อ.ธรรมนัส คงไม่สามารถเดินเหินบนถนนการเมืองได้อย่างปกติแล้ว
จุดเริ่มต้นที่ ร.อ.ธรรมนัสคิดจะเปลี่ยนแปลงการเมือง ในการโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ เมื่อกันยายนปีที่แล้ว เป็นเพราะมีไฟเขียวจากเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมการเมืองบางส่วนที่มองว่า การอุ้มประยุทธ์จะทำให้พังกันไปหมดทั้งเครือข่าย
แต่เพราะสุดท้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เห็นแก่ความสัมพันธ์ 3ป.เป็นหลัก จึงโดดลงมาเบรก ร.อ.ธรรมนัส จนต้องหยุดแผนเปลี่ยนแปลงการเมือง ในเดือนกันยายน 2564
กระนั้นก็ตาม เรื่องราวกลับบานปลาย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่หยุด เดินหน้าปลดธรรมนัสพ้นจากรัฐมนตรี คราวนี้จึงแตกหักอย่างยากจะประสานกันได้
นำมาสู่เกมสำคัญ คือ การแยกตัวออกจากพลังประชารัฐ มาเป็นพรรคการเมืองใหม่ ที่คราวนี้การตัดสินใจของ ร.อ.ธรรมนัสในทางการเมืองภายหน้า อาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุม มีอิสระมากกว่าสมัยยังอยู่พลังประชารัฐ
ไปจนถึงถ้าหากจะต่อรองกับรัฐบาล คราวนี้ก็เจรจากันเหมือนเป็นพรรคการเมืองอีกพรรค ที่จะต้องมีโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีมาแลกเปลี่ยนชัดเจน
ดังนั้น สถานการณ์การเมือง ที่เห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์และพลังประชารัฐ เป็นช่วงขาลงแบบดิ่งลง สะท้อนจากผลเลือกตั้งซ่อม โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองโดยรวมได้ชัดเจน
ประกอบกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่มีอะไรดีขึ้น เปิดปีใหม่ 2565 ก็มาพร้อมหมูเห็ดเป็ดไก่ราคาแพง น้ำมันก็นับวันยิ่งแพง
ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีการลงมติ ที่จะมาพร้อมการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า จึงเป็นสถานการณ์ที่เข้าทางฝ่ายค้าน และเข้าทาง ร.อ.ธรรมนัสอย่างยิ่ง
มีทางเลือกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์เหลือไม่มากนัก แถมบรรยากาศของประชาชนก็เริ่มเบื่อหน่ายนายกฯ และรัฐบาลกันทั่วแผ่นดิน
เดือนพฤษภาคมนี้ จึงเป็นวันเวลาทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความระทึก
ถ้าไม่ปรับ ครม.เพื่อดึงพรรค ร.อ.ธรรมนัสเข้ามาร่วมก่อน ก็เหลือทางยุบสภาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมเท่านั้น!