ระยองช้ำ ‘น้ำมันรั่ว’ กระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม ทวงถามการเยียวยา…/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ระยองช้ำ ‘น้ำมันรั่ว’

กระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม

ทวงถามการเยียวยา…

 

คราบน้ำมันดิบที่คลื่นถาโถมซัดขึ้นมาบนชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 จากกรณีการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 21.06 น. ได้สร้างคราบน้ำตาเปื้อนบนใบหน้าของพ่อค้าแม่ค้าบนหาดแม่รำพึง และผู้ประกอบการบนเกาะเสม็ดทันทีเมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งมีวันหยุดยาว ผู้คนมากมายกำลังจะเข้าท่องเที่ยวจับจ่าย ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนเตรียมจัดซื้อวัตถุดิบมากมายไว้รอการขาย โรงแรมบนเกาะเสม็ด 150 แห่ง รวมกว่า 4,000 ห้อง ปัดฝุ่นจัดเตรียมที่พักไว้รอนักท่องเที่ยวที่โทร.เข้ามาจองห้องพักไว้มากมาย ต่างได้รับผลกระทบทันที ห้องพักถูกยกเลิกจอง 100% และจังหวัดประกาศบริเวณหาดแม่รำพึงเป็นเขตภัยพิบัติ

แม้วันนี้การทำความสะอาดคราบน้ำมันบนชายหาด และบนผิวน้ำทะเลใกล้จบลงแล้วจากการมองด้วยตาเปล่า ซึ่งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมต่างสะท้อนตรงกันว่า “มหันตภัยยิ่งใหญ่รออยู่ข้างหน้าแน่นอน” จากน้ำมันที่ถูกกดให้ตกลงใต้ทะเล

ซึ่งยังไม่มีใครให้ความกระจ่างชัดได้ว่า ปริมาณน้ำมันรั่วไหลออกมาเท่าไหร่กันแน่!

 

เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในจังหวัดระยอง แต่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 9 ปีก่อน เมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2556 บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้ทำน้ำมันดิบ 50,000 ลิตร รั่วไหลออกมาจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทยเช่นเดียวกัน ก่อนเคลื่อนตัวเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด

มีการฟ้องร้องทั้ง 2 คดี ในทางแพ่ง ศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 สั่งให้บริษัทชดเชยชาวประมง 150,000 บาท จากเดิม 90,000 บาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 120,000 บาท

ต้นปี 2565 เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากท่อกลางทะเลเกิดขึ้นอีกครั้ง “ซ้ำรอยแผลเก่า” และหลายคนฟันธงว่าจะผลกระทบต่อระบบนิเวศน์รุนแรงกว่าครั้งก่อนแน่นอน

เพราะปริมาณน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้น่าจะหนักกว่าครั้งก่อน

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 ทางจังหวัดโดยนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้สั่งการให้ตั้งโต๊ะให้ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียน

ผ่านไป 3 วันมีผู้มาลงทะเบียนแล้วกว่า 500 คน หลายคนหาเช้ากินค่ำ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเพิ่งจะเริ่มคลี่คลายกำลังจะเริ่มขายของได้ มาเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วอีก จึงอยากได้รับเงินมาเยียวยาชดเชยกับรายได้ที่ขาดหายไป

ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 นายโรเบิร์ต โจเซฟ โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SPRC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทมีประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สิน และการหยุดชะงักของธุรกิจทุนประกันทั้งหมด 1,000 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท) (เป็นความรับผิดชอบส่วนแรก 20 ล้านดอลลาร์) และ 24 เดือน (ความรับผิดชอบส่วนแรก 60 วัน) ความรับผิดต่อบุคคลที่สามโดยมีทุนประกันทั้งหมด 100 ล้านดอลลาร์ (ความรับผิดชอบส่วนแรก 1 ล้านดอลลาร์)

ดังนั้น คงต้องจับตากันต่อไปว่า การเยียวยาทั้งประชาชน และการฟื้นฟูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่บริษัทต้องรับผิดชอบจะเดินหน้าไปอย่างไรภายใต้การบริหารของบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” ซึ่งเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่น SPRC ถึง 60%

 

นางสริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ ผู้ประกอบการซีฮอร์ส รีสอร์ท และกรีนเพลซ หาดวงเดือน ในฐานะนายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง กล่าวว่า มีข้อน่าสังเกตว่า หลังเกิดอุบัติเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลออกมา ข้อมูลปริมาณน้ำมันที่ออกมาไม่มีใครทราบแน่นอน

วันแรกบอกรั่วไหลออกมา 400,000 ลิตร วันที่ 2 บอกแค่ 10,000 ลิตร วันที่ 3 บอกเหลือ 6,000 ลิตร วันที่ 4 บอกเหลือ 4,000-5,000 ลิตร วันต่อไปคงบอกเหลือ 20 ลิตร ทั้งที่ควรบอกตามความเป็นจริงให้กับประชาชน

ถ้ามีน้ำมันรั่วแค่ 5,000 ลิตร มันน่าจะจัดเก็บได้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เกิดรั่วไหลแล้ว ถูกต้องหรือไม่ มันควรบอกข้อมูลตามความเป็นจริงให้คนในพื้นที่ได้ทราบ อย่าบิดเบือนข้อมูล

จากการไล่ดูข้อมูลพบว่าครั้งแรกทางบริษัทออก SPRC ได้แถลงการณ์ฉบับแรกวันที่ 26 มกราคม 2565 แจ้งว่า พบมีปริมาณน้ำมันหลงเหลืออยู่ในทะเลประมาณ 20 ตัน หรือประมาณ 20,000 ลิตร และบริษัทได้ประสานงานกับบริษัท Oil Spill Response Limited (OSRL) ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาให้ความช่วยเหลือโดยทันที และบริษัทคาดว่าจะสามารถขจัดและเก็บคราบน้ำมันได้ทั้งหมดภายในไม่ช้า

ล่าสุดเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ถึงกับต้องให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมขึ้นมาตรวจสอบ เพื่อหาข้อมูลตัวเลขปริมาณน้ำมันรั่วที่แท้จริง

โดยนายชาญนะกล่าวว่า บริษัทประเมินว่ามีการรั่วไหลไม่เกิน 50,000 ลิตร (จากเดิมที่คำนวณไว้ที่ 400,000 ลิตร เป็นการคำนวณในความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดและดำเนินการในเวลากลางคืน ต่อมาช่วงเช้ามีการประมาณการใหม่ว่ามีจำนวน 160,000 ลิตร และส่งนักประดาน้ำสำรวจรอยแตก คาดว่าน่าจะรั่วไหลไม่เกิน 50,000 ลิตร จะมีการตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายไปตรวจสอบยืนยันอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและผู้อยู่ในแวดวงพลังงานหลายคนได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ไม่น่าเป็นเรื่องยากที่จะคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมา โดยคำนวณจากปริมาณน้ำมันที่เหลือภายในเรือที่ขนส่งน้ำมันมาส่ง และปริมาณน้ำมันที่เข้าไปอยู่ในคลังแล้ว น้ำมันส่วนที่หายไปคือส่วนที่รั่วออกไป แต่เหตุใดจึงคำนวณไม่ได้

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ในเพจส่วนตัวว่า อันตรายของการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันมากเกินไป…ผลกระทบมากกว่าที่คิด สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน (Dispersnt) พ่นผสมกับคราบน้ำมันดิบทำให้น้ำมันดิบแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ตกลงสู่ใต้ทะเล และแบคทีเรียจะย่อยสลายต่อไป ซึ่งเป็นการชะลอและป้องกันคราบน้ำมันลอยขึ้นฝั่งและชายหาด แต่หากในน้ำมันดิบมีกำมะถันปะปนอยู่ปริมาณมาก แบคทีเรียจะย่อยสลายได้ช้ามากจนทำให้น้ำมันชิ้นเล็กๆ ตกค้างอยู่ใต้ทะเลมากขึ้น

ความเป็นพิษของน้ำมันดิบรวมกับสารกำจัดคราบน้ำมันจะฆ่าซิลิเอตจนหมดทำให้แพลงตอนพืชมีเหลือในอ่าวจำนวนมาก

หลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนจะเกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบูม หรือ Red tide บริเวณชายฝั่งทะเลใกล้เคียงตามมา และมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเล รวมทั้งสัตว์วัยอ่อนอย่างมากมาย

ซึ่งกรมอนามัยออกมาระบุชัดว่า ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านสุขภาพ ภาคท่องเที่ยว การค้าอาหารทะเล และการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม หากมีการสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน

อาจส่งผลกระทบแบบเรื้อรัง และระยะยาวหากได้รับสารพิษในปริมาณความเข้มข้นเกินมาตรฐานและได้รับเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท กรณีกินอาหารทะเลที่มีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้

ที่สำคัญบทเรียนครั้งนี้ไม่สามารถประเมินความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้ แต่ทำอย่างไรไม่ให้เกิดบทเรียนซ้ำซากต่อไป จึงอยากให้ภาครัฐควบคุมให้เข้มงวดจริงจังกับการบริหารจัดการของภาคเอกชน ต้องเดินหน้าตามแผนจัดการควบคุมภาวะวิกฤตอย่างจริงจัง