1 ปีรัฐประหารเมียนมา ประชาธิปไตยที่ยังมืดมัว/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: A demonstrator takes part in a protest against the military coup in Yangon, Myanmar, February 17, 2021. REUTERS/Stringer/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

1 ปีรัฐประหารเมียนมา

ประชาธิปไตยที่ยังมืดมัว

 

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 หรือเมื่อ 1 ปีที่แล้ว กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ดับความหวังที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานในประเทศให้มืดมัวลงอีกครั้ง

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ “กองทัพเมียนมา” หรือ “ตัดมาดอว์” จับกุมออง ซาน ซูจี และสมาชิกระดับสูงของรัฐบาล รวมถึงสมาชิกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรครัฐบาลของนางซูจีเอาไว้ด้วย

การยึดอำนาจที่มีเหตุผลเพื่อการคงไว้ซึ่งอำนาจของทหารเมียนมา เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนแบบที่มากเกินกว่าที่กองทัพจะคาดคิด เกิดการประท้วงขยายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ ขณะที่กองทัพตอบโต้กวาดล้างอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นเหตุนองเลือด

แบบที่เรียกได้ว่า สงครามกลางเมือง ก็ไม่ผิดนัก

 

การกวาดล้างผู้ประท้วงอย่างรุนแรงส่งผลให้มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่สังหารมากถึง 1,500 คน มีผู้ถูกจับกุมมากถึง 8,800 คน ยังไม่นับคนที่ถูกทารุณกรรมและหายตัวไปอีกนับไม่ถ้วน

ขณะที่ประชาชนมากกว่า 300,000 คนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนจากการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ผลกระทบกับประชาชนขยายวงกว้าง การจัดกิจกรรมอารยะขัดขืนส่งผลกระทบกับการคมนาคม, ธนาคารและหน่วยงานของรัฐ ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ไม่เท่านั้น ระบบสาธารณสุขในประเทศยังต้องเผชิญกับความล่มสลาย การเรียนการสอนในระดับมัธยมและอุดมศึกษาต้องหยุดชะงักลงเมื่อนักศึกษาและนักเรียนที่ต่อต้านรัฐประหารรวมตัวประท้วง และมีอีกจำนวนมากที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม

การรวมตัวประท้วงที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า ที่ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงสามารถนัดรวมตัวกันได้โดยมีเพียงแค่โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ

และนั่นเกิดขึ้นได้แม้นางซูจีในวัย 76 ปีที่โดนกองทัพเล่นงานด้วยคดีหลายคดี จะไม่ได้มีส่วนในการประท้วงแต่อย่างใด

 

การประท้วงมีแรงผลักดันมาจาก “ขบวนการอารยขัดขืน” นำโดยกลุ่มคนจากวงการสาธารณสุขของประเทศ ที่นำแนวคิดอย่างการแบนสินค้าจากกองทัพ การรวมตัวกันไม่จ่ายค่าไฟ รวมถึงการไม่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล มาใช้กดดันรัฐบาล

แรงต่อต้านมีพลังมากขึ้นไปอีกเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเอ็นแอลดีที่ถูกกองทัพขัดขวางไม่ให้ทำหน้าที่ จัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “เอ็นยูจี” ขึ้นพร้อมกับประกาศตัวว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมา

นอกจากนี้ เอ็นยูจียังทำหน้าที่ประสานงานเพื่อการต่อต้านทางการทหาร จัดตั้ง “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” หรือ “พีดีเอฟ” เพื่อต่อต้านรัฐบาลเมียนมาขึ้น

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้ทั้ง “เอ็นยูจี” และ “พีดีเอฟ” เป็นกลุ่มก่อการร้าย

 

นักวิเคราะห์มองว่าการใช้มาตรการปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลเมียนมาแบบเดียวกันกับที่ใช้ปราบปรามกับกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลแบบในอดีตนั้น ส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่เคยเผชิญกับการกวาดล้างแบบเดียวกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวกะเหรี่ยง, คะฉิ่น รวมไปถึงชาวโรฮิงญา ที่เคยโดนกวาดล้างอย่างหนักจนรัฐบาลเมียนมาเจอกับข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าข่ายการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก่อนหน้านี้

ในช่วงหลังการประท้วงต่อต้านในพื้นที่เมืองลดระดับลงสู่การเป็น “แฟลชม็อป” เพื่อหลีกเลี่ยงการกวาดล้างรุนแรง ขณะที่สมรภูมิต่อต้านรัฐบาลย้ายไปสู่การจับอาวุธต่อต้านในพื้นที่ชนบทด้วยวิธีการรบแบบกองโจร พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ

ขณะที่กองทัพเมียนมาตอบโต้ด้วยมาตรการ “ตัด 4” ยุทธวิธีตอบโต้ภัยคุกคามทางการทหารด้วยการตัดเส้นทางการเข้าถึงอาหาร, งบประมาณ, ข้อมูล และกำลังคน ก่อนบุกจับกุมผู้ต้องสงสัย,ผู้สนับสนุน และรื้อถอนที่มั่นของกองกำลังในพื้นที่ต่างๆ

นักวิเคราะห์มองว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้สร้างความได้เปรียบกับรัฐบาลเนื่องจากกำลังคนที่ไม่เพียงพอในการควบคุมพื้นที่ซึ่งประชาชนกว่า 80 หรือ 90 เปอร์เซ็นต์นั้นต่อต้านรัฐบาล และเมื่อใดที่ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ รัฐบาลก็สูญเสียการควบคุมพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองตรงกันว่าความขัดแย้งจะยังคงกินเวลายาวนานออกไปก็คือแรงสนับสนุนจาก “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีประสบการณ์กับการต่อสู้กับกองทัพเมียนมายาวนานหลายสิบปี ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ให้การสนับสนุนโดยตรงกับ “พีดีเอฟ” ทั้งเรื่องอาวุธ การฝึกฝน รวมไปถึงให้ที่พักพิงกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มทหารที่แปรพักตร์จากกองทัพ

“เราไม่เคยยอมรับการรัฐประหารไม่ว่าจะมีเหตุผลอะไรก็ตาม จุดยืนของเราชัดเจน” ปาดอห์ ซอว์ ตอว์ นี หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ระบุกับสำนักข่าวเอพี และว่า “เราต่อต้านเผด็จการทหารทุกรูบแบบ ดังนั้น การตอบสนองโดยอัตโนมัติของเราก็คือเราต้องทำงานกับใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ”

ด้าน “เอ็นยูจี” เองก็มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนให้กับ “เคเอ็นยู” เช่นกัน โดยจะยอมรับให้ชนชาติกะเหรี่ยงมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้นหากเอ็นยูจีได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

ขณะที่กองทัพเมียนมายังคงกดดันชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ล่าสุดมีการโจมตีทางอากาศเข้าใส่ชุมชนบริเวณชายแดน ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงต้องอพยพหนีตายข้ามไปยังประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

 

นักวิเคระห์มองว่า ยังคงไม่มีตัวแปรใดๆ ที่จะสามารถทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างความได้เปรียบในสมรภูมินี้ได้ รวมถึงยังไม่เห็นหนทางที่สองฝ่ายจะกลับมาเจรจากันได้

สำหรับมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ที่แม้จะทำให้นายทหารระดับสูงในเมียนมาประสบปัญหาอยู่บ้าง แต่รัสเซียและจีน รวมไปถึงพันธมิตรของกองทัพเมียนมา จะยังคงเป็นที่พึ่งพิงที่จะขายอาวุธ และให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อไป

ขณะที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็ถูกมองว่า เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไร้เขี้ยวเล็บ นั่นจึงทำให้มองได้ว่า วิกฤตการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาจะยังคงบั่นทอนประชาธิปไตยและสันติภาพในประเทศต่อไปอีกนานหลายปี

และแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับชาวเมียนมานั้นก็ยังคงมีแต่ความมืดมนแม้เวลาล่วงเลยมาแล้ว 1 ปีก็ตาม