ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ศึกหลักสี่เปลี่ยนทำเนียบรัฐบาล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ชัยชนะของคุณสุรชาติ เทียนทอง ในการเลือกตั้งเขตจตุจักร-หลักสี่ คือชัยชนะของพรรคเพื่อไทย

แต่ขณะที่ศึกหลักสี่ทำให้เพื่อไทยได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นในสภาอีกคน สิ่งที่มีความหมายมากกว่านั้นคือผลเลือกตั้งแสดงถึงชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมดตั้งแต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

ก่อนที่ประชาชนกว่าสองหมื่นคนจะเลือกผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง “เพชร กรุณพล” จากพรรคก้าวไกลไม่ว่าโพลสำนักไหนก็ไม่มีชื่อเพชรติดอันดับ 1 หรือ 2

ยิ่งเมื่อคำนึงว่าพรรคก้าวไกลไม่มีเงิน, ไม่มีคะแนนจัดตั้ง และไม่มีสื่อในมือ คะแนนนี้ย่อมแสดงถึงฐานเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคก้าวไกล

ทุกคนในประเทศรู้ว่า “ชนชั้นนำ” กับ “ฝ่ายเผด็จการ” มองเพื่อไทยและก้าวไกลเป็นศัตรู และถึงแม้ไอโอสายเสี้ยมจะปั่นให้แฟนคลับเพื่อไทยและแฟนคลับก้าวไกลบางส่วนขัดแย้งกัน

ข้อเท็จจริงคือทั้งสองพรรคเป็นเป้าหมายที่ “ชนชั้นนำ” มุ่งทำลายทั้งคู่ ไม่ว่าจะโดยยุบพรรคหรือตัดสิทธิการเมือง

ศึกหลักสี่ที่เพื่อไทยชนะและก้าวไกลเป็นอันดับสองคือชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

ผลเลือกตั้งซึ่งฝ่ายตรงข้ามประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนรวมกันมากกว่าฝ่ายประยุทธ์อย่างพลังประชารัฐ, กล้า และไทยภักดี คือสัญญาณว่าคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เอาประยุทธ์มีมากกว่าฝ่ายเอาประยุทธ์เกือบเท่าตัว

มีบางคนแย้งว่าเพื่อไทยชนะเพราะสุรชาติลงพื้นที่นาน ส่วนเพชรคะแนนพุ่งเพราะกระแสพรรค แต่ถ้าสุรชาติหรือเพชรอยู่พรรคหนุนประยุทธ์ ทั้งคู่ไม่มีทางมีคะแนนมากขนาดนี้

ชัยชนะของเพื่อไทยและคะแนนที่เกินคาดของเพชรจึงเป็นผลจากการสังกัดฝ่ายต้านประยุทธ์อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

เพื่อไทยไม่ได้หาเสียงให้สุรชาติโดยชูเรื่องคุณทักษิณ ชินวัตร ตรงๆ แต่ด้วยการสื่อสารของพรรคทั้งหมด การเลือกคุณสุรชาติคือการแสดงออกว่าสนับสนุนคุณทักษิณ หรืออีกนัยคือการประกาศว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม “ระบอบ” ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ไม่ใช่แค่กับประยุทธ์หรือแก๊ง คสช.

ก้าวไกลถูกพรรคและคนที่ถูกเรียกว่า “สลิ่ม” โจมตีว่าต่อต้านทหารและล้มสถาบัน ขณะเดียวกันก็ถูกบางคนที่สนับสนุนเพื่อไทยโจมตีว่าเป็น “สลิ่ม” ที่หนุนทหารรัฐประหารด้วย

แต่คะแนนที่ก้าวไกลได้สองหมื่นกว่าๆ บอกว่าการโจมตีโดย “สลิ่ม” และข้อกล่าวหาว่าเป็นสลิ่มนั้นแทบไม่มีผลเลย

มองในแง่การแบ่งขั้วทางการเมือง ผลเลือกตั้งหลักสี่คือการประกาศว่าไม่เอาประยุทธ์ รวมทั้งไม่เอา “ระบอบ” ที่ทำให้เกิดคนแบบคุณประยุทธ์ตั้งแต่รัฐประหาร 2549

และยิ่งไปกว่านั้นคือการประกาศว่าไม่เอา “อุดมการณ์” ที่ทำให้ “ระบอบ” ดำรงอยู่จนปัจจุบัน

หากมองการเมืองในแง่อุดมการณ์ ผลเลือกตั้งหลักสี่บอกว่าอุดมการณ์เก่าๆ ที่เคยใช้โจมตีทักษิณและเพื่อไทยนั้นไม่มีน้ำหนักเท่าที่เคยมี ยิ่งกว่านั้นคือคนเสื่อมศรัทธาจนก้าวไกลที่แสดงตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามอุดมการณ์ดังกล่าวได้คะแนนนิยมสูงขึ้น

ส่วนการโจมตีว่าก้าวไกลเป็น “สลิ่ม” ก็ไร้ผลโดยสิ้นเชิง

ชัยชนะของเพื่อไทยและความแข็งแกร่งของก้าวไกลนำไปสู่การประเมินว่าจะเกิด “หลักสี่โมเดล” ในการเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ ครั้งถัดไป แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าถ้าผู้สมัครเพื่อไทยไม่ขยันเท่าสุรชาติ และผู้สมัครก้าวไกลไม่ได้เป็นที่รู้จักมาก่อนอย่างเพชร ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาแบบเดียวกัน

กรุงเทพฯ กำลังมีระยะห่างจากอุดมการณ์เก่าๆ และความคิดเก่าๆ แล้วเดินหน้าสู่แนวโน้มของการเชิดชูประชาธิปไตยและอุดมการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเท่ากับว่าการหาเสียงที่สนับสนุนเผด็จการและความคิดเก่าๆ ไม่น่าจะมีน้ำหนักในการชักชวนให้คนกรุงเทพฯ ลงคะแนนมากนัก ตัวอย่างเช่นกรณีพรรคไทยภักดี

ไม่ว่าจะเป็นในแง่ขั้วทางการเมืองหรืออุดมการณ์ ผลเลือกตั้งหลักสี่บอกว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่ใม่เอาประยุทธ์ชัดๆ กำลังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นแน่ๆ

ขณะที่ฝ่ายโหนอุดมการณ์เก่าๆ และโหนประยุทธ์นั้นมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ดี ถ้าข้อสังเกตนี้เป็นจริง คำถามคือทำไมคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า ซึ่งประกาศหนุนประยุทธ์ถึงมีคนลงคะแนนแพ้ก้าวไกลไปนิดเดียว?

สำหรับคนที่คิดว่าตัวเอง “ก้าวหน้า” หรือ “รักประชาธิปไตย” ผลคะแนนที่คุณอรรถวิชช์จากพรรคกล้าได้สองหมื่นกว่าๆ คือความจริงที่เข้าใจได้ยาก ผลก็คือนักแสดงความเห็นบางคนถึงกับด้อยค่าและดูหมิ่นว่าคนกรุงที่เลือกพรรคกล้านั้นไม่ฉลาดแบบเดียวกับคนใต้เลือกประชาธิปัตย์เลยทีเดียว

ในแง่อุดมการณ์และในแง่การแบ่งขั้วทางการเมือง พรรคกล้าเป็นพวกเดียวกับพลังประชารัฐและไทยภักดีในแง่สนับสนุนคุณประยุทธ์และชนชั้นนำ

แต่หากมองการเมืองนอกจากเรื่องอุดมการณ์และการแบ่งขั้วทางการเมือง คุณอรรถวิชช์มีบางอย่างคล้ายกับผู้สมัครจากเพื่อไทยและก้าวไกลเหลือเกิน

ทั้งคุณสุรชาติ, คุณเพชร และคุณอรรถวิชช์ คือ “คนหนุ่ม” ในบริบทที่การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของคนวัยปู่ย่ามาหลายสิบปี

คุณประยุทธ์และคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ เหลาเหย่จนไม่ต้องพูดกัน

ส่วนคุณทักษิณก็คือคนรุ่นที่เป็นตาคนแล้ว ต่อให้ความคิดจะทันสมัยกว่าคุณประยุทธ์และคุณประวิตรก็ตาม

ในแง่รุ่นของผู้สมัคร เราอาจพูดได้ว่าศึกหลักสี่คือชัยชนะของผู้สมัครวัยไม่เกิน 42-45 ซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นลูกคุณประยุทธ์, คุณทักษิณ และคุณประวิตร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่เป็นวัยของความหวังและการมีประสบการณ์มากพอจะทำให้ความหวังกลายเป็นความจริง

คุณอรรถวิชช์ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนประชาธิปไตยเท่าคุณสุรชาติและคุณกรุณพล และต่อให้คุณอรรถวิชช์จะเล่นลิ้นว่าประชาธิปไตยไม่เท่ากับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล คำประกาศว่าพรรคกล้าพร้อมสนับสนุนและร่วมรัฐบาลประยุทธ์ก็คือหลักฐานว่าคุณอรรถวิชช์ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ดี

อย่างไรก็ดี คุณอรรถวิชช์ได้คะแนนในเขตมากเป็นอันดับสาม ขณะที่พรรคหนุนประยุทธ์พรรคอื่นๆ แทบไม่มีใครเลือก ไม่ว่าจะเป็นภรรยาคุณสิระ เจนจาคะ ที่คะแนนลดจาก 35,000 เหลือแค่หลักเจ็ดพัน หรือพรรคไทยภักดีที่ทำถึงขั้นประกาศให้คนรักสถาบันทุกคนเลือกพรรคตัวเอง

ตอบแบบกำปั้นทุบดินที่สุด คุณอรรถวิชช์ได้คะแนนจากคนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องไม่ชอบคุณทักษิณ, ไม่ชอบคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ไม่ชอบการอภิปรายประเด็นสถาบัน ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบพรรคที่โหนสถาบันจนสถาบันกลายเป็นประเด็นการเมือง

คุณอรรถวิชช์และพรรคกล้าถูกนักแสดงความเห็นบางคนโจมตีเป็น “สลิ่ม” แต่ถ้าสลิ่มหมายถึงคนที่ใช้สถาบันหาเสียงหรือไล่ล่าคนอื่นแบบที่เสื้อเหลืองหรือ กปปส.ทำกับเสื้อแดงในปี 2549 และ 2553 คุณอรรถวิชช์และพรรคกล้าก็ไม่ได้ทำแบบนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือในกรณีอื่นแต่อย่างใด

มองในแง่นี้ เราอาจพูดได้ว่าคะแนนของพรรคกล้าคือคะแนนของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เอาเพื่อไทยและก้าวไกล แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องให้การเมืองไทยเป็นเรื่องของการโจมตีหรือการแอบอ้างสถาบันไม่รู้จบ

ซึ่งเท่ากับว่าพูดได้ยากมากขึ้นว่าพรรคกล้าคือ “สลิ่ม” อย่างที่คนบางกลุ่มเริ่มพูดกัน

หากมองการเลือกตั้งหลักสี่นอกกรอบเรื่องการแบ่งขั้วและอุดมการณ์การเมือง ผู้สมัครที่คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกคือผู้สมัครที่ดูทันสมัย ไม่ใช่คนรุ่นเก่า เป็นคนชั้นกลาง มีระยะห่างจากอำนาจรัฐ และไม่ดูเป็นข้าราชการ

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นคุณสมบัติของผู้แทนฯ ในอนาคตของคน กทม.

ผลเลือกตั้งหลักสี่กำลังถูกตีความว่าจะทำให้เกิด “หลักสี่โมเดล” ที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้ฝ่ายประชาธิปไตย

แต่นอกจากเรื่องประชาธิปไตยแล้วยังมีมิติอื่นให้คิดอีกมาก และอาจพูดได้ว่าในที่สุดผู้แทนฯ ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการคือผู้แทนฯ ที่ทันสมัย, ไม่สุดโต่ง, เป็นประชาธิปไตย และไม่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือ

ข่าวร้ายสำหรับคุณประยุทธ์คือคุณสมบัติทั้งหมดนี้ไม่มีในคุณประยุทธ์ รวมทั้งลิ่วล้อคุณประยุทธ์แบบสายตรงแม้แต่รายเดียว