ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นชื่อเรียกเจ้าแม่ทับทิมตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เรื่องของ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนเชื้อสายจีนในเมืองปัตตานี มีปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งคือ “พงศาวดารเมืองปัตตานี” ซึ่งชำระ (คือการเรียบเรียง ซึ่งก็แน่นอนว่า ย่อมมีการตัดบางอย่างออกไป เพิ่มตรงโน้นเข้ามา ตามแต่แว่นที่ผู้ชำระใช้มอง และหัวโขนที่ผู้ชำระสวมอยู่) โดยพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้เคยเป็นทั้งผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และจางวางเมืองสงขลา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังมีข้อความว่า

“พลเมืองในปัตตานีได้ทราบกันทั่วไปมาจนเดี๋ยวนี้ ว่าเปนที่หล่อปืน แลนายช่างผู้ที่หล่อปืน 3 กะบอกนั้น สืบได้ความว่าเดิมเปนจีนมาจากเมืองจีน เปนชาติหกเกี้ยนแซ่หลิม ชื่อเคี่ยม เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกะเสะ

จีนเคี่ยมคนนี้มาได้ภรรยามลายู จีนเคี่ยมก็เลยเข้าสาสนามลายูเสียด้วย พวกมลายูสมมุติเรียกกันว่าหลิมโต๊ะเคี่ยมตลอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้

แลในตำบลกะเสะซึ่งหลิมโต๊ะเคี่ยมอยู่มาก่อนนั้น พลเมืองที่อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ยังนับถือหลิมโต๊ะเคี่ยมว่าเปนต้นตระกูลของพวกหมู่บ้านนั้น แลยังกล่าวกันอยู่เนืองๆ ว่าเดิมเปนจีน

หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างหล่อปืนนี้มาอยู่ในเมืองปัตตานีหลายปี น้องสาวหลิมโต๊ะเคี่ยมชื่อเก๊าเนี่ยวตามมาจากเมืองจีน มาปะหลิมโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานี อยู่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมให้ละเสียจากเพศมลายูกลับไปเมืองจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไป เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้องสาวแต่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมมานั้นประมาณหลายปี หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไปแขงอยู่ เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้อง มีความเสียใจหลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ชายจึงผูกคอตายเสีย

ครั้นเก๊าเนี่ยวน้องสาวผูกคอตายแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ก็จัดแจงศพเก๊าเนี่ยวน้องสาวฝังไว้ในตำบลบ้านกะเสะ ทำเปนฮ่องสุยปรากฏอยู่ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พวกจีนก็เลยนับถือว่าเปนผู้หญิงบริสุทธิ์อย่าง 1 เปนคนรักชาติตระกูลอย่าง 1 ได้มีการเส้นไหว้เสมอทุกปีมิได้ขาดที่ศพเก๊าเนี่ยวนี้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านง่ายสบายมากโดยผู้เขียน)

พงศาวดารปัตตานี ซึ่งนับเป็นหลักฐานเอกสารฉบับทางการที่เก่าแก่ที่สุด ที่กล่าวถึงที่มาของคติการบูชาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ระบุถึงเรื่องราวของเจ้าแม่องค์นี้เอาไว้เพียงเท่านี้ ไม่มีทั้งตำนานเรื่องคำสาปไม่ให้มัสยิดกรือเซะสร้างเสร็จ หรือรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ ดังที่ตำนานมุขปาฐะ ในสมัยหลังและรวมมาถึงปัจจุบันนี้มักจะอ้างถึง

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปืนใหญ่ หรือมัสยิดกรือเซะ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากจะกล่าวถึงในที่นี้หรอกนะครับ

สิ่งที่ผมอยากจะชี้ชวนให้ตั้งคำถามกันมากกว่าก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (แม้กระทั่งในหลักฐานเอกสารอย่างพงศาวดารปัตตานี) นั้น ไม่เคยบอกเลยว่า น้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมคนนี้มีชื่อว่าอะไร เพราะ “แม่นางแซ่ลิ้ม” คนนี้ ไม่ได้มีชื่อว่า “กอเหนี่ยว” อย่างแน่นอน

คำว่า “กอเหนี่ยว” ในสำเนียงจีนฮกเกี้ยนนั้น ตรงกับคำว่า “กูเหนียง” ในสำเนียงจีนกลาง ซึ่งก็คือคำเดียวกับคำว่า “โกวเนี้ย” ในสำเนียงแต้จิ๋ว ที่ผู้อ่านนิยายกำลังภายในในไทยคุ้นเคยกันดี โดยมีความหมายว่า “แม่นาง”

ดังนั้น คำว่า “ลิ้มกอเหนี่ยว” ในสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ “หลินกูเหนียง” ในสำเนียงจีนกลางนั้น จึงมีความหมายตรงตัวว่า “แม่นางแซ่ลิ้ม” หรือ “แม่นางแซ่หลิน” เท่านั้น ต่างกันกับ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ที่พงศาวดารเมืองปัตตานีระบุเอาไว้ชัดเจนว่าชื่อ “ลิ้มเคี่ยม”

และนี่ก็เป็นเรื่องบังเอิญอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะคำว่า “หลินกูเหนียง” นั้น เป็นชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญองค์หนึ่งตามความเชื่อของชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล

นั่นก็คือ “เจ้าแม่ทับทิม”

 

ชาวจีนนับถือ “เจ้าแม่ทับทิม” ในฐานะเทพีแห่งการเดินเรือ เทพีประจำอาชีพประมง นอกจากนั้น ยังมีฤทธานุภาพทางด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรืออีกบานตะเกียง แม้กระทั่งการรบ ที่สำคัญก็คือชาวเรือในจีนยังมีคำใช้เรียกเจ้าแม่องค์นี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงจีนกลางว่า “ฉวนโถวเหนียง” แปลตรงตัวว่า “พระแม่หัวเรือ” เพราะเชื่อกันว่าเจ้าแม่องค์นี้สถิตอยู่ที่หัวเรือ ใกล้เคียงกับความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” ของไทยเรา

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไร ที่จะพบศาลเจ้าแม่ทับทิมได้ทั่วไป ในบริเวณที่ชาวจีนโพ้นทะเลฝ่าคลื่นลม รอนแรมทางบนเรือมาแล้วตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นั่น

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษาระดับหาตัวจับยากในปัจจุบันอย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล เคยอธิบายไว้ว่า โดยปกติแล้วชาวจีนมักจะเรียก “เจ้าแม่ทับทิม” ตามสำเนียงจีนกลางว่า “มาจู่” ฮกเกี้ยนเรียก “หมาจ่อ” ส่วนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “มาโจ้ว” คำว่า “หมา” หรือ “ม่า” ในภาษาถิ่นฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว แปลว่า “ย่า” หรือ “ยาย” ใช้เรียกหญิงสูงอายุด้วยความยกย่อง ส่วนคำว่า “จ่อ” หรือ “โจ้ว” แปลว่า “บรรพชน” เมื่อรวมกันแล้วหมายถึง หญิงสูงอายุผู้มีคุณธรรมสูง เป็นชื่อที่เรียกด้วยความเคารพรักดั่งเป็นบรรพชน

แถม อ.ถาวรยังบอกต่อไปอีกด้วยว่า ในจีนนั้นมีความเชื่อว่า เจ้าแม่ทับทิมมีตัวตนอยู่จริง โดยมีอยู่มากมายหลายตำนาน แต่ที่แพร่หลายที่สุดคือ ตำนานที่เชื่อว่า เจ้าแม่องค์นี้เป็นธิดาของหลินย่วน ผู้บัญชาการทหารแห่งอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (คือ ฮกเกี้ยน) ในรัชสมัยชองพระเจ้าซ่งไท่จู (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1503-1519) ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกเจ้าแม่ทับทิมอีกอย่างหนึ่งว่า “หลินกูเหนียง” หรือ “ลิ้มกอเหนี่ยว” ตามสำเนียงฮกเกี้ยนนั่นเอง

 

แต่เจ้าแม่ทับทิมหรือ “ลิ้มกอเหนี่ยว” จะเคยมีชีวิตอยู่ที่ฮกเกี้ยน คือมณฑลฝูเจี้ยนจริงหรือเปล่านั้น ก็คงเป็นคำถามในทำนองเดียวกับที่ควรจะมีการตั้งคำถามถึง “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ที่ปัตตานี โดยเฉพาะเมื่อพงศาวดารเมืองปัตตานีระบุชัดว่า “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ผู้เป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น เป็นจีนฮกเกี้ยน

เพราะการที่บุคคลที่อาจจะเคยมีชีวิตอยู่จริงอย่าง “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” เป็นชาวฮกเกี้ยนนั้น ก็ย่อมเป็นร่องรอยสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไมตำนานของเจ้าแม้องค์หนึ่งในฮกเกี้ยนนั้น สามารถรอนแรมทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล แถมยังสามารถตั้งศาลบูชาเจ้าแม่องค์นี้เป็นการเฉพาะเจาะจง ในดินแดนที่คราคร่ำไปด้วยวัฒนธรรมของชนชาวมุสลิม จนทำให้แม้แต่จีนฮกเกี้ยนแท้ๆ อย่างลิ้มโต๊ะเคี่ยม ที่ตำนานอ้างว่าเป็นพี่ชายของเจ้าแม่เอง ก็ยังต้องเข้ารีตในศาสนาอิสลามไปในที่สุด

ชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยน ที่ยังมีเหลืออยู่ที่บ้านกรือเซะนั้น จึงเป็นพยานสำคัญ ที่ทำให้การที่จะมีศาลบูชาเจ้าแม่ทับทิมอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น กลายเป็นสิ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยสักนิด

แถมกลับทำให้ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปด้วยซ้ำว่า ชาวปัตตานีเชื้อสายฮกเกี้ยน ที่ก่อสร้างศาลขึ้นมานั้นยังจดจำชื่อ “ลิ้มกอเหนี่ยว” ของเจ้าแม่ได้

ลักษณะอย่างนี้ แตกต่างไปจากชาวจีนที่อื่นๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะจีนฮกเกี้ยนด้วยกันเอง ที่หันไปเรียกเจ้าแม่องค์นี้ด้วยชื่ออื่นๆ จนเรียกด้วยชื่อไทยว่า “เจ้าแม่ทับทิม” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเรียกตามเสื้อผ้าหน้าผม และเครื่องประดับของเจ้าแม่องค์นี้ ที่บรรดาผู้ศรัทธาในเจ้าแม่ทั้งหลาย มักจะถวายเครื่องทรง และเครื่องประดับสีแดง อันเป็นสีของทับทิมให้กับเจ้าแม่

ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จึงเป็นร่องรอยสัญลักษณ์ของปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเล กับชาวมุสลิมท้องถิ่น ที่บ้านกรือเซะ และบางทีก็อาจจะรวมถึงรัฐปัตตานีโบราณทั้งรัฐนั่นแหละครับ