Pretty Proofreader : นักพิสูจน์อักษร งานดีงามที่ซ่อนตัว / เงาเกาหลี : มาดามหลูหลี

มาดามหลูหลี[email protected]

มาดามหลูหลี

FB เงาเกาหลี

 

Pretty Proofreader

: นักพิสูจน์อักษร งานดีงามที่ซ่อนตัว

 

โลกยุคดิจิตอลที่ผู้คนอ่านหนังสือบนแท็บเล็ตต่างๆ หากหนังสือเล่มที่ผลิตด้วยกระดาษ ยังคงมีเสน่ห์ชวนอ่าน ด้วยกลิ่นหอมของกระดาษและตัวอักษรอันสบายตา

เบื้องหลังหนังสือแต่ละเล่ม นอกจากนักเขียนผู้ใช้ความพยายามกลั่นความคิดออกมาเป็นตัวอักษรแล้ว ยังมีเบื้องหลังงานเขียนคือคนตรวจปรู๊ฟ (Proofreader) หรือนักพิสูจน์อักษรผู้ทำงานเบื้องหลัง ซึ่งตั้งใจอ่านงานเขียนอย่างละเอียด ไม่ให้มีคำผิดก่อนส่งโรงพิมพ์

สำนักพิมพ์ในบ้านเรา นักพิสูจน์อักษรคงก้มหน้าก้มตาอ่านตรวจแก้คำให้ถูกต้องอยู่ในสำนักงาน ต่างจากโคโนะ เอ็ตสึโกะ (Satomi Ishihara) สาวนักพิสูจน์อักษรคนสวย ในซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Pretty Proofreader /Simpleness Is Great! (ออนแอร์เดือนตุลาคม 2016) สร้างจากนิยายญี่ปุ่นเรื่อง Girl Etsuko Kon ของอายาโกะ มินางิ (Ayako Miyagi) หรือ “Jimi ni Sugoi! Koetsu Garu Kono Etsuko”

โคโนะ เอ็ตสึโกะ สาวสวยสดใสผู้มองโลกในแง่บวก มีความฝันอยากทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารลาสซี่ (Lassy) นิตยสารแฟชั่นและความงาม ของสำนักพิมพ์บริษัทเคย์บน (Kaibon) เอ็ตสึโกะอ่านนิตยสารทุกฉบับของเคย์บน เพราะชื่นชอบแฟชั่นมากๆ ชอบเสื้อผ้า/กระเป๋า/รองเท้า และจดจำได้ทุกผังหน้าและเสื้อผ้าทุกชุดในนิตยสารทุกฉบับได้แม่น

เอ็ตสึโกะมาสมัครงานที่เคย์บนถึง 7 ครั้ง จนล่าสุดจึงสอบผ่านได้รับเลือก แต่กลับให้ไปทำงานอยู่แผนกพิสูจน์อักษร ซึ่งห้องทำงานอยู่ชั้นใต้ดินของอาคาร!

 

นาโอโตะ ทาเกฮาระ (Goro Kishitani) ผู้จัดการแผนกพิสูจน์อักษร มองเห็นความพยายามของเอ็ตสึโกะ และบุคลิกพิเศษของเธอซึ่งดูแตกต่างจากลูกน้องนักพิสูจน์อักษรคนอื่นๆ ในแผนก

ริอง ฟูจิวาระ (Noriko Eguchi) รุ่นพี่ผู้เคร่งครัดสอนว่า งานพิสูจน์อักษรคืออ่านหาคำผิด ตรวจแยกเป็นคำคำ คำที่มีความหมายเหมือนกันก็ไม่ควรใช้ซ้ำ คำผิดตรงไหนใช้ปากกาสีแดงวง อย่างที่คนชอบพูดกันว่า “ไม่ถูกตรงไหนเอาปากกามาวง” และส่วนที่เป็นคำถามกับความคิดเห็นให้ใช้ดินสอเขียนไว้ด้านข้าง

นักพิสูจน์อักษรต้องสงสัยทุกๆ คำในหน้าหนังสือ แม้คนอื่นจะบอกว่าถูกต้องแล้ว ก็ยังต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งสถานที่ หรือรายละเอียดต่างๆ ในข้อเขียน ว่าถูกต้องจริงๆ

แต่ถึงจะระมัดระวังอย่างไร ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มักเกิดจากคำผิดที่อยู่ใกล้จนมองข้ามไป และเป็นจุดหลักซึ่งมักอยู่บนปกหนังสือเสียด้วย

งานที่ต้องแก้ไขสิ่งผิดพลาดหลังจากหนังสือได้พิมพ์ออกมาแล้ว เอ็ตสึโกะจึงรับรู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวและน้ำใจของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งด้วยลักษณะอาชีพของนักพิสูจน์อักษรเหมือนคนเก็บตัวเงียบๆ (ออกจะเชยๆ) ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร มีโลกส่วนตัวสูง แต่ความร่าเริงสดใสของเอ็ตสึโกะได้ทำให้เพื่อนร่วมงานเปลี่ยนไป ราวกับว่าอารมณ์ดีๆ ได้ส่งต่อถึงกัน

ความสดใสของเอ็ตสึโกะกับสไตล์การแต่งตัวแบบแฟชั่นนิสต้า บวกกับรอยยิ้มแจ่มใส กล่าวทักทายทุกคนตั้งแต่ยาม, แม่บ้าน, พนักงานต้อนรับ และทุกๆ คนที่เธอเจอในบริษัท

ถ้าวันไหนเอ็ตสึโกะไม่แต่งตัวแต่งหน้า หรือทักทายใครๆ มันออกจะแปลกๆ

หากคนญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น ญี่ปุ่น ผู้ทำงานละเอียดมากๆ ไม่ใช่แค่งานตรวจคำผิดเท่านั้น เมื่อนักเขียนพูดถึงสถานที่หรืออาคารบ้านพัก นักพิสูจน์อักษรถึงกับไปดูสถานที่จริง และจำลองโครงสร้างอาคาร/บ้าน เพื่อดูความเป็นจริงและความเป็นไปได้ตามตัวอักษร

รวมทั้งการตรวจสอบ/ไปดูสถานที่จริงว่าเป็นอย่างที่นักเขียนพูดถึงหรือไม่

 

Pretty Proofreader ซีรีส์ญี่ปุ่นจำนวน 10 อีพี เล่าเรื่องได้กระชับและทรงพลังมาก แม้จะเป็นซีรีส์ปี 2016 แต่เสื้อผ้าหน้าผมและแอ็กเซสซอรี่ของเอ็ตสึโกะยังคงทันสมัยสวยงาม

เป็นซีรีส์สนุกน่ารัก สอดแทรกสาระต่างๆ อย่างน่าสนใจ ได้หัวเราะขำกับมุขต่างๆ ที่ใส่เข้ามาอย่างลงตัว

นางเอกซาโตมิสวยน่ารัก แต่พระเอกมาซากิ ซูดะ ดูเหมือนเด็กเนิร์ด ซึ่งเอ็ตสึโกะชอบมาก บอกว่าหล่อมาก ดูแล้วไม่รู้หล่อตรงไหน? นักแสดงชายญี่ปุ่นหาหล่อได้ยาก

คำว่า “Jimi ni” แปลว่า “สุดยอด” เหมือน “Sugoi” ซึ่งเป็นคำทันสมัย นักเขียนต้องใช้คำร่วมสมัย รวมทั้งชื่อ “เอ็ตสึโกะ” เมื่อรวมกับนามสกุล บรรณาธิการปลาหมึก/คาอิซูกะ (Munetaka Aoki) มักเรียกเธอว่า “โคเอ็ตสึ” แปลว่า “ไร้สาระ”

เหมือนนิสัยโวยวายและชอบจุ้นจ้านเรื่องต่างๆ ของเธอ แต่กลับเป็นงานไร้สาระที่มีความหมาย

 

เอ็ตสึโกะทำให้แผนกพิสูจน์อักษรที่ไร้ความหมาย ไร้ตัวตน ให้โดดเด่นมีความหมายได้เป็นที่รู้จัก ตัวตนของเธอได้สะท้อนให้เพื่อนร่วมงานได้เปล่งประกายในรูปแบบของตัวเอง

ซีรีส์ที่ทำให้คนทำงานภูมิใจและเห็นคุณค่าของงานที่ทำ งานพิสูจน์อักษร หรืองานเบื้องหลังอื่นๆ เป็นงานที่ซ่อนตัวอยู่ ในขณะที่งานอื่นส่องประกายสดใส แต่งานเบื้องหลังกลับไม่มีใครมองเห็น เอ็ตสึโกะอยากปกป้องสิ่งที่ถูกมองข้ามไป

อย่างที่นาโอโตะ ผู้จัดการแผนกพิสูจน์อักษรบอก “ต่อให้ใครไม่รู้จักเรา หรือชื่นชมเรา เราก็ยังสนับสนุนคนอื่นๆ (นักเขียน) งานของนักพิสูจน์อักษร คือการสนับสนุนคนที่ทุ่มเททุกอย่างในงานเขียน โดยที่เราไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย…”

ชื่นชมผู้จักการแผนกนาโอโตะมาก ให้กำลังใจลูกน้องตลอด ขอออกไปข้างนอกก็บอกว่า “ไปดีมาดี” และแนะนำเอ็ตสึโกะว่า “ขอให้พิสูจน์อักษรในแบบของตัวเอง ไม่ต้องกังวลกับกฎมากนัก…”

เป็นงานที่หาเงินจากข้อผิดพลาด และแก้ไขให้ถูกกก!!!