THE TRAGEDY OF MACBETH ‘เช็กสเปียร์ในโลกภาพยนตร์’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE TRAGEDY OF MACBETH

‘เช็กสเปียร์ในโลกภาพยนตร์’

 

กำกับการแสดง

Joel Coen

นำแสดง

Denzel Washington

Frances McDormand

Brendan Gleeson

Alex Hassell

Bertie Carvel

Kathryn Hunter

 

นี่เป็นหนังที่ผู้เขียนตั้งตารอคอยมาตั้งแต่เมื่อได้ข่าวการเปิดตัวเมื่อต้นปีที่แล้ว โดยมีกำหนดออกฉายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ผู้เขียนเพิ่งได้ดูเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้เอง

Macbeth สร้างมาจากบทละครคลาสสิคฝีมือบรมครูแห่งบรรณพิภพของวรรณกรรมการละครสากลและละครเวทียุคพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งถือเป็นยุคทองที่ยิ่งใหญ่ในวงการละครทัดเทียมกับการละครสมัยกรีกโบราณ

และในฐานะครูสอนวิชาศิลปการละคร ผู้เขียนยังได้แปลบทละครคลาสสิคของเช็กสเปียร์เรื่องนี้และกำกับฯ เป็นละครเวทีปฐมฤกษ์เปิดศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้ว

อีกทั้งโจเอล โคเอ็น ผู้กำกับหนังก็เป็นบุคคลที่มีฝีมือขั้นเทพ ซึ่งหาเทียมทานได้ยาก ในวงการภาพยนตร์

หนังเรื่อง Fargo ของพี่น้องตระกูลโคเอ็น (โจเอลและอีธาน) เป็นหนังในดวงใจเรื่องหนึ่ง และดูซ้ำได้โดยไม่เบื่อ

 

Macbeth เป็นหนังเรื่องแรกที่โจเอลแยกวงมาทำคนเดียวโดยไม่มีน้องชาย แต่มีภรรยา ฟรานซีส แม็กดอร์มันด์ ในบทบาทที่น่าจดจำที่สุดบทหนึ่งในโลกของละครเวที นั่นคือ เลดี้แม็กเบธ

เนื่องจากผู้เขียนมีภูมิหลังและประสบการณ์เกี่ยวกับละครเรื่องนี้อยู่มาก และแง่มุมให้เขียนถึงได้หลากหลายแบบไม่รู้จบ จึงจะพูดถึงได้เฉพาะบางส่วนในเนื้อที่จำกัดของคอลัมน์

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของหนังคือภาพอันน่าประทับตาของหนังขาว-ดำ ที่เล่นกับแสงเงาอย่างสวยงามได้อารมณ์

งานออกแบบฉากไม่ได้ให้รายละเอียดของความสมจริงแบบเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ดูเป็นดีไซน์ที่สร้าง “มู้ด” ด้วยการตีความที่แปลกตา

นอกจากนั้น เรายังมีตัวละคร-ซึ่งตามต้นเรื่องล้วนเป็นชาวสก๊อต-แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ของวัฒนธรรมปัจจุบัน เราจึงมีแม็กเบธ เซย์ทัน (นักเรียนการละครน่าจะจดจำชื่อนี้กันได้ เพราะแม็กเบธร้องเรียกหาอยู่เนืองๆ) แองกัส และแม็กดัฟฟ์ (ผู้ไม่ได้ “คลอดจากครรภ์สตรี”) เป็นคนผิวสีในกลุ่มนักแสดงที่หลากหลายและข้ามพรมแดนของเชื้อชาติ

 

การตีความที่น่าทึ่งและชวนฉงนยิ่ง คือ “แม่มดสามตน” เล่นโดยนักแสดงหญิงคนเดียว (แคธริน ฮันเตอร์) เหมือนจะแยกร่างออกมาได้ และกลายร่างจากอีกาสามตัวที่บินร่อนอยู่กลาง “ไอหมอกและอากาศเลวทราม” ในตอนเปิดเรื่อง และฝูงอีกาที่บินพรึบขึ้นจากพื้นดินเป็นภาพสุดท้ายของหนัง เมื่อรอสส์ขี่ม้าพาลูกชายของแบงโควบนพื้นดินสูงๆ ต่ำๆ จนลับตาไปหลังเนินในภูมิประเทศ

“แม่มด” เป็นกลไกสำคัญในการเล่าเรื่องแม็กเบธมาตั้งแต่ราว 400 ปีที่แล้ว

ที่น่าสะกิดใจอีกข้อคือ บทบาทของ “ชายชรา” ผู้วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ประหลาดหรืออาเพศที่เกิดในคืนที่แม็กเบธสังหารดันแคน แสดงโดยนักแสดงที่เล่นเป็นแม่มดด้วย

ฉากที่แม็กเบธดั้นด้นไปหาแม่มดเพื่อถามไถ่ให้กระจ่างแก่ใจถึงเหตุการณ์ในอนาคต ก็ใช้การนำเสนอด้วยการตีความเป็นภาพที่น่าจดจำมาก อันเนื่องมาจากคำทำนายของแม่มดทั้งสามข้อในตอนต้นเรื่องล้วนกลายเป็นจริงทั้งนั้น และแม็กเบธถูกรุมเร้าด้วยสถานการณ์รอบตัวที่ทำให้รู้จักว่าสถานะความเป็นกษัตริย์ของตนง่อนแง่นไม่มั่นคง ในหนัง แม็กเบธไม่ได้เดินทางไปไหน แต่เป็นภาพนิมิตที่แม่มดแสดงให้เห็นจากเบื้องสูงให้มาเกิดเบื้องหน้าแม็กเบธซึ่งอยู่ในปราสาทตามลำพัง

“รอสส์” (อเล็กซ์ แฮสเซิล) เป็นตัวละครที่ได้รับการเสริมเติมแต่งมากขึ้นจากบทละคร แทนที่จะมีบทบาทเป็นเพียงคนเดินสารหรือคนแจ้งข่าว

ในหนัง รอสส์ปรากฏตัวเป็น “ฆาตกรคนที่สาม” ซึ่งในบทละครทิ้งไว้ให้คนอ่านคิดเองว่าเป็นใคร และหลังจากแบงโควถูกสังหารแล้ว รอสส์เป็นคนปล่อยให้ลูกชายแบงโคว (ซึ่งแม่มดทำนายไว้ว่าลูกหลานของแบงโควจะได้ครองราชย์ต่อไป) หนีรอดไปได้

และไม่ใช่เพียงเท่านั้น ในตอนท้าย หลังจากโอรสของดันแคนได้สวมมงกุฎแทนแม็กเบธแล้ว เรายังเห็นรอสส์มอบเงินให้แก่ชายชราเมื่อชายชราพาตัวลูกชายแบงโควมาให้เขา…ซึ่งเป็นการโยงเรื่องให้สืบเนื่องต่อไปด้วยบทบาทของตัวละครตัวนี้

 

คราวนี้พูดถึงสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกแปลกแปร่งและยังไม่รู้สึกอิ่มเอมกับหนังบ้างนะคะ

ข้อใหญ่ใจความคือการตีความและนำเสนอลักษณะนิสัยของตัวละครหลัก โดยเฉพาะแม็กเบธ

สำหรับผู้เขียนซึ่งเรียนบทละครเรื่องแม็กเบธทั้งเทอมเลยในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ โดยมีรองศาสตราจารย์สดใส พัมธุมโกมล เป็นผู้สอน และท่องจำข้อความในเรื่องได้หลายบทหลายตอน จนกระทั่งเกิดความบันดาลใจให้มาแปลวรรณกรรมเรื่องนี้ในเวลาต่อมา เช็กสเปียร์สร้างตัวละครเอกคือแม็กเบธ ให้เป็นตัวร้ายอย่างไม่มีอะไรเคลือบแคลงเลย ไม่ว่าจะตัดสินด้วยมาตรฐานใด แม็กเบธทะเยอทะยานใฝ่สูงจนฆ่าคนเพื่อให้ตนก้าวขึ้นสู่ความเป็นใหญ่ และยังกำจัดขวากหนามที่ขวางหน้าต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง

แต่ความสามารถของเช็กสเปียร์อยู่ที่การทำให้เราได้เห็นสภาพจิตใจของแม็กเบธไปตลอดหนทางที่เขาตัดสินใจกระทำสิ่งร้ายกาจ ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าเป็นความชั่วช้าสามานย์ ทว่าก็ห้ามใจไว้ไม่อยู่ และปัดไปให้เป็นเรื่องของโชคชะตาที่กำหนดไว้แล้ว

พูดง่ายๆ คือเราเห็นแม็กเบธคิดถึงการกำจัดดันแคนไปให้พ้นทางโดยบอกว่า “อามิสอาถรรพ์ล่อใจครั้งนี้/ไม่น่าจะเป็นเรื่องเลว ไม่น่าจะเป็นเรื่องดี/หากเลว ไยจึงมาสัญญาข้าด้วยเรื่องดี/ซึ่งเพียงเริ่มก็เป็นจริง/ข้าได้เป็นเธนแห่งคอว์ดอร์/หากดี ไยข้าจึงต้องสยบใต้แรงรบเร้า/ที่เพียงคิดก็สยองเกล้าจนขนหัวชัน/และพาให้ใจเต้นโครมครามถึงนอกทรวงจนผิดวิสัย/ความกลัวขณะนี้ยังน้อยกว่ามโนภาพสยอง/ความคิดซึ่งฆาตกรรมยังเป็นเพียงห้วงจินตนา/สั่นคลอนร่างไร้เรี่ยวแรง/จนกายกรรมถูกสะกดไว้ใต้มโนนึก/และไม่มีสิ่งใดเป็นจริง เว้นแต่สิ่งที่ไม่มีตัว”

ขอรวบรัดตัดความไปจนถึงบทพูดคนเดียวตอนท้ายของแม็กเบธ ซึ่งผู้เขียนและใครๆ หลายคนรู้สึกว่า ถ้าไม่มีบทพูดนี้ เรื่องทั้งเรื่องก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย นั่นคือ “พรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้/คืบคลานเข้ามาทีละวัน ทีละวัน/จวบจนปัจฉิมกาล/และวันวานส่องแสงให้คนโง่/เห็นทางสู่ความตายเป็นภัสมธุลี/ดับไปสิ ดับเสีย เทียนแสนสั้น/ชีวิตเป็นเพียงรูปเงาโลดแล่น/เป็นนักแสดงด้อยฝีมือ/ที่เดินวางมาดและกลัดกลุ้ม/ใช้เวลาให้หมดไปบนเวที/และแล้วก็เดินลับตาอันตรธานไป/ไม่มีใครได้ยินเสียงอีก/เป็นนิทานที่เล่าโดยคนโง่บัดซบ/ดีแต่ส่งเสียงและโกรธเกรี้ยว/ไร้ความสลักสำคัญ”

ต้องบอกว่า เดนเซล วอชิงตัน เล่นบทนี้แบบที่ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครสักเท่าไรเลย เรียกว่าเล่นแบบโยนออกนอกตัว ไม่ได้ใคร่ครวญตริตรองอย่างแท้จริงถึงความหมายที่ตัวละครตัวนี้มองเห็น

โดยเฉพาะการตีความ “ดับไปสิ ดับเสีย เทียนแสนสั้น” โดยให้เป็นการพูดถึงความตายของเลดี้แม็กเบธ ไม่ใช่ความเข้าใจในชีวิตที่ไร้ความหมายซึ่งเป็นการเลือกทางเดินของตัวเอง

น่าเสียดายที่บทรำพึงตรงนี้ไม่ได้สื่อความลึกซึ้งอย่างที่น่าจะเป็นเลย

เอาละ รวบรัดสรุปจบตรงนี้เลยดีกว่านะคะ