‘ฮีโร่’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมูป่า - หมูป่าตัวผู้ต้องแยกออกมาอยู่ลำพัง พวกมันถูกเรียกว่า สัตว์โทน

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ฮีโร่’

 

จะปุ๊ เพื่อนชาวมูเซอดำ ผู้เป็น “คู่หู” คนแรก เรียกผมว่าพี่ใหญ่ ทำให้คนในหมู่บ้านเรียกผมอย่างนั้นด้วย

ผมว่าจะปุ๊ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผมมีชื่อจริงว่าอะไร หรือเป็นใคร มาจากไหน เช่นเดียวกับหน่อเย้ง เพื่อนชาวม้ง เรียกผมว่าซายจัว รวมทั้งในป่าอื่นๆ ผมจะได้รับการตั้งชื่อ ไม่มีใครเรียกผมด้วยชื่อจริง

นี่คือสิ่งที่บอกผมอย่างหนึ่ง “มิตรภาพ” ในป่านั้น ไม่ใส่ใจหรอกว่า คนผู้นั้นจะเป็นใคร การได้ร่วมกินร่วมนอน หรือผจญสิ่งต่างๆ ร่วมกัน มีความเอื้อเฟื้อ ใส่ใจกันและกัน สำคัญกว่า และดูเหมือนว่าทุกคนจะไม่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นใคร

เรื่องราวของคนในป่าที่ผมพบเจอ จึงคล้ายจะฝังแน่นอยู่ในใจ

 

ช่วงเวลาหนึ่ง ในป่าที่มีหนทางค่อนข้างทุรกันดาร ผมมี “เด็กรถ” คนหนึ่ง

เรียกเขาว่าเด็กรถ คล้ายกับเรียกคนที่ไม่สำคัญ หรือเป็นหน้าที่ต่ำๆ ความจริงแล้ว ในการเดินทาง เขาสำคัญ จำเป็นและช่วยให้ผมเดินทางถึงจุดหมาย ทำหน้าที่บอกร่อง, ไลน์ ลากสายวินซ์ ขุดดิน ตรวจสอบรถ ซ่อมแซม

เด็กรถคนนี้ไม่มีใครสนใจหรอกว่าเขาชื่อจริงว่าอะไร ทุกคนเรียกเขาว่า แดง

รวมทั้งประวัติส่วนตัวอันโชกโชนที่เขาเล่า ก็ไม่มีใครตรวจสอบหรือสอบถามว่าจริงหรือไม่

แดงค่อนข้างคล่องในงาน กับความเป็นเด็กรถ เขามีบุคลิกที่ทุกคนลงความเห็นเหมือนกันว่า แปลก

เริ่มที่ประวัติ เขาเล่าว่า ตัวเขาเกิดที่เมืองคุนหมิง ยูนนาน เพราะช่วงเวลานั้น พ่อซึ่งเป็น “ทหารป่า” ไปอบรมที่นั่น ถึงช่วงวัยรุ่น เดินกลับมาอยู่แถวหมู่บ้านชายแดน วิ่งทำงานแล้วแต่ผู้ใหญ่จะใช้ สักพัก ล่องไปแถวภูเก็ต, สงขลา ทำงานบนเรือประมง กลับมาอยู่ชานเมือง ทำงานคอกม้าแข่ง ไม่ยอมช่วยแม่ที่เปิดร้านขายอะไหล่รถ เข้ามาสมัครเป็นคนทำงานในป่า

ทำได้ไม่ถึงปี หายหน้าไปเป็นปี จนวันหนึ่งกลับมา

ตอนที่เราพบกันนั่น เขาทำงานในป่ามาครบ 3 ปี

 

ความ “โชกโชน” และช่างคุยของแดง ทำให้วงเหล้าที่เขาอยู่ด้วยมีเรื่องได้ฟังมากมาย

ในวันที่ชุดลาดตระเวนออกทำงาน บริเวนสำนักงานจะค่อนข้างเงียบเหงา มีคนฝ่ายช่างเหลือไม่กี่คน

แต่ถ้าวันไหนอยู่กันครบๆ ช่วงเย็นบ้านพักหลายหลังจะมีคนไปรวมตัว

โดยปกติ แดงจะเดินไปเยี่ยมเยือนทุกบ้าน แวะบ้านพี่บุญ ซึ่งเป็นหัวหน้านานหน่อย เพราะที่นี่ไม่ค่อยขาดเหล้าขาว บ้านตัวเองน่ะไม่มีหรอก

ที่เขตจะครึกครื้นมากในวันประชุมลาดตระเวนประจำเดือน ทุกหน่วยพิทักษ์ป่าจะส่งคนมานำเสนอข้อมูล พวกเขาจดบันทึกอย่างละเอียด ถ่ายรูป ร่องรอยปัจจัยคุกคามต่างๆ ข้อมูลเหล่านั้นจะได้รับการประมวลผล รู้ว่าบริเวณใดมีปัจจัยคุกคามมากน้อยเพียงใด และจัดกำลังรวมทั้งเพิ่มการลาดตระเวนในโซนนั้นๆ

นี่คือส่วนหนึ่งของการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือที่ดีกับงานปกป้องดูแลสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของพวกมัน

ในวันประชุม บ้านพักของแดงจะคึกคัก เพราะอยู่ใกล้กับครัว

คืนนั้น ถ้าใครยังนั่งอยู่ที่กองไฟ ในศาลาใกล้ครัว จะได้ยินเสียงเมาธ์ออร์แกนดังแทรกความมืดในท่วงทำนองเพลงปลุกใจ

นั่นเป็นเสียงจากการเป่าของแดง

 

แดงกับผมสนิทกันเพราะเดินทาง รถเสีย หรือติดบนทาง ต้องค้างแรมข้างทางด้วยกันบ่อย หน้าที่เด็กรถนั่นเป็นช่างด้วย

“ดูๆ หน่อยนะครับ ตอนไอ้แดงซ่อม ไว้ใจไม่ค่อยได้หรอกไอ้นี่” บุญ หัวหน้าแดงบอกต่อหน้า และเล่าต่อ

“วันก่อนมันเปลี่ยนผ้าเบรกรถหัวหน้า แล้วลืมขันน็อตล้อ หัวหน้าขับออกไปได้ไม่ถึงร้อยเมตรล้อเกือบหลุด”

แดงแอบค้อนตอนลูกพี่เล่า

งานนี้ทำเอาเขาเสียความน่าเชื่อถือในเชิงช่างไม่น้อย

 

ว่าไปแล้วผมชอบคุยกับแดง เขารอบรู้เรื่องราวต่างๆ มาก ตั้งแต่ใต้น้ำไปถึงเรื่องอวกาศ เรื่องโลกนี้ รวมถึงเรื่องโลกหน้า

นอกจากจะเห็นอะไรมาเยอะ แดงน่าจะชอบอ่านหนังสือมาก แต่ผมก็ไม่เคยเห็นเขาอ่านอะไร

หลายครั้งในวงเหล้า แดงจะพูดถึงเรื่องอวกาศ ความลี้ลับจักรวาล จนต้องมีใครห้ามให้หยุด ถ้าไม่หยุด ก็จะมีใครสักคนลากออกไปจากวง

แดงช่วยงานดี หากเขาอยู่ในสภาพปกติ ไม่แก่ดีกรี หรือเมาค้าง เขาขมีขมันกับการดูแลรถ เมื่อขึ้นจากหล่มลึกๆ ได้ เขาจะรีบมุดใต้ท้องดูแลความเรียบร้อยของช่วงล่าง ขณะรถวิ่ง ถ้าได้ยินเสียงผิดปกติ เขาจะตะโกนให้จอดเพื่อตรวจสอบทันที

เขามีทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดี

คนทำงานในป่า ส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ คล่องแคล่วจริงจัง

ใช่ว่าพวกเขาจะ “รับสภาพ” หรือละเลย ไม่รับรู้ว่า ได้รับความ “ใส่ใจ” น้อยเกินกว่าผลงานที่ทำหรอก

ผมไม่แปลกใจนัก ที่ถึงเวลาพัก เหล้าคล้ายจะเป็นส่วนหนึ่ง อันทำให้เกิดเสียงหัวเราะ

อีกนั่นแหละ กับแดง หลังพารถในสภาพสะบักสะบอมกลับมาถึงเขตได้ มักพบกับลูกพี่ยืนส่ายหัว

“ไอ้แดงซ่อมในป่ามาทีไร กลับมานี่ต้องซ่อมหนักกว่าเดิมทุกที”

 

คํ่าวันนั้น เป็นวันที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นวันที่สาม บนบ้านซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่ของบุญคึกคัก ผมไต่บันไดขึ้นบ้าน แดงกำลังคุยเรื่องท่องราตรีที่ภูเก็ตสมัยอยู่เรือประมง เพื่อนๆ นั่งฟังอย่างสนใจ

แดงหันมอง ยิ้มๆ ทำนองให้ผมฟังเฉยๆ อย่าขัด ผมสนิทกับเขาพอที่จะรู้ว่า บางเรื่องนั่นต้องหารครึ่ง บางเรื่องเพี้ยนไปเยอะ

แดงมีฮีโร่ประจำใจ และเป็นแบบอย่างที่เขายึดถือ นั่นคือพ่อของเขา แดงคุยถึงความเก่ง ความเท่ของพ่อให้ฟังเสมอ

แต่กับแม่ แดงไม่พูดถึงนัก “พ่อเลี้ยงผมมาครับ ไม่ใช่แม่” ตอนวัยรุ่นเขาถูกแม่จับคว่ำ เฆี่ยนด้วยหวายครั้งละ 20 ทีบ่อยๆ เป็นเหตุผลอันทำให้เขาละเลยแม่

ยุคนั้นแดงดื้อเพียงไร ไม่ต้องเดา

คืนนั้น ท่ามกลางสายฝนพรำๆ คืนข้างแรมท้องฟ้ามืด มีเสียงเมาธ์ออร์แกนท่วงทำนองเพลงปลุกใจดังมาจากบ้านพักแดง

 

“เพลงเพราะนะเมื่อคืน” ผมพูดกับแดง ขณะกำลังตรวจสอบความเรียบร้อยรถ วันนี้เราจะเดินทาง 30 กิโลเมตร ฝนเพิ่งหยุด เรารู้ว่าสภาพเส้นทางจะเป็นอย่างไร

“ซ้อมไว้ครับ ว่าจะไปเป่าให้แม่ฟังตอนกลับไปบ้าน” แดงบอก

ผมมองหน้าเขา แดงพูดต่อ

“ไม่ได้หายโกรธแม่หรอกครับ ตั้งแต่พ่อตาย ผมไม่ได้ไปหาแม่เลย ว่าจะเป่าเพลงสมัยที่ร้องกันตอนอยู่ในป่า”

ช่วงเวลาดีๆ ของเขาผ่านมานาน ช่วงเวลาที่ยามหนาวเหน็บ อ้อมแขนฮีโร่ของเขาให้ความอบอุ่นได้เสมอ

“แม่คงคิดถึงพ่อเหมือนผมแหละ ผมว่า” แดงพูดเบาๆ

แดงกระโดดขึ้นบนกระบะ ผมขึ้นประจำที่ ไม่รู้หรอกว่า วันนี้เราจะใช้เวลาสักเท่าไหร่ ผมมองกระจกหลัง ได้ยินเสียงเพลงภาษาจีน ทำนองปลุกใจ

ผมยังไม่เคยพบกับแม่ของแดง แต่เชื่อว่า วันที่แดงกลับไปหา และเป่าเมาธ์ออร์แกนให้ฟัง แม่แดงคงมีอาการไม่ต่างจากแม่ของผม ตอนที่อ่านเรื่องที่ผมเขียนถึงพ่อ เขียนถึง “ฮีโร่”

แม่จะยิ้มๆ ยิ้มทั้งน้ำตา