เมื่อสาคร พูลสุข เขียนให้ ‘คนขาดหุ้น’ เป็นผู้ถ้ำมอง/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

เมื่อสาคร พูลสุข เขียนให้ ‘คนขาดหุ้น’

เป็นผู้ถ้ำมอง

 

ถํ้ามอง (voyeurism) คือการมีความสุขทางเพศจากการแอบดู เป็นความสนใจทางเพศที่ได้แอบดูผู้อื่นถอดเสื้อผ้า ร่วมเพศกันในที่ลับ โดยปกติคนแอบดูจะไม่ทำอะไรกับเป้าหมาย บ่อยครั้งผู้ถูกแอบดูจะไม่รู้ตัว ความสุขของการแอบดูหรือถ้ำมองคือการเห็น

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ระบุว่า การถ้ำมองหรือความสุขทางเพศจากการแอบดู เกิดจากบุคคลนั้นขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นใจในวัยเด็ก และไม่สามาถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ รวมถึงการเห็นพ่อแม่ร่วมเพศกันในวัยเด็กด้วย

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “แมวกินลูก” ของสาคร พูลสุข ตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้น “เสือกินคน” มีวุฒิชาติ ชุ่มสนิท หรือบินหลา สันกาลาคีรี เป็นบรรณาธิการ

โดยจะวิเคราะห์ว่าใครเป็นผู้ถ้ำมอง การถ้ำมองส่งผลต่อบุคลิกของตัวละครอย่างไร และทำไมต้องเย็บปากแมว

เรื่องสั้น “แมวกินลูก” ของสาคร พูลสุข เล่าเรื่องราวของจ้งด้วยมุมมองแบบพระเจ้า “เขาเป็นเด็กที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเด็กไม่เต็มเต็ง กับเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวเป็นพิเศษ จึงทำให้ผู้คนพากันเหมารวมว่าเขาเป็นเด็ก ‘ขาดหุ้น'” (น.65)

จ้งออกตามหาแมวเถื่อนตัวนั้นในบ้านร้าง เขาเห็นหมัดและดาหวันร่วมเพศกัน เมื่อถูกจับได้ จ้งต้องทำเหมือนหมัดทำกับดาหวันและห้ามปากโป้ง วันต่อๆ มาต้องแวะที่บ้านร้างและนำของกินมาด้วย

ต่อมาจ้งแอบดูแม่กับชายคนนั้นที่จะมาแทนที่พ่อของเขาร่วมเพศกันผ่านฝาห้อง ทุกครั้งจบด้วยภาพเดียวกับเขาและหมัดทำกับดาหวัน

ซ้อนภาพแมวเถื่อนตัวนั้นที่เข้ามาในบ้าน มันคร่อมร่างนังแมวสามสีที่เขาเลี้ยงไว้ มันใช้ปากกัดต้นคอ เช่นเดียวกับชายคนนั้นที่คร่อมอยู่บนร่างแม่และกัดต้นคอแม่

จ้งจึงออกตามล่าแมวเถื่อนตัวนั้นเพื่อเย็บปากมัน

 

ใครเป็นผู้ถ้ำมอง

และการถ้ำมองส่งผลต่อบุคลิกของตัวละครอย่างไร

ความบังเอิญที่จ้งเห็นหมัดกับดาหวันร่วมเพศกันในบ้านร้าง เขาแอบดูด้วยใจระทึก เป็นประสบการณ์เสพสุขจากการแอบดูครั้งแรก ทั้งๆ ที่ตกใจกับสิ่งที่เห็น ซึ่งเป็นไปตามแรงขับและสัญชาตญาณ (drives and instincts) เพราะความต้องการทางเพศเป็นแรงจูงใจทั่วไปของมนุษย์ ซึ่งมันนำไปสู่ความพึงพอใจ

แม้ต่อมาเขาถูกจับได้และต้องร่วมเพศกับดาหวัน โดยมีหมัดนั่งเฝ้า สามารถอธิบายได้ว่าหมัดมีความผิดปกติทางจิต แต่หลังจากเสร็จภารกิจ ดาหวันจะซ้อนท้ายจักรยานจ้งกลับบ้าน

“เราว่าสูทำไม่เป็นเลย” ดาหวันพูดขึ้น

“ก็เราไม่ใช่ผู้ใหญ่นี่” จ้งเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ดี

“ถ้าสูไม่ขาดหุ้นคงจะทำเป็น” (น.67)

บทสนทนาข้างต้น ดาหวันประเมินการกระทำของจ้ง โดยตัดสินจากการเป็นคนขาดหุ้น ถ้าไม่ขาดหุ้นเขาคงทำเป็นซึ่งเป็นการคาดหวัง แต่จ้งคิดและเข้าใจว่าเรื่องร่วมเพศกันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ การจะทำได้ดีจึงต้องมีประสบการณ์ เมื่อเขาเป็นเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ อีกทั้งครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรก แถมหมัดยังนั่งเฝ้า มันอาจทำให้เขาขาดความมั่นใจได้

ทั้งนี้ การถูกหมัดและดาหวันตราหน้าว่าเป็นคน “ขาดหุ้น” ยังเป็นการใช้วาจาดูถูกจ้งให้กลายเป็นคนต่ำต้อยด้อยค่าอีก ที่อาจสร้างปมจนเขาเก็บกด (repression) และก่อให้เกิดความวิตกกังวลตามมา

คืนหนึ่งจ้งแอบดูแม่ตัวเองอยู่สองต่อสองกับชายคนนั้นผ่านฝาห้อง เป็นการถ้ำมองครั้งที่สอง ที่อาจมีแรงจูงใจหรือความอยากเรียนรู้จากประสบการณ์ถ้ำมองครั้งแรก จนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ (identification) จากชายคนนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเป็นที่ยอมรับของดาหวัน

เมื่อครั้งต่อมาที่บ้านร้าง จ้งไม่ยอมไปไหน เขาดูทุกท่าทางของหมัด พอถึงคราวเขา จากความเชื่องช้ากล้าๆ กลัวๆ กลับทำให้ดาหวันแปลกใจ ที่อาจอธิบายได้ว่าเรื่องเพศสำหรับคนขาดหุ้นไม่ใช่เรื่องไม่ปกติ เขาแค่ต้องการเรียนรู้หรือตัวอย่าง

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงกลไกการป้องกันตนเอง (ego-defense mechanisms) ของจ้ง การแอบดูหรือถ้ำมองอาจต้องอยู่ในที่ลับ แต่การนั่งดูหมัดร่วมเพศกับดาหวัน สะท้อนพฤติกรรมจากจิตใต้สำนึกที่ต้องการให้ตนพ้นจากความวิตกกังวล หรือความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งนอกจากท่วงท่าจะสร้างความแปลกใจให้กับดาหวันแล้ว วันนั้นจ้งยังพูดไม่ติดอ่างด้วย

สอดคล้องกับบุคลิกภาพตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่ต้องรัก จิตรบรรเทา (2560 : 278) กล่าวว่า

“แรงขับพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นแรงขับทางเพศหรือแรงขับความก้าวร้าว ตลอดทั้งจิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก และจิตสำนึก ต่างเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างเสรีหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่จะถูกกำหนดจากจิตใต้สำนึกและจิตสำนึก หากจิตใต้สำนึกมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมมากกว่าจิตสำนึก บุคคลนั้นก็จะประสบความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งรากฐานความขัดแย้งนี้จะเกิดแรงขับ ความปรารถนา ความรู้สึกต่างๆ ที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง”

 

ทำไมต้องเย็บปากแมว

สิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของจ้ง นอกจากการแอบดูการร่วมเพศของหมัดกับดาหวันในครั้งแรก และแม่กับชายคนนั้นในครั้งต่อมา ที่จ้ง “เห็นผู้ชายคนนั้นคร่อมอยู่บนร่างแม่ ใช้ปากกัดต้นคอแม่ ทำให้เขานึกถึงแมวเถื่อนตัวนั้น และที่สำคัญจ้งคิดว่าสายตาของผู้ชายคนนั้นมันช่างเหมือนกับสายตาของแมวเถื่อน” (น.71) ที่เป็นภาพเปรียบจากความคิดของจ้งซ้อนอีกภาพที่เขา

“เห็นแมวเถื่อนตัวผู้ตัวใหญ่กำลังคร่อมอยู่บนร่างของนังสามสีที่เขาเลี้ยงเอาไว้ มันใช้ปากกัดต้นคอของนังสามสี และใช้ขาคู่หลังหนีบและกดบริเวณโคนหางเอาไว้แน่น เพียงไม่กี่อึดใจนังสามสีก็รัวเสียงร้องออกมา” (น.70)

สองข้อความข้างต้น เป็นกระแสความคิดของจ้งที่เห็นฉากร่วมเพศของทั้งคนและสัตว์ โดยเฉพาะภาพชายคนนั้นใช้ปากกัดคอแม่ และแมวเถื่อนใช้ปากกัดต้นคอนังสามสี ที่เขาคิดว่าเป็นการแสดงความรุนแรงทางเพศ

นอกจากนี้ เมื่อใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาอธิบายพฤติกรรมของจ้งในการศึกษาเรื่องปมเอดิปุส (Oedipus Complex) จะเห็นว่า จ้งรักแม่ อยากครอบครองแม่คนเดียว แม้ว่าแม่จะเป็นหญิงม่าย แต่พอชายคนนั้นจะเข้ามาแทนที่พ่อของเขาที่ตายไปแล้ว ทำให้แม่เป็นของชายคนนั้นซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า ทั้งความเป็นผู้ใหญ่ คู่แข่ง การคร่อมบนร่างแม่ หรือความคิดที่จะส่งเขาไปโรงพยาบาลบ้า กันเขาออกจากแม่ ทำให้จ้งไม่กล้าต่อสู้ จึงเก็บงำความปรารถนานี้เอาไว้

ดังนั้น การที่จ้งคิดว่า “ปาก” ที่ชายคนนั้นใช้กัดต้นคอ กับปากที่เรียกแม่ด้วยน้ำเสียงออดอ้อน ที่จ้งคิดว่า “เหมือนน้ำเสียงของแมวเถื่อนเจ้าเล่ห์ที่กำลังร้องเรียกแมวตัวเมีย” ทำให้จ้งตามล่าแมวเถื่อนและเย็บปากมันด้วยเข็มกับด้าย ไม่ให้มันกัดใครและส่งเสียง

ซึ่งเป็นการทารุณกรรมสัตว์จากการเห็นความรุนแรงทางเพศที่แม่ถูกชายคนนั้นกระทำไม่ต่างจากสัตว์นั่นเอง

 

เรื่องสั้น “แมวกินลูก” ของสาคร พูลสุข นอกจากจะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกแล้ว ยังแฝงสัญญะในเชิงเปรียบเทียบระหว่างพ่อ (แมว) ที่อาจฆ่าลูกตัวเอง และยังอธิบายสภาวะจิตใต้สำนึกของ “คนขาดหุ้น” ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ถึงอาการของเด็กชายที่เห็นการร่วมเพศของคนอย่างสัตว์ และแยกไม่ออกว่าอย่างไหนเป็นการกระทำของคน อย่างไหนเป็นเป็นการกระทำของสัตว์

สื่อถึงความตกต่ำของสภาวะจิตจากความเก็บกดที่ไม่อาจแสดงออกหรือยับยั้งได้ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมเด็กให้กลายเป็นคนก้าวร้าวและป่วยทางจิตแบบนั้น

ข้อสังเกตคือ จ้งใช้อุปมา (simile) เปรียบน้ำเสียง สายตาและการกัดต้นคอของชายคนนั้นเหมือนพฤติกรรมของแมวเถื่อน

อีกทั้งจ้งยังเชื่อว่าการเย็บปากแมวเถื่อนของเขาเป็นหน้าที่ปกป้องลูกแมว ที่สามารถนำไปเปรียบกับตัวเอง ซึ่งกำลังถูกชายคนนั้นมาแย่งแม่ และคิดเขี่ยเขาออกไปจากครอบครัวใหม่ เขาจึงต้องเย็บปากมันเพื่อไม่ให้มาทำร้ายหรือร้องเรียกใครอีก ยิ่งตอกย้ำว่าเขาขาดความอบอุ่น และเป็นคนขาดหุ้นที่ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมปกติได้ และแม่ (แมว) ต้องไม่ปล่อยให้พ่อ (แมว) มากินลูกตัวเองด้วย

ดังนั้น สาครจึงสรุปเป็นข้อคิด สะท้อนชีวิตและสังคมปัจจุบันไว้ในย่อหน้าท้ายว่า “มีแนวโน้มจะส่งคนไข้ประเภทนี้เข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที” (น.72)

บรรณานุกรม

ต้องรัก จิตรบรรเทา. (2560). บุคลิกภาพตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์. สังคมศาสตร์วิชาการ. 10(2) : 275-285.

สาคร พูลสุข. (2556). “แมวกินลูก”. ใน เสือกินคน. กรุงเทพฯ : ไรท์เตอร์, 62-72.