วิกฤต ลังเลออมเงิน-ไม่มีเงินจะออม คลื่นใต้น้ำ รอซัดกำแพงการเงินพังพาบ/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

วิกฤต ลังเลออมเงิน-ไม่มีเงินจะออม

คลื่นใต้น้ำ

รอซัดกำแพงการเงินพังพาบ

 

จากข้อมูลการสำรวจภาคประชาชนทางวิชาการ พบว่า ครัวเรือนกว่า 54.1% ระบุมีเงินสำรองเอาไว้ใช้ไม่ถึง 1 ปีถ้าไม่มีรายได้เพิ่ม

ส่วนอีก 32.6% ระบุไม่แน่ใจว่าเงินสำรองเพียงพอใช้จ่ายนานแค่ไหน

ขณะที่กลุ่มสำรวจกว่า 62% ของครัวเรือนไทย ระบุประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย โดยส่วนใหญ่ 47.9% เลือกแก้ไขปัญหาด้วยการลดรายจ่ายลง อีก 37.3% ดึงเงินสำรองมาใช้ และ 36.5% ใช้การขอยืมเงินจากคนในครอบครัว

จากรายงานดังกล่าว อิงบนต้นเหตุการณ์สะสมของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ต่างๆ ต่อเนื่องกว่า 2 ปี จึงสร้างผลกระทบสะสมและก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ธุรกิจเล็ก ธุรกิจน้อย คนตัวเล็ก ตัวน้อย ล้มลุกคลุกคลานไปตามๆ กัน

เพราะนอกจากจะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว ประกอบกับการเตรียมพร้อมรับผลกระทบของภาวะวิกฤตต่างๆ ของคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สูงมากนัก หรือบางส่วนปรับตัวก็ต้องใช้กว่าปีเศษ

ทำให้จำนวนไม่น้อยเมื่อเจอแรงกระแทกหนักๆ กำแพงป้องกันไม่แข็งแรงพอ ก็ต้องพังทลายลงในทางธุรกิจหรือแบกหนี้สูงขึ้น

 

ย้อนกลับไปดูในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนส่วนใหญ่ 75.4% มักออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ อีกประมาณ 55.4% จะเปิดบัญชีสำหรับการออมโดยเฉพาะ ส่วนอีก 3% จะนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาด ที่น่าสนใจคือในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 0.2% ของคนชอบลงทุน หันไปลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิตอล (คริปโตเคอร์เรนซี)

แต่หากเทียบกับจำนวนผลิตภัณฑ์เพื่อการจูงใจการออม ที่มีให้เลือกมากมายในตลาด เทียบกับสัดส่วนการออมนั้น ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่มีการออมเงิน

ซึ่งทางวิชาการมองไว้ว่า ประเมินได้จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ต้นเหตุทำให้คนไม่มีการออมเงินน่าจะมี 2 ข้อหลักๆ คือ

1. ผลตอบแทนยังไม่จูงใจมากพอ โดยเฉพาะการฝากเงินออมในบัญชีธนาคาร ที่ดอกเบี้ยอยู่ในระยะต่ำมาก

และ 2. ความเสี่ยงของการออมจากการลงทุนในบางรูปแบบเสี่ยงให้เงินลดลงหรือเงินอาจสูญได้ แม้ผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่ำแล้วก็ตาม

หนึ่งในนั้นที่กำลังก่อวิกฤตในขณะนี้คือ กรณีสะสมผ่านการทำประกันชีวิตคู่ประกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างภาระทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาด ที่เห็นบริษัทประกันออกประกันโควิด-19 ฉบับ “เจอ จ่าย จบ” ที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งบริษัทต่างๆ แข่งขันดึงดูดใจด้วยเบี้ยประกันจ่ายต่ำๆ หลักร้อยหลักพันบาทต้นๆ แต่เมื่อต้องเจอเหตุร้ายตามหลักประกัน สามารถเคลมเงินประกันหลักหมื่นถึงหลักหลายแสนบาท

แรกๆ จากที่คนไม่เคยทำประกัน แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดโควิดไม่คลายตัว และจำนวนผู้ติดเชื้อลุกลาม จากไม่กี่บริษัทขายประกันโดยเฉพาะนี้เพิ่มเป็นหลายสิบบริษัท จากจำนวนผู้ซื้อประกันหลักแสนต่อบริษัทเพิ่มพรวดเป็นหลัก 10 ล้านคนเพียงไม่ถึงปี

เมื่อการแพร่ระบาดโควิดพุ่งถึงจุดสูงสุด (พีก) จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พร้อมกับยอดเคลมประกันเรียกสินไหมทดแทนเพิ่มเป็นเงาตามตัว เมื่อยอดเงินรับจากการขายประกันโควิดน้อยกว่ารายจ่าย เงินสำรองของบริษัทที่โหมขายประกันโควิดก็เริ่มคลอน…

จน 5-6 บริษัทสั่นคลอน บางส่วนต้องปิดกิจการหรือถอนใบอนุญาต!!!

ที่น่ากังวลจากนี้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประกัน จะกระทบต่อความคิดเดิมๆ ที่ว่า วัตถุประสงค์ในการทำประกันคือ ได้รับเงินคืนหากอยู่จนครบสัญญา ความคุ้มครองชีวิต ถือเป็นส่วนช่วยสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ทั้งผู้ทำประกันและครอบครัว รวมถึงได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้การที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อประกันแล้ว เมื่อเจอเหตุที่ต้องได้เคลมประกัน และรับเงินชดเชยตามที่ระบุไว้ในสัญญา

ความหวั่นไหวต่อการสะสมผ่านประกันก็อาจลดลงได้

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า การถอนใบอนุญาตและปิดกิจการของบริษัทประกันภัยนั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่งที่มีฐานะการเงินไม่เข้มแข็งนัก และมีปัญหาสภาพคล่องอยู่ ประชาชนจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนทำประกัน

ซึ่งในระยะแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบน้อยมาก และบริษัทประกันจำนวนไม่น้อยได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพราะคนมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้แนวโน้มยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมดของธุรกิจประกันใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

แต่เมื่อการระบาดโควิดลากยาวกว่าที่คาดไว้ ทำให้คนซื้อประกันมากขึ้น เมื่อเจอเชื้อก็ต้องเคลมประกัน ทำให้ธุรกิจประกันบางแห่งที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้ว ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้เฝ้าระวังหนี้ไม่ก่อรายได้ (หนี้เสีย) ของกลุ่มพิโกไฟแนนซ์และกิจการเช่าซื้อขนาดเล็ก

“ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม เพราะจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินครั้งใหม่ และอาจมาเร็วกว่าคาดการณ์ได้ โดยต้องเร่งใช้เม็ดเงินอย่างต่ำ 5-7 แสนล้านบาท เพื่อออกมาตรการรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงภาคธุรกิจ การลดค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงการใช้เงินช่วยเหลือครัวเรือนตรงๆ ซึ่งหากไม่ทำในรูปแบบนี้จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 2 แสนรายขาดสภาพคล่อง และอาจต้องปิดตัวลงอีก และกระทบครัวเรือนกว่า 3 ล้านครัวเรือนที่จะยากจนลงและมีหนี้สินล้นพ้นตัว”

อนุสรณ์กล่าวย้ำ

 

อันที่จริงประเทศไทยมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมคนไทยในกลุ่มเปราะบางและมีรายได้น้อยให้รู้จักออมเงินในระยะยาว ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็พบว่าจำนวนสมาชิกมีน้อยมาก

ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้มีเงินเดือนประจำ รัฐมีการส่งเสริมกองทุนประกันสังคม ม.33 การส่งเสริมการออมในกองทุนต่างๆ หรือในภาคเอกชนมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตโควิด เกิดปัญหาการเลิกจ้าง หลายคนต้องว่างงานโดยปริยาย ทำให้ขาดเงินส่งกองทุน รวมถึงยังมีการกระจุกตัวของเงินออม โดยคนไทยส่วนใหญ่จะออมเงินอยู่ในธนาคาร เป็นเงินฝาก ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยต่อปีเพียง 0.5% เท่ากับว่า หากเราฝากเงิน 100 บาท โดยไม่เคยถอนจะได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนโตไม่ทันเงินเฟ้อ ไม่พอใช้ในวัยเกษียณ

ทำให้การออมควรจะมีการจัดสรรให้กระจายตัว อย่างการออมในกองทุนรวม หรือการลงทุนมากกว่า เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าภาพรวม

สุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางของตลาดทุนในปี 2565 ยังคงเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีแนวโน้มเติบโตที่ดีโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย แม้ยังมีความผันผวนอยู่ อาทิ ความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการทำคิวอีของธนาคารกลางต่างๆ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่อาจไม่เป็นไปตามคาด

ทำให้นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต ทั้งหุ้น ทองคำ กองทุน สินทรัพยดิจิตอล (ดิจิตอล แอสเซท) และถือครองเงินสดด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้ทุกคนมีอิสระในการใช้เงินสูงสุด

จากดังกล่าวมา สังหรณ์ได้ว่า ช่องทางเงินออมผ่านธุรกิจประกันแบบเดิมๆ เข้ายุคถอยหลัง และพับไปพร้อมความหวังของรัฐต้องการเพิ่มมูลค่าเงินออมของคนไทย บนสัดส่วนกว่า 10% ของจีดีพี