ฝ่ากระแสดราม่า #แบนทปอ หลายคำถามถึง…ผู้จัดสอบทีแคส / การศึกษา : สุวนันท์ คีรีวรรณ

การศึกษา

สุวนันท์ คีรีวรรณ

 

ฝ่ากระแสดราม่า #แบนทปอ

หลายคำถามถึง…ผู้จัดสอบทีแคส

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงการศึกษามีเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก หลังจากนักเรียนเข้าไปในเพจ “Mytcas” ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ถามว่าถ้าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และรักษาหายไม่ทันสอบในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส จะต้องทำอย่างไร

ซึ่งแอดมินเพจตอบว่า “ให้ไปสอบในปีถัดไป” หรือ “เลือกสาขาวิชาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ”

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง หลายคนมองว่าการตอบคำถามของแอดมินเพจในหลายๆ เรื่อง ห้วน กำปั้นทุบดิน ไม่มีความเห็นใจ ที่สำคัญไม่มีการอธิบายใดๆ เพิ่มเติม ทั้งที่ ทปอ.เป็นองค์กรที่ทำงานกับเด็กๆ ควรมีแนวทางการตอบคำถามที่ดีมากกว่านี้

ส่งผลให้ #แบนทปอ ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์!!

นอกจากการตอบคำถามที่ไม่ถูกใจเด็กๆ แล้ว คำถามที่ตามมาคือ เหตุใด ทปอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสอบ ถึงไม่มีมาตรการรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้ที่ถูกกักตัวในช่วงที่มีการสอบ ให้เข้าสอบได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทุกคน

พร้อมยกตัวอย่าง “เกาหลีใต้” มีการจัดการให้เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสอบ “ซูนึง” ซึ่งเป็นการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ เข้าสอบได้ทุกคน

แม้อยู่ระหว่างกักตัว!!

 

ปัจจุบันการคัดเลือกในระบบทีแคส ที่มี 4 รอบ ประกอบด้วย รอบที่ 1 พอร์ตโฟลิโอ หรือแฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 แอดมิสชั่นส์ และรอบที่ 4 การรับตรงทั่วไป ซึ่งนักเรียนจะวิเคราะห์ และเลือกได้ว่าจะเข้ารับการคัดเลือกในรอบใด เพราะแต่ละรอบมีเกณฑ์การคัดเลือก และการตัดสินที่แตกต่างกัน

โดยรอบที่ 1 รอบที่ 2 และรอบที่ 4 การสมัคร และเกณฑ์การคัดเลือก มหาวิทยาลัยจะกำหนดทั้งหมด ส่วนรอบที่ 3 แอดมิสชั่นส์ ซึ่งดำเนินการโดย ทปอ.การคัดเลือกรอบนี้ จะใช้คะแนนการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และ 9 วิชาสามัญ เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก

ประเด็นร้อนแรงนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังต้องออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ ว่าการสอบทีแคสเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีสูตรของการสอบ ปีหนึ่งจะมีรอบการคัดเลือกหลายครั้ง ถ้าติดครั้งนี้ ก็เข้าไปสอบในรอบต่อไปได้

“ถ้าสอบทีแคส และติดเชื้อโควิด-19 ก็เปลี่ยนไปเลือกสอบอย่างอื่น แต่จะใช้วิธีให้สอบใหม่ทั้งหมดคงทำไม่ได้ เพราะจะเป็นข้อสอบคนละชุดกัน และคนละมาตรฐาน มีความยากง่ายต่างกัน จะทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ ต้องไปสอบให้เหมือนกับคนอื่นเขา” นายวิษณุระบุ

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่แต่ละปีมีนักเรียนต้องเข้าสู่ระบบการสอบทีแคสหลายแสนราย ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.เร่งหารือ ทปอ.เพื่อหาทางออก และหามาตรการร่วมกัน เพื่อไม่ให้เด็กเสียเวลาไป 1 ปี

ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ระบบทีแคสไม่สามารถจัดห้องสอบให้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ จึงขอให้ผู้สอบระมัดระวังตัวเอง โดยก่อนวันสอบ ไม่ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง!!

 

ฝากฝั่ง ทปอ. นายเผชิญชัยภัต ไชยสิทธิ์ เลขาธิการ ทปอ.ได้ออกมาชี้แจงแถลงไขว่า คณะกรรมการทีแคสจะหารือร่วมกันว่าต้องทำอย่างไร เบื้องต้นมีมติว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทปอ.ยังไม่อนุญาตให้เข้าสอบ ส่วนผู้ที่ถูกกักตัว อยู่ระหว่างหาข้อมูลจากจังหวัดต่างๆ เพื่อวางมาตรการดูแล และจัดการต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดสอบต่างๆ ทปอ.มีเป้าหมายว่าทุกการจัดสอบ ต้องยุติธรรมมากที่สุด

แม้ ทปอ.จะออกมาชี้แจงแล้ว แต่กระแสสังคมยังไม่ลดความร้อนแรงลง กลับวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง มีนักเรียน และนักวิชาการการศึกษา แสดงความคิดเห็น

เริ่มที่นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทปอ.ต้องตอบสังคมให้ได้ ว่าการจัดสอบครั้งนี้ จัดสอบด้วยโจทย์อะไร มีโจทย์แค่ให้มีการสอบเท่านั้น หรือตั้งโจทย์ไว้ว่าทำอย่างไรให้เด็กทุกคนเข้าสอบได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ อยากให้ดูตัวอย่างการจัดสอบในหลายประเทศ ที่มีวิธีช่วยผู้เรียนทุกคนให้เข้าสอบได้ ซึ่งเชื่อว่าไทยทำได้

อาจารย์จุฬาฯ ทิ้งท้ายว่า ทปอ.จะต้องไม่ผลักความรับผิดชอบ และสิ่งที่ ทปอ.กำลังทำอยู่นั้น ไม่ยุติธรรมกับเด็ก เพราะเด็กทุกคนเรียนและจบมาเหมือนกัน เด็กทุกคนไม่อยากติดเชื้อโควิด-19 การที่ ทปอ.บอกให้เด็กที่ไม่พร้อมสอบ ไม่ให้เข้าสอบ หรือเลือกวิชาอื่นที่ไม่ใช่คะแนนสอบนั้น ทปอ.กำลังเลือกปฏิบัติกับเด็ก ไม่มีวิธีการปฏิบัติต่อเด็กในเชิงบวกอย่างเกาหลีใต้ ที่จัดสอบให้เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาล

ทปอ.จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ควรจะยึดประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ความสะดวกในการจัดการของตนเท่านั้น!!

 

ขณะที่นักเรียน นักศึกษา รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำโดยกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย หรือ RSE กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มเยาวชนปฏิวัติ ให้ตรวจสอบการทำงานของ ทปอ. หามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และมีมาตรการจัดสอบสำหรับนักเรียนที่ติดโควิด-19

กลุ่มนักเรียนมองว่า ทปอ.ไม่ควรผลักภาระให้เด็ก เพราะอย่าลืมว่าเด็กไม่อยากติดเชื้อโควิด-19 และเด็กทุกคนมีความฝัน การที่เด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องสละสิทธิสอบ ทำให้เด็กเสียเวลาอีก 1 ปี เสียอนาคต และ ทปอ.แทบจะไม่ได้แก้ไขอะไร ทำเหมือนอนาคตเด็กเป็นเรื่องเล่น ทั้งที่เด็กมีค่าใช้จ่ายในการสอบสูงมาก ขอให้ ทปอ.ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีกว่านี้ และคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กให้มาก

แม้ ทปอ.จะทนกระแสวิพากษ์ไม่ไหว จนต้องเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส เพื่อประเมินสถานการณ์การจัดการสอบทีแคสอีกครั้ง

ซึ่งมีมติชัดเจนว่า จะ “ไม่จัดสอบรอบพิเศษ” ให้นักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือต้องกักตัว จนไม่สามารถเข้าสอบ GAT และ PAT เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ เพราะเป็นการสอบแข่งขัน ไม่ใช่การสอบวัดมาตรฐานทั่วไป ซึ่งบางสาขามีอัตราการแข่งขันสูง เฉือนกันแค่จุดทศนิยม และทางคณะ/สาขา จึงขอให้จัดสอบรอบเดียวเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

แม้บทสรุปออกมาว่า ทปอ.จะไม่จัดสอบรอบพิเศษแน่นอน…

แต่ “คำถาม” ที่ “เด็กๆ” ส่งเสียงถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็เป็นประเด็นที่ “ผู้ใหญ่” ไม่อาจละเลย หรือเพิกเฉยได้เช่นกัน!!