‘พระเจ้าดวงดี’ ไยพระล้านนาจึงทำชายสังฆาฏิ (ชายจีวร) ริ้วพลีตซ้อนแบบสุโขทัย? / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘พระเจ้าดวงดี’ ไยพระล้านนาจึงทำชายสังฆาฏิ (ชายจีวร) ริ้วพลีตซ้อนแบบสุโขทัย?

 

ใครที่เคยไปกราบพระประธานในวิหารวัดดวงดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ ในคูเมืองเชียงใหม่ ย่อมรู้สึกประหลาดใจกับชายสังฆาฏิ (หรืออันที่จริงควรเรียกชายจีวรมากกว่า) ขององค์พระปฏิมา ว่าทำไมจึงดูแปลกตา แตกต่างไปจากบรรดาพระสิงห์ 1 สิงห์ 2 สิงห์ 3 ทั้งหลายซึ่งเป็นอัตลักษณ์พระพุทธรูปสกุลช่างล้านนา

นั่นคือการที่พระประธาน หรือภายหลังเรียกกันตามชื่อวัดว่า “พระเจ้าดวงดี” นั้น กลับทำชายจีวรพาดบนอังสะ (บ่า) ด้านซ้าย (เรามองเห็นด้านขวา) เป็นริ้วพลีตซ้อนกันเป็นชั้นๆ จำนวน 5 แถบ

ลักษณะพิเศษเช่นนี้มาได้อย่างไร เคยมีการทำในพระพุทธรูปองค์อื่นมาก่อนบ้างหรือไม่ และเราสามารถอธิบายลักษณะพิเศษดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง?

พระเจ้าดวงดี พระประธานในวิหารวัดดวงดี ข้อมูลจากทางวัดระบุว่าสร้างสมัยพระญากือนา

วัดดวงดีกับจารึกที่ยังหาไม่พบ

ประวัติของวัดดวงดี จากเอกสารของกรมการศาสนาตีพิมพ์เผยแพร่ระบุสั้นๆ แค่ว่า วัดสร้างมาราว พ.ศ.1910 สมัยพระญากือนา โดยเจ้านายเมืองเชียงใหม่พระองค์หนึ่ง แต่ไม่ทราบนาม

สอดคล้องกับข้อมูลที่ดิฉันได้สัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดดวงดี (พระปลัดอาทิตย์ อภิวฑฒฺโน) เมื่อราว 4 ปีที่แล้ว ว่าวัดดวงดีมีความเก่าแก่ถึงสมัยพระญากือนา และในอดีตเคยพบจารึกที่ฐานพระพุทธรูประบุศักราชปีที่สร้างด้วยว่ามีอายุราว พ.ศ.1910

ข้อมูลดังกล่าวสร้างความตื่นเต้นให้แก่ดิฉันเป็นอย่างมาก เพราะหากเคยมีจารึกที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้จริง ถือเป็นการปฏิวัติวงการประวัติศาสตร์และจารึกล้านนาเลยทีเดียว

เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ หลักฐานด้านลายลักษณ์ที่เก่าสุดของล้านนาคือศิลาจารึกที่วัดพระยืน (เลขทะเบียน ลพ.38) ปีที่จารึกคือ พ.ศ.1912 นักวิชาการยอมรับอย่างไม่มีข้อแม้ ว่านี่คือตัวอักษรไทล้านนา (รับอิทธิพลลายสือไทจากสุโขทัย โดยการขึ้นมาของพระมหาสุมนเถระ) ว่าเป็นหลักฐานตัวเขียนที่เก่าที่สุดในล้านนาที่สามารถค้นพบเชิงประจักษ์ในเวลานี้

หากพระเจ้าดวงดีก็มีฐานจารึกอักษรสมัยพระญากือนาราว พ.ศ.1910 ด้วยเช่นกัน ย่อมถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมากมิใช่หรือ อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เราได้เห็นหลักฐานด้านลายลักษณ์ของพระญากือนาเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น

คำถามตามมาคือ จารึกฐานพระพุทธรูปดังกล่าว จะต้องเป็นอักษรไทล้านนา ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นตัวอักษรฝักขาม เหมือนกับจารึกวัดพระยืนด้วยหรือไม่?

หรือถ้าเกิดว่าจารึกชิ้นนี้เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา (ตัวกลมๆ พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณหริภุญไชย) ก็จักยิ่งน่าตื่นเต้นหนักข้อขึ้นไปอีก เหตุที่ ณ ปัจจุบันเรายังไม่เคยพบการใช้ตัวอักษรธัมม์ล้านนาบนแผ่นจารึกหรือฐานพระพุทธรูปที่เก่าถึงสมัยพระญากือนา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1898-1928) มาก่อนเลย

ไม่ว่าจะใช้ตัวอักษรรูปแบบใดก็ตามที่ฐานพระประธานวัดดวงดี ย่อมมีความน่าสนใจทั้งสิ้น ต่อมาทางวัดบอกว่า ฐานพระพุทธรูปที่เคยมีตัวอักขระดังกล่าวหายไป หาไม่พบแล้ว เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง

ทางวัดให้ข้อมูลว่า ในอดีตวัดไม่ได้ใช้ชื่อนี้ ชื่อของวัดถูกเรียกใหม่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังนี้ วัดพันธนุนมดี วัดอุดมดี วัดพนมดี วัดต้นมกเหนือ และวัดต้นหมากเหนือ กระทั่งกลายเป็น “วัดดวงดี” ในที่สุด

ต้นแบบการทำชายสังฆาฏิริ้วพลีต จากศรีวิชัยสู่ศรีสัชนาลัย

พระเจ้าดวงดี เป็นพระพุทธรูปนั่งแบบขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ค่อนข้างตัดตรง (แต่เส้นไม่ได้คมกริบเหมือนพระเจ้าแข้งคม) ปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 เสมอกัน พระวรกายอวบอ้วน ลำแขนท่อนบนใหญ่ พระพักตร์อวบอิ่ม เม็ดพระศกม้วนก้นหอยไม่โตมาก พระรัศมีเปลว

จุดเด่นที่ดึงดูดสายตามากที่สุดก็คือการทำชายสังฆาฏิ (หรือในที่นี้อาจเรียกชายจีวรก็ได้ เพราะมีร่องรอยของชายผ้านั้นพาดต่อเชื่อมลงมายังข้อพระกร คล้ายว่าเป็นชายจีวรมากกว่า ไม่เหมือนกับกลุ่มพระสิงห์ที่ดูแยกเป็นสังฆาฏิอีกผืนหนึ่ง) ที่ไม่ใช่รูปแบบ “เขี้ยวตะขาบ” ผิดกับชายสังฆาฎิของพระพุทธรูปล้านนา สุโขทัย โดยทั่วไป

ชายผ้านั้นกลับพับทับซ้อนเป็นริ้ว 5 ชั้น คล้ายผ้าอัดพลีตเป็นชั้นซ้อนเท่าๆ กัน ซึ่งพบรูปแบบเช่นนี้ไม่มากนักในพระพุทธรูปล้านนา อีกองค์ที่พบคือ พระพุทธรูปสำริดที่เหลือเพียงพระวรกายท่อนบน เต็มไปด้วยคราบสนิมดำ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย องค์นี้มีริ้วพลีต 4 ริ้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต พบว่าพระพุทธรูปที่ทำชายจีวรแบบริ้วพลีตเช่นนี้มีน้อยมาก ไม่พบในศิลปะอินเดีย ลังกา พุกาม ทว่า พบในพระพุทธรูปนาคปรกองค์หนึ่ง ที่วิหารพระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี

พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะศรีวิชัย ต้นแบบของการทำชายจีวรริ้วพลีต

โชคดีที่พระพุทธรูปปางนาคปรกสำริด ศิลปะศรีวิชัยองค์ดังกล่าวมีจารึกที่ฐานเป็นภาษาเขมร ทำให้ทราบว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.1726 โดยพระเจ้าศรีธรรมราชาจันทรภาณุ ผู้ครองอาณาจักรตามพรลิงค์

ข้อสำคัญคือ เป็นพระพุทธรูปที่ทำชายจีวรเป็นริ้วพลีตขนานกันจำนวน 4 เส้น ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบให้แก่พระพุทธรูปปูนปั้นรุ่นเก่าที่ประดับฐานซุ้มเจดีย์วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ที่จารึกระบุว่าสร้างโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย

ต้องถือว่าเป็นรูปแบบพิเศษผิดแผกไปจากศิลปะสุโขทัยหมวดต่างๆ ทั้ง 4 หมวดเลยทีเดียว คือ หมวดวัดตะกวน หมวดใหญ่ หมวดพระพุทธชินราช และหมวดกำแพงเพชร กล่าวคือทั้ง 4 หมวดล้วนแล้วแต่เป็นชายสังฆาฏิแผ่นยาวที่ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบหรือละม้ายเขี้ยวตะขาบแทบทั้งสิ้น

น่าสนใจว่า ทั้งพระพุทธรูปนาคปรกสมัยศรีวิชัยตอนปลายก็ดี พระพุทธรูปปูนปั้นสององค์ที่ตกแต่งซุ้มเจดีย์วัดช้างล้อมก็ดี พระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์ลำพูนก็ดี ล้วนแล้วแต่ทำชายจีวรเป็นริ้วพลีต 4 แถบทั้งหมด

เว้นแต่ “พระเจ้าดวงดี” องค์เดียวเท่านั้น ที่ทำริ้วพลีต 5 แถบ น่าคิดไม่น้อยว่ามีความหมายเฉพาะอย่างไรหรือไม่

 

ชายผ้าแบบริ้วพลีตขึ้นมาสู่ภาคเหนือได้อย่างไร

แนวคิดการทำชายผ้าแบบริ้วพลีตได้ขยายอิทธิพลจากดินแดนด้ามขวานไชยา ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ขึ้นมาสู่ภาคเหนือที่ศรีสัชนาลัยได้อย่างไร

ดิฉันสันนิษฐานแบบง่ายที่สุด ว่าน่าจะขึ้นมาพร้อมกับการอาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกระดับสูงที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 นั่นเอง

ส่วนการเผยแพร่แนวคิดนี้มายังดินแดนล้านนาอีกต่อหนึ่ง ดังที่พบในชายผ้าพาดอังสะของพระเจ้าดวงดี กับพระพุทธรูปองค์ที่ชำรุดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยนั้น ยังยากต่อการสันนิษฐานแบบฟันธง

พระพุทธรูปล้านนาชำรุดเหลือแค่พระวรกายท่อนบน จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

หากสันนิษฐานว่า เป็นการนำเข้ามาตั้งแต่สมัยพระญามังราย เหตุที่พระญามังรายมีมิตรสัมพันธ์อันดีกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะให้สันนิษฐานเช่นนั้นได้สนิทใจร้อยเปอร์เซ็นต์

เนื่องจากในแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ยังไม่มีใครให้ข้อสรุปชัดๆ เลยว่า เราได้พบพระพุทธรูปองค์ไหนบ้างไหมในล้านนา ที่เชื่อว่าเก่าแก่ถึงสมัยพระญามังราย?

แม้แต่ “พระเจ้าค่าคิง” ที่วัดพระเจ้าเม็งราย (กาละก้อด) องค์ที่ในตำนานระบุว่าพระญามังรายสร้าง ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ศิลป์หลายท่าน ก็ยังไม่เห็นด้วยว่าเก่าถึงยุคพระยามังราย

ถ้าเช่นนั้น เราควรจะสันนิษฐานว่า เป็นสมัยพระญากือนาได้เลยหรือไม่ ในเมื่อสมัยของพระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีด้านศาสนากับสุโขทัย จากนั้นพระญาลิไทก็ส่งพระมหาสุมนเถระขึ้นมาเป็นสังฆราชาแห่งเมืองเชียงใหม่ ตามคำขอของพระญากือนา

พระพุทธรูปปูนปั้น ฐานเจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย ทั้งลีลาและท่านั่ง ทำชายจีวรเป็นริ้วพลีตตามอย่างศิลปะศรีวิชัย

หากพูดกันตามประวัติเพียงเท่านี้ ก็น่าจะเข้าเค้าอยู่มากพอสมควร ว่ามีความเป็นไปได้มากทีเดียว

แต่ก็อีกนั่นแหละ หากเชื่อตามแนวคิดนี้ ย่อมมีคำถามตามมาว่า ก็แล้วทำไมพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่ได้ข้อยุติแล้วว่าสร้างในสมัยพระญากือนา กลับทำชายสังฆาฏิเป็นแผ่นหนามีปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบแทบทั้งสิ้น อาทิ พระเจ้าค่าคิงของพระองค์ที่วิหารวัดสวนดอก หรือพระเจ้าทันใจที่วัดพระธาตุดอยคำ ไม่มีองค์ไหนเลยที่ทำริ้วจีวรอัดพลีต

อย่าลืมว่าแนวคิดการทำสังฆาฏิเช่นนี้ เป็นรูปแบบในสายรามัญวงศ์ ที่นำมาจากศิลปะพุกาม (พุกามนำมาจากศิลปะปาละของอินเดีย) ซึ่งนิกายสวนดอกของพระญากือนาและพระมหาสุมนเถระ มีต้นวงศ์มาจากสายมอญ-พุกาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าทำไมพระพุทธรูปล้านนาจึงรับขนบแนวคิดการทำชายสังฆาฏิปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบมาจากเมืองมอญ-พุกาม

พระพุทธรูปปูนปั้น ฐานเจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย ทั้งลีลาและท่านั่ง ทำชายจีวรเป็นริ้วพลีตตามอย่างศิลปะศรีวิชัย

ฤๅอาจเป็นไปได้ว่า พระเจ้าดวงดีองค์นี้ (รวมทั้งพระพุทธรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) อาจสร้างขึ้นก่อนการขึ้นมาของคณะพระมหาสุมนเถระเมื่อปี 1912 ซึ่งมากันเป็นขบวนใหญ่

โดยเป็นกลุ่มพระภิกษุจากสุโขทัยที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยพระญามังราย-พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งยังไม่ใช่สายรามัญวงศ์

อาจเป็นไปได้ว่า ศักราช 1910 ที่ทางวัดระบุว่ามีการสร้างพระเจ้าดวงดีโดยพระญากือนา อาจเป็นความจริงไม่มากก็น้อย กล่าวคือพระองค์คงได้แรงบันดาลใจจากคณะสงฆ์สุโขทัยรุ่นก่อนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธสายนครศรีธรรมราชตามความนิยมของพ่อขุนรามคำแหงก็เป็นได้

และคณะสงฆ์กลุ่มนี้นั่นเองที่ให้คำแนะนำเรื่องการสร้างพระพุทธรูปแบบชายจีวรอัดพลีตเป็นริ้ว ก่อนที่พระญากือนาจะสมาทานศาสนาพุทธสายรามัญวงศ์ตามแนวทางของพระอุทุมพรมหาสวามี (อาจารย์ของพระมหาสุมนเถระ) ซึ่งนิยมทำพระพุทธรูปที่มีชายสังฆาฏิปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบแบบพุกาม จนกลายเป็นต้นแบบของพระสิงห์ 1 หรือพระพุทธสิหิงค์ในลำดับถัดมา