กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “AMP AMP”

www.facebook.com/eightandahalfsentences


วันที่ 13 เมษายน 2559

วันที่เสียงอื้ออึงบนท้องถนนในเมืองหลวง เบาบางลงกว่าเมื่อสองสามวันที่แล้ว

วันหยุดสงกรานต์ ที่ใครๆ ก็ต่างหยุดงาน พักผ่อน บ้างไปเที่ยวต่างจังหวัด บ้างไปต่างประเทศ

“พ่อลูกอ่อน” คนหนึ่ง ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน

นั่นคือ การออกกำลังกายด้วย “การวิ่ง” ที่สวนลุม ตอนเช้าตรู่

เวลาตี 5 นาฬิกาปลุก ชายคนนี้ลืมตาสะลึมสะลือ

ควานหามือถือ เพื่อปิดเสียงนาฬิกาปลุก ที่ดังรบกวนการนอนหลับอย่างแสนสบายในวันหยุด

พลันมีเสียงในหัวดังขึ้นพร้อมๆ กัน สองฟากฝั่งของ “ความรู้สึก”

ฟากหนึ่ง เหน็บแนมว่า “ไหนว่าจะออกไปวิ่งไง”

พร้อมๆ กับเสียงจากอีกฟากหนึ่ง “พรุ่งนี้ก็ยังหยุดนะ ถ้าไม่ไหว วันนี้นอนต่อก่อนก็ได้”

เขานอนนิ่งอยู่อย่างนั้น ต่อสู้เสียงในหัวของตัวเอง

และตัดสินใจที่จะ…

“เด็กพวกนี้ ใช้ไม่ได้!”

ถ้าบริษัทของคุณยังไม่เจ๊ง ผมเชื่อว่าต้องเคยมีใครสักคนเคยพูดประโยคนี้ออกมา

ไม่ว่าจะเป็นในห้องประชุม หรือในห้องอาหาร

ระหว่างทำงาน หรือ พักกลางวัน

หรือแม้แต่ต่อหน้า และลับหลัง

ความไม่ลงรอยกันระหว่าง “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” ในองค์กร

ที่แตกต่างกันสุดขั้วด้วยประสบการณ์ การเลี้ยงดู การศึกษา แนวคิดการใช้ชีวิต

และ “แรงจูงใจ” ในการทำงาน ที่ “สวนทาง” กัน

“แดเนียล พิงก์” ผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อ “ไดรฟ์ (Drive)”

บอกเล่าถึง “แรงจูงใจ” ในการทำงานของคนทำงานรุ่นใหม่

แน่นอนว่า เรื่องเงินๆ ทองๆ หรือสวัสดิการ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเลือกเข้าทำงานกับบริษัทในตอนแรก

แต่ “ปัจจัย” ที่ทำให้ “เด็กๆ” ทำงานอย่าง “ถวายหัว” ให้กับองค์กรนั้น

กลับเป็นเป็นเรื่อง “ง่าย” กว่านั้นมาก แต่ก็น่าแปลกใจที่หลายๆ บริษัท ให้สิ่งเหล่านี้แก่ “เด็กๆ” ไม่ได้

สามสิ่งนั้นคือ “อิสรภาพ (Autonomy)”, “พัฒนาการ (Mastery)” และ “ความหมาย (Purpose)”

หรือ “AMP” ที่แปลว่า “เครื่องขยายเสียง” นั่นเอง

และผมเองเพิ่งจะมาเข้าใจมันมากขึ้น

ในระหว่างที่ผมกำลัง “วิ่ง” อยู่ ณ กิโลเมตรที่ 8 ของเช้าตรู่วันหนึ่งครับ

หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องของ “อิสรภาพ (Autonomy)”

“การวิ่งเป็นกีฬาที่ขึ้นกับตัวเอง”

มีรุ่นพี่ผมเคยบอกว่า การวิ่งมาราธอน ถ้าคุณสามารถสู้กับตัวเองบนเตียง ตื่นขึ้นมา ผูกเชือกรองเท้า คุณก็วิ่งเข้าเส้นชัยไปครึ่งตัวแล้ว

นาฬิกาปลุก คุณจะตื่นก็ได้ ไม่ตื่นก็ได้ ไม่มีใครลากคุณออกจากเตียงได้ นอกจากตัวของคุณเอง

หลายครั้งที่ผมรู้สึกเหนื่อย ระหว่างวิ่ง ขาเริ่มแข็ง ก้าวไม่ออก แต่ก็กัดฟันวิ่งต่อ จนเข้าเส้นชัย มันเป็นความรู้สึกที่ “ดีมากๆ” ที่เราไม่ยอมแพ้

แต่ก็หลายครั้งที่เหนื่อย พลันข้ออ้างต่างๆ นานาที่ไหลเข้ามาในหัว ทำให้ผมหยุดวิ่ง ไปไม่ถึงเส้นชัย

บางทีก็ทำให้รู้สึก “แย่” กับตัวเองไปทั้งวันเลยก็มี

การวิ่ง ไม่มีใครบังคับ ไม่มีกฎ กติกาใดๆ

การวิ่งเข้าเส้นชัยนั้น เป็น “ความรับผิดชอบ” ของผู้วิ่งเพียงคนเดียว

ผมคิดว่า “อิสรภาพ” ในการวิ่ง ทำให้ “เด็ก” คนหนึ่ง โตเป็น “ผู้ใหญ่” ได้

ไม่ต่างจากการให้ “อิสรภาพ” ใน “การทำงาน”

มีคนเคยบอกว่า “ถ้าคุณดูแลพนักงานเหมือนเขาเป็นเด็ก คุณก็จะได้งานแบบเด็กๆ

แต่ถ้าคุณดูแลเขาเหมือนผู้ใหญ่ คุณอาจจะประหลาดใจในงานที่เหนือความคาดหมาย”

การตั้ง “เป้าหมายที่ชัดเจน” แล้วให้ “อิสรภาพ” ในการหาคำตอบนั้น

เป็นที่พิสูจน์แล้ว ในหลายองค์กรนวัตกรรมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ 3M ว่า “ได้ผล”

“อิสรภาพ” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ “แรงจูงใจ” ในการทำงานของคนรุ่นใหม่

ว่าด้วยเรื่องของ “พัฒนาการ (Mastery)”

ผมสังเกตตัวเองว่า ถ้าผมตั้งเป้าวิ่งได้ 5 กิโลเมตร แล้ววิ่งได้ตามที่คิดไว้ในวันนี้

วันต่อมา ผมจะรู้สึกว่า ขาดแรงจูงใจบางอย่างรู้สึกเบื่อๆ ขี้เกียจตื่นด้วยซ้ำไป

อาจเป็นเพราะรสชาติแห่งชัยชนะ มัน “เจือจาง” ลงทุกวันๆ

แต่ทุกครั้งที่ผมตั้งเป้าท้าทายกว่าเดิม แล้วสามารถ “บรรลุ” ได้

ความรู้สึกจะ “เบ่งบาน” และพร้อมจะ “ตั้งเป้า” ที่ท้าทายมากขึ้นไปอีก ในครั้งถัดๆ ไป

สำหรับ “การวิ่ง”

การตั้งเป้าหมายที่ “พัฒนา” ตัวเองอยู่เสมอ จาก 5 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร เป็น 10 กิโลเมตร

ทำให้เราอยากจะ “ตื่น” ขึ้นมาทำมันด้วยจิตใจที่ “มุ่งมั่น” มากกว่าการชนะสิ่งเดิมๆ

“การทำงาน” ก็คงเช่นกัน

แน่นอนว่า พนักงานรุ่นใหม่ ทุกคนมาพร้อมกับ “ความไม่รู้”

โอกาสในการพัฒนาตัวเอง จึงมีอยู่ “มหาศาล”

หัวหน้าทั้งหลาย ถ้าได้ “คืบ” จงเอา “ศอก”

ผลักดันให้เกิด “พัฒนาการ” ในตัวเด็กๆ

ให้เขาได้เห็นตัวเองที่ “เก่ง” ขึ้นในทุกๆ วัน ผ่านการลงมือทำงานที่ท้าทาย

“พัฒนาการ” จึงเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่สำคัญ สำหรับเด็กรุ่นใหม่

สาม ว่าด้วยเรื่องของ “ความหมาย (Purpose)”

ถ้า “วิ่ง” เพื่อจะได้ไปวิ่งมาราธอน ก็คือ “ความหมาย” หนึ่งของการวิ่ง

ถ้า “วิ่ง” เพื่อรักษาสุขภาพ จะได้อยู่ดูแลครอบครัวไปนานๆ ก็เป็นอีกความหมายหนึ่งในการวิ่ง

ผมเองเคยคิดจะเริ่มวิ่งมาก่อนหลายครั้งหลายครา แต่ไม่เคยทำสำเร็จ เพราะหา “ความหมาย” ไม่เจอ

จนกระทั่ง “มีลูกชาย” ชีวิตจึงเปลี่ยนครับ

จากเป็นคนตื่นสาย ก็กลายเป็นตื่นเช้าขึ้นมาทันที ก็เพราะอยากจะมีชีวิตดูแล “เค้า” ไปนานๆ

มีงานวิจัยบอกว่า ถ้าทดลองแบ่งนักกู้ชีพ ออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรก ทำงานตามปกติ

กลุ่มสอง ให้ไปพบปะ ฟังเรื่องราวของครอบครัวผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือตัวเป็นๆ สักหนึ่งวัน

“ผลลัพธ์” การทำงานของกลุ่มที่สอง จะดีกว่ากลุ่มแรก อย่างเห็นได้ชัด

เพราะกลุ่มสอง หา “ความหมาย” ของการทำงานเจอ

อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัท SpaceX ไม่ได้คิดจะทำจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อ “กำไร” อย่างเดียว

เขาทำเพื่อ รักษา “เผ่าพันธุ์มนุษยชาติ” เตรียมตัวอพยพคนสู่ “ดาวอังคาร”

พนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่มาร่วมทำงานกับเขา ยอมทำงานหนัก สายตัวแทบขาด ไม่ได้หลับไม่ได้นอน

ก็เพราะเชื่อในสิ่งเดียวกัน

ทำให้การมาทำงานในทุกๆ วัน มี “ความหมาย”

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะพอเดาได้แล้วนะครับ

ว่า ชายคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเสียงในหัว และลุกขึ้นมาวิ่งในวันสงกรานต์นั้น

ก็คือ “ตัวผม” เอง

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมตื่นตี 5 ไปวิ่งสวนลุม อาทิตย์ละ 3 วันมาโดยตลอด

ปัจจุบัน วิ่งได้ 10 กิโลเมตร ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง “แข็งแรง” ที่สุดในชีวิต

ตอนนี้ตั้งเป้าจะวิ่ง 21 กิโลเมตร ช่วยปลายปี งานกรุงเทพมาราธอน

ผม “AMP” ตัวเองได้ด้วยการวิ่ง ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน บอกได้เลยครับว่า “ชีวิตเปลี่ยน”

“องค์กร” ของคุณถ้าเริ่มใส่ “AMP” เข้าไปตั้งแต่วันนี้ ลองเปลี่ยนวิธีการ “บริหารพนักงานรุ่นใหม่” สักหน่อย

มอบ อิสรภาพ พัฒนาการ และ ความหมายของการทำงาน ให้กับ “พวกเขา”

“พรุ่งนี้” จะไม่เหมือน “วันนี้” อย่างแน่นอน