วัฒนธรรมรัฐประหารไทย | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

บางคนได้กลิ่นรัฐประหารแล้ว จมูกผมไม่ดีขนาดนั้น จึงยังไม่ได้กลิ่น

ความสามารถในการดมกลิ่นรัฐประหารนั้นน่าประหลาดอยู่ เพราะเมื่อช่วง 2556 ต่อต้นปี 2557 เกมการเมืองสร้างความปั่นป่วนของฝ่ายค้าน ได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยโดยองคาพยพของรัฐเกือบทุกส่วนทุกองค์กร ขนาดศาลแพ่งสั่งไม่ให้รัฐรื้อถอนป้อมปราการแบบ “ปารีสคอมมูน” ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสร้างไว้ กองทัพภายใต้การบังคับบัญชาของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันส่งทหารออกมาสร้างบังเกอร์ไปทั่วกรุงเทพฯ โดยไม่มีคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายจะทำได้ เพื่อปกป้องมิให้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมประท้วง และอื่นๆ อีกร้อยแปด

การละเมิดกฎหมายทั้งโดยผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รัฐล้วนส่อให้เห็นว่า การประท้วงต้องจบลงที่การทำให้กฎหมายทุกฉบับเป็นหมันลงให้หมด หรือการรัฐประหารอย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพลเรือน, ทหาร และอาจถึงตุลาการ และนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ต้องติดคุกกันหัวโตแน่

แต่ประหลาดที่คนจำนวนมากไมได้กลิ่นรัฐประหารที่ฉุนขนาดนั้น เพิ่งมาสารภาพกันหลายปีหลังรัฐประหารว่า ที่ออกไปป่วนเมืองครั้งนั้น ไม่ได้ต้องการรัฐประหาร แต่ต้องการขับไล่ทรราชย์ที่มาจากการเลือกตั้งออกไปเท่านั้น ก็ถ้าไร้เดียงสาทางการเมืองขนาดนั้น ยังสมควรที่บางคนจะเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่อีกหรือ

 

ถึงผมไม่ได้กลิ่นรัฐประหารในครั้งนี้ แต่ก็ไม่กล้ายืนยันว่าไม่เกิดแน่ เพียงแต่ถ้าเกิดขึ้น ก็จะประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะดูจะไม่จำเป็นเลยสำหรับการบริหารที่ไม่ประชาธิปไตยของฝ่ายอำนาจ และดูจะเสี่ยงมากกว่าการรัฐประหารครั้งอื่น

ผมจึงอยากชวนให้หันมาพิจารณาวัฒนธรรมรัฐประหารไทยดูว่า มีเงื่อนไขเฉพาะของตนเองและแตกต่างจากวัฒนธรรมรัฐประหารของสังคมอื่นอย่างไร เงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการยึดอำนาจในช่วงนี้

ในการเมืองไทย หลัง 2490 และหลัง 2500 เป็นต้นมา การรัฐประหารเป็นกลไกทางการเมืองที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการเลือกตั้งซึ่งต้องไม่มีผลตัดสินว่าใครควรมีอำนาจบริหารประเทศก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ขาดไม่ได้

รัฐประหารมีหน้าที่อย่างน้อยสองอย่าง

 

1.เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง ภาพที่เราเห็นภายนอกอาจเป็นการปะทะกันด้วยกองกำลังติดอาวุธต่างๆ เช่น ระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือ, กองทัพบกกับกองทัพตำรวจ หรือภายในกองทัพบกด้วยกันเอง แต่ความจริงแล้วความขัดแย้งกินลึกกว่าระหว่าง ผบ.เหล่าทัพ แต่รวมเอากลุ่มคนอื่นๆ และองค์กรอื่นๆ อีกมากซึ่งอยู่เบื้องหลัง บางคนบางกลุ่มอาจเป็นผู้ให้ทุน, บางคนบางกลุ่มอาจมีชื่อเสียงก็พร้อมเข้าไปช่วยงานทันทีที่ได้ชัยชนะ, บางคนบางกลุ่มเป็นผู้ให้ความชอบธรรมแก่การยึดอำนาจ (เช่น ตีความว่าเป็นผู้ถือรัฏฐาธิปัตย์ไปแล้ว) ฯลฯ

ผมควรกล่าวด้วยว่า การรัฐประหารมีความสูญเสีย แม้ว่าในวันที่ยึดอำนาจอาจไม่ลั่นกระสุนมากนัก แต่ต้องนับการอุ้มฆ่า, การ “กบฏ” (หรือการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจคืน) ที่ไม่ประสบความสำเร็จ, การจับผู้คนเข้าคุกตะรางทั้งโดยคำพิพากษาและไม่มีคำพิพากษา, การหลบหนีไปร่วมมือกับกลุ่มอื่นที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐประหาร ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือความสูญเสียทั้งสิ้น ไม่มี bloodless coup ในเมืองไทยจริงอย่างที่ผู้สื่อข่าวชอบรายงานหรอกครับ

แม้กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้รัฐประหารไทย ไม่ถึงกับนองเลือดเท่ากับในอีกหลายประเทศ เช่น กว่า 500,000 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในอินโดนีเซียช่วงปี 1965 หรืออีกไม่รู้กี่แสนชีวิตในพม่าหลังการยึดอำนาจของเนวินและกองทัพตั้งแต่ 1962 มาจนถึงปัจจุบัน

นี่เป็นเหตุหนึ่ง (แต่ไม่ใช่เหตุเดียว) ที่ทำให้รัฐประหารไทยไม่ถูกประณามและแทรกแซงจากมหาอำนาจมากนัก นอกจากยุติการซ้อมรบร่วมกันสักปีหนึ่งสองปี และด้วยเหตุดังนั้น เงื่อนไขสำคัญของรัฐประหารไทยอย่างหนึ่งคือ จังหวะและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะแก่การยึดอำนาจที่ดูเหมือน “สงบ” ปราศจากการนองเลือด เพื่อเปลี่ยนตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

2.หน้าที่อย่างที่สองของรัฐประหารไทยในฐานะกลไกการเมืองก็คือ เพื่อผนึก (consolidate) กำลังของฝ่ายอำนาจ ภายใต้ระบอบปกครองรูปแบบประชาธิปไตย เช่น การรัฐประหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใน พ.ศ.2494 เพื่อนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้ใหม่ หรือการยึดอำนาจของรัฐบาลถนอม กิตติขจรใน พ.ศ.2514 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่อาจให้ความสะดวกกว่าในการบริหารอำนาจของฝ่ายตน

ถ้าไม่ทำ รัฐบาลก็ต้องถูกเปลี่ยนใหม่ได้

(ผมควรบันทึกไว้ด้วยว่า ฝ่ายอำนาจหรือชนชั้นนำไทยผนึกตัวกันได้อย่างแน่นแฟ้นขึ้นอย่างมากหลัง 2500 เพราะมีพลังที่ช่วยให้ผนึกกันได้ จนเรียกกันว่า “ฉันทามติ” ดังนั้น แม้มีความขัดแย้งกันบ้าง ก็ไม่ใช้รัฐประหารเป็นกลไกแก้ไขความขัดแย้ง จนถึง 2549 พลังของ “ฉันทามติ” จึงเริ่มอ่อนตัวลง)

รัฐบาลอาจถูกเปลี่ยนใหม่ได้จากการเลือกตั้ง หรือการเปลี่ยนการสนับสนุนของพรรคการเมืองในสภา ในทัศนะของ Tom Ginsburg และ Aziz Z. Huq (How to Save a Constitutional Democracy) นี่เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญสามอย่างของระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญ เพราะถ้ารัฐบาลทุกชุดรู้ว่าตนอาจกลายเป็นฝ่ายค้านในวันหนึ่งข้างหน้า ก็จะไม่ออกกฎหมายรอนสิทธิของฝ่ายค้าน ข้าราชการทุกฝ่ายต่างก็รู้ดีว่า นโยบายและผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตนอาจถูกเปลี่ยนได้ จึงยึดความถูกต้องตามกฎหมาย, นโยบาย และหลักการไว้เพื่อความปลอดภัยของตนเองดีกว่าเอาใจนาย

แต่ผู้ยึดอำนาจที่เข้ามายึดและเสวยอำนาจเป็นเวลานานๆ ย่อมไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนรัฐบาลได้ เพราะไม่มีใครสามารถประกันความปลอดภัยให้ได้ว่า ในอนาคตจะได้เลี้ยงหลานอย่างสงบที่บ้านหรือไม่

ลองคิดเถิดครับว่า หากรัฐธรรมนูญ 2560 ยังถูกใช้บังคับอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หรือร้ายไปกว่านั้นพรรคก้าวไกล นรกจะกินหัวใครบ้าง เขาไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญไว้ให้เปลี่ยนรัฐบาลมาแต่ต้นแล้ว

 

คราวนี้ลองนำเอาเงื่อนไขของการรัฐประหารไทยเท่าที่ผ่านมาเพื่อวิเคราะห์ดูว่า การรัฐประหารในช่วงนี้จะแก้ปัญหาอะไรทางการเมืองได้บ้าง

ผมไม่ทราบหรอกว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวของสาม ป.เป็นเช่นไรกันแน่ แต่ผมค่อนข้างแน่ใจอยู่อย่างหนึ่งว่า สามคนนี้ย่อมเลือกจะไม่แตกแยกกันเอง เพราะหากแยกกันเมื่อไร ระบอบเผด็จการแฝงที่ใช้อยู่เวลานี้ก็ต้องปรับเปลี่ยน ทั้งต้องปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใหม่ ซึ่งพอใจพันธมิตรใหม่มากกว่า ฝ่ายชนะจึงอาจไม่สามารถควบคุมได้ด้วย จึงอาจเป็นภัยไม่เฉพาะแก่ผู้แพ้ แต่อาจลามมาถึงผู้ชนะด้วย ดังนั้น ถึงจะระแวงกันอย่างไร ก็ไม่มีระบอบเผด็จการอะไรประกันความปลอดภัยให้แก่ตนยิ่งไปกว่าระบอบนี้

แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำนั้น อย่าดูแต่เฉพาะกลุ่มนายทหารที่เข้ามาถืออำนาจ เบื้องหลังยังมีเครือข่ายที่ร่วมอำนาจและผลประโยชน์อีกหลากหลายกลุ่ม ต้องดูว่ากลุ่มเหล่านั้นพอใจกับระบอบเผด็จการแฝงที่เป็นอยู่หรือไม่

ผมขอเลือกดูเฉพาะกลุ่มเดียว คือกลุ่มทุนในวงการธุรกิจ

ทุนใหญ่ๆ ในกลุ่มนี้ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปจากการรัฐประหารไปแล้วอย่างมโหฬาร ซ้ำในหลายกรณียังเป็นการเรียกเก็บผลประโยชน์อย่างอุจาดแก่สาธารณชนอย่างยิ่งด้วย ผลประโยชน์เหล่านี้จะมีความมั่นคงสถาพรได้ ก็ด้วยการดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการแฝงนี้ เช่นจะผูกขาดการค้าปลีกเกิน 80% ต่อไปได้อย่างไร จะทำให้บริษัทประกันของตนรอดพ้นจากความรับผิดชอบตามกฏหมายได้อย่างไร จะเอากำไรคืนจากสัมปทานที่ไม่เป็นธรรมนานาชนิดได้ตามที่คำนวณไว้แล้วอย่างไร หากระบอบใหม่ถึงแม้เป็นเผด็จการแฝงเหมือนกัน แต่ต้องโอนอ่อนต่อเสียงของประชาชนมากขึ้น กำไรเหล่านี้ก็จะหดหายไปหมด

ทุนที่ไม่ได้กำไรพิเศษจากการรัฐประหารของทหารครั้งนี้ก็คงมีเหมือนกัน จำนวนไม่น้อยด้วย แต่อำนาจของเผด็จการแฝงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขายอมรับโครงสร้างการทำธุรกิจที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์และความไม่เป็นธรรมซึ่งมีอยู่โดยไม่คิดจะไปรื้อทำลายลง

ดังนั้น หากินสบายๆ ต่อไปโดยไม่ต้องแข่งขันในตลาดอย่างจริงจังไม่ดีกว่าหรือ ทุนไทยโดยทั่วไปนั้น ระแวงประชาธิปไตยอยู่แล้ว หรืออะไรที่ต้องโอนอ่อนต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนบ้าง เช่น นักการเมืองจากการเลือกตั้งก็ไม่น่าวางใจ เพราะทุนไทยไม่ถนัดในการแข่งขัน แล้วก็หาทางให้ไม่ต้องแข่งได้สำเร็จ จึงไม่มีฝีมือสำหรับเรื่องนี้ ไม่อยากเสี่ยงที่จะเปลี่ยนระบอบ

แค่เลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาลผสมที่อ่อนแอก็พอทำเนา แต่สถานการณ์ในเวลานี้ดูเหมือนว่า แม้แต่รัฐบาลประเภทนั้นก็ยังต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชน “หัวรุนแรง” ซึ่งสามารถจัดองค์กรของตนได้อย่างมีประสิทธิผลด้วย จึงนับเป็นความเสี่ยงเกินไปที่จะปล่อยให้มีรัฐประหารอีก ถึงจะเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการแฝงหนึ่ง ไปเป็นอีกเผด็จการแฝงหนึ่ง ก็ถือว่าเสี่ยงเกินไป

 

เช่นเดียวกับเครือข่ายอื่นๆ ของชนชั้นนำ ผมมองไม่เห็นว่ากลุ่มต่างๆ ของพวกเขาพร้อมจะเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้แต่เพียงเล็กน้อย เช่น กลุ่มที่ถูกเรียกว่าอนุรักษนิยม กำลังอยู่ในสถานะอ่อนแอเสียยิ่งกว่าความอ่อนแอในช่วง 15 ปีแรกหลัง 2475 เสียอีก ย่อมไม่อยากโคลงเรือในช่วงนี้อย่างแน่นอน

การจับเด็กเข้าคุกเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการแฝง ไม่ใช่การรัฐประหาร ซึ่งต้องใช้อำนาจดิบ และอำนาจดิบนั้นย่อมมีวิถีทางที่กำหนด, ควบคุม หรือแม้แต่พยากรณ์ได้ยากเสมอ จะเสี่ยงไปเพื่ออะไร

ในทางตรงกันข้ามเลยนะครับ ระบอบที่เป็นอยู่นี้เป็นสวรรค์สำหรับเผด็จการแฝงยิ่งกว่าที่เคยมีมาในประเทศไทย จอมพล ป. หรือจอมพลถนอม ไม่เคยได้ลิ้มรสสวรรค์ที่ปลอดภัยระดับนี้เลย ลองเทียบรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2494 หรือรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ดูเถิดครับ ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ให้ความมั่นคงปลอดภัยแก่ระบอบเผด็จการแฝงได้ยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดให้มีการเลือกตั้งที่ไม่อาจตัดสินอะไรทางการเมืองได้เลย นอกจาก ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกฯ ในเวลา 5 ปีแรกแล้ว แต่หลังจากนี้ ถึงไม่มีเงื่อนไขพิเศษดังกล่าว พรรคการเมืองใดๆ ก็พร้อมจะร่วมรัฐบาลกับนายกฯ ที่กุมเสียง ส.ว.ได้อยู่ดี อย่างน้อยก็เพื่อได้ร่วมรัฐบาลอย่างมั่นคงสักหน่อย การทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมายได้ขนาดนี้ย่อมเป็นสวรรค์แก่หัวหน้าเผด็จการแฝงอย่างแน่นอน ซ้ำมหาอำนาจต่างชาติยังใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องบังหน้าในการทำธุรกรรมร่วมกันกับเผด็จการได้ด้วย

รัฐธรรมนูญ, กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ก็อาจใช้เพื่อป่วนฝ่ายค้านได้ โดยเฉพาะฝ่ายค้านหัวแข็งที่ไม่ยอมเล่นในเกมเผด็จการ

องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช. หรือแม้แต่กรรมการสิทธิฯ ก็ได้รับแต่งตั้งจากเผด็จการหรือวุฒิสภาซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของเผด็จการแฝง ถึงวุฒิสมาชิกชุดนี้สิ้นวาระไป คนที่ตั้ง ส.ว.ใหม่ก็คือเผด็จการแฝงหรือที่สืบอำนาจจากเผด็จการแฝงอยู่นั่นเอง

แม้แต่พลังภายนอกที่อาจตรวจสอบต้านทานเผด็จการแฝง เช่น สื่อ, วงวิชาการ, เอ็นจีโอ, การแสดง, นิทรรศการศิลปะ หรือ ฯลฯ ก็ล้วนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการแฝง ผ่านกฎหมาย, ระเบียบ, ผู้บริหาร, ค่าโฆษณา ฯลฯ ทั้งสิ้น จึงเป็นรัฐบาลที่ปลอดจากพลังถ่วงดุลในสังคมโดยสิ้นเชิง

ใครบริหารงานบน “สวรรค์” ที่รัฐธรรมนูญและวัฒนธรรมไทยมอบให้เช่นนี้แล้ว ยังบริหารไม่ได้จนต้องทำรัฐประหาร ก็ไม่มีที่ไหนให้บริหารในโลกนี้อีกแล้วล่ะครับ

 

ว่าที่จริง รัฐประหารเป็นสิ่งล้าสมัยและให้ผลตอบแทนต่ำ เหลือแต่ตัวผู้ร้ายเซ่อๆ ซ่าๆ เท่านั้นที่ยังทำอยู่ เพราะรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจที่ต้นทุนสูงมาก โดนต่อต้านจากประชาชนภายใน จับเขาติดคุกหรืออุ้มเขาหาย กลับทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษ ถึงฝ่ายที่ไม่ต่อต้าน ก็ไม่ให้ความร่วมมือ และความร่วมมือของประชาชนทำให้ต้นทุนอำนาจถูกลงแค่ไหนก็คิดดูเถิดครับ ส่วนต่างชาติก็ต้องทำทีต่อต้าน เพื่อรักษาหน้าของตนเอง และเหยียบเรืออีกแคมหนึ่งไว้ให้ดี เพราะไม่มีใครรู้ว่ารัฐประหารจะถูกโค่นลงเมื่อไรและอย่างไร

สิ่งที่อยู่ในสมัยนิยมของเผด็จการทั่วโลกมากกว่า คือใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตยต่อไป แต่สร้างเงื่อนไขทางกฎหมาย, ทางการบริหาร, ทางศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย จนทำให้กลไกเหล่านั้นทำงานไม่ได้มากไปกว่าเครื่องประดับ ดังเช่นในรัสเซีย, ฮังการี, โปแลนด์, เช็ก, ตุรกี, เวเนซุเอลา และอีกหลายรัฐในละตินอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย

การเลือกตั้งที่ไม่มีผลอะไรในการตัดสินเลือกฝ่ายบริหารในรัฐธรรมนูญ 2560 ของเราเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้กลไกประชาธิปไตย เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ “อประชาธิปไตย” รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสุดยอดของอุดมคติการปกครอง “อประชาธิปไตย” ที่เผด็จการไทยคงจะฟื้นกลับมาใช้ใหม่อีกทุกครั้งที่ยึดอำนาจได้ ไม่ว่าจะผ่านการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง