บทเรียนจากสหรัฐถึงไทย หยุดการเปลี่ยน ‘ทางม้าลาย’ เป็น ‘ทางมลาย’ ให้ ‘คุณหมอกระต่าย’ เป็นรายสุดท้าย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

บทเรียนจากสหรัฐถึงไทย

หยุดการเปลี่ยน ‘ทางม้าลาย’ เป็น ‘ทางมลาย’

ให้ ‘คุณหมอกระต่าย’ เป็นรายสุดท้าย

 

อนุสนธิจากข่าว พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือคุณหมอกระต่าย โดนรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบก์ยี่ห้อดูคาติ ขับขี่โดยตำรวจชนตายคาทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท กลางวันแสกๆ ตอนบ่ายสามโมงสิบนาทีของวันที่ 21 มกราคม 2022

เป็นข่าวที่ทำร้ายหัวใจคนไทยจน “ช็อก” ทั้งประเทศ เพราะคนชนเป็นตำรวจ

โดยเฉพาะเมื่อมีคลิปนาทีที่บิ๊กไบก์พุ่งชนคุณหมอกระต่ายออกมาจากกล้องริมถนนและกล้องที่ติดตั้งหน้ารถตู้ที่เห็นบิ๊กไบก์แซงเลนขวาสุดพุ่งเข้าชนคุณหมอกระต่ายด้วยความเร็วเต็มพิกัดจนกระเด็นไปไกล

เป็นภาพที่สังคมยอมรับไม่ได้

และเมื่อหน่วยพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ ยืนยันว่ารถบิ๊กไบก์วิ่งชนด้วยความเร็ว 108-128 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

จะกล่าวไปแล้ว การกำหนดความเร็วรถวิ่งกลางเมืองที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะเป็นความเร็วที่สูงเกินไป รถจะทำร้ายคนเดินถนน

ขับรถกลางเมืองจะวิ่งเร็วรีบร้อนอะไรกันนักหนา

 

ในอเมริกา กำหนดให้รถวิ่งในเมืองด้วยความเร็วไม่เกิน 25 ไมล์/ชั่วโมง หรือ = 40.25 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เขตถนนหน้าโรงเรียนก็บังคับวิ่งเร็วไม่เกิน 25 ไมล์/ชั่วโมง เช่นเดียวกัน

ถือเป็นกฎเหล็กที่คนขับรถทุกคนต้องรู้ ไม่ว่าจะมีป้ายกำกับความเร็วติดไว้ริมถนนหรือไม่ก็ตาม คนที่ขับรถในเมืองเร็วเกินกำหนด ถ้าตำรวจเจอต้องโดนใบสั่ง (Ticket) แน่นอน

บางเมืองมีการติดกล้องดักห้อยไว้กลางถนน รถต่างเมือง ต่างรัฐที่ทะเล่อทะล่าวิ่งเร็วเกินกำหนด จะโดนถ่ายรูปพร้อมสปีดความเร็วส่งใบสั่งมาที่บ้านให้ไปเสียค่าปรับแต่โดยดี

ส่วนการไม่หยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนนนั้น แทบเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย เพราะก่อนจะได้ใบขับขี่ จะต้องเรียนรู้เรื่องสัญญาณหยุดรถ (Stop Sign) เสียก่อน ซึ่งจะติดตามทางแยก ทางเชื่อมต่างๆ รถที่วิ่งมาได้สัญญาณ Stop Sign จะต้องเบรกหยุดนิ่ง ก่อนจะเคลื่อนรถได้เมื่อทางสะดวกแล้วเท่านั้น

ในกรณีที่เป็นสี่แยก มี Stop Sign 4 อัน รถทุกคันที่เข้ามาหยุด จะใช้วิธีมาก่อนไปก่อน คนขับทุกคันจะรู้ว่าใครมาก่อน มาหลัง ไม่มีการแย่งชิง ลัดคิวโดยเด็ดขาด

ดังนั้น การรู้จักหยุดรถตามสัญญาณ Stop Sign จะทำให้คนขับมีวินัยระวังหยุดรถตรงทางม้าลายคนข้ามทันทีที่เห็นคนยืนรอข้ามถนน ยังไม่ทันเหยียบเท้าลงบนทางม้าลาย รถก็หยุดจอดให้คนเดินข้ามแล้ว

รวมทั้งหยุดให้คนเดินข้ามบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ทางม้าลาย เช่น เดินข้ามถนนเข้าห้างตามศูนย์การค้า

ถือเป็นอารยธรรมการขับรถในอเมริกา

การไม่หยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนน จะโดนปรับตั้งแต่ 50 เหรียญ ถึง 150 เหรียญ (ประมาณ 1,600 บาท ถึง 4,800 บาท) บางรัฐโดนตัดแต้มด้วย ตั้งแต่ 1 แต้ม, 2 แต้ม จนถึง 20 แต้ม รัฐ Idaho ตัดแต้ม 20 แต้ม

 

รัฐเพนซิลเวเนียมีกฎหมาย Pedestrians Law – กฎหมายคนเดินเท้า ระบุว่า คนขับรถต้องระมัดระวังให้ทางคนตาบอดที่เดินมาด้วยไม้เท้าสีขาวหรือมีหมานำทาง

คนขับรถต้องขับด้วยความระมัดระวังตามความจำเป็น ต้องหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้บาดเจ็บหรือเกิดอันตรายต่อคนเดินทางเท้า มิฉะนั้นจะโดนปรับตั้งแต่ 50 เหรียญ ถึง 150 เหรียญ

Traffic Law กฎจราจรในอเมริกา ให้ความสำคัญคนเดินเท้าต้องมาก่อน (Priority) เสมอ

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมมนาเรื่องสหกรณ์ประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงโตเกียว, ญี่ปุ่น สิ่งที่ผมพบเห็นวันนั้นคือ ตอน 4 ทุ่ม รถทุกคันจะหยุดจอดที่ไฟแดงทางม้าลายให้คนข้ามบนถนนสายเล็กๆ หน้าโรงแรม

ทั้งๆ ที่ไม่มีคนเดินข้ามถนนแม้แต่คนเดียว

ผมเคยเห็นคลิปในญี่ปุ่น ครูพาเด็กนักเรียนชั้นประถมไปหัดเดินข้ามทางม้าลาย เด็กเดินตามครูข้ามทางม้าลาย รถทุกคันจอดนิ่งให้เด็กเดินข้าม พอข้ามไปถึงอีกฝั่ง เด็กก็หันมาโค้งขอบคุณคนขับรถยนต์ น่ารักมาก

นั่นคืออารยธรรมของการขับรถและการข้ามทางม้าลายในญี่ปุ่น

 

มีคลิปคุณหมอคนหนึ่งบอกว่า คุณหมอกระต่ายยืนรอที่ทางม้าลายตรงนั้นนานเกินกว่า 2 นาที แต่ไม่มีรถคันไหนหยุดจอดให้เลย จึงตัดสินใจเดินข้ามทางม้าลาย

ก่อนที่ความจริงเรื่องยืนรอ 2 นาทีนี้จะออกมา ผมโพสต์ FB บอกว่า สังเกตว่า คุณหมอกระต่ายเดินข้ามทางม้าลายตามจังหวะของรถที่วิ่งเข้ามา

ไม่มีรถคันไหนหยุดจอดให้เดินข้ามเลย

นี่คือการไร้อารยธรรมของคนขับรถในกรุงเทพฯ โดยสิ้นเชิง

คุณหมอกระต่ายมิใช่คนเดียวที่โดนรถชนบนทางม้าลายหน้าสถาบันโรคไตฯ

รุ่นพี่ผม ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ รองประธานราชบัณฑิตยสภา และคุณคิมภรรยาก็โดนรถบิ๊กไบก์ชนบนทางม้าลายตำแหน่งใกล้เคียงกับคุณหมอกระต่ายโดน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2021 แต่ทั้งคู่โดนชนขณะหยุดรออยู่ที่เกาะกลางถนน จนกระเด็นไปหลายเมตร สลบไป 2 วัน กระดูกหักหลายแห่งทั่วตัว นอนโรงพยาบาล 6 เดือน ทั้งสองคนใช้เวลาเกือบปีกว่าจะเดินได้อีกครั้ง

ในกลุ่มนั้นถูกชนบาดเจ็บหลายคน มีฝรั่งถูกชนขาซ้ายถลอก ต้องลอกหนังออกทั้งขา

เพียงแต่เรื่องของ อ.สุรพลกับคุณคิมไม่ป็นข่าวโด่งดัง จึงยังไม่สร้างกระแสเรื่องทางม้าลายให้เกิดขึ้น

ตัวผมเองก็มีประสบการณ์เลวร้าย เกือบถูกรถชนตายบนทางม้าลาย 2 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมข้ามทางม้าลายตรงปากซอยอ่อนนุช หน้าห้าง จะข้ามถนนไปขึ้นรถสองแถวฝั่งตรงข้าม เราข้ามกันเป็นกลุ่มใหญ่ ผมอยู่แถวหน้า พอถึงเกือบกลางถนน ก็มีรถมอเตอร์ไซค์สีขาวขนาดใหญ่เป็นมอเตอร์ไซค์ตำรวจจราจร วิ่งแหวกฝูงคนเข้ามาด้านขวาด้วยความเร็วจัด เฉียดหน้าผมไปนิดเดียว

ไอ้คนขับขี่แต่งเครื่องแบบตำรวจจราจร

นั่นคือความรู้สึกสิ้นหวังบนถนนในประเทศนี้โดยแท้จริง เพราะแม้แต่ตำรวจจราจรก็ยังไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

แล้วคนเดินถนนจะหาความปลอดภัยได้จากอะไร

ครั้งที่สอง ผมข้ามทางม้าลายจากฝั่งตรงข้ามบิ๊กซี สะพานควาย มีคนเดินข้ามเป็นกลุ่มใหญ่ ผมอยู่แถวหน้า มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ได้ไฟเขียวจากสี่แยก บิดมาด้วยความเร็วเต็มพิกัดวิ่งแซงขวาสุด เฉียดหน้าผมไป ผมยกมือยื่นนิ้วกลางให้มัน มันหันมามองด้วยสายตามาดร้าย เบรกรถจนตัวโก่ง ลูกไฟเบรกกระเด็นกระจายเป็นประกาย รถถลาแถไปไกลด้านซ้ายจนชิดขอบทาง มันเกือบล้ม ผมรีบข้ามพร้อมกลุ่มคนแล้วเดินหนีเข้าไปในห้าง

กลัวมันตามมาฆ่า

ครั้งหนึ่ง ผมเคยขับรถแล้วหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย โดนรถคันหลังบีบแตรไล่

ช่างป่าเถื่อนสมบูรณ์แบบแท้จริง

เพื่อนรุ่นน้องเล่าว่า ทั้งครอบครัวไม่ยอมให้คนในบ้านข้ามทางม้าลายโดยเด็ดขาด จะไกลแค่ไหน เสียเวลาเท่าไร ก็ยอมขับรถอ้อมไปส่ง เพราะรู้ดีว่า

“การข้ามทางม้าลาย คือการเสี่ยงตาย”

 

คุณอาจไม่รู้ว่า การสูญเสียคุณหมอกระต่ายนั้น เมืองไทยสูญเสียใหญ่หลวงเพียงไหน

ในอเมริกา นักเรียนแพทย์ที่เรียนจบหมอแล้ว ถ้าต้องการจะเป็น Resident เรียนหมอตาจะต้องเข้าคิวรอนานถึง 7 ปี เพราะแข่งขันกันมาก คิวรอเรียนยาวมาก

ที่โรงพยาบาล Penn State Health St. Joseph Medical Center เมืองเรดดิ้ง รัฐ PA มีหมอมาสมัครเป็น Resident หมอเด็กอ่อน เรียน New Born เขาเล่าว่ามาเรียนเพื่อฆ่าเวลา รอคิวเรียก 7 ปีเพื่อไปเรียนหมอตา

แต่คุณหมอกระต่ายจบ Fellowship ผู้เชี่ยวชาญพิเศษโรคตาเฉพาะทางด้านจอตา และวุ้นตา ศึกษาสูงกว่าขั้น Resident จบจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย, ซานฟรานซิสโก (University of California, San Francisco – UCSF) มหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา ถือเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่ายิ่งของประเทศคนหนึ่ง

หลังคุณหมอกระต่ายจากไป เว็บไซต์ UCSF โพสต์ไว้อาลัยว่า

“คุณหมอเพิ่งจบการเป็น fellowship ที่ Proctor (ชื่อสถาบันมูลนิธิตาของ UCSF) เมื่อไม่นานมานี้ แล้วกลับเมืองไทยไปรักษาคนไข้โรคม่านตาอักเสบ (uveitis patients) ที่นั่น

ที่ Proctor, KT (ชื่อ กระต่าย) คือแสงอำไพของตะวันเฉิดฉายในทุกวันที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอก เติมเต็มสมบูรณ์ด้วยความมีชีวิตชีวา ความสุขและความรื่นรมย์ซึ่งคุณหมอได้มีร่วมกับพวกเรา เธอจะเป็นที่ระลึกถึงด้วยความโศกเศร้าอาดูร (sorely missed)”

จะเห็นว่า การจะเป็นหมอตานับว่าเป็นเรื่องยาก ยิ่งไปกว่านั้น การจะจบ fellowship จากสถาบันชั้นนำอย่าง UCSF นั้น ยิ่งยากแสนยาก มีไม่กี่คนที่จะไปถึงได้

คลิป UCSF บอกชาวโลกว่า การจราจรบนทางม้าลายในกรุงเทพฯ นั้นเลวร้ายเพียงใด

 

บทความนี้หวังว่า จะมีส่วนจุดประกายสร้างความปลอดภัยให้คนเดินเท้าในประเทศไทยได้ระดับหนึ่ง เรามาเริ่มต้นกันใหม่ กำหนดความเร็วของรถในเมืองให้สมควร จับ ปรับรถที่ไม่ยอมหยุดให้คนข้ามทางม้าลายให้หนัก ถ้าทำผิดซ้ำให้ยึดใบขับขี่ เริ่มสร้างวินัยจราจรให้เกิดขึ้นจงได้

อย่าปล่อยให้เป็นแค่ไฟไหม้ฟางหรือแค่คลื่นกระทบฝั่ง

ถือเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมสร้างอารยธรรมการขับขี่ให้ประเทศกันใหม่

1-ตำรวจจราจรไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

2-มหาวิทยาลัย UCSF โพสต์ไว้อาลัยคุณหมอกระต่าย