ทราย เจริญปุระ : พระเจ้าผู้ไร้ตัวตน

"แด่...พระเจ้าผู้ไม่มีตัวตน" เขียนโดย สกุล บุณยทัต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ Artyhouse พฤศจิกายน, 2558

วันที่ 12 สิงหาคม 1988 หลังจากจบงานรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง The Last Temptation of Christ (1988) ที่ทั้งอื้อฉาว และเป็นที่ถกเถียงกันในยุคนั้น

มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับฯ ของเรื่องได้ไปร่วมดินเนอร์กับคนกลุ่มใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยบุคคลระดับสูงผู้เกี่ยวข้องกับหนัง

และหนึ่งในนั้นคือท่านบิชอป พอล มัวร์ จากนิวยอร์กซึ่งได้แนะนำให้เขาอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง

แล้ววันต่อมาเขาก็ได้รับหนังสือชื่อ Silence งานเขียนของ ชูซาเกะ เอ็นโดะ ซึ่งพูดถึงความขัดแย้งทางศรัทธาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศญี่ปุ่น

และในปีต่อมาเขาได้โอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อร่วมเล่นหนังของยอดผู้กำกับฯ อากิระ คุโรซาว่า เรื่อง Dreams (1990) เขาจึงนำหนังสือเล่มนี้ติดตัวไปด้วย

ขณะนั่งอ่านมันอย่างตั้งใจอยู่ในรถไฟหัวกระสุน เขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองและโรดริเกส ตัวละครเอกของเรื่องนั้นมีบางอย่างคล้ายกัน

และในทันใดเขาก็รู้ทันทีว่านี่คือหนังที่เขาอยากทำ

 

Silence เป็นโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่ใช้เวลาเกือบ 30 ปีในการพัฒนาจนสำเร็จ

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากหนังสือนวนิยายในชื่อเดียวกันของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ชูซากุ เอ็นโดะ เรื่องราวดำเนินอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17 ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการกวาดล้างผู้นับถือศาสนาคริสต์อย่างโหดร้ายและจริงจัง

มีการจับชาวคริสต์และบาทหลวงไปทรมานด้วยวิธีต่างๆ และบีบบังคับให้กระทำการดูหมิ่นศาสนาต่อหน้าสาธารณะเพื่อเป็นการประกาศตนออกจากศาสนา

บาทหลวงเฟอร์เรร่า (เลียม นีสัน) เป็นบาทหลวงโปรตุเกสที่กำลังเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นช่วงเวลานั้นพอดีและมีข่าวลือไปถึงศาสนจักรที่โปรตุเกสว่าท่านได้ประกาศตน เลิกนับถือศาสนาคริสต์แล้ว

แต่บาทหลวงโรดริเกซ (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) และบาทหลวงการูเป้ (อดัม ไดรเวอร์) ผู้เป็นลูกศิษย์ไม่ปักใจเชื่อ

ทั้งสองจึงขออนุญาตปฏิบัติภารกิจตามหาตัวคุณพ่อเฟอร์เรร่าและสานต่องานเผยแผ่ศาสนาที่ญี่ปุ่นต่อไป

สองบาทหลวงหนุ่มต้องเผชิญความยากลำบากมากมายในระหว่างปฏิบัติภารกิจนี้ ต้องเจอกับบทพิสูจน์ความศรัทธาจากผู้ที่ต้องการกำจัดศาสนาคริสต์ออกไปด้วย

และแม้แต่ผู้รับเชื่อไปแล้ว ก็ยังมีข้อคำถามรบกวนจิตใจบาทหลวงทั้งสอง

 

ฉันนั่งดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยคิดถึงคนคนหนึ่งอยู่ตลอด

ผู้เผยแพร่ความเชื่อของตนเองอย่ากล้าหาญ

และในขณะที่ตัวละครหนึ่งในหนังตั้งคำถามว่า, มีที่สำหรับคนอ่อนแอเช่นข้าบนโลกนี้ไหม?

ฉันก็ถามตัวเองไปพร้อมๆ กัน

และรอฟังคำตอบ

มีเพียงความเงียบจากพระเจ้าผู้ไร้ตัวตน

 

“พระเจ้าของข้า…”

ท่านเคยรู้บ้างไหม…

ถึง

“ฉากแสดงแห่งความอัปยศ…เหล่านี้”

ท่านเคยรู้บ้างไหม…

ว่า…

ในความจริงของ… “สิ่งทั้งหมด”

…………….

“แผ่นดินชีวิต”

ของข้า…และญาติพี่น้อง

เป็นเหมือนหนึ่ง

“นักเดินทางผู้แสวงหา”

……………..

เขามี “เสรีภาพ” ในจิตวิญญาณของดวงตา

…มี “จิตศรัทธา” ในเพลิงปรารถนาของวิญญาณ*

 

ตลอดทั้งเรื่องฉันได้ยินคำถามมากมายถึงเรื่องความเชื่อ ความดี อะไรคือดี ความดีสูงสุดนั้นเป็นสากลหรือไม่ ทำไมเราถึงเชื่ออย่างอื่นไม่ได้ ทำไมความต่างจึงเป็นภัยต่อสังคม

มันไม่ใช่แค่การถามว่าเราเชื่ออะไร เราศรัทธาในอะไร สิ่งนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ แต่มันไปไกลกว่านั้น

ตัวละครในหนังนั้นต่างความเชื่อ จึงถามผ่านกันและกันว่าเชื่อไปแล้วได้อะไร ความศรัทธาของเรามันส่งผลอะไรกับใครอย่างไรบ้าง ความยึดมั่นของคุณกำลังโบยตีคนอื่น และเลือดที่หลั่งรดแผ่นดินนั้นคือเลือดของผู้ที่เชื่อเช่นคุณ

มันคือศรัทธาที่ผิดกฎหมาย

มันมีราคาที่ต้องจ่าย

มันคือความหยิ่งยโสหรือเปล่า ว่าสิ่งที่เราเชื่อถูกกว่าคนอื่น

เหยียบย่ำศรัทธานั้นมันง่ายกว่าการคำนับ

 

“ทําไมข้าต้องเกิดมาในยุคสมัยที่โหดร้ายเช่นนี้ด้วย” ตัวละครคนเดิมรำพันออกมา

ใช่

ทำไมกัน

การเอาชีวิตรอดกับการมีศักดิ์ศรีนั้น มันไปด้วยกันได้จริงหรือเปล่า

เราจะยังมีศักด์ศรีเหลืออยู่หรือไม่ หากเราไม่ยืนยันความเชื่อของตนเอง

หรือเราต้องตาย แล้วกลายเป็นหน่วยนับหน่วยหนึ่ง ไม่เหลือชีวิตไว้เพื่อส่งต่อศรัทธา

“พระเจ้าของข้า…”

ถึงแม้ท่านจะเป็นใครก็ตาม

ข้าก็อยากจะบอกกับท่าน…(อีกสักครั้ง) ว่า…

ข้าอยากจะตอกสลักและตีตรา

…อยากจะจารจารึก…

……………..

“ชีวิตของข้า…แผ่นดินชีวิตของข้า”

……………..

นักเดินทางผู้แสวงหา…พระเจ้าผู้ไม่มีตัวตน*

ลาก่อน…

“พระเจ้าของข้า…”

ดูเหมือนว่า…ข้ายังเป็นเพียงท่อนไม้ที่โง่งม…ขมขื่น

ความรู้สึกของข้า…

ช่างเปล่าดายกับ “ทุกสิ่ง”

บนหนทางแห่งความว่างเปล่ามืดมน…อย่างไม่น่าเชื่อ*
————————————————————————————————————-
*ข้อความจากในหนังสือ
– ภาพยนตร์เรื่อง Silence กำกับฯ โดย มาร์ติน สกอร์เซซี (2016)