ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
วิรัตน์ แสงทองคำ
https://viratts.com/
สัญญาณชีพยักษ์ใหญ่
ผู้คนซึ่งเฝ้าติดตามดัชนีภาพรวม คงให้ความสนใจความเคลื่อนไหว และแรงกระเพื่อมบรรดาเครือข่ายธุรกิจใหญ่
หนึ่งในนั้น ย่อมมี กลุ่มทีซีซี อยู่ด้วย
กระแสหนึ่งซึ่งพุ่งเป้า กรณี Frasers Property Singapore ขายอาคารสำนักงานย่านใจกลางสิงคโปร์ มูลค่าราวๆ 20,000 ล้านบาท (หากสนใจรายละเอียดอ่าน 25 Jan 2022 -Frasers Logistics & Commercial Trust to divest Cross Street Exchange in Singapore for S$810.8 million –https://www.frasersproperty.com/)
ทั้งนี้ ผู้บริหารแถลงไว้ด้วยว่า การขายสินทรัพย์ระดับพรีเมียมครั้งนี้ เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้ความสำคัญด้านโลจิสติกส์มากขึ้น
เรื่องราวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มทีซีซี เปิดฉากกครึกโครมที่เมืองไทย จากกรณี บริษัท แอทเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ตั้งต้นด้วยแผนการเข้าตลาดหุ้น (ปี 2562) จากขายหุ้น IPO ระดมเงินได้ครั้งแรก 48,000 ล้านบาท บรรลุแผนเข้าซื้อขายหุ้นอย่างเป็นทางการ (ตุลาคม 2562)
เวลานั้นจัดเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่าที่เคยมีมา
AWC ถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่ายโรงแรม และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ รูปแบบต่างๆ หลากหลาย ผ่านหมุดหมายสำคัญที่บันทึกไว้ “เริ่มจากการลงทุนในที่ดิน พัฒนามาลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลเมื่อปี 2537 เข้าร่วมทุนกับ Capital Land Co., Ltd. ในปี 2546”
เป็นที่รู้กันว่า เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นนักล่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นมาอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในทศวรรษ 2530 ต่อมาช่วงปี 2546 กลุ่มทีซีซีแห่งตระกูลสิริวัฒนภักดี ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว ให้ทายาทเข้ามีบทบาทมากขึ้น โดยบุตรสาวคนที่สองมีบทบาทสำคัญใน AWC
ที่จริงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซี มีความสำคัญ เป็นดัชนีแห่งความยิ่งใหญ่ มีอยู่อย่างหลากหลาย อย่างอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกไว้แรกๆ ว่า บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2556 กลุ่มธุรกิจซึ่งบริหารโดยบุตรชายคนสุดท้อง
เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะย่านพระราม 4 ที่สำคัญเป็นพิเศษคือ โครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท
ดูไปแล้วแผนการมีความซับซ้อนและโลดโผนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องและผนึกประสานกับ Frasers Property Limited (FPL) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ และจดทะเบียนใน Singapore Exchange Securities Trading Limited หรือ SGX-ST
Frasers Property Limited (FPL) เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก Frasers Centrepoint Limited (FCL) ซึ่งก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2531) ค่อยๆ ขยายกิจการกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เมื่อเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศอย่างแข็งขัน

ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเดินแผนการใหญ่บุกเบิกธุรกิจภูมิภาคครั้งใหญ่ครั้งแรกๆ ด้วยการเข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave (ปี 2556) กิจการเก่าแก่เป็นตำนานแห่งสิงคโปร์ เป็นดีลครึกโครมตื่นเต้น กลุ่มทีซีซีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Frasers Centrepoint Limited ไปด้วย ในระหว่างนั้น FCL มีแผนการเชิงรุก มีดีลสำคัญแผนการเข้าซื้อเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย (Australand) ในปี 2557
Australand ต่อมากลายเป็น Frasers Property Australia สร้างตำนานให้ FCL ย้อนไปไกลเกือบศตรวรรษที่แล้ว (ก่อตั้งปี 2467) ในการบุกเบิกธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างสำคัญในประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง Frasers Logistics & Industrial Trust (FLT) ประกาศแผนธุรกิจใหม่ เมื่อปี 2562 ผนวกประสานกับกิจการในยุโรป ผนึกประสานระหว่างกิจการเกี่ยวข้องอุตสาหกรรมกับระบบโลจิสติกส์ ครอบคลุมเครือข่ายทั้งในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และออสเตรีย
ในปี 2556 ทีซีซีเข้าบริหาร FCL ในทันที เป็นจังหวะเดียวกับปรับโฉมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย จากนั้น ปณต สิริวัฒนภักดี บุตรชายคนเล็กของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร (ปี 2559)
ในจังหวะแอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ได้ปรากฏขึ้น ในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากเข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทย (ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICO) แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT แผนการเป็นไปค่อนข้างเงียบเมื่อต้นปี 2562 ตามยุทธศาสตร์เข้าตลาดหุ้นไทยทางลัด ที่เรียกว่า Backdoor listing
ตามมาด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจดำเนินไปอย่างกระชั้น อย่างการเข้าซื้อบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD บริษัทในตลาดหุ้นอีกแห่ง (กุมภาพันธ์ 2562) เชื่อว่าเป็นแผนการผ่องถ่ายกิจการมาอยู่ในเครือข่าย FPT กำลังดำเนินไปเป็นขั้นๆ
จากสิ้นปี 2560 จากสินทรัพย์ราวๆ 40,000 ล้านบาท ได้ขยับขึ้นมาเกือบทะลุ 1 แสนล้านบาทแล้ว (31 มีนาคม 2563)
ว่าไปแล้ว แผนการขายสินทรัพย์ในสิงคโปร์ ไม่น่าจะเป็นเรื่องตื่นเต้น เมื่อพิจารณาถ้อยแถลงของผู้บริหาร และแผนการธุรกิจที่เป็นมา (หากสนใจโปรดพิจารณา Presentation – 58th Annual General Meeting 21 Jan 2022) ให้ข้อมูลว่าด้วยแผนการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจ สู่สิ่งเรียกว่า Industrial & Logistics และ Commercial & Business park ให้มากขึ้นอย่างสมเหตุสมผล
หากเมื่อมองมาสังคมไทย กลุ่มทีซีซีคงดำเนินแผนการเชิงรุกในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง “เมื่อปลายปีที่แล้ว (22 พฤศจิกายน 2564) เครือข่ายธุรกิจกลุ่มทีซีซีได้ดีลเช่า “ล้ง 1919″ ของตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 8 ไร่กว่า เป็นระยะเวลายาวกว่า 64 ปี มีค่าเช่า 1,269.2 ล้านบาท ตามแผนจะมีการลงทุนเพิ่มอีก 2,166.8 ล้านบาท” เคยว่าไว้เมื่อเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางคนอาจตั้งข้อสังเกตด้วยก็ได้ว่า การปรับแผนธุรกิจที่สิงคโปร์ เป็นไปทำนองเดียวกันที่ไทย ในกรณีอาคเนย์ประภัยด้วยหรือไม่