ไขปริศนาวันเวลาที่ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” มรณภาพ 20 ก.พ. หรือ 21 ก.พ. หรือ 22 มี.ค.?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มาอีกหนึ่งปริศนา (ปราบเซียน) ที่เกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นคือเรื่องวันมรณภาพของท่าน

เนื่องจากที่ผ่านมานั้นในเอกสารแต่ละเล่ม ล้วนให้ข้อมูลสับสนหลายแนวทาง จนเรามิอาจรู้ได้ว่าที่ถูกต้องคือวันไหนกันแน่ ระหว่าง 20 กุมภาพันธ์, 21 กุมภาพันธ์ กับ 22 มีนาคม

ส่วนศักราชนั้น ระบุว่า พ.ศ.2481 ไม่ใช่ประเด็นปัญหา เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า หากนับแบบปัจจุบันก็คือต้นปี 2482 นั่นเอง เนื่องจากในอดีต ก่อนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเปลี่ยนระบบใหม่ในปี พ.ศ.2484 นั้นเราเริ่มนับศักราชใหม่ในช่วงสงกรานต์

ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่า วันมรณภาพของครูบาเจ้าศรีวิชัยคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แน่ชัดแล้ว

 

ถอดรหัสจาก “คร่าวร่ำ” เคลื่อนศพ

คําว่า “คร่าว” ภาษาล้านนาอ่านเสียง “ค่าว” เป็นรูปแบบคำประพันธ์ล้านนาประเภทหนึ่งที่ลักษณะละม้ายก้ำกึ่งระหว่างกลอนและร่ายของทางภาคกลาง ส่วนคำว่า “ร่ำ” คนเหนืออ่าน “ฮ่ำ” หมายถึงการพรรณนารำพึงรำพันร่ำไร

หลักฐานยืนยันว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (นับตามปฏิทินระบบเดิม หากนับแบบปัจจุบันคือปี 2482) หรือตรงกับวันอังคาร เดือน 6 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ ปีขาล นั้นมีปรากฏในคำประพันธ์ประเภท “คร่าว” ชื่อเรื่องว่า

“ค่าวฮ่ำจะเอาศพครูบาสีวิไชยมาเวียงลำพูน” บันทึกโดย “พ่อน้อยจี๋” ชาวบ้านอาศัยแถบประตูแสนปรุงชั้นนอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายศพ เขียนคำคร่าวเป็นตัวอักษรธัมม์ล้านนา

ปริวรรตเป็นภาษาไทยกลาง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2537 โดย พ่อครูอินทร สิงหนาท อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ผู้ล่วงลับ โดยพ่อครูอินทรได้รับต้นฉบับมาจากพ่อน้อยเป็ง จ๊ะถา หมู่ที่ 2 บ้านห้วยแหน ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันคร่าวฉบับดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง

พ่อน้อยจี๋ เป็นหนึ่งในศิษย์ที่ติดสอยห้อยตามครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งแต่ท่านยังมีชีวิต กล่าวถึงการเคลื่อนขบวนศพครูบาเจ้าศรีวิชัยจากวัดบ้านปางเข้าสู่วัดจามเทวี ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพได้ราว 1 ปีเต็ม

ตอนต้นของคร่าวระบุชัดว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพในวันอังคาร และปีขาล ทั้งสองข้อนี้ตรงกับวันและปีที่ท่านชาตะ สำหรับเดือนและวันตามจันทรคตินั้นเป็น เดือน 6 เหนือ (หรือเดือน 4 ภาคกลาง) วันออก (หมายถึง ขึ้น) 3 ค่ำ เมื่อตรวจสอบกับหนังสือปฏิทิน 120 ปีแล้ว ตรงกับ “วันที่ 21 กุมภาพันธ์”

จากการที่ท่านมรณะในเวลาก่อน 01.00 น. ของเช้าวันใหม่ แต่เลยเวลา 24.00 น. ของคืนวันก่อนไปแล้ว คือ 24.50 นาที 30 วินาที ถือเป็นเวลาที่คาบเกี่ยวระหว่างคืนวันจันทร์เลยเที่ยงคืนเล็กน้อย กำลังย่างเข้าสู่เช้าวันใหม่ของวันอังคาร

ช่วงเวลาที่ท่านมรณภาพนั้น พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น (เสียชีวิต พ.ศ.2558 เมื่ออายุ 98 ปี เป็นหลานชายแท้ๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย) เล่าไว้เป็นหลักฐานว่า เป็นตอนเช้ามืด ท่านจำได้อย่างแม่นยำ เพราะคืนก่อนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมรณภาพนั้น พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น ได้ฝันไปว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาสั่งให้ตนเป็นผู้ดูแลวัด และเมื่อตื่นขึ้นมาจึงเกิดสงสัยว่า ทำไมครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องมาสั่งตนคนเดียว จึงรีบเดินไปวัดบ้านปาง เพื่อจะสอบถามกับครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่ไปไม่ทัน ครูบาเจ้าศรีวิชัยดับจิตเสียก่อน

และวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพ มีชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านได้ยินเสียงฟ้าคำรามเบาๆ แต่ญาติโยมที่เฝ้าครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ยิน เพราะมัวแต่ร้องไห้

ความที่ท่านมรณะในเวลาก่อนจะตีหนึ่ง แต่พ้นเที่ยงคืนนิดหน่อยเท่านั้น จึงมีบางท่านบันทึกว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณะวันที่ 20 กุมภาพันธ์ อันตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 2 ค่ำ

ดังเช่นในแผ่นจารึกหินอ่อนป้ายสถูปครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันแตกหักเป็นสองท่อน ทำขึ้นใน พ.ศ.2490 ในคราวที่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยครูบาศีลาภรณ์พิมล (ครูบาบุญมา สีลาภิรโต) มหาวงศ์ ภิกขุ ที่แผ่นจารึกเขียนวันมรณภาพของครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า เดือน 6 เหนือขึ้น 2 ค่ำ วันจันทร์ กุมภาพันธ์ 2481

คร่าวร่ำของ “พ่อน้อยจี๋” ระบุวันเวลาที่เริ่มเคลื่อนศพครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากวัดบ้านปางสู่วัดจามเทวี ว่าอยู่ในเดือน 6 เหนือ แรม 3 ค่ำ ปี 2482 (หมายถึงต้นปี 2483 คือเก็บศพที่วัดบ้านปางหนึ่งปีเต็ม)

ทั้งๆ ที่เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ได้เดินทางมาขอร้องให้ย้ายศพครูบาเจ้าศรีวิชัยไปไว้ที่วัดจามเทวีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2482 เพื่อสะดวกต่อการกราบไหว้ของประชาชนทั่วล้านนา

แสดงว่าพ่อน้อยจี๋ ย่อมทราบดีว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยละสังขารในปีขาล วันอังคาร เดือน 6 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ (ตรงกับ 21 กุมภาพันธ์) จึงพยายามอิดเอื้อนรั้งเวลาเก็บศพไว้ที่วัดบ้านปางให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็มีข้อต่อรองกับเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ได้ว่าขอเก็บศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ มาตุคามเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

จดหมายแจ้งข่าวมรณกรรมครูบาเจ้าฯ
ครูบาทองสุขลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์

หลักฐานสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณะวันที่ 21 กุมภาพันธ์ อีกชิ้นหนึ่ง ก็คือราวปี 2530 ครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม แห่งวัดพระธาตุแสงแก้วมงคล จังหวัดพะเยา กำลังวางแผนจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องบริขารครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง จึงเก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาอานันท์ได้สัมภาษณ์ “ครูบาทองสุข ธมฺมสโร” (บั้นปลายชีวิตสึกเป็นหนาน พระลูกศิษย์ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้วางใจมาก เป็นผู้ที่เอาน้ำผึ้งกรอกปากครูบาเจ้าศรีวิชัยทันทีที่มรณะ และได้รับมอบหมายให้รักษาการเฝ้าวัดบ้านปางแทน จึงมีสถานะเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านปางรูปที่ 2) ขณะนั้นมีอายุ 90 ปีกว่า เล่าให้ครูบาอานันท์ ฟังว่า

“ครูบาเจ้าศรีวิชัยบอกกับศิษยานุศิษย์ในคืนวันจันทร์ว่า “เฮาจะละสังขารในวันที่เฮาเกิดเน้อ” (หมายถึงวันอังคาร) จากนั้นท่านก็ถามศิษย์ตลอดเวลาว่า เลยเที่ยง (หมายถึงเที่ยงคืน – ภาษาเหนือนิยมเรียกเที่ยงคืนแบบย่อๆ ว่าเที่ยงเท่านั้น) หรือยัง ถ้าถึงเที่ยงแล้วให้บอกด้วย ครั้นเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนเศษ ท่านก็ถามย้ำอีกว่าเลยเที่ยงแล้วใช่ไหม ลูกศิษย์ยังไม่อยากให้ท่านสิ้นลม ก็ไม่มีใครกล้าบอก แต่ก็อดสงสารท่านไม่ได้ เพราะสภาพสังขารท่านไม่ไหวแล้วจริงๆ จึงตัดสินใจบอกความจริงกับครูบาว่าล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่แล้ว จากนั้นครูบาก็ละสังขาร”

การยืนยันเจตนารมณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าท่านมีความประสงค์จะละสังขารในวันอังคารนั้น ตามความเชื่อของชาวล้านนา หากเมื่อคนเราเกิดและตาย ในวันหรือปีเดียวกัน จะเชื่อว่าผู้ตายได้หมดบุญที่มีมาแล้ว ถือเป็นการตายที่สมบูรณ์

หลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพได้เพียง 3 วัน ครูบาทองสุขได้เขียนจดหมายแจ้งข่าวต่อเครือข่ายศิษยานุศิษย์ทั่วล้านนา ในจดหมายลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมรณภาพในวันที่ 22 มีนาคม เพราะจักเป็นการขัดแย้งกับหัวจดหมาย (จดหมายฉบับนี้เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านปาง โดยครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม เป็นผู้ไปขอจดหมายจากทายาทของพ่อหนานอ้าย ชาวดอยสะเก็ด ผู้เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ได้รับจดหมายของครูบาทองสุข)

หากนับตั้งแต่วันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดคือ 11 มิถุนายน 2421 ถึงวันมรณภาพ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (หรือนับแบบปัจจุบันคือ 2482) แล้ว สิริรวมอายุได้ 60 ปี 8 เดือน 10 วัน หรือมีอายุย่าง 61 ปี

ตรงกับข้อมูลสัมภาษณ์แม่ชีเทียมตา ไชยกันต์ จากบ้านแม่ช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ อายุ 91 ปี (เมื่อ พ.ศ.2559) เล่าว่ามีคร่าวซอขับร้องป่าวประกาศกระจายข่าวกันทั่วแผ่นดินล้านนาตอนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพใหม่ๆ ว่า

“หกสิบเอ็ด เป็นเสร็จธุระ สีวิไชยพระ ท่านเสี้ยงแก่กรรม”

เป็นที่รับรู้กันในสังคมล้านนาว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพในขณะที่อายุย่าง 61 ปีแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะระบุวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หรือ 21 กุมภาพันธ์ ก็มีค่าเท่ากัน ถือว่าไม่ผิดทั้งคู่ แต่หากจะยึดตามเจตนารมณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างแท้จริงแล้ว พบว่าท่านมีความประสงค์จะมรณภาพในวันอังคาร มิเช่นนั้นคงไม่อั้นลมหายใจให้ยืดยาวข้ามคืน

 

22 มีนาคม
การตีความที่คลาดเคลื่อน

ส่วนกรณีที่เอกสารบางเล่มตีความเป็นวันที่ 22 มีนาคมนั้น ปรากฏครั้งแรกในหนังสือที่พระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน จัดทำเพื่อบำเพ็ญกุศลศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี 2482

เป็นการนำระบบการนับเดือนทางจันทรคติไปเทียบกับภาคกลางแบบคร่าวๆ โดยไม่คำนึงถึงรายละเอียดปลีกย่อย คือคิดว่าในเมื่อโดยมาตรฐานแล้ว เดือน 6 เหนือ = เดือน 4 กลาง ดังนั้น คำว่าเดือน 4 ควรจะต้องเป็นมีนาคม และวันขึ้น 2 ค่ำ (หากยึดก่อนเที่ยงคืน) ในเดือนมีนาคม ก็จะตรงกับวันที่ 22 จึงได้ยึดเอาวันนั้นมาเป็นวันมรณะของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเทียบกับตารางปฏิทิน 120 ปี พบว่าวันที่ 22 มีนาคม 2481 (หรือ 2482 ตามแบบใหม่) ตรงกับวันพุธ ไม่ใช่วันอังคาร ซ้ำยังเข้าสู่ปีเถาะ ล่วงเลยจากปีขาลไป อีกทั้งเดือนมีนาคมตั้งแต่วันที่ 21 เป็นต้นมาก็เข้าสู่เดือน 5 ภาคกลาง หรือเดือน 7 เหนือไปแล้ว ไม่ใช่เดือน 6 อีกต่อไป

สำหรับประเด็นการที่มีหนังสือบางเล่ม ระบุวันที่ 22 มีนาคม ด้วยเช่นกันนั้น เข้าใจว่าเป็นการเขียนตามการตีความของพระวิมลญาณมุนี ที่เผยแพร่ไว้ก่อนแล้ว เพราะหนังสือของพระวิมลญาณมุนีได้พิมพ์แจกอย่างแพร่หลายในช่วงบำเพ็ญกุศลศพครูบาเจ้าศรีวิชัยตอนที่เคลื่อนศพมาวัดจามเทวีหลังมรณภาพ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ท่านที่เชื่อว่า 22 มีนาคมคือวันที่ถูกต้อง ก็ถือว่าสงวนไว้สำหรับความเห็นส่วนบุคคล เพราะท้ายที่สุด ผู้อ่านจะใช้วิจารณญาณของตนเองเป็นผู้ตัดสิน