พระพรหมพิจิตร กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พระพรหมพิจิตร

กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่

ในระบอบประชาธิปไตย (จบ)

 

ระหว่างปี พ.ศ.2481-2482 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจราชการทางจังหวัดภาคใต้

ท่านได้ปรารภว่า การออกแบบวัดวาอารามต่างๆ ตามระยะทางที่ได้ผ่านมา มีลักษณะทรวดทรงไม่สวยงาม ไม่เหมาะสมที่จะเป็นเครื่องแสดงวัฒนธรรมของชาติ

จากความเห็นดังกล่าว รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการออกแบบพระอุโบสถที่ได้มาตรฐานทางสถาปัตยกรรมไทยขึ้น เพื่อจัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ประชาชนและเจ้าอาวาสทั้งหลาย ได้เห็นเป็นตัวอย่างในการนำไปใช้ก่อสร้างต่อไป

กรมศิลปากรได้มอบหมายให้พระพรหมพิจิตร นายช่างสถาปัตยกรรมไทยที่เชี่ยวชาญที่สุด ณ ขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถมาตรฐาน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ 3 ขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีมากน้อยต่างกันไปของวัดแต่ละแห่ง

การออกแบบในครั้งนั้น รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อว่า “พระอุโบสถมาตรฐานแบบ ก. ข. ค.”

โบสถ์ ก. ข. ค. แบบ ก-1

พระอุโบสถแบบ ก. มีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 8.15 เมตร ยาว 23.00 เมตร เป็นพระอุโบสถขนาด 7 ห้อง หลังคาซ้อน 3 ชั้น ชั้นละ 3 ตับหลังคา

พระอุโบสถแบบ ข. มีขนาดกว้าง 7.50 เมตร ยาว 12.70 เมตร เป็นพระอุโบสถขนาด 6 ห้อง หลังคาด้านหน้าซ้อน 3 ชั้น ด้านหลังซ้อน 2 ชั้น หลังคาทุกชั้นซ้อน 3 ตับหลังคา โดยด้านหน้าออกแบบให้มีมุขลดยื่นออกมา 4.50 เมตร

พระอุโบสถแบบ ค. มีขนาดกว้าง 7.00 เมตร ยาว 13.75 เมตร เป็นพระอุโบสถขนาด 7 ห้อง หลังคาด้านหน้าซ้อน 3 ชั้น ชั้นละ 3 ตับหลังคา โดยออกแบบให้มีมุขลดด้านหน้าและหลังยื่นออกมายาวด้านละ 4.00 เมตร

แบบพระอุโบสถมาตรฐานชุดนี้ได้ถูกแจกจ่ายกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะหนังสือทั่วไปอีกเป็นครั้งคราว เพื่อชักจูง โน้มน้าว หรือแม้กระทั่งกึ่งบังคับให้มีการสร้างอาคารภายในวัดของตนเองด้วยรูปแบบมาตรฐานนี้

 

ความพยายามในการสร้างมาตรฐานของชาติให้เกิดขึ้นในทุกอย่างทางวัฒนธรรม (ภาษา สำเนียงพูด ศิลปะ สถาปัตยกรรม ฯลฯ) เป็นปรากฏการณ์ปกติในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นรัฐชาติ ไม่เว้นแม้กระทั่งสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติ 2475 ที่ในทางวิชาการค่อนข้างเห็นตรงกันว่า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยก้าวสู่ความเป็นรัฐประชาชาติอย่างแท้จริง

จึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาดังกล่าว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจอมพล ป. ที่แนวคิดชาตินิยมไทยกำลังเฟื่องฟูมาก) เราจึงเห็นนโยบายที่เน้นการสร้างมาตรฐานกลางทางวัฒนธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยมาตรฐาน ดนตรีไทยมาตรฐาน การแต่งกายไทยมาตรฐาน สำเนียงไทยมาตรฐาน ศิลปะไทยมาตรฐาน ฯลฯ

ซึ่งการออกแบบ “พระอุโบสถมาตรฐานแบบ ก. ข. ค.” ก็คือผลผลิตของแนวคิดดังกล่าวที่ต้องการมองหาหรือสร้างมาตรฐานกลางของงานสถาปัตยกรรมไทยให้เกิดขึ้น

แต่ภายใต้การสร้างมาตรฐานกลาง ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบมุมกลับที่ไม่อาจเลี่ยงได้คือ การทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมลง

ภาษาถิ่นมากมายถูกลดความสำคัญหรือทำให้สูญหายไปภายใต้การสร้างมาตรฐานทางภาษาให้เกิดขึ้น สำเนียงพูดและสำเนียงดนตรีที่หลากหลายสูญหายเพื่อเปิดทางให้แก่สำเนียงพูดและสำเนียงดนตรีมาตรฐาน

 

การออกแบบพระอุโบสถมาตรฐานของพระพรหมพิจิตรก็เช่นกัน แม้จะมีการออกแบบให้มีขนาดและรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันถึง 3 แบบ แต่ถ้าดูให้ดีก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนออกแบบขึ้นจากรูปทรงและองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรมไทยแบบภาคกลาง หรือให้ชัดขึ้นก็คือ แบบกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว

แบบชุดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ชาตินิยมไทยทางสถาปัตยกรรม ณ ขณะนั้น ที่เลือกยกย่องรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบกรุงเทพฯ เพียงแบบเดียวให้เป็นตัวแทนของชาติและความเป็นไทย ซึ่งแน่นอน ผลกระทบ (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ที่ตามมา คือ ความรู้สึกรังเกียจศิลปะท้องถิ่น รู้สึกว่าไม่สวยงามมากพอ และรู้สึกว่าไม่มีคุณค่าทางศิลปะมากเพียงพอ

ยิ่งไปกว่านั้น คือ “พระอุโบสถมาตรฐานแบบ ก. ข. ค.” ถูกออกแบบขึ้นโดยการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก (ซึ่งเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในช่วงดังกล่าว) เป็นโครงสร้างหลักในการก่อสร้าง ก็ยิ่งทำให้งานออกแบบของพระพรหมพิจิตรชุดนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

“พระอุโบสถมาตรฐานแบบ ก. ข. ค.” ได้กลายเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรื้อถอนพระอุโบสถแบบดั้งเดิมที่ถูกออกแบบด้วยศิลปะท้องถิ่นลงอย่างมากมาย

รูปแบบพระอุโบสถฉบับมาตรฐานกลางจากกรุงเทพฯ ของพระพรหมพิจิตรได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยและสวยงามแบบใหม่ในสายตาของชนชั้นนำท้องถิ่นโดยเฉพาะเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

แม้ปัจจุบันกระแสเรียกร้องและรื้อฟื้นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นกำลังเฟื่องฟูอย่างมาก แต่อิทธิพลของงานชุดนี้ก็ยังดำรงอยู่ แม้หลายวัดจะมีการออกแบบปรับแปลงในรายละเอียดตกแต่งทางสถาปัตยกรรมให้แตกต่างออกไปบ้างตามแต่ละท้องที่ แต่โครงสร้างภาพรวมทางรูปแบบและแผนผัง ก็ยังอาจกล่าวได้ว่ามีกลิ่นอายของงานออกแบบของพระพรหมพิจิตรชุดนี้ผสมอยู่ไม่มากก็น้อย

นอกจากความพยายามสร้างมาตรฐานกลางทางสถาปัตยกรรมไทยผ่านการออกแบบ “พระอุโบสถมาตรฐาน ก. ข. ค.” แล้ว พระพรหมพิจิตรยังมีส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานดังกล่าวให้เกิดขึ้นผ่านการเขียนตำราทางสถาปัตยกรรมไทยอีกด้วย

ภายหลังเกษียณอายุราชการ พระพรหมพิจิตรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

ในช่วงเวลานี้เองที่ท่านได้ผลิตผลงานชิ้นสำคัญที่สุดอีกชิ้นขึ้นมาในรูปของตำราที่นักเรียนสถาปัตยกรรมไทยทุกคนรู้จักกันดีในชื่อว่า “พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น”

ตำราเล่มนี้ ถือว่าเป็นตำราวิชาการทางสถาปัตยกรรมไทยเล่มแรกที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจและจริงจังที่จะให้เป็นตำราเรียนวิชาช่างในระดับที่กว้างขวางแพร่หลาย

น่าเสียดายที่ท่านมีโอกาสได้เขียนเพียงพุทธศิลป์ภาคต้นเพียงเล่มเดียว ทั้งๆ ที่ท่านได้เคยมีปรารภว่าจะเขียนภาคปลายต่อไปอีก แต่ด้วยสังขารที่ไม่อำนวยแก่การทำงานหนักอีกต่อไป จึงทำให้ท่านเสียชีวิตเสียก่อนที่จะได้มีโอกาสเขียนตำราทางสถาปัตยกรรมไทยเล่มต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ตำราเล่มนี้ก็ถือได้ว่ามีค่าและสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาทางสถาปัตยกรรมไทยในเวลาต่อมา เพราะเนื้อหาที่รวบรวมอยู่ในเล่มเป็นการปูความรู้พื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยขั้นต้นให้แก่ผู้สนใจได้เป็นอย่างดี มีการจัดหมวดหมู่องค์ประกอบลวดลายและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน

“พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น” ได้กลายเป็นตำราพื้นฐานภาคบังคับแก่นักเรียนสถาปัตยกรรมไทยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งแม้จนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอก็คือ ในอีกด้านหนึ่ง ตำราเล่มนี้ก็เป็นเพียงตำราที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมไทยแบบภาคกลาง ภายใต้บริบทของแนวคิดชาตินิยมไทยที่ต้องการสร้างมาตรฐานกลางของชาติในทุกอย่างเท่านั้น

มิใช่ภาพตัวแทนของสถาปัตยกรรมไทยทั้งหมดแต่อย่างใด

 

จากผลงานหลากประเภทที่กล่าวมาหลายตอน เราคงเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วนะครับว่า ผลงานที่พระพรหมพิจิตรได้สร้างขึ้นมาตลอดชีวิตนั้น แสดงออกถึงคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการที่ทำให้นายช่างหรือสถาปนิกท่านใดก็ตามในโลกนี้ควรค่าแก่การถูกจดจำและระลึกถึงอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นความสามารถสร้างสรรค์งานที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นเฉพาะตัว

ผลงานที่สามารถสนองตอบต่ออุดมคติร่วมของยุคสมัย ณ ขณะที่ผลงานนั้นๆ ถูกสร้างขึ้น

และที่สำคัญที่สุดคือ ผลงานยังคงส่งอิทธิพลต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลในแง่ดีหรือร้ายก็ตาม

ซึ่งบางอย่างเราก็คุ้นชินในชีวิตประจำวันมากจนแทบจะไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่พระพรหมพิจิตรเพิ่งออกแบบขึ้นเมื่อไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง

เช่น เมรุถาวรสำหรับสามัญชน และพระอุโบสถมาตรฐาน ก. ข. ค. เป็นต้น

หรือผลงานบางอย่างก็ดูก้าวหน้าล้ำสมัยแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังแลดูไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลงานที่เกิดขึ้นมากว่าแปดสิบปีแล้ว เช่น อนุสาวรีย์ไทย และซุ้มประตูสวัสดิโสภา เป็นต้น

ในความเห็นผม หากเรามองว่า คุณูปการของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามที่พัฒนางานสถาปัตยกรรมไทยเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เราก็อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า พระพรหมพิจิตรคือนายช่างสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ที่พัฒนางานสถาปัตยกรรมไทยเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง