ERRATA สำรวจสะเก็ดประวัติศาสตร์การเมืองหลากสัญชาติ ผ่านบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะสี่พิพิธภัณฑ์ (2) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ERRATA

สำรวจสะเก็ดประวัติศาสตร์การเมืองหลากสัญชาติ

ผ่านบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะสี่พิพิธภัณฑ์ (2)

 

“ต่อด้วยผลงานในส่วนห้องโถงหลักของนิทรรศการ ERRATA ด้วยความที่เราอยากเล่นกับค่านิยมในการทำนิทรรศการของบ้านเราที่มักจะมีปัญหากับพื้นที่ว่าง คือเป็นโรคกลัวความว่าง พอเห็นความว่าง ก็ต้องถมพื้นที่ว่างให้เต็ม หรือเห็นผนังว่างไม่ได้ จะเป็นจะตายเอา”

“เราก็เลยเอาผลงานของ วิลเลม เดอ รอยจ์ ศิลปินชาวดัตซ์ชื่อ Bouquet IX (Whiteness/ White Versions) ที่เป็นช่อดอกไม้สีขาว 10 ดอก ปักในแจกัน ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเสียดสีถึงการบูชาความขาวของผนังหอศิลป์และสถาบันศิลปะแล้ว ยังเย้ยหยันถึงการคลั่งความสูงส่งของคนผิวขาว (White supremacy) ที่เป็นต้นเหตุของวัฒนธรรมการล่าอาณานิคม และการแบ่งแยกสีผิว”

“เราวางผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นหลักตรงกลางของนิทรรศการ สิ่งที่เราอยากจะพูดอีกอย่างคือความสูญหายของประวัติศาสตร์ เราเลยปล่อยพื้นที่ให้โล่งว่างสุดๆ เพื่อให้คนดูได้หายใจด้วย”

“หรือผลงานอีกชิ้นในห้องเดียวกัน เป็นของศิลปินสิงคโปร์ โฮ ซู เหนียน อย่าง The Critical Dictionary of Southeast Asia : F for Fold ที่เป็นเหมือนการหยิบเอาอัลกอรึธึ่มจากอินเตอร์เน็ตที่สะท้อนวิกฤตทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาแสดงผ่านพยัญชนะภาษาอังฤษ A-Z (A = Anarchist, C = Corruption, Coup d’?tat)”

“ซึ่งเป็นงานที่เป็นตัวแทนของศิลปะยุคหลังการมาถึงของอินเตอร์เน็ต (Post-Internet art) ได้อย่างชัดเจนมาก”

 

“พอเราพูดถึงการล่าอาณานิคม เราก็เลยอยากจะพูดถึงวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคนี้ เราก็เลยหยิบวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์มาเล่น แต่เราอยากท้าทายการเล่าเรื่องของรามเกียรติ์ที่คนเคยรับรู้ เพราะรามเกียรติ์มีที่มาจากรามายณะ ซึ่งเป็นวรรคดีสำคัญมากของอินเดียที่เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอิทธิพลมากในการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมและความเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“เริ่มจากผลงานของ อาราไมอานี ศิลปินอินโดนีเซีย ที่เล่นเกี่ยวกับรามเกียรติ์ในมุมมองของผู้หญิง โดยใช้ตอน “สีดาลุยไฟ” มาทำงานศิลปะที่เล่นกับเงาเหมือนหนังตะลุง แต่แทนที่จะใช้หนังสัตว์ฉลุทำเงา เธอกลับใช้ใบไม้สักแทนตัวสีดา ด้วยความที่ศิลปินเป็นมุสลิม ผลงานชิ้นนี้จึงตั้งคำถามถึงความเป็นผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ของมุสลิม ด้วยการใช้เรื่องราวจากรามายณะในเชิงเปรียบเทียบ ว่าทำไมสีดาจึงต้องลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ชื่องานของเธอแปลว่า “ฉันไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของตำนานของคุณ”

อากุง กูรนิอาวัน Sinta Love Rahwana, and Rama Love Sinta, 2010, ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

“หรือผลงานของศิลปินอินโดนีเซียอีกคนชื่อ อากุง กูรนิอาวัน ที่พูดเรื่องรามายณะในมุมมองของพระราม สีดา และทศกัณฐ์ ในมุมมองแบบรักสามเส้า ที่มีประเด็นแบบชายรักชายอยู่ด้วย งานของศิลปินคนนี้ส่วนใหญ่จะสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการเป็น LGBT ในอินโดนีเซียเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างมาก”

“หรืองานของ พิเชษฐ กลั่นชื่น และ เชน บุนนาค I am a demon – moments (2015) ที่ตีความรามเกียรติ์ผ่านมุมมองของทศกัณฐ์ ตัวร้ายของเรื่อง เพราะตัวเขาฝึกโขนในบทของตัวยักษ์มาตลอด ในขณะเดียวกัน ตัวพิเชษฐเองก็ถูกมองว่าเป็นตัวร้ายผู้ทำลายขนบธรรมเนียมทุกอย่างในวงการโขนด้วยเหมือนกัน”

“หรืองานของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ที่เป็นมงกุฎที่ทำจากกระดาษลัง ซึ่งเป็นการเล่นกับประเด็นของการสร้างสิ่งของที่มีความหมายสูงที่สุดจากของเหลือใช้ที่ดูไร้ค่าที่สุด”

The Propeller Group, Television Commercial for Communism (2011-12), เอื้อเฟื้อภาพโดย The Propeller Group

“ส่วนถัดมาของนิทรรศการ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นของสงครามเย็น เริ่มต้นด้วยผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ Television Commercial for Communism (2011-12) โดยกลุ่มศิลปินเวียดนาม The Propeller Group ที่ทำเป็นสารคดีจำลองของบริษัททำโฆษณา ที่รีแบรนด์ภาพลักษณ์พรรคของคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้นใหม่ ในลีลาที่ยียวนกวน (ทีน) มากๆ”

“ผลงานในยุคสงครามเย็นอีกชิ้นที่แสบสันไม่แพ้กันคืองานสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติเบอร์ลินชินชื่อ Oh Yoko (1963) ของ เคอิจิ ทานามิ ศิลปินแอนิเมชั่น เขายังเป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Playboy ของญี่ปุ่นด้วย”

เคอิจิ ทานามิ : Oh Yoko! (1973), เอื้อเฟื้อภาพโดยศิลปิน และ GalerieGebr. Lehmann, เยอรมนี

“งานชิ้นนี้เขาทำมิวสิกวิดีโอเพลง Oh Yoko ให้จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ซึ่งพอพูดถึงสงครามเย็น เราก็มักจะพูดเรื่องการต่อต้านสงคราม พอพูดถึงการต่อต้านสงคราม คนที่เรามักจะนึกถึงมากที่สุดก็คือจอห์นกับโยโกะ เหตุผลอีกอย่างที่เอางานชิ้นนี้มาแสดงที่นี้ก็เพราะในมิวสิกวิดีโอมีภาพ Yellow Submarine (เรือดำน้ำสีเหลือง) เพราะเราอยากแซวรัฐบาลที่หมกมุ่นกับการซื้อเรือดำน้ำเสียเหลือเกินอะนะ”

“หรืองานที่เราจำลองผลงานของกลุ่มศิลปินอินโดนีเซียในยุค 1863 ชื่อ Indonesian New Art Movement ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นศิลปินกลุ่มแรกๆ ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับวงการศิลปะอินโดนีเซีย วงการศิลปะนั่นแต่มีงานตามขนบที่ส่งประกวดในนิทรรศการศิลปะกรรมแห่งชาติ ศิลปินที่ทำงานแหวกแนวออกไปก็จะโดนคัดออก ก็เลยเกิดการประท้วงจนทำให้ศิลปินกลุ่มนี้ถือกำเนิดขึ้นมา แบบเดียวกับ Salon des Refus?s ในยุค 1863 ของฝรั่งเศส”

โดโลโรซ่า ซินากา : Solidarity (2000) สนับสนุนการสร้างผลงานโดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศอินโดนีเซีย

“หรือผลงานของศิลปินอินโดนีเซีย โดโลโรซ่า ซินากา ที่พูดถึงความเป็นภราดรภาพของสตรีเพศ และสะท้อนถึงจิตวิญญาณของความเป็น Solidarity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน) ของประเทศอินโดนีเซีย”

“ซึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในห้าประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชิญทุกประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคม ทั้งแอฟริกา, อินเดีย, ปากีสถาน ฯลฯ มาร่วมการประชุมที่เมืองบันดุงในปี 1955 ในชื่อ Bandung Conference จนกลายเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โลกที่สาม (Third World) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”

 

นิทรรศการ ERRATA : COLLECTING ENTANGLEMENTS AND EMBODIED HISTORIES จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2022 นี้

เปิดให้เข้าชมวันศุกร์-จันทร์ เวลา 10.00-18.00 น. (ค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 150 บาท, เด็กและผู้สูงอายุ 100 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.maiiam.com