คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (2)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (2)

 

การเจรจารื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน หรือข้อตกลงแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน (Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA) รอบที่ 8 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศ P4+1 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีแนวโน้มว่าอาจจะยืดเยื้อออกไปอีกหลายสัปดาห์เนื่องจากยังคงมีประเด็นข้อเรียกร้องจากทั้งอิหร่านและสหรัฐ ที่ยังคงหายุติไม่ได้

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของฝ่ายอิหร่านที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากสหรัฐ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วทั้งสองฝ่ายต่างต้องการกลับเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าว เพราะตระหนักดีว่าความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีมากหากการเจรจาครั้งนี้ล้มเหลว ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่สงครามในภูมิภาค

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย นำเสนอข้อคิดเห็นของนายฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน (Dr. Hossein Amir-Abdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เกี่ยวกับการเจรจาครั้งนี้ ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วว่า

“หนทางข้างหน้าของการเจรจาเวียนนา แม้ว่าชาติตะวันตกจะไม่ได้ดำเนินการใน JCPOA อย่างมีนัยสำคัญ แต่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านก็พร้อมโดยสุจริตใจอีกครั้งสำหรับการเจรจาที่เน้นผลเพื่อให้ได้ ‘ข้อตกลงที่ดี’ กับ P4+1”

P4+1 คือประเทศจีน รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ พร้อมกับอีก 1 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก คือ เยอรมนี

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

“สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมีศรัทธาที่ดี มุ่งมั่นอย่างจริงจัง และเจตจำนงที่จำเป็นต่อการบรรลุข้อตกลงที่ดีในกรุงเวียนนา ในกระบวนการนี้ ไม่ควรลืมว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ร้ายหลักที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสถานะที่เป็นอยู่ และในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ละเว้นความพยายามใดๆ ที่จะทำลายข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่อิหร่านเป็นผู้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาข้อตกลงนี้ให้คงอยู่”

“สำหรับอิหร่าน สิ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงการเจรจาหกรอบที่ผ่านมาคือ สหรัฐยังคงล้มเหลวในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีทางใดที่จะกลับไปยัง JCPOA ได้ หากปราศจากการยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมดที่บังคับใช้กับประเทศอิหร่านหลังสหรัฐประกาศถอนตัวจากข้อตกลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 เป็นต้นมา”

“มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2231 เรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิก ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม JCPOA รวมถึงการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ใน JCPOA และโดยการงดเว้นจากการกระทำที่บ่อนทำลายการปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้ JCPOA”

“วัตถุประสงค์หลักของการเจรจาที่เกิดขึ้นควรเป็นการดำเนินการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพของ JCPOA และการแสวงหาเป้าหมายในการทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอิหร่านเป็นปกติ”

“เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าในการกลับไปยัง JCPOA อิหร่านควรได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด โดยอิหร่านพร้อมที่จะยุติการใช้มาตรการแก้ไขทั้งหมดหากมีการค้ำประกัน มีการประเมินความเสียหาย และการคว่ำบาตรทั้งหมดต้องได้รับการยกเลิกอย่างมีประสิทธิผลและสามารถตรวจสอบได้”

“การกลับมาของสหรัฐสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์จะไม่มีความหมาย เว้นแต่จะมีการเสนอการรับประกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประสบการณ์อันขมขื่นซ้ำซากดังในอดีต และคู่ค้าของอิหร่านสามารถเข้าสู่การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจระยะยาวกับอิหร่านได้อย่างมั่นใจโดยปราศจากความกังวลใดๆ”

 

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

“สิ่งที่ชัดเจนในการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ อิหร่านจะไม่ยอมรับคำขอที่อยู่นอกเหนือ JCPOA สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจะไม่เข้าร่วมการอภิปรายใดๆ เกี่ยวกับประเด็นอื่นนอกเหนือจากข้อตกลงนิวเคลียร์”

“ขอย้ำอีกครั้งว่าโอกาสนี้ไม่ใช่หน้าต่างที่จะเปิดได้ตลอดไป สหรัฐและสามชาติยุโรปต้องเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี”

“ในขณะที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านซึ่งใช้ความพยายามทางการทูตอย่างแข็งขันเพื่อขจัดการกดขี่จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ได้คิดค้นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการคว่ำบาตรตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”

“แน่นอนว่า เตหะรานยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาและปกป้องความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อย่างสันติ ทั้งยังไม่เบี่ยงเบนจากโครงการนิวเคลียร์อย่างสันติ โดยจะไม่ละทิ้งการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งในอุตสาหกรรม การค้า การเดินเรือ อวกาศ การป้องกัน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และจะไม่ลดระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เพิ่มพูนขึ้น”

“ข้อตกลงอาจเป็นไปได้หากพรรคการเมืองอื่นแสดงเจตจำนงทางการเมืองในทางปฏิบัติ แม้จะมีคำมั่นสัญญาที่ไม่น่าพึงพอใจจากตะวันตกและไม่น่าเชื่อถือต่อแนวทางและนโยบายที่ไม่สร้างสรรค์ของทำเนียบขาว สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านก็จะพยายาม ‘ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง’ และ ‘โดยสุจริต’ จากการเจรจาที่กรุงเวียนนาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในเรื่องที่ดี ที่ยั่งยืนและที่พิสูจน์ได้ สำหรับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร”

“คณะผู้เจรจานิวเคลียร์ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและจริงจังโดยสุจริต ต่อการเจรจา ณ กรุงเวียนนา รวมทั้งได้ดำเนินการตามตรรกะในการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์และสิทธิของประเทศอิหร่าน”

“เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าและข้าพเจ้า ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคณะผู้เจรจาและหัวหน้าคณะผู้เจรจา คือนาย Ali Baqeri Kani ซึ่งมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางต่อการเจรจาในสาขานี้ ส่วนข้าพเจ้าจะมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับคู่กรณีเมื่อจำเป็น”

 

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้สรุปประเด็นความต้องการของอิหร่านในการเจรจารื้อฟื้นข้อตกลง JCPOA รอบที่ 8 พบว่า อิหร่านได้พยายามยื่นข้อเสนอและเงื่อนไขในการเจรจามาโดยตลอดว่า ต้องการให้สหรัฐยืนยันและให้คำรับรองแก่อิหร่านใน 4 ประเด็นความต้องการ คือ

1) ข้อตกลงแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์อิหร่านนี้จะไม่ถูกยกเลิกหรือบิดพลิ้วโดยสหรัฐในอนาคตหลังการลงจากอำนาจของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดังนั้น สหรัฐในกรณีนี้จะต้องให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อิหร่านว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลสหรัฐในอนาคต พรรคการเมืองนั้นๆ ก็จะรักษาข้อผูกพันและพันธสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงนี้ จะไม่มีการถอนตัวกลางคันดังเช่นที่ผ่านๆ มา

2) อิหร่านจะต้องได้รับการรับรองว่าการลงโทษทางเศรษฐกิจของอิหร่านจะหมดสิ้นไปหลังการกลับเข้าสู่ข้อตกลงนี้ โดยเฉพาะการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงในปี 2018 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำไปสู่การคว่ำบาตรสถาบัน องค์กร และบุคคลของอิหร่าน กว่า 1 พันราย ดังนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเบื้องต้นที่อิหร่านต้องการคือ สหรัฐจะต้องยกเลิกการคว่ำบาตรเหล่านี้โดยทันทีก่อนที่อิหร่านจะกลับคืนเข้าสู่และปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลง JCPOA อย่างเต็มรูปแบบ ในกรณีนี้ สหรัฐจะต้องให้การรับรองว่ามาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดจะถูกยกเลิกและอิหร่านจะต้องสามารถตรวจสอบได้ในทางปฏิบัติ

3) อิหร่านต้องได้รับการชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการถอนตัวและการคว่ำบาตรเพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐ ซึ่งอิหร่านได้ประเมินความเสียหายไว้ที่ 240 พันล้านเหรียญ (สองแสนสี่หมื่นล้านหรียญ) ถึงแม้ว่าการเรียกร้องความเสียหายในรูปเงินชดเชยจากสหรัฐอาจไม่สามารถกระทำได้แต่สิ่งที่อิหร่านต้องการคือการชดเชยในรูปแบบอื่นๆ เช่น การให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำในการกลับเข้าไปลงทุนในอิหร่านของนักธุรกิจสหรัฐ/อียู การให้เครดิตไลน์แก่ภาคธุรกิจของอิหร่าน รวมถึงแผนการชดเชยรูปแบบอื่นๆ ที่คณะเจรจาเห็นสมควร เป็นต้น

4) อิหร่านต้องการให้มีการทบทวนและแก้ไขกลไก Snapback ของสหประชาชาติที่กำหนดให้ชาติใดชาติหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสามารถยื่นขอให้นำกลไก Snapback (การไต่สวนก่อนการนำมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง) มาใช้กับอิหร่านได้ภายใน 30 วันหากพบว่าอิหร่านละเมิดเงื่อนไขข้อตกลง JCPOA ข้อใดข้อหนึ่งในอนาคต

ซึ่งอิหร่านเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะในขณะที่สมาชิกถาวรคณะมนตรีฯ ที่เหลืออีก 4 ประเทศอาจไม่เห็นด้วย แต่สหรัฐเพียงประเทศเดียวก็มีสิทธิ์วีโต้ได้ (Permanent Members 5 ประเทศ คือ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ)

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเด็นความต้องการ 4 ข้อข้างต้น อิหร่านได้นำเสนอเข้าสู่ที่เจรจาแล้วผ่านเอกสารข้อเสนอ 3 ฉบับ ซึ่งความต้องการที่ 1-2 เป็นประเด็นที่สร้างความลำบากใจให้กับสหรัฐเป็นที่สุด เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดมีกระบวนการพิจารณาและที่มาที่แตกต่างกันออกไป บางส่วนเป็นคำสั่งของประธานาธิบดี และบางมาตรการผ่านการอนุมัติโดยสภาคองเกรส เป็นต้น การยกเลิกมาตรการที่เป็นคำสั่งสามารถกระทำได้ทันที แต่ในส่วนที่อนุมัติโดยสภาคองเกรสจะต้องนำเข้าสภาพิจารณายกเลิก ซึ่งค่อนข้างยากในสถานการณ์ปัจจุบัน

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ให้ข้อสรุปว่า

“สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสนับสนุนสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระดับโลกมาโดยตลอด ในเรื่องนี้ อิหร่านได้ดำเนินขั้นตอนที่สำคัญมากเพื่อสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ การต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรงของอิหร่าน ในเรื่องนี้ นายพลสุไลมานี วีรบุรุษของชาวอิหร่าน (Martyr Soleimani) เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรงและการก่อการร้ายในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันตก”

ส่วนผลกระทบที่มีต่ออาเซียนและไทย

“ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐไม่สามารถลดทอนความสัมพันธ์ตามประเพณีของเรากับอาเซียนและไทยได้ การสรุปการเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่านกับ P4 + 1 จะทำให้ความร่วมมือทางการค้ากลับมาเป็นปกติ ซึ่งภาคเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงนี้”

 

ประวัติ มร.ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

เกิด : วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1961 ที่เมืองคาชาน (Kashan) อิหร่าน

การศึกษา : ปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิหม่าม ซาดิค (University of Imam Sadiq) อิหร่าน

สถานภาพ : สมรส บุตร-ธิดา 4 คน

ประสบการณ์ :

10 กรกฎาคม 2020-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เขตอาณาครอบคลุมประเทศลาวและเมียนมา

2017- 2020 : ผู้อำนวยการ กรมการกงสุล

2014-2017 : ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส แผนกกิจการอาหรับและแอฟริกา

2010-2014 : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไอวอรีโคสต์

2004-2010 : รองผู้อำนวยการ กองสื่อมวลชนสำหรับประเทศอาหรับและแอฟริกา

2000-2004 : ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน ในกรุงดามัสกัส และสตอกโฮล์ม

1996-2000 : เจ้าหน้าที่ชำนาญงานด้านการเมือง กองยุโรปกลางและเหนือ

1995-1996 : อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน กรุงวอร์ซอ โปแลนด์

1991-1995 : อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน ในกรุงลูซากา แซมเบียร์ และกรุงวอร์ซอ โปแลนด์

1990-1991 : เจ้าหน้าที่ชำนาญงานด้านการเมือง กรมแอฟริกา