เรียมเองฯ/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

เรียมเองฯ

 

เรียมเคยเป็นเมืองเขมรและยังเป็นอยู่เช่นนั้น แม้บางครั้ง ความสำคัญของเรียมจะถูกบดบังและเหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่นคราวรุ่งรางของการก่อสร้างพนมโบกอร์ที่มาแทนท่าเรือเรียมอันเงียบงันในสมัยอินโดจีน แต่เรียมก็ยังคงลักษณะอันพิเศษ ที่ใครเห็นก็หลงรักและหมายปองเจียระไน เจียนิจเช่นนั้น

เพราะเรียมมีฉากอันมากมายมาร่วมกว่าศตวรรษ ตั้งแต่กองทัพเรือเสียมขึ้นบกที่นี่ เรียมคือทางผ่านของทัพเรือต่างชาติ และมันคือบทบาทเรียม

เช่นเดียวกับการมาถึงของอ็องรี มูโอต์ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาผู้ทำให้โลกรู้จักกัมพูชาในยุคกลางศตวรรษที่ 19 มูโอต์ขึ้นเรือที่นี่ เขาทิ้งร่องรอยในบันทึกภาพเขียนสเกตช์ โดยเฉพาะชนเผ่าสะเตียงและสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง และที่สำคัญ ภาพสเกตช์ของอ็องรีที่ระบุว่า มีกษัตริย์เขมรองค์หนึ่งอยู่ที่นี่

มันทำให้เรียมและกำโปดไม่มีความเป็นอื่น นอกจากเมืองเขมรเท่านั้น

Phnom Penh Post

ซึ่งครั้งฝรั่งเศสถ่ายผ่านดินแดนอินโดจีนคืนแก่เขมรนั้น กำโปดและเรียมหลุดพ้นจากการขึ้นตรงต่อเวียดนามขณะที่เกาะรงไม่รอด เช่นเดียวกับเขตกัมปูเจียกรอมที่ชาวเขมรใต้เจ็บช้ำน้ำใจมาจนถึงทุกวันนี้

หรือหลักฐานจากนักธรรมชาติวิทยา-อ็องรี มูโอต์ (นักรบผู้ประกาศร่องน้ำเรียมจากสงครามและจอมสำรวจภูมิศาสตร์) ที่ระบุมะริด (พริกไท) ต่างหากที่ทำให้เรียมเหลือรอดและกำโปดถูกจดจำ บางทีมะริดรสดีเหมือนพริกไทเมืองจันท์ นอกจากละติจูดเดียวกันแล้ว ร่องน้ำจากอ่าวไทยไปอันนัมเคยมีเรียมเป็นแดนพัก

เรียมจึงเป็นทางผ่านแห่งการสำรวจทางเรืออย่างจริงจังในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับตราด จันทบุรี และเกาะหมาก

โรลองด์ มิเยร์ เคยเขียนบทความไว้ในวารสารของทางการอินโดจีน แต่ในนามของกำโปด เรียมต่างหากคือสะดือของเขมร เป็นยุทธศาสตร์ทางทะเลที่บารังหวงแหนวางให้เรียมเป็นจุดผ่านระหว่างตนกับสยาม

ถ้า ร.ศ.112 อ่าวสยามและจันทบุรีคือจุดบอดของความสูญเสีย ก็จงทราบเถิดว่า เรียมคือกองบัญชาการของทัพเรือบารังที่เข้ามาทอดสมอเรือรบรอจู่โจม

เราเองก็ทราบกันว่า ฤดูลมมรสุมที่พัดจากเวียดนามผ่านเรียมสู่ทะเลตราดและจันท์ก่อนถึงอ่าวสยาม และเช่นกันในบางฤดูมรสุม ลมจะพัดออกจากอ่าวสยามผ่านเรียมไปสู่ทะเลจีนใต้

cr : Sputnik News

และนั่นคือว่า ทำไมเรียมแม้จะไม่ใช่เส้นทางการค้า แต่ก็เป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อการศึกของเรือรบทั้งนาวาแบบยุคเก่าและยุคใหม่ที่เรียมรับมาหมด

เรียมจึงเป็นยุทธศาสตร์ทางเรือของกัมพูชาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาและชาติต่อๆ มา ตั้งแต่บารังจนถึงอเมริกาก็รู้ว่าเรียมนี่เองคืออำนาจที่ฝรั่งเศสชี้เป้าไว้

แม้ครั้งโน้น เรียมมีจุดอ่อนจากร่องน้ำที่ตื้นกว่ากำปงโสมหรือสีหนุวิลล์ แต่เมื่อถูกพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกเพื่อการพาณิชย์แห่งใหม่ ยิ่งทำให้เรียมกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกยกระดับให้เป็นฐานทัพเรือกัมพูชาเพื่อความมั่นคงของภูมิภาคแปซิฟิกที่อเมริกันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและฟูมฟักเรียม และใช้ประโยชน์ทางลับในคราวสงครามเวียดนาม

ถ้าเวียดนามเหนือมีเวียดกงฝังตัวตามแนวโฮจิมินห์เทร็ลเป็นมดงานในสงครามกองโจร อเมริกันก็มีเรียมและกำปงโสมเป็นฐานที่สอง แต่สำคัญกว่านั้นหากเวียดนามใต้หลุดไป เรียมนี่เองจะเป็นเทร็ลเส้นใหม่ของแปซิฟิก เป็นติ่งสะดือสุดท้ายก่อนไปสู่ทะเลจีนใต้

ที่นี่คือ ปากทวารแห่งความมั่นคงของยุทธศาสตร์อเมริกันในอินโด-แปซิฟิก ผลพวงจากอดีตที่อเมริกันมองเห็นมันอนาคต และนั่นเอง ทำไมว่าแม้สงครามเวียดนามจะร้างไปกว่า 40 ปีแล้ว แต่เรียมไม่เคยถูกมองข้าม?

เช่นเดียวกับสมเด็จฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา ที่รู้ดีว่าอะไรสำคัญ?

cr : Cambodianess

มูลค่าของเรียม ณ วันนี้ ไม่ใช่แค่เป็นที่ซ้อมรบทางทะเลกับกองทัพเรืออเมริกันปีละครั้งที่ความสำเร็จของมันไม่จีรังต่ออนาคตกัมพูชาใดๆ

แม้เรียมจะไม่ใหญ่เทียบเท่ากับฐานทัพเรือของประเทศบางแห่งในอาเซียน แต่เรียมเป็นจุดแข็งในทันทีที่มีจีนเป็นแบ๊กอัพ

ด้วยเหตุนั้น เรียมจึงถูกเล่นแร่แปรธาตุกับมหาอำนาจแต่ละข้างอย่างสนุกและอย่าประเมินเรียมต่ำไป มิฉะนั้น ทำไมเพนตากอนจึงหัวร้อนอย่างมากเมื่อเห็นเรือขุดทรายขยายร่องน้ำลึกในเขตเรียมหลังจากที่อาคารฐานทัพเรือเก่าของตนถูกทุบทิ้งไปหมดทีละแห่งโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของจีน

ในอดีต เรียมเคยได้ครอบครองยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่อเมริกันทิ้งไว้เมื่อสี่สิบปีก่อน

แล้วตอนนี้ พ่อของเรียมก็เลือกเองที่จะโละของเก่าชุดนั้นทั้งหมด แม้แต่สมบัติที่เพนตากอนหวงแหนมากถึงกับยื่นข้อเสนอเป็นเงินก้อนโตขอให้รักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ทางโยธาอันทรงคุณค่าของโลก แต่ช่างเป็นมุมมองของประเทศร่ำรวยแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือไม่?

การที่สมเด็จฮุน เซน ประกาศให้แม่ทัพสำรวจอาวุธยุทธภัณฑ์ของอเมริกันทั้งหมด ส่วนจะเก็บเข้ากองคลังหรือทำลายซากต่อไปก็ให้คิดกัน คือคำตอบที่ชัดเจนของผู้นำเขมรในการกำหนดอนาคตเรียมและกองทัพทุกเหล่าของกัมพูชา

cr : Press Tv

พลันที่มีการเปิดโปงว่า ฐานทัพเรือเรียมแห่งนี้ได้ทำสัญญาลับให้ปักกิ่งได้สัมปทาน 30 ปีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรียมจะถูกนำมาปรับโฉมหน้าตาเพื่อสร้างมูลค่าอีกครั้ง เพราะหลายทศวรรษมาล้ว เรียมก็เคยเป็นอย่างนั้น?

ถ้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นมหาอำนาจรายใหม่ ให้ผลประโยชน์มั่นคงในทุกองคภาพของรัฐ และกล้าสร้างฐานทัพเรือสมัยใหม่ไฉไลให้เรียมก็ยิ่งเข้าฝัก

เรียมจะกลับมาผงาดทางทะเลอีกครั้ง ในนามของความมั่นคงของภูมิภาคแปซิฟิกและทะเลจีนใต้

ทำไมจะต้องเป็นแปซิฟิกเท่านั้น? ทำไมเรียมจะเลือกข้างบ้างไม่ได้? อย่าทำราวกับว่า เรียมเป็นแค่สมบัติผลัดกันชมเฉพาะชาติตนเท่านั้น ซึ่งมันก็นมนานกาเลทั้งบารัง-อเมริกัน

น่าขัน พวกเขายังกอดเรียมและอยากให้เรียมโรยราแก่ตัวไปวันๆ ถ้าเรียมอยากจะอัพไซซ์ อัพหน้าตา ก็ต้องไปขอวอชิงตัน?

มันไม่ใช่แล้วเรียมว่า นายล้มเหลวเองนะแผนอินโด-แปซิฟิกแบบอเมริกันสไตล์ ตราบใดที่นายไม่ใช้เศรษฐกิจนำหน้านโยบายความมั่นคง นายก็อยู่มานานกับจริตของภูมิภาคนี้ ถ้าวันนี้ เรียมจะเป็น “เขื่อนกั้นแปซิฟิก” ก็โปรดทราบด้วยว่า รอไปก่อนอีก 3 ทศวรรษหน้า

ถึงวันนั้น เจ้าของเรียมอาจต้องการทุนสัมปทานรายใหม่

cr : Asian Defence News

“เรียมเอ๋ย” นี่ไม่ใช่ “เขื่อนกั้นแปซิฟิก” นิยายของมาร์เกอริต ดูราส์ นะ เรียมจะชักภาพประโลมโลกย์พาฝันนำผู้อ่านอย่างเราหลงยุคกลับไปอดีตอินโดจีนหรืออเมริกันดรีมแบบนั้นไม่ได้!

แต่ก็ตระหนักว่า เรียมช่างมีพลานุภาพในการ “ดึงดูด” ใครก็ตามที่บังเอิญผ่านเข้ามา และล้วนแต่ติดกับดักในตัวเรียมทั้งสิ้น ไม่ว่า มาร์เกอริต ดูราส์, โรลองด์ เมเยร์ หรืออ็องรี มูโอต์ ที่ต่างหลงใหลในเรียมและบันทึกค่าเชิงปัจเจก

แต่เชิงภูมิศาสตร์กายภาพแล้ว เรียมทรงพลังกว่านั้นมาก และผู้ประจักษ์ดีในข้อนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นเพนตากอน-อเมริกันผู้ยิ่งใหญ่

แต่เรียม ณ สุดปลายทะเลที่สุดจะบอบบางแห่งนี้ กลับแปรเปลี่ยนเป็นปราการที่แข็งแรง เป็นเขื่อนกั้นทั้งแปซิฟิกและภูมิภาคที่ทรงพลัง

ได้แต่หวังว่าทะเลครามที่เรียมจะสงบงามเจียนิจ

ไม่สะเทือนภูมิภาคกลายเป็นสึนามิ

cr : The Cambodia Daily