‘ร้อยปี พันปี จะมีสักครั้ง’ : งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกหลังการปฏิวัติ 2475/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘ร้อยปี พันปี จะมีสักครั้ง’

: งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกหลังการปฏิวัติ 2475

 

นักเรียนอัสสัมชัญครั้งนั้นเห็นว่า การปฏิวัติ 2475 เป็น “ความหวัง” ที่จะทำให้ไทย “ศิวิไลซ์ เลอเด่น เห็นทันตา” เป็น “ความภาคภูมิใจ” ที่ได้เข้าร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ และจะเป็น “ความน่าเสียดาย” หากท่านไม่ได้ไปร่วมงานที่ “ร้อยปี พันปี จะมีสักครั้ง”

(อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย, 2475-2476)

งานฉลองรัฐธรรมนูญ-งานรื่นเริงของพลเมือง-ที่ ร้อยปี พันปี จะมีสักครั้ง

ไม่แต่เพียงการปฏิวัติ 2475 จะเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้กับความรื่นเริงของพลเมือง ดังเห็นจากงานฉลองรัฐธรรมนูญทุกวันที่ 10 ธันวาคมจนกลายเป็นงานเฉลิมฉลองที่สำคัญในช่วง 2475 จวบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำคนสุดท้ายจากคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลง

ดังนั้น งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงเป็นงานรื่นเริงที่เปิดพื้นที่ให้เหล่าพลเมืองเชื่อมต่อตนเองเข้ากับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำเนิดขึ้นและเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ไทยเคยจัดมาและไม่เคยมีงานไหนที่ใหญ่โตขนาดนี้มาก่อนจวบต้นสงครามเย็น (ปรีดี หงษ์สต้น, 2562, 83)

เป้าหมายของงานฉลองรัฐธรรมนูญคือเผยแพร่โน้มน้าวให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจความหมายของระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด รวมทั้งหลัก 6 ประการของคณะราษฎร นอกจากนี้ยังเป็นการประกาศและตอกย้ำให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐธรรมนูญได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสูงสุดแทนที่สถาบันกษัตริย์อีกด้วย (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2563, 226)

งานฉลองรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจัดครั้งแรกที่บริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม สวนสราญรมย์ และท้องสนามหลวง

ต่อมา รัฐบาลขยายพื้นที่จัดงานออกไปยังเขาดินวนา สวนอัมพร และสวนสุมพินี

มีการออก ร้านของหน่วยราชการและเอกชน การประกวดนางสาวสยาม การประกวดศิลปกรรม การแข่งขันกีฬาของนักเรียน การจัดมหรสพต่างๆ และการออกสลากกินแบ่งด้วย เป็นต้น

ต่อมาใน 2477รัฐบาลได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในรูปแบบสมุดไทยเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับจริงแจกจ่ายไปทุกจังหวัด

ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ สามารถจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในจังหวัดของตนเช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลพยายามทำให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งเพื่อให้คนไทยเคารพยอมรับการปกครองโดยกฎหมายแทนการปกครองโดยบุคคลที่มีมาแต่เดิม ด้วยจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี

แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้าสำหรับให้ประชาชนกราบไหว้บูชา แต่มีนัยยะสื่อถึงการปกครองโดยกฎหมายมิใช่อัตตาธิปไตยและถือประชาชนเป็นใหญ่ในการปกครองอันจะทำให้ประชาชนมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตมากกว่าครั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

(ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2562, 39-40)

“พานรัฐธรรมนูญ”

สัญลักษณ์ของระบอบใหม่

หลังจากพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว ทางรัฐบาลก็จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก วันที่ 11-12 ธันวาคม ณ ท้องสนามหลวง สวนสราญรมย์ และบริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

รัฐบาลจัดขบวนแห่รัฐธรรมนูญไปรอบเมือง พร้อมขบวนแห่จากหน่วยราชการ ข้าราชการ ประชาชนและ นักเรียนทั่วกรุงเทพฯที่ร่วมกันประกาศก้องถึงการมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักของการปกครองแทนบุคคล

ริ้วขบวนดังกล่าวเดินผ่านพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงประทับทอดพระเนตรขบวนแห่รัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ปราสาท ริมถนนสนามไชย

ที่ท้องสนามหลวง มีการแสดง โขน ละคร ลิเก เพลงจำอวด งิ้ว และปิดท้ายงานด้วยการจุดดอกไม้ไฟในยามเที่ยงคืนของทั้งสองวัน ส่วนที่ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยกระทรวงกลาโหมได้จัดแตรวงมาบรรเลง สลับกับกระทรวงวังบรรเลงพิณพาทย์ในช่วงเวลาเย็นถึงเที่ยงคืนด้วย

ส่วนที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นมีปะรำสำหรับจัดแสดงพานใส่รัฐธรรมนูญฉบับจริงไว้และเปิดแสดงให้ประชาชนได้รู้จักว่า ไทยเปลี่ยนการปกครองแบบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงเวลานั้น พานรัฐธรรมนูญถือเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ต่อมา รัฐบาลทำแบบจำลองพานรัฐธรรมนูญและส่งไปตั้งแสดงให้ประชาชนชมในงานฉลองรัฐธรรมนูญในจังหวัดต่างๆด้วย (สารคดี, กรกฎาคม 2530, ธันวาคม 2531 , มิถุนายน 2543, มิถุนายน 2557)

นอกจากนี้ ในต่างจังหวัด มีงานรื่นเริงฉลองรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ดังเช่น มีงานฉลองรัฐธรรมนูญที่สโมสรจังหวัดสงขลาที่จัดสร้างขึ้นใหม่ที่ริมทะเล มีงานออก ร้านที่ “หรูหรามาก ครึกครื้นตลอดงาน”(อัสสัมชัญอุโฆษสมัย, เล่ม 76 ปี 2475) เป็นต้น

ซอสพริกแห่งระบอบใหม่

สําหรับงานฉลองรัฐธรรมนูญที่สวนสราญราย์นั้น มีงานออกร้านของหน่วยราชการและร้านขายของเอกชน อย่างครึกครื้น

และหนึ่งในร้านค้าของคนไทยที่ไปออกร้านแสดงสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีนั้น คือ ซอสพริกของนางลออ สุวรรณประสพ ที่เริ่มผลิตขายในปีแห่งการปีแห่งการปฏิวัตินั้นเอง

เธอส่งซอสพริกอันเป็นผลผลิตเข้าประกวดในงานจนได้รับรางวัลเหรียญทองสินค้าคุณภาพของคนไทยติดต่อกันหลายปีจนกลายเป็นยี่ห้อ”ซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง”จวบจนปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ คนไทยหลังการปฏิวัติจึงได้ลิ้มลองรสชาตของซอสยี่ห้อดังกล่าวได้จวบจนปัจจุบัน

โรงเพลงเรือของนายอ๊อด ตั้งอยู่กลางท้องสนามหลวง ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2475 (เครดิตภาพ : นิตยสารสารคดี)

เยาวชนกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ

จากหลักฐานร่วมสมัยพบว่า เยาวชนสมัยนั้นตื่นเต้นกับงานฉลองรัฐธรรมนูญมาก นักเรียนอัสสัมชัญคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าให้ ภราดา ฟ.ฮีแลร์ในอัสสัมชัญ อุโฆษสมัย ซึ่งเป็นหนังสือของโรงเรียนฟังว่า ” ใน การ ฉลองรัฐธรรมนูญ โรงเรียน ได้ส่ง นักเรียน ไป 2 กองร้อย ไป เดิร ขะบวน สวน สนาม ด้วย” และนักเรียนอีกเล่าให้ว่า เขาภูมิใจที่ทราบข่าวที่โรงเรียนส่งนักเรียนไปเดินสวนสนามในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ได้รับการชมเชยถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดงดงามของนักเรียน

ด.ช.เชือน ดากรู๊ช นักเรียนเขียนมาเล่าว่า เขาป่วย จนหมอไม่ให้ลุกขึ้นมาวาดรูป แต่เขาอยากไปเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญมาก “ตั้งแต่หยุดเรียน…ต้องหมกตัวอยู่กับบ้าน, แม้แต่งานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งร้อยปีพันปีจะมีสักครั้ง กระผมก็ไม่ได้ไปกับเขา ชีวิตกระผมรู้สึกช่างเงียบเหงาเสียเหลือเกิน…”

รวมทั้งศิษย์เก่าที่รับราชการเล่าบรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญที่สงขลาและตัวเขาเองไปร่วมออกร้าน “เข้า มัน ไก่” ในงานนั้นด้วย พร้อมแต่งกลอนเขียนใส่กระดานดำตั้งไว้ที่หน้าร้านว่า “‘งาน เอ๋ย งาน ฉลองรัฐธรรมนูญ ปกครอง ทำนอง ใหม่ ตาม แบบ อย่าง ทาง ที่ ศิวิลัย จะ นำ ไทย เลอ เด่น เห็น ทันตา…” (อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย, 2475-2476)

ตัวอย่างจดหมายของนักเรียนอัสสัมชัญข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ประชาชนคนธรรมดาสามัญมีส่วนร่วมในกิจกรรมโดยไม่ต้องหวาดกลัวความศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด

งานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องของการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการตื่นตัวในทางสังคมด้วย รวมทั้ง ความรู้สึกว่า เป็นงานรื่นเริงของประชาชนที่พวกเขาเข้าร่วมได้อย่างผ่อนคลาย (Assumption Museum)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ คำถามที่น่าคิดคือ เหตุใดความรู้สึกนึกคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมสมัยให้ความสำคัญกับงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญนี้มาก ทั้งๆที่เมื่อเดือนเมษายน 2475 ทางรัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่งจัดงานฉลองกรุง 150 ปีอันเพิ่งพ้นไปหมาดๆ หรืองานนั้นเป็นไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนแต่อย่างใด

พระที่นั่งอนันตฯ หลังการปฏิวัติและซอสพริกแห่งระบอบใหม่