ทางออก vs ทางตัน : รัฐนาวาประยุทธ์กลางพายุใหญ่!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ทางออก vs ทางตัน

: รัฐนาวาประยุทธ์กลางพายุใหญ่!

 

“ในทางการเมือง คุณจะต้องวิ่งไปข้างหน้าพร้อมกับฝูงเสมอ แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณล้มลง และพวกเขามีความรู้สึกว่าคุณบาดเจ็บ เมื่อนั้นคนในฝูงจะหันกลับมาขย้ำคุณเหมือนหมาป่า”

R. A. Butler (1902-1982)

นักการเมืองอังกฤษสายอนุรักษนิยม

 

การแยกตัวออกของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 19 มกราคม 2565 นั้น เป็นผลสืบเนื่องของการ “ก่อกบฏ” ในพรรค เมื่อมีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา อันเป็นภาพสะท้อนถึงการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “ร้อยเอก vs พลเอก” อย่างน่าสนใจ

แม้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพาตัวเองให้รอดพ้นจากวงล้อมของ “กบฏ” ในครั้งนั้นมาได้

แต่ความขัดแย้งในพรรครัฐบาลไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด…

สภาวะคลื่นใต้น้ำในพรรคยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องยอมรับว่าคลื่นของกบฏในวันนั้น กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ในวันนี้ และส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และต่อสถานะของตัวนายกรัฐมนตรีอย่างมาก

จนคลื่นใหญ่ครั้งนี้อาจรุนแรงจนพัดพารัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกยฝั่ง หรือชนหินโสโครกและอับปางลงกลาง “ทะเลการเมือง” ได้ไม่ยาก

 

อนาคตพรรคทหาร!

หากมองจากแง่มุมของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ “กบฏร้อยเอก” ครั้งนี้ คือภาพสะท้อนถึงปัญหาของ “พรรคทหาร” ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในพรรค เพราะพรรคในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากการรวมตัวของบุคคลากรทางการเมืองในภาวะปกติ แต่พรรคเกิดจากความต้องการของผู้นำรัฐประหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจเพื่อกลับเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง (ว่าที่จริงแล้ว ก็ดูจะเป็นปรากฏการณ์ปกติในการเมืองไทย!)

ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดหลักประกันที่ผู้นำทหารจะกลับเข้ามาอีกในรูปแบบใหม่ โดยอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ จึงทำให้เกิดการรวบรวมตัวบุคคลทางการเมืองเข้ามาตั้งพรรคด้วยการใช้อำนาจของผู้นำทหารหลังการรัฐประหาร

บนเงื่อนไขเช่นนี้ โอกาสที่เกิดปัญหาภายในในอนาคตย่อมเกิดได้ตลอดเวลา

และยิ่งหากแกนนำพรรคที่เป็นผู้นำทหารมีความขัดแย้งกันเองด้วยแล้ว พรรคอาจตกอยู่ในวิกฤตใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นที่เกิดเป็นบทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้ว

ดังนั้น พรรคที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อการสืบทอดอำนาจ ย่อมเกิดวิกฤตภายในได้ง่าย

และการใช้อำนาจของผู้นำรัฐประหารอาจจะทำให้พรรคทหารดูยิ่งใหญ่ในจุดเริ่มต้น แต่ก็มีความเปราะบางในตัวเอง

ในด้านหนึ่งเมื่อการเมืองเดินไปข้างหน้ามากขึ้นแล้ว จึงไม่แปลกที่ความขัดแย้งภายในพรรคจะเกิดตามมา จนอาจควบคุมได้ยาก

และผลที่ตามมาคือ สภาวะ “วิกฤตพรรคทหาร” ซึ่งพรรคทหารในอดีตล้วนเผชิญวิกฤตไม่แตกต่างกัน อันเป็นผลโดยตรงจากความขัดแย้งทางการเมืองของผู้นำทหารในพรรค แม้ในกรณีนี้ ร้อยเอกธรรมนัส จะไม่ใช่แกนนำในการทำรัฐประหาร 2557 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงปัญหา “ร้อยเอก vs พลเอก” เท่านั้น หากแต่เริ่มสะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งชุดที่ใหญ่กว่า คือปัญหา “พลเอก vs พลเอก” อันนำไปสู่คำถามสำคัญว่า ผู้นำทหารที่ก่อการรัฐประหารในปี 2557 ร่วมกันมายังมีเอกภาพมากพอที่จะทำงานการเมืองร่วมกันต่ออีกเพียงใด

หรือที่เกิดเป็นคำถามในหมู่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองว่า ความสัมพันธ์ของ “สามแกนนำ” ยังอยู่ในภาวะปกติ หรืออยู่ในสภาวะของการแข่งขันทางการเมือง

คงต้องยอมรับจากข้อมูลที่ปรากฏในเวทีสาธารณะว่า “เอกภาพของสามพลเอก” ดูจะเป็นปัญหาอย่างมาก

ซึ่งผลของความสัมพันธ์เช่นนี้กระทบโดยตรงต่ออนาคตของพรรคทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนทำให้เกิดคำถามในทางวิชาการว่า ฤๅประวัติศาสตร์พรรคทหารจะย้อนรอยเดิมของความขัดแย้งเช่นในอดีต

เพราะเมื่อใดก็ตามที่แกนนำทหารในการก่อตั้งพรรคนั้น เกิดความขัดแย้งจนถึงจุดที่ไม่อาจประนีประนอมได้แล้ว เมื่อนั้นไม่เพียงแต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากยังมีนัยอย่างสำคัญต่ออนาคตของพรรคด้วย

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยชี้ให้เห็นว่า พรรคทหารเกิดจากมือของผู้นำทหาร แล้วก็จบลงด้วยมือของผู้นำทหารเช่นกัน และยังส่งผลอย่างสำคัญต่ออนาคตของผู้นำทหารที่ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองด้วยฐานเสียงของพรรคเช่นนี้ด้วย

แม้ในขณะนี้จะยังคงลำบากที่จะคาดคะเนถึงอนาคตของพรรคพลังประชารัฐ ที่กำเนิดขึ้นบนเส้นทางดังกล่าว

แต่อย่างน้อยอนาคตคงไม่สดใสเช่นในยุคหลังรัฐประหารอย่างแน่นอน!

 

ทางเลือก – “ห้าไม่”

แม้ในท่ามกลางการต่อสู้ที่เกิดขึ้น ผลออกมาด้วยการขับ “กลุ่มกบฏร้อยเอก” ออกจากพรรค จนดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของ “พลเอก” อีกฝ่ายหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นสัญญาณถึง “พายุใหญ่” ที่กำลังตามมา

ซึ่งหากจัดการไม่ดีพอแล้ว “รัฐนาวาประยุทธ์” อาจถูกพายุใหญ่พัด จนล่มอับปางลงได้ไม่ยาก

ในท่ามกลางพายุการเมืองลูกใหญ่ครั้งนี้ “กัปตันประยุทธ์” ดูจะไม่มีทางเลือกมากนัก

ได้แก่

 

ทางเลือก 1 : ไม่ออก

เป็นที่รับรู้กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการลาออก และยังต้องการ “ขี่หลังเสือ” ต่อไป เพราะการลาออกของนายกรัฐมนตรีจะนำไปสู่การสิ้นสุดของคณะรัฐมนตรีโดยปริยาย และอาจไม่มีหลักประกันว่า เขาจะสามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกหรือไม่

ฉะนั้น การลาออกจึงเป็นทางเลือกที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางยอมรับเด็ดขาด แม้จะมีแรงกดดันให้นายกฯ ลาออกมาโดยตลอดก็ตาม

แน่นอน เขายังยืนยันที่จะเป็น “พลเอกบนหลังเสือ” เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

และเชื่อมั่นว่า เขาจะยังทะยานโลดแล่นไปบนหลังเสือได้โดยไม่ตกลงมาให้เสือกัดในปี 2565

 

ทางเลือก 2 : ไม่ปรับ

พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยอมปรับคณะรัฐมนตรีตามเงื่อนไขที่พรรคใหม่ของ ร.อ.ธรรมนัสเรียกร้องตามโควต้าของ ส.ส.ที่เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลอย่างแน่นอน

และหากเกิดการปรับคณะรัฐมนตรีบนแรงกดดันของ “กลุ่มกบฏ” จริงแล้ว ก็เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์แพ้หมดรูปในทางการเมือง และตกอยู่ภายใต้อำนาจของ ร.อ.ธรรมนัส

ทางเลือกเช่นนี้จะเป็นสภาวะ “ร้อยเอกขี่พลเอก” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางยอมเป็นอันขาด

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมีคำตอบอย่างชัดเจนว่า จะไม่มีการปรับ ครม.แต่อย่างใด

 

ทางเลือก 3 : ไม่คุย

สมมุติเราลองแสวงหาหนทางเลือกอีกประการ อาจจะทำให้เกิดคำถามอีกประการว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีทางออกอีกช่องหนึ่งคือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องยอมหันกลับมาประนีประนอมด้วยการ “เจรจา” กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเป็นหนทางของความอยู่รอดทางการเมือง

ขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันที่จะได้อยู่ในอำนาจต่อไป

แต่การประนีประนอมเช่นนี้อาจมีนัยถึง การต้องยอม “กลืนเลือด” เพื่อรับเงื่อนไขของ ร.อ.ธรรมนัสที่อาจขอเก้าอี้รัฐมนตรีคืน

แม้ทางเลือกนี้จะเป็นภาพ “พลเอกซบพลเอก” และจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการกลบข่าวลือเรื่อง “วิกฤตสามพลเอก” ได้บ้าง

แต่ผลที่เกิดขึ้นก็อาจพลิกกลับกลายเป็นภาวะ “ร้อยเอกขี่พลเอก” ได้ไม่ยาก และผลอย่างมีนัยสำคัญของทางเลือกเช่นนี้คือ การสร้าง “อำนาจและบารมี” ทางการเมืองให้แก่ พล.อ.ประวิตรเพิ่มมากขึ้นอีก

อีกทั้งยังเป็นคำตอบว่า ผู้ “มากบารมี” ตัวจริงคือ พล.อ.ประวิตร

 

ทางเลือก 4 : ไม่ยุบ

ทางออกสุดท้ายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมาก คือ “ยุบสภา”

แต่ก็ดูจะเป็นทางเดินที่พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการเลือก

เพราะในด้านหนึ่ง พรรครัฐบาลเองตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างมากดังที่ปรากฏให้เห็น จนหลายฝ่ายประเมินว่าพลังประชารัฐกำลังตกอยู่ใน “วิกฤต” หลังการแยกตัวของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จนความพร้อมที่ลงสนามการเลือกตั้งในภาวะเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

และการยุบสภาก็ไม่เป็นหลักประกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีโอกาสหวนคืนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แม้จะมีฐานเสียงหลักที่สำคัญอยู่ในวุฒิสภาก็ตาม จนการยุบสภาอาจนำไปสู่ภาวะ “ตกหลังเสือ” ได้ด้วย

ฉะนั้น อาจต้องยอมรับว่าการยุบสภาอาจกลายเป็นความสุ่มเสี่ยง ทั้งยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับกฎหมายลูกโดยเฉพาะในกรณีของบัตรเลือกตั้งที่ยังค้างคาอยู่

แต่สำคัญที่ของทางเลือกนี้คือ ความพร้อมของพรรคและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

และสุดท้ายแล้ว พวกเขาจะสามารถพา พล.อ.ประยุทธ์กลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้จริงหรือไม่

 

ทางเลือก 5 : ไม่ยึด

สมมุติผู้นำทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจด้วยชุดความคิดเก่า ที่เชื่อว่าภายใต้แรงกดดันทางการเมืองเช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ “ล้มกระดาน” ด้วยการทำรัฐประหารอีกครั้ง

แต่หากประเมินในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อาจจะต้องยอมรับรัฐประหารครั้งใหม่ในการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งมีปัจจัยลบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำรัฐประหารหลายประการ

อย่างน้อยความรุนแรงจากการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาเป็น “สัญญาณนาฬิกาปลุก” ให้นักรัฐประหารในไทยต้องตื่นจากความฝันเก่าว่า รัฐประหารไม่ใช่ทางเลือกสำหรับแก้วิกฤตการเมืองไทย

เส้นทางรัฐประหารอาจนำไปสู่การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตย ดังเช่นภาพจากเมียนมา การตัดสินใจยึดอำนาจอาจจะเป็นภาวะ “เสือกัดพลเอก” อีกทั้งการตัดสินใจยึดอำนาจจะส่งผลให้สถาบันกองทัพตกเป็น “จำเลยการเมือง” ไปด้วย

และว่าที่จริงแล้ว ผู้นำทหารไทยหลายส่วนในปัจจุบัน ก็ตระหนักถึงผลกระทบของรัฐประหารที่เกิดแก่บุคคลากรและต่อสถาบันกองทัพอย่างมาก

จนวันนี้ไม่มีผู้นำทหารคนใดอยากเล่น “เกมเสี่ยง” ด้วยการยึดอำนาจ

เพราะหากพ่ายแพ้แล้ว พวกเขาและครอบครัวอาจได้ใช้ชีวิตในต่างแดน

 

อนาคต

สุดท้ายแล้ว เราคงเดาไม่ยากว่า พล.อ.ประยุทธ์คงพยายามอยู่ในอำนาจต่อไป

แต่ดูเหมือนพายุการเมืองที่ตั้งเค้าขึ้นนั้น

ดูจะเป็นพายุใหญ่ จนหลายฝ่ายคาดว่ารัฐนาวาประยุทธ์อาจต้านทานแรงลมและคลื่นลูกใหญ่ไปต่อไม่ไหว

ถ้าเช่นนั้นแล้ว กัปตันประยุทธ์จะยอมนำเรือเข้าจอดเทียบท่า หรือจะตัดสินใจพาเรือออกทะเล เพื่อเผชิญกับพายุใหญ่ที่รุนแรง…

ชะตากรรมของกัปตันและรัฐนาวาลำนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง!