ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม
เกษียร เตชะพีระ
รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 (1)
รายงานฉบับใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2022 ของห้องทดลองความเหลื่อมล้ำโลก (World Inequality Laboratory ซึ่งเป็นห้องทดลองวิจัยที่รวมนักสังคมศาสตร์นานาชาติมาเพ่งเล็งศึกษาความเหลื่อมล้ำทั่วโลก เพื่อสร้างฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลกขึ้น รวมทั้งตีพิมพ์เผยแพร่รายงานวิจัยและคู่มือระเบียบวิธีวิทยาแก่วงวิชาการและสาธารณชน https://inequalitylab.world/en/) เปิดตัวออกมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ศกก่อน
มันเผยให้เห็นภาพเอ็กซเรย์แบบตรงไปตรงมาของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สินทั่วโลกนับแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าถึงปัจจุบัน
รวมทั้งช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นต้นเหตุหลักของโลกร้อนซึ่งแปรผันไปตามชนชั้นทางสังคมด้วย
ประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องท้าทายใหญ่หลวงที่สุดในหลายทศวรรษข้างหน้า กล่าวคือ มนุษยชาติจะปรองดองการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา (เช่น ลดละเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ เพื่อแก้โลกร้อน) เข้ากับความเป็นธรรมทางสังคมอย่างไร?
การเคลื่อนไหวขนานใหญ่ต่อเนื่องยืดเยื้อของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง (gilets jaunes) ในฝรั่งเศสซึ่งจุดปะทุขึ้นโดยการขึ้นภาษีเชื้อเพลิงคาร์บอนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2018 เป็นกรณีตัวอย่างที่ขีดเส้นเน้นย้ำความอ่อนไหวไวไฟยิ่งของประเด็นปัญหานี้ในสังคมต่างๆ ได้ดี ด้วยว่านานาสังคมทั่วโลกตกอยู่ในสภาพเปราะบางปริร้าวจากความเหลื่อมล้ำหลายต่อหลายด้าน ไม่ว่าการเงิน การศึกษา
หรือแม้แต่การเข้าถึงบริการการแพทย์และสาธารณสุข ดังที่โรคระบาดทั่วโควิด-19 ได้ย้ำเตือนเราให้ประจักษ์อย่างเหี้ยมเกรียมช่วงสองปีที่ผ่านมา
รายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2022 ของห้องทดลองความเหลื่อมล้ำโลกที่มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง Thomas Piketty กับพรรคพวกเป็นหัวหอก ช่วยสาดส่องคำถามข้างต้นให้กระจ่างขึ้นในแง่มุมใหม่ๆ โดยชี้ว่าวิกฤตโควิด-19 ระบาดยิ่งทำให้พวกร่ำรวยที่สุดฉวยยึดเอาความมั่งคั่งของโลกไปเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อย
มันเป็นผลจากความร่วมมือของนักเศรษฐศาสตร์นับร้อยคนในทุกทวีป และนับเป็นงานศึกษาวิจัยที่เจาะค้นปัญหาความเหลื่อมล้ำในกว่าร้อยประเทศได้ลุ่มลึกที่สุดในปัจจุบัน ค่าที่มันอาศัยฐานข้อมูลหลากหลายแหล่งทั้งข้อมูลจากบัญชีเศรษฐกิจแห่งชาติต่างๆ และข้อมูลทางการคลัง
รายงานฉบับที่สองนี้ช่วยเติมเต็มรายงานความเหลื่อมล้ำโลกฉบับแรกของปี 2018 (ตีพิมพ์ออกมาในปี 2017 https://wir2018.wid.world/) ภายหลังปัญหาความเหลื่อมล้ำโลกถูกหยิบยกมาถกอภิปรายอย่างกว้างขวางจนขึ้นสู่กระแสสูงทางวิชาการด้วยอิทธิพลของหนังสือ Le Capital au XXIe si?cle (ทุนในศตวรรษที่ 21) ของ Thomas Piketty ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2013 และขายดิบขายดีถึง 2.5 ล้านเล่มทั่วโลก
ถึงแม้การค้นคว้าประมวลข้อมูลสถิติจะไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย แต่เหล่านักวิจัยสังกัดห้องทดลองก็สามารถประกอบสร้างฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลกที่หนักแน่นเป็นแก่นสารขึ้นมาได้สำเร็จ (https://wid.world/) โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ที่ผิดแผกแปลกหลากจากกันในทวีปต่างๆ
จนรายงานฉบับใหม่สามารถให้ภาพเจาะลึกยึดกุมความเหลื่อมล้ำทั้งในแง่รายได้และทรัพย์สินในขอบเขตทั่วโลกนับแต่ปี ค.ศ.1820 เป็นต้นมา
เช่นตัวอย่างแผนภูมิความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยจากปี ค.ศ.1980-2021 มันเปรียบเทียบอัตราส่วนแบ่งร้อยละในรายได้ประชาชาติก่อนเสียภาษีของคน 3 กลุ่มที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ : 1) กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด 50% เส้นล่างสุด, 2) กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 10% เส้นบนสุด และ 3) กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 1% เส้นตรงกลาง
อนึ่ง กล่าวเฉพาะกลุ่มคนไทยรวยสุด 1% นี้ พวกเขาได้ส่วนแบ่งรายได้ของประเทศไปมากกว่ากลุ่มคนไทยจนสุด 50% รวมกันเรื่อยมา (อ้างจาก https://wid.world/country/thailand/)
การที่ช่องว่างด้านรายได้และทรัพย์สินในโลกถ่างกว้างออกห่างจากกันยิ่งขึ้นในหลายทศวรรษหลังนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากโลกาภิวัตน์ทางการเงินเกินเลย ดังที่เห็นประจักษ์ได้จากวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก (เริ่มปะทุ ค.ศ.2007-2008 และส่งผลสะเทือนต่อเนื่องทอดยาวไปหลังจากนั้น) อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิชาการผู้เขียนรายงานความเหลื่อมล้ำโลกยืนกรานประเด็นหนึ่งว่า ความเหลื่อมล้ำหาใช่ชะตากรรมที่จำต้องเป็นไม่ หากแต่ :
“ระดับขั้นความเหลื่อมล้ำทั้งหลายไม่ได้ถูกกำหนดจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์หรือระดับชั้นของการพัฒนา กล่าวในขั้นมูลฐานแล้ว มันเป็นผลของการเลือกทางการเมืองต่างหาก”
กล่าวคือ เป็นผลของการตัดสินวินิจฉัยทางการคลังและทางนโยบายสาธารณะ ซึ่งในที่สุดก็ถูกวาระเร่งด่วนเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยายัดเยียดให้ต้องทบทวนแก้ไขอยู่ทุกวันนี้
ความเหลื่อมล้ำ
ถีบตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดยอดเป็นประวัติการณ์
ภายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
โดยเฉลี่ย ประชากรผู้ใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุด 10% แรกของโลกยึดกุมรายได้ของโลกไปถึง 52% และครอบครองความมั่งคั่ง (วัดจากทรัพย์สินของครัวเรือนโดยเปรียบเทียบอำนาจซื้อ) ของโลกไว้ถึง 76%
ขณะที่ประชากรผู้ใหญ่ที่ยากจนที่สุด 50% ได้ส่วนแบ่งรายได้โลกไปเพียง 8.5% และถือครองความมั่งคั่งของโลกไว้แค่ 2% เท่านั้นเอง!
หากกล่าวในเชิงสัมบูรณ์แล้ว ระดับความเหลื่อมล้ำข้างต้นนี้เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยนับแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 – อันเป็นยุคสมัยที่ระบอบจักรวรรดินิยมตะวันตกขึ้นสู่จุดสุดยอด – เป็นต้นมา จนกล่าวได้ว่า มรดกความเหลื่อมล้ำของการจัดระเบียบการผลิตที่ไม่เสมอภาคอย่างยิ่ง ณ ตอนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังคงตกทอดสืบต่อมาครอบงำสังคมของเราในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกได้พลิกเปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาสองศตวรรษดังกล่าว โดยเป็นผลจากแนวโน้มต่างๆ ซึ่งบางทีก็ขัดแย้งกันเอง
ความเหลื่อมล้ำสูงยิ่งที่ปรากฏให้เห็นระหว่าง ค.ศ.1820-1910 ค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงในบรรดาประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 โดยอาศัยการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศเหล่านั้น
แต่หลังจากนั้นมา ความก้าวหน้าในแง่การลดความเหลื่อมล้ำลงก็กลับถูกกร่อนเซาะไป เนื่องจากการลดละเลิกกฎเกณฑ์กำกับควบคุมเศรษฐกิจ (deregulation) ตามกระแสแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่แพร่สะพัดทั่วโลกในหลายทศวรรษต่อมา
ในลู่วิ่งแข่งทางเศรษฐกิจของโลก เหล่าประเทศตลาดเกิดใหม่พากันวิ่งกวดใกล้ไล่ทันขึ้นมา ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในประดาชาติตะวันตกกลับชะลอช้าล่าถอยหลังวิกฤตซับไพรม์ ทั้งนี้ ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศจำกัดตัวลงบ้าง ถึงขนาดที่ส่งผลให้ส่วนแบ่งรายได้ของคนยากจนที่สุดในโลก 50% ค่อยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8.5% ในรอบสี่สิบปีหลังนี้
สรุปได้ว่า ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติต่างๆ ลดลงบ้าง แต่ทว่าความเหลื่อมล้ำของผู้คนภายในชาติประเทศเดียวกันเองกลับหนักหนาสาหัสขึ้นแทบทุกหนแห่ง ซึ่งเป็นตัวอธิบายแก่นสารสำคัญแห่งการคลี่คลายขยายตัวของความเหลื่อมล้ำในขอบเขตทั่วโลกทุกวันนี้
(ต่อสัปดาห์หน้า)
ใต้ภาพ
รายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2022 โดย ห้องทดลองความเหลื่อมล้ำโลก https://wir2022.wid.world/ & หนังสือยอดนิยม Le Capital au XXIe si?cle ของ Thomas Piketty