ดิลิป กุมาร พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย (1)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดิลิป กุมาร

พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย (1)

 

ดิลิป กุมาร (Dilip Kumar – 1922-2021) ได้ชื่อว่าเป็นยอดพระเอกภาพยนตร์โศกนาฏกรรมของอินเดีย รวมทั้งเป็นพระเอกโรแมนติกและเป็นพระเอกที่ทักษะการแสดงของเขาก่อให้เกิดศักราชใหม่ของภาพยนตร์อินเดีย (Hindi cinema) ภายใต้การนำแสดงของเขาอย่างแท้จริง

แต่ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับดิลิป กุมาร ก็คือเขาเป็นดาราร่วมสมัยที่แวดวงสังคมนิยมแห่งอินเดียเรียกเขาว่าอินเดียใหม่ (emerging India)

ก่อนหน้าการเสียชีวิตของดิลิป กุมาร ชัม ลาล (Sham Lal) นักเขียน-บรรณาธิการ หนังสือ A Hundred Encounters ผู้มีชื่อเสียงเคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า

ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกหน้าสำหรับซามูเอล เบกเกต (Samuel Beckelt) ผู้มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ชีวิตที่เติบใหญ่ของเขา เป็นชีวิตที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับความตายอยู่แล้ว

ดังนั้น ความตายของเขาก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายกับเพื่อนเก่านั่นเอง

ชัม ลาล จากไปในปี 2007 หากเขายังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงจะพูดในแบบเดียวกันถึงดาราที่มีใจกว้างอย่างดิลิป กุมาร ซึ่งจากไปในเมืองมุมไบ (Mumbai) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมาหลังจากต้องเจ็บป่วยอยู่เป็นเวลานาน

 

สําหรับดิลิป กุมาร เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว ที่เขาคุ้นเคยใกล้ชิดกับความตาย เขาต้องไปเยือนโรงพยาบาลและเข้าห้อง ICU อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเขาเองก็มิได้คาดหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกยาวนานแต่อย่างใด

แต่ทุกครั้งที่ดิลิป กุมาร เอาชนะความตายมาได้เพื่อกลับบ้านและเข้ามาอยู่ในอ้อมแขนของภรรยาของเขา ซึ่งเป็นดาราผู้โด่งดังของอินเดีย ซัยรา บานู (Saira Banu) ภรรยาของเขาก็จะใช้ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีการรักษาทางการแพทย์เพื่อให้เขากลับมามีสุขภาพที่ดีดังเดิม

การจากไปของดิลิป กุมาร เป็นความเศร้าโศกของชาวอินเดียนับล้านๆ คนที่แลเห็นการจากไปของดาราผู้เป็นที่รักของเขา

ชีวิตของดิลิป กุมาร กลายเป็นการเดินทางสู่ความสิ้นสุดของค่ำคืน เขาหายใจครั้งสุดท้ายยามเช้าตรู่ด้วยความอาลัย ความโศกเศร้าเสียใจของชาวอินเดียนับล้านที่เป็นแฟนภาพยนตร์ของเขา ทั้งๆ ที่ความตายของเขาแขวนอยู่กับเขามาระยะหนึ่งแล้วจากความป่วยไข้และอายุขัยที่มากขึ้น

 

สําหรับผู้ที่ชื่นชอบและติดตามการแสดงของเขาจะระลึกถึงความมีชีวิตชีวาของเขาอยู่เสมอ

อย่างเช่น ในภาพยนตร์ของพิมาล รอย (Bimal Roy) เรื่องเทพทาส (Devdas) หรือคู่รักของปี 1955 ที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวอินเดียโดยภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของความรักอันเศร้าหมอง ซึ่งตราบจนทุกวันนี้ยังไม่มีนักแสดงคนใดทำได้อย่างเขาในจอเงิน

ยังไม่มีดาราบอลลีวู้ดหรือดาราในแวดวงภาพยนตร์อินเดียคนใดหรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคของอินเดียที่จะไม่พยายามเล่นบทบาทของดิลิป กุมาร ขึ้นมาเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของภาพยนตร์อินเดีย

ทราเมนดรา (Dharmendra) พระเอกภาพยนตร์อินเดียคนสำคัญได้แสดงในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของดิลิป กุมาร ในช่วงทศวรรษ 1980 แต่หนังที่ทราเมนดราแสดงกลับถูกวางเอาไว้บนหิ้ง

ต่อมาชาห์รูก ข่าน (Shah Rukh Khan) เป็นพระเอกที่แสดงเทพทาสในภาพยนตร์ของสัญชัย ลีลา บันสาลี (Sanjay Leela Bhansali) ในช่วงที่พระเอกอย่างชาห์รูก ข่าน กำลังโด่งดังสุดขีดในปี 2002 แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าถึงบทที่เต็มไปด้วยอารมณ์อย่างดิลิป กุมาร ได้

 

ผลงานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของยูซุฟ ข่าน (Yusuf Khan) ซึ่งเดินทางมาจากปิชาวอร์ (Peshawar) ซึ่งในเวลานี้อยู่ที่ปากีสถาน และกลายมาเป็นดาราผู้มีชื่อเสียงในชื่อดิลิป กุมาร ทั้งนี้ เทวิกา รานี (Devika Rani) ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นคนที่ทำให้เขาเปลี่ยนชื่อเพราะเธอรู้สึกว่าการเปลี่ยนชื่อจะทำให้อาณาจักรแห่งความมีชื่อเสียงของดิลิป กุมาร จะพุ่งกระฉูดขึ้น เนื่องจากชื่อนี้มาจากชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศ อันเป็นการคาดคำนวณที่หวังถึงคนดูส่วนใหญ่ของประเทศ

ด้วยความหล่อเหลาอย่างที่เขาเป็น ดิลิป กุมาร มีบทบาทโดดเด่นเหนือความมีหน้าตาดีของตัวเอง ทำให้ผู้ดูลืมใบหน้าของชายที่ดูเอาใจใส่มามุ่งสู่บทที่แสดงถึงความรักและความเคลิ้มฝันของเทพทาส รวมทั้งบทของตัวเอกที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเคืองในภาพยนตร์ของนิติบ บอสี เรื่องดีดาร์ (Deedar)

หรือการปรากฏตัวในปี 1951 บทบาทของชายหนุ่มผู้มีความรักและเอาแต่ใจตัวเองในจุกนู (Jugnu) หรือหิ่งห้อย ในปี 1947 รวมทั้งบทบาทของนักการตลาดผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์ในเรื่องฟุตบาธ (Footpath) ในปี 1953

มากกว่าหนึ่งทศวรรษหลังจากภาพยนตร์ดีดาร์ออกฉาย ดาราที่ได้รับความนิยมอย่างมาโนช กุมาร (Monoj Kumar) ซึ่งต่อมาได้ร่วมงานกับดิลิป กุมาร ในภาพยนตร์กรานตี (Kranti) หรือปฏิวัติ ในปี 1981 ได้นำเอาผู้กำกับฯ อย่างราช โกสลา (Raj Khosla) มาผูกพันกับอินเดียที่เป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงปี 1960-1970

ดาราทั้งสองคนจบลงด้วยภาพยนตร์แนวดีดาร์ ในรูปแบบของโด บาดัน (Do Badan) หรือสองร่าง ของปี 1966 เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์อย่างดีดาร์ยังคงอยู่ในใจของคนรักภาพยนตร์ตลอดไป

 

จากโศกนาฏกรรมสู่โรแมนติก

ความเศร้า ความทุกข์ทรมาน ความสูญเสียและความโดดเดี่ยวเป็นบทที่ดิลิป กุมาร นำเสนออยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ในจำนวนนี้ก็มีจุกนู (Juqnu) ในปี 1952 ดาก (daag) หรือจุด แห่งปี 1952 และอมัร (Amar) หรือความทรงจำ ในปี 1954 และมุซาฟิร (Musafir) หรือคนเดินทาง ในปี 1957

ในภาพยนตร์เรื่องอมัร ดิลิป กุมาร ในฐานะนักกฎหมายได้แสดงเส้นทางสีเทาหรือความไม่โปร่งใสในสังคมอินเดียนับล้านๆ เส้นให้เห็น เขาเปลี่ยนภาพยนตร์อินเดียที่ขึ้นอยู่กับบทสนทนาด้วยเสียงดังและการใช้พลังปอดอย่างจงใจ รวมทั้งบทที่ต้องล้มลุกคลุกคลานที่ได้มาจากโรงหนังของพวกอิหร่านเสียใหม่

เขานำเสนอการแสดงที่ลึกซึ้งในภาพยนตร์เรื่องดาก และฟุตบาธ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้เห็นงานของตาลัต มะห์มูด (Talat Mahmood) ผู้เป็นเอกในการประพันธ์เพลงที่ร้องในภาพยนตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความสูญเสียและความอ้างว้าง ซึ่งเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับอารมณ์ในภาพยนตร์ที่ดิลิป กุมาร แสดงในงานของมะห์มูดในเรื่องเอเมเรดิล กะฮี ออร จัล (ameri dil kahin aur chal) หรือหัวใจอยู่ที่ใครบางคน และชัมเมกัม กีกะซัม (Sham-e-gham ki qasam) หรือคำสัญญาแห่งความเศร้า ไม่อาจนำมาใช้มากขึ้นได้อย่างเหมาะสมได้มากเท่านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ดิลิป กุมาร ก็ไม่เคยหยุดที่จะพาตัวเองเข้าสู่บทบาทที่เต็มไปด้วยความผูกพันทางจิตวิญญาณ จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้ความกดดันและต้องเดินทางไปพบหมอถึงอังกฤษ

โดยหมอได้แนะนำให้เขาหยุดเล่นบทโศกนาฏกรรมเพื่อสุขภาพของเขาเอง ซึ่งดิลิป กุมาร ก็ปฏิบัติตาม

 

ต่อมาเมื่อบทโศกนาฏกรรมของภาพยนตร์อินเดียถูกบดบังด้วยภาพยนตร์รักโรแมนติก ซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของบี.อาร์ โชปรา เรื่องนายา ดาอุร (Naya Daur) หรือเวลาใหม่ของปี 1957 ซึ่งทำให้งานของโชปราเป็นที่หลงใหลของผู้ดูอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม อย่างไม่มีใครคาดคิด ดิลิป กุมาร ปฏิเสธที่จะเล่นเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์โรแมนติกไร้กาลเวลาของกูรู ดัตด์ (Guru Dutt) เรื่องปยาซา (Pyaasa) หรือความกระหายของปี 1957

นายา ดาอุร โดยตัวของมันเองแล้วเป็นภาพยนตร์ที่มีความล้ำหน้าในยุคสมัยใหม่ของอาชีพนักแสดง เขาเล่นบทตัวแทนของความโรแมนติก โดยบทที่เขาแสดงเหล่านี้เข้ากันได้กับความมีเสน่ห์อย่างเอกอุของนางเอกอย่างวิชัยยันติมาลา (Viayantimala)

โดยบังเอิญ วิชัยยันติมาลา เป็นผู้ที่มาในช่วงหลังๆ ของภาพยนตร์แนวนี้ ทำให้ภาพยนตร์แนวนี้รวมอยู่ในการแสดงของนางเอกอย่างมธุบาลาที่ผู้กำกับฯ มักจะเลือกเธอมาแสดงก่อนเสมอ

จากนั้นก็มีการพูดกันว่า มธุบาลามีความสัมพันธ์กับดิลิป กุมาร อันเป็นความสัมพันธ์ที่ญาติพี่น้องของมธุบาลาให้การปฏิเสธ ส่วนดิลิป กุมาร ก็ไม่ยอมให้เรื่องเหล่านี้มาบดบังงานแสดงของเขา

สองเพลงในภาพยนตร์เรื่องนายา ดาอุร ที่เขียนขึ้นโดยซอฮิร ลูเดียนวี (Sahir Ludhianvi) บอกเล่าถึงการเดินทางที่เขานำมาจากภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างญวัร บาทา (Jwar Bhata) หรือภูเขาไฟในปี 1944 จนถึงเรื่องเมลา (Mela) หรือการแสดงสินค้า ในปี 1948 อันดาซ (Andaz) หรือท่าที ในปี 1949 อาน (Aan) หรือความทระนง ในปี 1952 และเทพทาส ก่อนที่เรื่องนายา ดาอุร จะตามมาในภายหลัง

หนึ่งในนั้นเป็นภาพยนตร์ที่สดใสอย่างที่สุดในเรื่องอุเด แจบ แจบ ซุลเฟ็น เตรี (Udein Jab Jab zulfen teri) หรือปอยผมที่พลิ้วไหว ซึ่งมุฮัมมัด ราฟี (Muhammad Rafi) และอาชา บอสเลย์ (Asha Bosle) ขับร้องเพลงในภาพยนตร์ที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์และเฉือดเฉือนกันอย่างที่สุด

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ได้แก่ ซาติ ฮาร์ต บันดานา ชาติเร (Saathi haath badhana saathire) หรือเพื่อนร่วมทาง ภาพยนตร์ของนัยยาร์ (OP Nayyar) ซึ่งนำเสนอดนตรีที่เต็มไปด้วยท่าเต้นนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก จนกระทั่งเพลงเหล่านี้ถูกขับร้องในภาพยนตร์โดยดิลิป กุมาร จึงเป็นที่นิยมในที่สุด

เมื่อภาพยนตร์ถูกนำมาฉายที่โรงภาพยนตร์ Novelty ในเดลี มีคนหนุ่มสาวมาเข้าแถวยืนรอซื้อตั๋วกันยาวเหยียด โดยทำทรงผมเหมือนพระเอกของพวกเขาในภาพยนตร์ยอดฮิต โดยแต่ละคนต่างก็จินตนาการให้ตัวเองดูสง่างามเหมือนดิลิป กุมาร ซึ่งหวีผมได้อย่างเรียบแปล้ที่เป็นเสน่ห์ของพระเอกในเวลานั้น